เควิน เดอ บรอยน์: จากเด็กที่ถูกไล่ออกจากบ้าน สู่มิดฟิลด์เท้าชั่งทอง เจ้าของฉายา The Prince

เควิน เดอ บรอยน์: จากเด็กที่ถูกไล่ออกจากบ้าน สู่มิดฟิลด์เท้าชั่งทอง เจ้าของฉายา The Prince
ความโกรธแค้น ดื้อรั้น และมุ่งมั่นที่จะเอาชนะ ฟังดูแล้วอาจเป็นนิสัยที่ไม่มีใครต้องการ แต่หากนำไปปรับใช้ให้ดี มันคือแรงขับเคลื่อนชั้นดีของผู้ที่จะประสบความสำเร็จ ลักษณะนิสัยทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ในตัวของนักฟุตบอลที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลกที่ชื่อ เควิน เดอ บรอยน์ (Kevin de Bruyne) เดอ บรอยน์ เกิดในครอบครัวที่เป็นแฟนตัวยงของทีมลิเวอร์พูล เขามีไมเคิล โอเว่น เป็นไอดอล แต่ด้วยความเป็นคนขี้อาย ไม่ค่อยพูดค่อยจา ทำให้ครั้งหนึ่งเคยถูกเจ้าของบ้านที่รับเลี้ยงไล่ไม่ให้อยู่ด้วย นั่นทำให้เขาโกรธแค้น จนต่อมาพยายามพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นคุณค่าในตัวของเขา และกลายเป็นนักเตะที่ทั่วโลกต้องจับตา สุดยอดเพลย์เมกเกอร์ทีมชาติเบลเยียม ของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ผู้นี้ ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักฟุตบอลที่จ่ายบอลแม่นยำที่สุดคนหนึ่งของโลก เขาเคยฝึกซ้อมด้วยลูกบอลพลาสติก ก่อนจะกลายเป็นนักเตะที่เล่นได้ทั้งสองเท้า และเป็นหัวใจสำคัญของทีม ‘เรือใบสีฟ้า’ ผู้พาต้นสังกัดผงาดเป็นทีมแถวหน้าของยุโรป และได้ฉายาจากเพื่อนร่วมทีมว่า ‘เจ้าชาย’ (The Prince) นี่คือเรื่องราวของ ‘เจ้าชายลูกหนัง’ เควิน เดอ บรอยน์ ผู้เปลี่ยนความแค้นมาเป็นพลังขับเคลื่อนชีวิตจนประสบความสำเร็จ สาวกเดอะค็อป ชื่นชอบโอเว่น “ผมเป็นแฟนลิเวอร์พูล ครอบครัวของผมที่เคยไปอยู่อังกฤษทุกคนล้วนเชียร์ลิเวอร์พูล ผมก็ด้วยเช่นกัน” มิดฟิลด์ห้องเครื่องทีม ‘เรือใบสีฟ้า’ แมนฯ ซิตี้ เปิดใจถึงความคลั่งไคล้ในวัยเด็ก ซึ่งครั้งหนึ่งห้องนอนของเขาล้วนตกแต่งด้วยของสะสมโลโก้ ‘หงส์แดง’ ไม่เว้นแม้แต่ผ้าปูที่นอน และเสื้อผ้าที่สวมใส่ “ผมชอบไมเคิล โอเว่น เพราะตอนนั้นผมตัวเล็ก ๆ เหมือนเขา และก็ว่องไวด้วย” เดอ บรอยน์เล่าถึงแข้งขวัญใจในวัยเด็ก ซึ่งทำให้เขาเริ่มเล่นฟุตบอลในตำแหน่งศูนย์หน้า ก่อนขยับมาเล่นเป็นมิดฟิลด์ เควิน เดอ บรอยน์ เกิดวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1991 ที่เมืองดรองเกน (Drongen) ในนครเกนต์ (Gent) ประเทศเบลเยียม ความคลั่งไคล้ในทีมลิเวอร์พูลของเขาได้รับอิทธิพลมาจากแม่และตา ซึ่งเป็นนักธุรกิจเจ้าของบริษัทน้ำมันในแอฟริกา และเคยไปใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เขาเริ่มเล่นฟุตบอลจริงจังตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ด้วยการลงเล่นในทีมเยาวชนของสโมสรดรองเกน ในบ้านเกิด ก่อนจะย้ายไปร่วมทีมเกนต์ ในดิวิชั่น 1 ของลีกเบลเยียม ตอนอายุ 8 ขวบ “ผมอยากเรียนภาษาละตินสัก 2 ปี จากนั้นจะไปเข้าโรงเรียนกีฬา และพออายุ 18 ปี ผมจะโฟกัสที่การเล่นฟุตบอลเต็มตัว” เดอ บรอยน์ ในวัย 11 ปี บอกกับแม่ของเขาถึงเป้าหมายในชีวิต ถูกให้ออกจากบ้านเพราะขี้อายไม่ค่อยพูด ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเอาดีบนเส้นทางลูกหนังและต้องการพัฒนาฝีเท้าไปเรื่อย ๆ ทำให้พอถึงวัย 14 ปี เดอ บรอยน์ ตัดสินใจย้ายจากเกนต์ ไปเล่นให้เกงค์ (Genk) ทีมร่วมลีกสูงสุดของเบลเยียม ซึ่งมีสไตล์การเล่นที่เขาชื่นชอบมากกว่า แม้การตัดสินใจครั้งนั้นจะทำให้ต้องย้ายออกจากบ้านไปอาศัยอยู่กับคนแปลกหน้าในอีกฟากของประเทศ เดอ บรอยน์ยอมรับว่าการย้ายมาเกงค์ ทำให้เขาได้ประสบการณ์สำคัญที่ทำให้จำไม่มีวันลืม และเป็นประสบการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตเขาให้มีความมุ่งมั่นมากขึ้นจนประสบความสำเร็จในที่สุด ประสบการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตอนเข้าปีที่สองที่เกงค์ ขณะมีอายุ 15 ปี เขาต้องย้ายออกจากหอพักไปอาศัยอยู่กับครอบครัวผู้รับอุปถัมภ์ ทุกอย่างดูเหมือนจะราบรื่นดี จนกระทั่งปิดเทอมใหญ่ภาคฤดูร้อน เขาต้องเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด “ทันทีที่ผมกลับถึงบ้าน ผมเดินเข้าประตูไปและเห็นแม่กำลังร้องไห้ “แม่บอกว่า ‘พวกเขาไม่อยากให้ลูกกลับไป ครอบครัวผู้อุปถัมภ์ไม่อยากให้ลูกไปอยู่ที่นั่นแล้ว’ “ผมถามกลับไปว่า ‘อะไร? ทำไมเหรอ?’ แม่ตอบว่า ‘เป็นเพราะตัวตนที่ลูกเป็น พวกเขาบอกว่าลูกเงียบเกินไป พวกเขาไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับลูก พวกเขาบอกว่าลูกเป็นคนหัวดื้อ (difficult)’ “ผมถึงกับอึ้งไปเลย มันเป็นเรื่องใหญ่มากในอาชีพค้าแข้ง เป็นเพราะผมไม่ใช่นักเตะชื่อดังหรือยังไง ทางสโมสร(หรือผู้อุปถัมภ์)จึงเหมาเอาเองว่าผมคือตัวปัญหา” หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เดอ บรอยน์ประกาศทันทีว่า เขาจะพัฒนาตัวเองจนติดทีมชุดใหญ่รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปีให้ได้ภายในเวลา 2 เดือน และเขาก็ทำสำเร็จ ก่อนที่ต่อมาจะกลายเป็นนักเตะตัวหลักของทีมรุ่นใหญ่ และพาเกงค์ผงาดคว้าแชมป์ลีกสูงสุดได้ในฤดูกาล 2010 - 2011 “มีอยู่วันหนึ่ง ครอบครัวที่เคยอุปถัมภ์ผมเดินทางมาที่สโมสร และผู้หญิงคนนั้นเดินมาคุยกับผม ทำเหมือนทุกอย่างเป็นเรื่องเข้าใจผิด “ผมเลยบอกไปว่า ‘ไม่ใช่ คุณโยนผมทิ้งเหมือนเป็นขยะ ตอนนี้ชีวิตผมกำลังไปได้สวย และคุณอยากให้ผมกลับไปเหรอ?’ “ท้ายที่สุด ผมควรตอบกลับไปแค่คำว่า ‘ขอบคุณ’ ประสบการณ์นั้นช่วยเติมเชื้อไฟให้กับอาชีพผมได้เป็นอย่างดี” ไม่รุ่งกับเชลซีแต่ไปได้ดีที่เยอรมัน หลังประสบความสำเร็จกับเกงค์ ฟอร์มของเดอ บรอยน์ไปเข้าตาแมวมองของเชลซี สโมสรยักษ์ใหญ่ในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ซึ่งกำลังมองหาตัวตายตัวแทนคนใหม่ในตำแหน่งของแฟรงก์ แลมพาร์ด ที่ใกล้เข้าสู่วัยเกษียณ เชลซีเซ็นสัญญาดึงเดอ บรอยน์มาร่วมทัพในปี 2012 ด้วยค่าตัว 6.7 ล้านปอนด์ แต่ยังไม่มีตำแหน่งตัวจริงรองรับจึงปล่อยให้แวร์เดอร์ เบรเมน ในศึกบุนเดสลีกาเยอรมัน ยืมตัวไปใช้งานและทำผลงานได้ดีจนเจอร์เก้น คล็อปป์ เฮดโค้ชทีมโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ในเวลานั้น พยายามติดต่อขอซื้อตัวมาร่วมทีม ทั้งคู่บรรลุข้อตกลงส่วนตัวกันแล้ว แต่โชเซ่ มูรินโญ่ ผู้จัดการทีมเชลซีในขณะนั้นปฏิเสธปล่อยตัวเขาไปให้กับทีม ‘เสือเหลือง’ มูรินโญ่อ้างว่าเขาต้องการดึงเดอ บรอยน์ กลับมาใช้งานในถิ่นสแตมฟอร์ด บริดจ์ แต่สุดท้ายแข้งเบลเยียมผู้นี้ก็ยังไม่ได้รับโอกาสลงตัวจริงเท่าที่ควร จนวันหนึ่งฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เขาตัดสินใจย้ายออกจากรังเชลซีก็มาถึง “เขา (มูรินโญ่) เอาสถิติของผู้เล่นมิดฟิลด์ตัวรุกทุกคนในทีมมาโชว์กลางที่ประชุม ทั้งการแอสซิสต์ การทำประตู เปอร์เซ็นต์การจ่ายบอล ความแม่นยำ และการเลี้ยงหลบคู่ต่อสู้ เขาต้องการพิสูจน์ว่าผมทำผลงานได้ไม่ดีเท่านักเตะคนอื่น ผมเลยตอบเขาว่า ‘ขอโทษนะ นั่นไม่ใช่ตรรกะที่ถูกต้อง ผมได้ลงเล่นน้อยกว่าคนอื่น คุณเอาพวกเรามาเปรียบเทียบกันได้อย่างไร’ มันไม่ยุติธรรม” เดอ บรอยน์เล่าถึงการโต้เถียงกับมูรินโญ่วันนั้น พร้อมยืนยันต้องการย้ายทีม จนสุดท้ายในปี 2014 เชลซียอมขายเขาให้กับโวล์ฟบวร์กในเยอรมนี ด้วยค่าตัว 18 ล้านปอนด์ หลังจากนั้นเพียง 1 ปี เดอ บรอยน์ก็ผงาดคว้ารางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งปีของบุนเดสลีกา ด้วยการพาโวล์ฟบวร์กคว้าแชมป์เดเอ็ฟเบ-โพคาล และรองแชมป์บุนเดสลีกา จนต่อมาในปี 2016 แมนฯ ซิตี้ ยอมทุ่มเงินสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์สโมสรที่ 55 ล้านปอนด์ ซื้อกลับมาเล่นที่อังกฤษ ฉายาเจ้าชายและเครื่องปั่นแห้ง “ตั้งแต่ย้ายมาที่นี่ (แมนฯ ซิตี้) หลายคนเรียกผมว่า ‘เจ้าชาย’ (The Prince)” เดอ บรอยน์เล่าถึงที่มาของชื่อเล่นที่เพื่อน ๆ ตั้งให้เนื่องจากมีหน้าตาละม้ายคล้ายเจ้าชายแฮร์รี พระโอรสของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ กับเจ้าหญิงไดอาน่า แห่งราชวงศ์อังกฤษ อีกชื่อเล่นที่เพื่อนสนิทของเขามักเรียก คือ ‘เครื่องปั่นแห้ง’ (Tumble Dryer) มาจากนิสัยชอบตอบข้อความ WhatsApp ด้วยคำทื่อ ๆ แห้ง ๆ แบบถามคำตอบคำ ดูไร้อารมณ์ความรู้สึก หรือที่เจ้าตัวมักบรรยายนิสัยของตัวเองว่าเป็นคน ‘ชิลสุด ๆ’ (super chilled) อย่างไรก็ตาม บุคลิกชิล ๆ พูดน้อยนอกสนาม สามารถเปลี่ยนเป็นคนจริงจัง มุ่งมั่นทุ่มเท จนเข้าขั้นดื้อรั้นได้ในบางที เมื่อเขาก้าวเข้าสู่สังเวียนแข่งขันในโลกลูกหนัง แฟรงค์ เดอ เลน (Frank de Leyn) โค้ชทีมเยาวชนของเดอ บรอยน์ สมัยเล่นที่เกนต์ เล่าว่า ครั้งหนึ่งระหว่างเดินทางไปเข้าแคมป์ฝึกซ้อมกันที่สเปน เจ้าหนูเดอ บรอยน์ยืนยันจะอยู่ซ้อมต่อทั้งคืน และพยายามกอดเสาโกลเอาไว้ไม่ให้ใครมาลากตัวกลับไปโรงแรม จนเขาต้องเข้าไปเกลี้ยกล่อมให้ยอมกลับไปพักผ่อน “หลังคุยกันอยู่นาน สุดท้ายผมก็สามารถเกลี้ยกล่อมให้เขายอมเลิกซ้อม เราเดินกลับโรงแรมพร้อมกัน เขาดื้อรั้นอย่างกับอะไรดี เหมือนคนหัวแข็ง แต่ผมก็คิดว่าความดื้อรั้นแบบนั้นคือนิสัยที่ทำให้เขากลายเป็นผู้เล่นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” ฝึกเล่นเท้าซ้ายเพราะไม่อยากเตะบอลพลาสติก เดอ บรอยน์จริงจังกับการเล่นฟุตบอลถึงขนาดเคยถูกบังคับให้ต้องเล่นด้วยลูกบอลพลาสติก เพราะชอบไปเตะบอลในสวนที่บ้านของเพื่อน และทำให้ต้นไม้และดอกไม้ในสวนนั้นเสียหายย่อยยับ อย่างไรก็ตาม ต่อมาเขาไปเจรจากับเจ้าของบ้านเพื่อขอกลับมาเล่นด้วยลูกบอลหนังปกติ โดยมีข้อแม้ว่าเขาต้องเล่นด้วยเท้าซ้ายข้างที่ไม่ถนัดเท่านั้น เขารับปากยอมทำตามเงื่อนไข และเหตุการณ์ครั้งนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เริ่มฝึกเล่นด้วยเท้าซ้าย จนสุดท้ายสามารถเล่นได้ทั้งสองเท้าแทบไม่ต่างกัน นอกจากความมุ่งมั่นทุ่มเทในการเล่นฟุตบอลแล้ว เดอ บรอยน์ที่ปกติเป็นคนเงียบขรึมยังมักออกมาพูดวิจารณ์เรื่องต่าง ๆ ที่เขาไม่เห็นด้วยในสนามอย่างตรงไปตรงมา “ผมอับอายแทนพวกเขา ผมขอแนะนำให้พวกที่ไม่มีความกระหายจะลงเล่นจงย้ายทีมออกไป” เขาต่อว่าเพื่อนร่วมทีมเกงค์ออกทีวีระหว่างให้สัมภาษณ์ในช่วงพักครึ่งเมื่อปี 2012 ช่วงพักครึ่งในศึกยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกนัดแมนฯ ซิตี้ เปิดบ้านพบนาโปลี เมื่อปี 2017 เดอ บรอยน์ก็โชว์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง เมื่อเขาระเบิดอารมณ์ใส่ดาบิด ซิลบา กัปตันทีมของตนเองที่พยายามมาขวางไม่ให้เดินไปต่อว่าผู้ตัดสินที่แจกใบเหลืองให้เขา โดยตวาดด้วยเสียงดังลั่นว่า “Let me talk!” (ฉันขอพูดบ้าง!) “การโต้เถียงครั้งนั้นใช้เวลาแค่นาทีนิด ๆ มันก็เหมือนตอนที่ผมมีปากเสียงกับภรรยา การหารือกันในขั้นสูงสุดก็มีข้อดี บางทีสามารถช่วยให้ทุกคนมีความระมัดระวังตัวมากขึ้น” เดอ บรอยน์ที่กลับสู่โหมดชิล ๆ เล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังจากได้เข้าไปอธิบายกับผู้ตัดสิน ความจริงจังในเกมลูกหนังของเดอ บรอยน์ ยังถึงขั้นที่เขาเคยถูกมิเชล ภรรยาของตนเองแซวว่า รักฟุตบอลมากกว่าลูกเมีย “ผมร้องไห้ออกมา มันช่วยไม่ได้จริง ๆ” เดอ บรอยน์เล่าถึงตอนได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่าซ้ำเป็นรอบที่สองในฤดูกาลเดียวกันเมื่อปี 2018 ทำให้เขาอดลงสนามนานหลายสัปดาห์ และเขาโทรฯ FaceTime บอกกับภรรยาด้วยน้ำตานองหน้าเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บ “เธอตอบมาว่า ‘คุณไม่เคยร้องไห้ในวันที่เราแต่งงานกัน และไม่เคยร้องไห้ตอนลูกชาย 2 คนของเราคลอดออกมาดูโลก หนึ่งในนั้นเพิ่งคลอดออกมาเมื่อวานนี้เองด้วยซ้ำ” หัวใจของเป๊ปและเรือใบสีฟ้า ความรักและคลั่งไคล้ในโลกลูกหนังของเควิน เดอ บรอยน์ ทำให้เขาพัฒนากลายเป็นหนึ่งในมิดฟิลด์ที่เก่งที่สุดของโลกหลังจากเป๊ป กวาร์ดิโอลา กุนซือชาวสเปน ย้ายจากบาเยิร์น มิวนิก มาคุมแมนฯ ซิตี้ ในปี 2016 เป๊ปสร้างทีม ‘เรือใบสีฟ้า’ ขึ้นมาใหม่โดยใช้ เดอ บรอยน์เป็นแกนกลางในการทำเกมรุก กุนซือและนักเตะคู่นี้สามารถทำงานสอดประสานกันได้อย่างลงตัว ไม่ว่าเพื่อนร่วมทีมจะวิ่งไปทางไหน เดอ บรอยน์สามารถจ่ายบอลไปให้ได้ถึงที่ได้ตามแผน และเป็นที่มาซึ่งทำให้แมนฯ ซิตี้ ครองความยิ่งใหญ่ คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้ถึง 4 สมัยภายในเวลา 5 ปี (2018, 2019, 2021, 2022) ความสามารถในการจ่ายบอลได้อย่างแม่นยำไม่แพ้การทำประตู ทำให้ เดอ บรอยน์กลายเป็นนักเตะเท้าชั่งทองจอมแอสซิสต์ และได้รับรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมประจำปี PFA Players' Player of the Year ถึง 2 ปีติด (2020, 2021) นอกจากนี้เขายังเป็นกำลังหลักในการพาทีมชาติเบลเยียมคว้าอันดับสามในศึกฟุตบอลโลกปี 2018 ที่รัสเซีย “เควินคือหนึ่งในนักเตะที่เก่งที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอมา เขาคือผู้เล่นคุณภาพระดับสูงสุด เรามีความสุขมากที่เขาอยู่กับเรา” เป๊ปกล่าวชื่นชมลูกทีม โดยบอกว่า เดอ บรอยน์อาจมีฝีเท้าเป็นรองแค่ ลิโอเนล เมสซี คนเดียวเท่านั้น นั่นคือเรื่องราวของ เควิน เดอ บรอยน์ ‘เจ้าชายลูกหนัง’ ที่ใช้พลังความแค้นในวัยเด็กเป็นแรงผลักดันให้มีความมุ่งมั่นทุ่มเท พัฒนาฝีเท้าอย่างไม่หยุดยั้งจนกระทั่งกลายเป็นนักฟุตบอลที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลก แม้บางครั้งชายผู้นี้อาจดูเงียบขรึม บางครั้งก็หัวรั้น และตรงไปตรงมาจนน่ากลัว แต่ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่มีพิษมีภัย เควิน เดอ บรอยน์ เป็นเพียงชายคนหนึ่งที่หลงรักในกีฬาฟุตบอล และตั้งใจพัฒนาตัวเองให้เก่งที่สุดจนประสบความสำเร็จ “ถ้าผมทำไม่สำเร็จ แล้วที่ผ่านมามันจะมีค่าอะไร ถ้าไม่ประสบความสำเร็จบนเส้นทางลูกหนัง ผมจะสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต” ภาพ: Getty Images Sport ข้อมูลอ้างอิง: https://www.theguardian.com/.../kevin-de-bruyne-stubborn... https://bleacherreport.com/.../2775135-the-making-of-a... https://www.si.com/.../manchester-city-midfielder-kevin...