12 พ.ย. 2565 | 10:38 น.
- ดร. ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นคนหนุ่มที่เข้ามาทำงานบริหารกีฬาไทยและเจอโจทย์ยากหลายหน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจัดหาลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาให้ชาวไทยได้ชมตามกฎหมาย
- ประเด็นล่าสุดในปี 2566 ดร. ก้องศักด ต้องออกมาตอบคำถามเรื่อง เกมอุ่นเครื่องระหว่าง เลสเตอร์ ซิตี้ พบ ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ส ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ถูกยกเลิก หลังฝนตกหนัก จนสภาพสนามไม่พร้อมแข่งขัน
วงการกีฬาของประเทศใดประเทศหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้ หนึ่งในปัจจัยสำคัญก็คือ องค์กรกีฬาในประเทศนั้นต้องมีความพร้อมในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการกีฬาในประเทศ
สำหรับประเทศไทยแล้วหนึ่งในองค์กรกีฬาที่มีความสำคัญในการพัฒนากีฬาของประเทศก็ได้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทยหรือ กกท. หน่วยงานที่อยู่เคียงข้างทุกเส้นทางของนักกีฬาไทยทำหน้าที่ในการพัฒนาการกีฬาให้ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ
ตำแหน่งบริหารงานที่จะมาเป็นผู้นำของการกีฬาแห่งประเทศไทยก็คือ ‘ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย’ หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ แบบติดหูว่า ‘ผู้ว่า กกท.’ ที่ปัจจุบันมี ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. คนที่ 13 บริหารงานมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 จนถึงปัจจุบัน
โดยแม้ก่อนมารับตำแหน่งนั้น เจ้าตัวอาจจะถือได้ว่าเป็นเซอร์ไพรส์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะมาทำหน้าที่บริหารงานตรงนี้ และล่าสุดก็ได้รับการดำรงตำแหน่งผู้ว่า กกท. เป็นสมัยที่ 2
บทความนี้จะพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับดร. ก้องศักด หนึ่งในบุคคลสำคัญผู้ที่จะกำหนดทิศทางของวงการกีฬาไทย
โปรไฟล์ไม่ธรรมดา
ดร.ก้องศักด ยอดมณี มีชื่อเดิมคือ พงษ์ศักดิ์ ยอดมณี เป็นบุตรของ ดร.สุวิทย์ ยอดมณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับคุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี บุตรสาวของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ทำให้ ดร.ก้อง มีศักดิ์เป็นหลานชายของจอมพลถนอม
ด้านการศึกษาดร.ก้องศักด จบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ2) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นไปเรียนต่อจนจบปริญญาโทด้านกฎหมายพาณิชย์จากมหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ และจบปริญญาเอกด้านการจัดการกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ด้านการทำงาน ดร.ก้องศักด เริ่มต้นจากการเป็นนักกฎหมาย ทำงานจนได้รับการเลื่อนขั้นเป็นหัวหน้านิติกรหรือผู้บริหารฝ่ายกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี 2550
นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์ในสายการเมือง เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในยุคการบริหารงานของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในยุคนายกรณ์ จาติกวณิช ดำรงค์ตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี เป็นเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษา
ดร.ก้องศักด ยอดมณี ยังเคยลงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของกรุงเทพมหานครในนามพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งประสบการณ์ในการบริหารงานในองค์กรเอกชนอย่างบริษัท สุธาดิลก และบริษัท สุพงศา เรียกได้ว่าเจ้าตัวนั้นมีประสบการณ์ทำงานทั้งกับทางภาครัฐและเอกชน
ขึ้นเป็นผู้นำวงการกีฬาไทยในวัย 45 ปี
อย่างที่ทราบกันไปแล้วครับว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือกกท. นั้นเป็นหน่วยงานสำคัญสำหรับการพัฒนาวงการกีฬาของประเทศไทย ด้วยพันธกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศ กีฬาอาชีพ เพื่อเสาะแสวงหาและพัฒนานักกีฬาของประเทศไทยให้ไปประสบความสำเร็จในการแข่งขันระดับนานาชาติ
รวมทั้งยังต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการกีฬาภายในประเทศให้มีมาตรฐาน การสนับสนุนในการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับนักกีฬา รวมทั้งจัดกิจกรรมและการแข่งขันในระดับต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสและประสบการณ์ให้กับนักกีฬา และสร้างความตื่นตัวให้ประชาชนในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี
ด้วยภาระความรับผิดชอบหรือพันธกิจขององค์กรที่มีมิติที่หลากหลายและถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกระดูกสันหลังสำคัญของการพัฒนาวงการกีฬาไทย ผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรนั้นจะต้องพบกับความท้าทายมหาศาล การที่จะต้องทำงานร่วมกับผู้นำของสมาคมกีฬาต่าง ๆ ถือว่าไม่ใช่งานง่ายเลยหากไม่มีวิสัยทัศน์และฝีมือการบริหารที่ดี
ดร.ก้องศักด ยอดมณี ก่อนหน้าที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้ว่า กกท. ก็เคยมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการกีฬามาบ้าง ทั้งการเป็นคณะกรรมการบริหารสโมสรฟุตบอลราชนาวี ทำงานในสมาคมกีฬากรุงเทพมหานครและดูแลงานด้านการกีฬาสมัยเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมทั้งการพยายามผลักดันให้มีการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ในสมัยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เรียกได้ว่าแม้อาจจะไม่ได้มีประสบการณ์ในระดับการบริหารงานในสมาคมกีฬาแต่ก็ใช่ว่าจะไม่รู้จักกีฬาเอาเสียเลย
1 ตุลาคม 2561 คือวันที่ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่า กกท. อย่างเป็นทางการด้วยวัย 45 ย่างเข้า 46 ปี
เจ้าตัวเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการผลักดันให้การกีฬาแห่งประเทศไทยมีมาตรฐานตามแบบสากลได้อย่างราบรื่น โดย กกท. ในยุคของดร.ก้องศักด นั้นจะเน้นการทำงานแบบเชิงรุก และมีบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงบประมาณ งานวิจัยและงานด้านวิชาการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับวงการกีฬาไทย
ดร.ก้องศักด ยอดมณี ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนก่อนขึ้นรับตำแหน่งว่าสิ่งแรกที่จะเริ่มทำทันทีนั่นก็คือการปฏิรูปนโยบายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร และที่สำคัญที่สุดคือการเข้าไปเป็นตัวกลางในการประสานงานและแก้ไขปัญหาระหว่าง กกท.และสมาคมกีฬาแต่ละชนิดซึ่งเป็นสิ่งที่คณะกรรมการสรรหาให้ความสำคัญ เพราะหากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขก็ยากที่การกีฬาของชาติจะพัฒนาไปข้างหน้าได้
เรียกได้ว่าสิ่งที่ดร.ก้องศักด ยอดมณี ต้องดำเนินการหลังจากรับตำแหน่งผู้ว่ากกท. นั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายคนหนุ่มวัย 45 ปี ณ ขณะนั้นเป็นอย่างมาก
ผลงานของทัพนักกีฬาไทยในยุค ดร.ก้องศักด ยอดมณี
หากจะพูดถึงผลงานโดยภาพรวมของทัพนักกีฬาไทยแล้ว ก็คงจะต้องโฟกัสไปที่มหกรรมกีฬาอย่างโอลิมปิกเกมส์ เอเชียนเกมส์ และซีเกมส์ ซึ่งเป็นเวทีการแข่งขันที่มีหลากหลายชนิดกีฬา และการเตรียมความพร้อมของนักกีฬาเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันนั้นส่วนหนึ่งก็เป็นบทบาทของการกีฬาแห่งประเทศไทย
โดยในยุคของ ดร.ก้องศักด ยอดมณี เจ้าตัวผ่านโอลิมปิกเกมส์มาหนึ่งครั้งที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นในปี 2021 รวมทั้งกีฬาซีเกมส์ 2 ครั้งในปี 2019 ที่ประเทศฟิลิปปินส์และ 2021 (จัดการแข่งขันปี 2022) ที่ประเทศเวียดนาม
ในโอลิมปิกเกมส์นั้นนักกีฬาไทยสามารถทำผลงานได้น่าพอใจคว้ามาได้ 1 เหรียญทองจาก ‘เทนนิส’ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ในกีฬาเทควันโด และ 1 เหรียญทองแดงสำคัญจาก สุดาพร สีสอนดี ในมวยสากลหญิง เพราะประเทศไทยห่างหายเหรียญรางวัลจากกีฬามวยไปกว่า 10 ปี นับเป็นการกลับมาที่สำคัญยิ่ง
ด้านพาราลิมปิกเกมส์ ทัพนักกีฬาไทยก็สามารถคว้ามาได้ 5 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน และ 8 เหรียญทองแดง โดยกีฬาที่ยังทำผลงานได้ดีสม่ำเสมอก็คือกรีฑา บ็อคเซีย พาราแบดมินตัน ฟันดาบวีลแชร์ เทเบิลเทนนิส และเทควันโด
นอกจากนี้ ในยุคของ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ยังให้ความสำคัญกับมหกรรมกีฬาอย่างเวิลด์เกมส์ (World Games) ที่ล่าสุดในการแข่งขันเวิลด์เกมส์ 2022 ที่เบอร์มิงแฮม ประเทศสหรัฐอเมริกา ทัพนักกีฬาไทยคว้ามาได้ 4 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดง
โดยเป็นผลงานของมวยไทย ยิวยิตสู และเปตอง เป็นผลงานที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ที่ประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันในปี 1981 โดย ดร.ก้องศักด ยังให้ความสนใจที่จะเสนอประเทศไทยให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬานี้ในอนาคต เพราะจากที่ไปดูงานจัดการแข่งขันมาแล้วดร.ก้องศักด เชื่อว่าประเทศไทยมีมาตรฐานที่จะจัดการแข่งขันได้
ด้านกีฬาซีเกมส์ทั้ง 2 ครั้งนั้น หากมองกันโดยรวมแล้ว หลายชนิดกีฬาก็สามารถทำผลงานได้ดีขึ้น แต่ก็มีอีกหลายชนิดกีฬาที่ต้องการการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ มากกว่านี้ และปัญหาที่สำคัญคือในซีเกมส์ 2 ครั้งหลังสุดหากนับเฉพาะกีฬาที่เป็นสากลแล้ว เรายังเป็นรองชาติเพื่อนบ้านอยู่บ้าง
สิ่งนี้ทำให้ กกท. ต้องเร่งหารือกับสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยในแต่ละชนิดกีฬาว่า จะต้องมีแนวทางในการพัฒนาต่อไปอย่างไร
ด้านปัญหาของสมาคมกีฬานั้นก็มีทั้งเรื่องน่ายินดีและเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข อย่างในกรณีของสมาคมยิงปืนแห่งประเทศไทยที่มีปัญหากันมานานจนการกีฬาแห่งประเทศไทยต้องไปดำเนินการส่งนักกีฬาแข่งขัน แต่ในซีเกมส์ครั้งล่าสุดเมื่อช่วงกลางปี 2022 สมาคมยิงปืนก็กลับมาส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันเอง นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ปัญหาที่สะสมมาน่าจะคลี่คลายโดยเร็ววัน
ด้านปัญหาการเบิกจ่ายระหว่างสมาคมกีฬาและการกีฬาแห่งประเทศไทยที่มีความล่าช้าเป็นอย่างมากนั้น ล่าสุดในการประชุมสรุปผลการดำเนินงานประจำปี 2565 และแผนดำเนินการปี 2566 ตามยุทธศาสตร์สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย ที่โรงแรมแกรนด์ โฟร์วิง คอนเวนชั่น เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ที่ผ่านมานั้น ดร.ก้องศักด ก็ให้คำมั่นกับสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยว่าจะเร่งประสานงานดำเนินการแก้ไขให้อย่างเร็วที่สุด หากทำไม่ได้ก็พร้อมที่พิจารณาตัวเอง
เป้าหมายแห่งอนาคต กับการนั่งผู้ว่าฯ อีกสมัย
ดร.ก้องศักด ยอดมณีในฐานะผู้ว่ากกท. ที่ได้รับการต่อวาระออกไปเป็นสมัยที่ 2 จะทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนการกีฬาแห่งประเทศไทย โดยมีเป้าหมายด้านการบริหารจัดการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศในระยะสั้นและระยะกลางว่าทัพนักกีฬาทีมชาติไทยจะต้องติดอันดับ 1-7 ของกีฬาเอเชียนเกมส์และเอเชียนพาราเกมส์ ขณะที่ในระดับโอลิมปิกเกมส์ เราต้องได้เหรียญเป็นอันดับที่ 1-6 ของทวีปเอเชีย
ขณะที่นโยบายด้านการบริหารจัดการกีฬาอาชีพนั้นก็มีเป้าหมายว่าบุคลากรและนักกีฬาจะต้องสามารถยึดกีฬาเป็นอาชีพได้อย่างยั่งยืน โดยควรมีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดและเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 5 ต่อปี รวมทั้งต้องสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาและกิจกรรมกีฬาต่าง ๆ ในทุกระดับ ให้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างน้อยร้อยละ 5 ต่อปี นี่คือเป้าหมายหลักของการกีฬาแห่งประเทศไทยภายใต้การบริหารงานของดร.ก้องศักด ยอดมณี ในอีก 4 ปีนับจากนี้
ความท้าทายลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก
ล่าสุด (11 พฤศจิกายน 2565) ดร.ก้องศักด ยอดมณี ออกมายอมรับว่า ยังไม่สามารถที่จะยืนยันได้ว่าประเทศไทยจะได้ลิขสิทธิ์ในการรับชมฟุตบอลโลกในครั้งนี้หรือไม่ หลังจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อนุมัติเงินงบประมาณจำนวน 600 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจากคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) นำไปซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 จากประเทศกาตาร์เพื่อมาให้แฟนกีฬาชาวไทยได้รับชมกัน
แต่จำนวนเงินดังกล่าวยังไม่เพียงพอกับค่าลิขสิทธิ์ที่ทางตัวแทนฟีฟ่านำเสนอมาที่ราคา 1,600 ล้านบาท ทำให้ในขณะนี้ทางคณะทำงานต้องร่วมกันขอความร่วมมือจากภาคเอกชนเพื่อมาร่วมลงทุนในการซื้อลิขสิทธิ์ครั้งนี้ รวมทั้งต่อรองราคากับทางฟีฟ่าอยู่
ซึ่งก็ไม่สามารถยืนยันหรือรับปากได้ว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด เพราะภาคเอกชนเองก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะรวบรวมได้เท่าไหร่ แม้จะมีหลายรายให้ความสนใจ
นอกจากนี้ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ได้เผยถึงสาเหตุที่ไม่ใช้เงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติในการซื้อลิขสิทธิ์ว่าเงินกองทุนงบประมาณปี 2566 มีประมาณ 5 พันล้านบาทซึ่งได้ทำการจัดสรรให้สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยไปเพื่อดำเนินการสนับสนุนนนักกีฬาและจัดการแข่งขันของแต่ละสมาคมไปแล้ว
ด้านกับสมาคมกีฬาจังหวัดนั้นก็มีแผนปฏิบัติงานที่ได้รับเห็นชอบจากกระทรวงการคลังแล้ว ถ้าจะเอาส่วนนี้มาใช้ ต้องปรับแผนต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข เรียกได้ว่านี่คืองานชิ้นใหญ่เลยก็ว่าได้
นี่คือเรื่องราวของ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่มีเป้าหมายจะพัฒนาวงการกีฬาไทยให้ไปสร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติ เราต้องมาร่วมกันเป็นกำลังใจให้แผนงานที่วางไว้สำเร็จเพื่ออนาคตที่ดีของวงการกีฬาไทย
Update 23 ก.ค. 2566 - กองบรรณาธิการ: การกีฬาแห่งประเทศไทย และผู้ว่าการ ถูกตั้งคำถามอีกครั้งหลังสภาพสนามราชมังคลากีฬาสถานไม่พร้อมใช้งานสำหรับเกมอุ่นเครื่องครั้งประวัติศาสตร์ที่เลสเตอร์ ซิตี้ จะลงแข่งกับท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ส
รายงานข่าวจากสยามกีฬาอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของดร. ก้องศักด ที่ยอมรับว่า เห็นใจแฟนบอลอย่างมาก ขณะเดียวกัน ดร. ก้องศักด กล่าวยืนยันว่า สนามราชมังคลาฯ ได้รับการดูแลและซ่อมบำรุงส่วนต่าง ๆ ทุกปี ระบบระบายน้ำยังสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ดร. ก้องศักด ให้ข้อมูลเพิ่มเรื่องอายุการใช้งานของสนามแห่งนี้ที่ใช้งานมากกว่า 30 ปี จำเป็นต้องทบทวน(บูรณะ)ครั้งใหญ่ ที่ผ่านมา เคยปรึกษาหารือกับทางกรุงเทพมหานครแล้ว แต่ยังไม่มีข้อยุติ และยังมีแผนดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน งบประมาณที่ใช้เชื่อว่ามากกว่าร้อยล้านบาท
เรื่อง: ธิษณา ธนคลัง (แฟนพันธุ์แท้เอเชียนเกมส์).
เอกสารอ้างอิง: แผนยุทธศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศไทย (2565-2570).
ข้อมูลอ้างอิง: ก้องศักด ยอดมณี บทพิสูจน์เก้าอี้ผู้ว่าการ กกท. มติชนออนไลน์ 21 กันยายน 2561