‘ซึง’ สว่างจิต แซ่โง้ว: หญิงเหล็กหนึ่งเดียวร่วม ‘ทีมธนาธร’ ปักธงไทยในวิ่งเทรลโลกที่ ‘มองต์บลังก์’

‘ซึง’ สว่างจิต แซ่โง้ว: หญิงเหล็กหนึ่งเดียวร่วม ‘ทีมธนาธร’ ปักธงไทยในวิ่งเทรลโลกที่ ‘มองต์บลังก์’
“ที่หนึ่งเขาก็วิ่งกัน 3 วันกว่า แต่ส่วนมากน่าจะ 5 วันค่ะ แต่ทีมวางแผนว่าจะจบ 6 วัน ก็ยังแซวอยู่ว่าไม่แพลนให้จบสัก 5 วัน” (หัวเราะ) สว่างจิต แซ่โง้ว สาวร่างเล็กอารมณ์ดีชื่อเล่นว่า ‘ซึง’ กล่าวถึงแผนการวิ่งที่เธอและเพื่อนร่วมทีมอีก 2 คน หนึ่งในนั้น คือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้ชื่นชอบกีฬาเอ็กซ์ตรีม ตั้งเป้าจะทำให้ได้ในการวิ่งเทรล 300 กิโลเมตร ท่ามกลางความหนาวเย็นบนยอดเขาที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรปในรายการอัลตร้า เทรล ดู มองต์บลังก์ (UTMB - จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2564 เป็นการวิ่งลัดเลาะไปบนเทือกเขาแอลป์ ข้ามพรมแดน 3 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์) หากโอลิมปิกคือความฝันสูงสุดของนักกีฬาทั่วโลกที่อยากเข้าร่วมให้ได้สักครั้งในชีวิต รายการ UTMB ก็คือความฝันสูงสุดของนักวิ่งเทรลเกือบทุกคน เพราะเป็นการแข่งขันที่ถูกขนานนามให้เป็น ‘จุดสูงสุดของโลก’ สำหรับนักวิ่งวิบาก ทุกปี UTMB จะมีนักวิ่งเทรลที่เก่งที่สุดทั่วโลกเกือบ 10,000 คน มารวมตัวประลองความอึดในการแข่งขันทั้งหมด 7 ประเภท โดยประเภททีม หรือ Petite Trotte à Léon (PTL) ซึ่งตัวซึงและธนาธรลงแข่ง จำกัดผู้เข้าร่วมปีละไม่เกิน 300 คน และทีมของทั้งคู่ก็เป็นตัวแทนคนไทยเพียงทีมเดียวที่ได้สิทธิ์ลงแข่งในปี 2564 “คนไทยยังไม่มีใครจบ PTL แล้วก็ระยะ UTMB (ประเภทเดี่ยว 120 กิโลเมตร) ก็ยังไม่มีผู้หญิงจบค่ะ” นักวิ่งสาวดีกรีปริญญาเอกพลศึกษาบอกกับ The People ก่อนออกเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมเพื่อนร่วมทีมเพื่อลงแข่งรายการนี้ ท่ามกลางความหวังในการสร้างประวัติศาสตร์ให้คนไทย แสดงให้โลกเห็นถึงศักยภาพของคนไทย และให้ชาวไทยตระหนักถึงพลังและความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัวของเราเอง   เริ่มวิ่งและหลงเสน่ห์การวิ่งเทรล “เพิ่งรู้ตัวก่อนแข่งแค่ 2 เดือน เกือบ 3 เดือน หลังจากรู้ตัวจะลงแข่งงานนี้ก็เริ่มวางแผนซ้อมกันในทีม แต่ถามว่าก่อนหน้านี้ได้วิ่งมาก่อนหรือเปล่า อย่างตัวซึงก็วิ่งมา 10 กว่าปีได้แล้วค่ะ “เริ่มจากวิ่งถนนระยะสั้น ๆ 10, 21 และกระโดดไป 42 กิโลเมตร เสร็จแล้วก็มาลองวิ่งเทรล 25 กิโลเมตร และก็ไป 50 กิโลเมตร และมาลองวิ่ง 100 กิโลเมตร ทำให้เพิ่งค้นพบว่าตัวเองถนัดวิ่งระยะยาว”  ซึงเล่าถึงพัฒนาการด้านการวิ่งของเธอ ซึ่งไม่ต่างจากนักวิ่งทั่วไป แต่ด้วยความรักในการออกกำลังกาย ขยันฝึกซ้อม และขยับเป้าหมายให้สูงขึ้นไปอยู่เสมอ ทำให้เธอกลายเป็นนักวิ่งหญิงระยะอัลตร้ามาราธอน (50 กิโลเมตรขึ้นไป) ระดับแถวหน้าคนหนึ่งของไทย สว่างจิต ‘ซึง’ แซ่โง้ว เกิดวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2528 เป็นชาวกรุงเทพมหานคร เธอชอบออกกำลังกายและเล่นกีฬา เป็นนักบาสเกตบอลตัวโรงเรียน ก่อนเข้าศึกษาต่อปริญญาตรีพลศึกษา ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ “เลือกเรียนด้านนี้เพราะเป็นคนชอบออกกำลังกายตั้งแต่เด็ก จบออกมาเป็นครูสอนที่โรงเรียนนานาชาติ เพื่อนฝรั่งเขาก็ชวนวิ่ง ชวนปั่นจักรยาน ชวนลงไตรกีฬา “นิสัยส่วนตัวซึงก็เป็นคนชอบผจญภัย หลังจากวิ่งถนน เพื่อนก็ชวนไปวิ่งเทรล ด้วยความเป็นคนกรุงเทพฯ พอไปวิ่งเทรล มันได้ขึ้นไปเห็นวิวภูเขา ต้นไม้ น้ำตก ก็รู้สึกว่าชอบเพราะอยู่ในเมืองมันมีแต่ตึก” เธอย้อนความหลังสมัยเริ่มวิ่งถนนจริงจังตอนอายุ 25 ปี และอีก 2 ปีถัดมาจึงเริ่มมาหลงรักกีฬาวิ่งเทรล “วิ่งบางที่ก็จะผ่านทุ่งนา ยิ่งแข่งอัลตร้า ต้องวิ่งข้ามวันข้ามคืน ออกตัวตั้งแต่ตี 4 คุณต้องตื่นมาเตรียมตัวอย่างน้อยตี 2 ต้องไปถึงสนามตี 3 ออกวิ่งตี 4 พอออกวิ่งสักพักพระอาทิตย์ก็ขึ้น “พอพระอาทิตย์ขึ้น แดดก็ร้อน เริ่มใส่หมวกใส่แว่น วิ่ง ๆ เสร็จปุ๊บพระอาทิตย์ก็ตก พอตกปุ๊บก็ต้องเตรียมเฮดแลมป์ (ไฟฉายคาดหัว) มีนู่นนี่นั่น ระหว่างทางจะผ่านอะไรสวย ๆ เยอะ เช่นวิ่งกลางคืนจะเห็นดาวเต็มท้องฟ้า เห็นดาวตก บางทีก็มีสัตว์ประหลาดนิดหน่อย เช่นเคยเจอหมูป่า 2 ตัวในสนามแข่งข้างทาง ตัวเบ้อเริ่ม โตเป็นเมตรเลย และก็เจองู อันนี้เรื่องปกติ เจอแมงมุม “บางทีตอนกลางคืนด้วยความมืดมาก เราเปิดเฮดแลมป์ พวกต้นไม้ ใบไม้ที่เหมือนมีไอน้ำค้างขึ้น พอมันสะท้อนกับแสง คือมองไปมันสะท้อนแสงขึ้นมาสวย ก็เลยชอบแบบนี้ พอวิ่งไปก็เพลิน “วิ่งจนพระอาทิตย์ขึ้น-ตก และก็ขึ้นอีกรอบหนึ่ง แล้วค่อยเข้าเส้นชัยก็เคยมาแล้วค่ะ” ‘ซึง’ สว่างจิต แซ่โง้ว: หญิงเหล็กหนึ่งเดียวร่วม ‘ทีมธนาธร’ ปักธงไทยในวิ่งเทรลโลกที่ ‘มองต์บลังก์’ ทำงานควบวิ่งและเรียนจบปริญญาเอก นอกจากความสุขในการชื่นชมธรรมชาติสองข้างทาง การวิ่งเทรลยังสอนให้เธอรู้จักวางแผน และเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตนอกสนามแข่งขันได้อีกด้วย “มันเป็นการท้าทายตัวเอง ถ้าเทียบกับชีวิตประจำวันเหมือนฝึกการวางแผน เพราะเวลาไปถึงแต่ละสเตชั่น คุณต้องรู้ว่าถึงจุดนี้คุณจะกินอะไรก็ต้องวางแผน ต้องเตรียมอะไรบ้าง คุณจะดื่มน้ำช่วงไหน “สมมติว่าถ้าแข่ง ๆ อยู่เกิดไม้โพล (ไม้เท้า) หัก หรือสะดุดอะไรอย่างนี้ เช่นเป็นแผลพุพอง มันต้องรู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และก็แน่นอนคือความอดทนและไม่ยอมแพ้” สิ่งเหล่านี้สะท้อนได้ดีในการบริหารจัดการชีวิตของเธอ ซึงสามารถทำงานประจำเป็นครูควบคู่ไปกับการสอนพิเศษ ตระเวนลงแข่งขัน และเรียนหนังสือต่อยอดการศึกษาไปพร้อมกันจนจบปริญญาเอก “สมัยเรียนปริญญาเอก หนักจริง ด้วยความที่ซึงทำงานฟูลไทม์ 7 โมงครึ่งถึง 4 โมงทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ โชคดีที่ไม่มีทำงานเสาร์-อาทิตย์ ด้วยความว่าเป็นครู หลังเลิกงาน 4 โมง ซึงก็จะรับสอนว่ายน้ำส่วนตัว สอน 5 โมงถึง 6 โมง  “หลังจากนั้น 6 โมง ซึงก็จะเริ่มซ้อมวิ่งกับเพื่อน ๆ วิ่งกันจนถึงประมาณ 2 ทุ่มก็กินข้าว แล้วกลับถึงบ้านประมาณ 3 ทุ่ม อาบน้ำแต่งตัวเสร็จ ซึงถึงจะนั่งเรียนหนังสือถึงเที่ยงคืน ทำซ้ำ ๆ อย่างนี้ทุกวัน “ส่วนเสาร์-อาทิตย์ ซึงจะรับจ็อบสอนว่ายน้ำ ไม่สอนเช้าก็เย็นเพราะกลางวันเด็กไม่ค่อยเรียนเพราะแดดมันร้อน กลางวันก็จะได้พักบ้าง เรียนบ้างสลับกัน โชคดีว่าช่วงปิดเทอมซึงจะได้หยุด อย่างปิดเทอมใหญ่ 2 เดือน ช่วงนั้นซึงสามารถเดินทางไปปีนเขา ดำน้ำ หรือทำอะไรที่ซึงชอบ” เธอเรียนจบปริญญาโทวิทยาศาสตร์การกีฬาที่จุฬาฯ และปริญญาเอกการบริหารพลศึกษาที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปัจจุบัน (2564) เป็นโค้ชและครูสอนว่ายน้ำที่ Best Bangkok Swim Academy ซึ่งรับงานสอนว่ายน้ำตามโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย   จุดเริ่มต้นร่วมทีมธนาธร ซึงเริ่มรู้จักกับธนาธรในปี 2560 จากการเข้าร่วมโครงการ ‘ทรูเซาท์’ ของธนาธร ซึ่งตั้งเป้าคัดคนไทยที่แข็งแกร่งที่สุด 10 คน เดินเท้า 1,400 กิโลเมตร ฝ่าความหนาวของทวีปแอนตาร์กติกา ไปปักธงชาติไทยที่ศูนย์กลางขั้วโลกใต้เป็นครั้งแรก เธอผ่านการทดสอบความทรหดเป็นหนึ่งในผู้หญิงเพียง 2 คน ที่ได้ร่วมทีม ‘ทรูเซาท์’ แต่ต่อมาโครงการดังกล่าวพับไป เพราะธนาธรตัดสินใจหันมาเล่นการเมือง และตั้งพรรคอนาคตใหม่ “ช่วงนั้นทีมทรูเซาท์เทรนกันเยอะมาก เช่น ลากยาง 24 ชั่วโมง หรือการฝึกบูทแคมป์ 2 วัน มันจะเป็นพวกแบกถุงทราย 5 กิโลกรัม ลากยาง วิดพื้น บางทีก็แบกถุงทรายขึ้นหัว แบกถุงทรายกระโดดขึ้นลงอัฒจันทร์ ขึ้น-ลงบันได ซ้อมวันแรกยังจำได้เลย อีกวันแทบจะลุกจากเตียงไม่ได้ แต่ก็ต้องซ้อมหนักเหมือนเมื่อวาน “อยู่กับยางทั้งวัน น้ำหนักตัวซึงตอนนั้น 55 กิโลฯ แต่ต้องมาลากยางน้ำหนัก 52 กิโลฯ ก็ลากยาง 24 ชั่วโมง โดยตอนจบเขาจะวัดระยะว่าได้กี่กิโลเมตร นอกจากนั้นยังมีการฝึกปีนเขาในร่ม ฝึกสกิลนั้นเพื่อที่จะนำไปใช้เดินทางไปขั้วโลกใต้ค่ะ” ซึงเล่าย้อนวิธีคัดตัวของโครงการที่ธนาธรเป็นเจ้าของไอเดีย หลังจากโครงการยกเลิกไป เธอก็ไม่ได้ติดต่อกับเขา จนกระทั่งธนาธรติดต่อมาอีกครั้งเพื่อชวนร่วมทีม PTL ลงแข่ง UTMB “พอเขาเข้าการเมืองก็เลิกติดต่อ ใช้คำว่าเลิกติดต่อได้เลย แล้วจู่ ๆ ผ่านมา 2 ปี เขาก็โทรฯ มา ก็เลยรับสาย เขาถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง สบายดีหรือเปล่าครับ ก็เลยตอบว่าสบายดีค่ะ ก็ยังแปลกใจว่าโทรฯ มาต้องมีอะไรแน่ ๆ เลย  “เขาก็เลยพูดถึง PTL บอกว่าผมเนี่ยอยากไป PTL แล้วผมได้เพื่อนร่วมทีมคนหนึ่งแล้วคือ ‘แอลวิ่น’ (สุภัทร บุญเจือ) เขาก็ถามเลยว่า ตัวคุณซึงว่างพอที่จะลางานไปแข่งได้มั้ย และยังฟิตซ้อมอยู่หรือเปล่า ซึงก็บอกซึงก็ยังแข่งมาตลอด งานก็น่าจะลาได้ พอคุยกับที่ทำงาน เขารู้ข่าวปุ๊บก็บอกว่าดีใจด้วยนะ คุณรีบไปเลย” ‘ซึง’ สว่างจิต แซ่โง้ว: หญิงเหล็กหนึ่งเดียวร่วม ‘ทีมธนาธร’ ปักธงไทยในวิ่งเทรลโลกที่ ‘มองต์บลังก์’ ซ้อมทีมธนาธรและเคล็ดลับวิ่งระยะไกล ความโหดของการลงแข่งประเภท PTL ในรายการ UTMB นอกจากระยะทางที่ไกลถึง 300 กิโลเมตร ยังเป็นสภาพเส้นทางและความหนาวเย็น เนื่องจากนักกีฬาต้องวิ่งลัดเลาะไปบนเทือกเขาแอลป์ ซึ่งมีอากาศเบาบางและมีความชันสะสมมากถึง 25,000 เมตร ข้ามพรมแดน 3 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีระยะเวลาตัดตัวแค่ 152 ชั่วโมง 30 นาที (6 วัน 8 ชั่วโมง 30 นาที) ระหว่างวันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2564  “ด้วยความเป็นกีฬาทีม ดังนั้นต้องไปด้วยกัน 3 คน ถ้าคนใดคนหนึ่งอยากพัก คือต้องตามทีม ถ้าคนนี้อยากพักก็ต้องพัก แต่ก็จะกำหนดเวลาแค่ 10 นาที จะพยายามไม่พักบ่อย หลัก ๆ ก็ต้องอยู่ที่หัวหน้าทีม (ธนาธร) ก็คือตามความเร็วของเขา พยายามพักพร้อมกันจะได้ไม่เสียเวลา ต่อให้นอนไม่ได้ก็ต้องนอนให้ได้ เพราะมันไปเป็นทีม” ซึงเล่าถึงแผนการวิ่ง ส่วนการฝึกซ้อม พวกเขาใช้วิธีแบกเป้เดินขึ้นลงเขาติดต่อกัน 24 ชั่วโมง สลับกับการแบกเป้เดินขึ้น-ลงตึกสูง โดยให้น้ำหนักเป้หนักกว่าน้ำหนักที่จะแบกในวันจริง สถานที่ฝึกซ้อมภูเขา 24 ชั่วโมง ส่วนใหญ่เลือกใช้เขาฉลาก จ.ชลบุรี และเขาวงพระจันทร์ จ.ลพบุรี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ “ถ้าสมัยตอนที่เขา (ธนาธร) อยู่ในทรูเซาท์นี่เขาฟิตจริง อันนี้ยอมรับเลยว่าฟิตจริง พอเขาเข้ามาการเมือง 2 ปีเท่านั้นแหละ ล่าสุดไปซ้อม 24 ชั่วโมง คือคนละคนกันเลย ไม่เคยเจอเขาในสภาพแบบนั้นก็ตลก “ด้วยความว่าเขาวิ่งอย่างสมมติแบบอัลตร้าเทรลอะไรอย่างนี้ เขายังประมาณ ‘ท็อปเทน’ ด้วยซ้ำ แต่พอมาซ้อมเขาฉลาก 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นแค่เดินขึ้นลงเขา เขาก็จะถามแบบ ‘ถึงยังครับ ๆ’ และก็พอมาถึงที่รถ ปกติถ้าเขาฟิตจริง เขาจะเดินขึ้นเลย เขาจะไม่แวะที่รถ นี่แวะทุกรอบเลย วันแรกที่ซ้อมกันก็หัวเราะ “แกคิดว่าแกแข็งแรงมาตลอด แกไม่คิดว่าพอหยุดไป 2 ปี ทำให้ร่างกายหรือสมรรถนะแกลดลงไปเยอะมาก” ซึงเล่าถึงสภาพหัวหน้าทีมหลังหยุดเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีมไปเล่นการเมืองนาน 2 ปี เคล็ดลับการวิ่งอัลตร้าเทรลให้ได้ตามเป้า ซึงบอกว่า อันดับแรกคือความสม่ำเสมอในการฟิตซ้อมและรักษาสภาพร่างกายให้พร้อมอยู่เสมอ ส่วนอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การรู้จักตัวเอง “คือเหมือนว่าเราต้องฟังร่างกายตัวเอง บางคนฝืนจนตะคริวขึ้น หรือไปไม่ไหวแล้วรู้สึกท้อเลยก็มี แต่ด้วยว่าเป้าหมายของซึงบางอย่างซึงไม่ได้กดดันตัวเองมาก ซึงก็แบบโอเค หลัก ๆ วิ่งให้สนุกให้ถึงเส้นชัย แต่ในทำนองเดียวกันเวลาแข่ง ซึงก็จะพยายามทำให้ดีที่สุดเหมือนกัน” หญิงเหล็กจอมอึดหนึ่งเดียวที่ได้เป็นตัวแทนในทีมคนไทยลงแข่งวิ่งเทรลรายการใหญ่ระดับโลก เปิดใจถึงเคล็ดลับและความเป็นมา ก่อนออกไปพยายามสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่เพื่อพิสูจน์ว่า คนไทยก็มีศักยภาพและสามารถทำงานเป็นทีมได้ไม่แพ้ชาติใดในโลก   ข้อมูลอ้างอิง: https://utmbmontblanc.com/en/page/1/event.html http://www.truesouth.org/th/moreinfo ภาพ: Facebook Sawangjit Seung Saengow