มองจุดเปลี่ยนของเกาหลีใต้ จากทีมระดับเอเชีย สู่ระดับโลก ทีมชาติไทยทำอะไรอยู่บ้าง?

มองจุดเปลี่ยนของเกาหลีใต้ จากทีมระดับเอเชีย สู่ระดับโลก ทีมชาติไทยทำอะไรอยู่บ้าง?

ฟุตบอลทีมชาติเกาหลีใต้ในอดีต เคยเป็นทีมที่มีฝีเท้าดีในระดับเอเชีย แต่มีจุดเปลี่ยนที่ทำให้พวกเขาก้าวข้ามทีมระดับเอเชีย รวมถึงไทย ไปเล่นฟุตบอลโลก ดวลกับทีมระดับยุโรปและอเมริกาใต้แบบไม่เป็นรอง

  • ทีมชาติเกาหลีใต้ในเวลานี้คือทีมระดับแถวหน้าของเอเชียที่ไปเล่นระดับโลก ต่อกรกับทีมระดับยุโรปและอเมริกาใต้แบบไม่เป็นรองมากนัก
  • เกาหลีใต้เมื่อ 3-4 ทศวรรษก่อนยังอยู่ในช่วงพัฒนา และมีระดับใกล้เคียงกับทีมชาติไทย หากอิงจากผลงานในรายการที่พบกัน
  • กระทั่งยุค 80s ที่เกาหลีใต้ เริ่มทิ้งระยะห่างจากทีมชาติไทยออกไป มีนักเตะที่ก้าวสู่ระดับเอเชียและระดับโลกมากมาย

การแข่งขันฟุตบอลฟีฟ่า เวิลด์ คัพ (FIFA World Cup) หรือ ฟุตบอลโลก ในปี 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ทีมชาติจากทวีปเอเชียหลายทีมสามาถทำผลงานได้ดีเกินความคาดหมาย มีทีมที่ชนะอดีตแชมป์โลกได้ถึง 2 เกม เริ่มจากทีมชาติซาอุดิอาระเบีย ที่สามารถเอาชนะทีมชาติอาร์เจนติน่าแชมป์โลก 2 สมัยได้ 2-1 ตามติดมาด้วยทีมชาติญี่ปุ่นที่ชนะทีมแชมป์โลก 4 สมัยอย่างเยอรมนีได้ด้วยสกอร์เดียวกัน

และก็เช่นเดียวกับคู่ของทีมชาติเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นขาประจำในฟุตบอลโลกก็สามารถสู้กับทีมชาติอุรุกวัย อดีตแชมป์โลก 2 สมัยได้อย่างสนุก ฟอร์มการเล่นที่แน่นอน ดุดันตลอดทั้งเกมการแข่งขันทำให้เกาหลีใต้สามารถเสมอกับอุรุกวัยไปได้ 0-0 แบ่งกันไปทีมละ 1 คะแนน

อัปเดต: เกาหลีใต้ พลิกสถานการณ์ในเกมนัดสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่ม ด้วยการชนะโปรตุเกส (ซึ่งการันตีตั๋วรอบ 16 ทีมสุดท้ายในมือแล้ว) ด้วยสกอร์ 2-1 จบเป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม ได้ตั๋วเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายตามหลังโปรตุเกส (อุรุกวัยจบอันดับ 3 ของกลุ่มเพราะประตูรวมที่ทำได้ในรอบแบ่งกลุ่มน้อยกว่าเกาหลีใต้)

ทีมชาติเกาหลีใต้ถือว่า เป็นทีมที่แฟนฟุตบอลไทยต่างคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดี ในยุคหนึ่ง ทีมจากประเทศเกาหลีใต้เดินทางมาแข่งขันฟุตบอลในประเทศไทยเป็นประจำ ทั้งฟุตบอลระดับนานาชาติอย่างถ้วยพระราชทานคิงส์คัพหรือจะเป็นการแข่งขันในระดับสโมสรอย่างถ้วยพระราชทานควีนส์คัพที่มีทีมระดับมหาวิทยาลัยอย่าง ม.ฮานยาง มาเอาชนะสโมสรต่าง ๆ ของไทยเป็นว่าเล่น

(คลิกอ่านเรื่อง เส้นทางซามูไร กว่าญี่ปุ่นจะเฉิดฉายในฟุตบอลโลก พวกเขาทำอะไรบ้าง มีใครอยู่เบื้องหลัง? จากที่นี่)

หรือในช่วงยุค 80s ยอดนักเตะทีมชาติไทยอย่าง ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ไปเล่นฟุตบอลอาชีพกับสโมสรลักกี้ โกลด์สตาร์ ในศึกเค ลีก (K League) ของประเทศเกาหลีใต้ รวมทั้งทีมชาติไทยกับทีมชาติเกาหลีใต้ก็ลงสนามพบกันบ่อยครั้งในการแข่งขันอย่างเป็นทางการอย่างศึกชิงแชมป์เอเชียหรือเอเอฟซี เอเชียน คัพ (AFC Asian Cup) การแข่งขันฟุตบอลในมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ (Asian Games) การแข่งขันฟุตบอลปรี-โอลิมปิก และการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก

โดยผลการแข่งขันก็แน่นอนว่าเป็นทีมชาติเกาหลีใต้ที่ทำผลงานได้ดีกว่าทีมชาติไทยมาโดยตลอด แต่ก็มีหลายครั้งที่ทีมชาติไทยก็สามารถทำให้ทีมชาติเกาหลีใต้ต้องสะอึกเช่นกัน

นอกจากนี้ ในอดีตทีมชาติเกาหลีใต้จะให้ความสำคัญกับการลงสนามแข่งขันกับทีมในภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย เพราะนอกจากฟุตบอลรายการหลักหรือรายการเมเจอร์ที่จัดโดยสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า (FIFA) และสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียหรือเอเอฟซี (AFC) แล้ว ทีมชาติเกาหลีใต้ก็มักมาเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลรายการกระชับมิตรของชาติต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ

ไม่ว่าจะเป็นศึกฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์ คัพ (King's Cup) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ รายการเมอร์เดกา ทัวร์นาเมนต์ (Merdeka Tournament) ของประเทศมาเลเซีย รายการฉลองเอกราชเวียดนามใต้ หรือเซาท์ เวียดนาม อินดิเพนเดนท์ คัพ (South Vietnam Independence Cup) รายการจาการ์ตา แอนนิเวอร์ซารี ทัวร์นาเมนต์ (Jakarta Anniversary Tournament) และ อินโดนีเซีย อินดิเพนเดนท์ คัพ สองรายการระดับนานาชาติของประเทศอินโดนีเซีย

ฟุตบอลรายการเหล่านี้มักจะมีทีมชาติเกาหลีใต้ชุดต่าง ๆ มาร่วมแข่งขันด้วยทั้งสิ้นไม่ว่าเป็นทีมชาติชุดใหญ่ ทีมชาติชุดบี หรือทีมชาติชุดปรี-โอลิมปิก

นอกจากนี้ รายการอย่างโคเรีย เพรสซิเดนท์ คัพ หรือที่คุ้นกันในชื่อเพรสซิเดนท์ ปาร์ค คัพ (President Park's Cup) ฟุตบอลรายการนานาชาติของประเทศเกาหลีใต้ก็มักจะเชิญทีมชาติไทยและทีมชาติในภูมิภาคเอเชียเข้าร่วมการแข่งขันบ่อยครั้งในอดีต

เมื่อกาลเวลาผ่านไปทีมชาติเกาหลีใต้สามารถเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกได้อย่างสม่ำเสมอ แต่ทีมชาติไทยและทีมชาติในอาเซียนเองก็ยังไม่เคยได้ไปสัมผัสกับฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเลยสักครั้ง

ทีมชาติเกาหลีใต้พัฒนาตัวเองไปสู่ระดับโลกจนสามารถคว้าอันดับที่ 4 มาครองได้ในปี 2002 ที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพร่วมกัน แม้ผลงานในครั้งนั้นจะมีเสียงวิจารณ์ตามมามากมายจากเรื่องข้อผิดพลาดของการตัดสิน แต่ในภายหลังทีมชาติเกาหลีใต้เองก็สามารถพัฒนาและยกระดับทีมชาติของตัวเองได้อย่างยั่งยืน

ทีมชาติเกาหลีใต้สามารถเอาชนะทีมชาติเยอรมนี แชมป์โลก 4 สมัยได้ในฟุตบอลโลก 2018 หรือแม้แต่ล่าสุดที่สามารถเสมอกับอดีตแชมป์โลก 2 สมัยอย่างอุรุกวัย ด้วยคุณภาพเกมที่สู้ได้ อีกทั้งยังมีนักฟุตบอลของทีมชาติเกาหลีใต้มากมายที่ค้าแข้งอยู่ในฟุตบอลลีกชั้นนำของโลก เรียกได้ว่าทีมชาติเกาหลีใต้ได้สร้างผลงานแลพัฒนาทีมชาติของตัวเองห่างไกลออกไปจากทีมชาติไทยทุกที

บทความนี้จะพาทุกท่านไปเปรียบเทียบพัฒนาการของทีมชาติเกาหลีใต้กับทีมชาติไทยกันครับว่าในแต่ละช่วงเวลานั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง

 

ยุค 1950-1960: เริ่มต้นของฟุตบอลเอเชีย ทีมชาติเกาหลีใต้ไปฟุตบอลโลก ทีมชาติไทยไปโอลิมปิก

ในช่วงปี 1950-1960 เป็นช่วงเวลาที่การแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติได้เริ่มพัฒนาและขยายขอบเขตออกมาไม่ใช่เพียงแค่ในทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาใต้เท่านั้น ทวีปเอเชียเองที่ก่อนหน้านี้ก็จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกและฟุตบอลโอลิมปิกรอบคัดเลือกเพื่อหาตัวแทนของทวีปไปทำการแข่งขัน 2 รายการดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จึงเริ่มให้มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียหรือเอเอฟซี เอเชียน คัพ (AFC Asian Cup) ขึ้นในปี 1956 ควบคู่ไปกับการแข่งขันฟุตบอลในกีฬาเอเชียนเกมส์ที่เริ่มขึ้นในปี 1951

ปี 1954 ทีมชาติเกาหลีใต้ลงทำการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก โดยโควตาของทวีปเอเชียในขณะนั้นคือ 1 ทีม ซึ่งในรอบคัดเลือกทีมชาติเกาหลีใต้อยู่ร่วมสายเดียวกับญี่ปุ่น ไต้หวัน อินเดีย และเวียดนามใต้ ก่อนที่จะมีการถอนตัวจนเหลือแต่เพียงทีมชาติญี่ปุ่นทีมเดียวเท่านั้นที่จะมาแย่งสิทธิ์ในการเข้าร่วมฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

และผลการแข่งขันในรอบคัดเลือกก็เป็นทีมชาติเกาหลีใต้ที่มีชัยชนะเหนือทีมชาติญี่ปุ่นไปอย่างขาดลอย ทำให้สามารถคว้าสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกได้เป็นสมัยแรก ซึ่งหลังจากนั้นทีมชาติเกาหลีใต้ก็เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลในเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 2 ที่ประเทศฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพ ก่อนจะไปคว้าเหรียญเงินมาครองได้ โดยรอบชิงชนะเลิศเกาหลีใต้พ่ายแพ้ให้ทีมชาติไต้หวัน

หลังจากนั้น ทีมชาติเกาหลีใต้ก็เดินจากไปเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลก 1954 ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งทีมชาติเกาหลีใต้ในศึกฟุตบอลโลกสมัยแรกก็ต้องเจอศึกหนักเมื่อต้องอยู่ร่วมสายกับทีมชาติเยอรมันตะวันตก ฮังการี และตุรกี

โดยในยุคนั้นจะลงสนามแบบกลุ่มละ 2 นัด โดยนัดแรกบนเวทีฟุตบอลโลกของทีมชาติเกาหลีใต้ก็ต้องโคจรมาพบกับทีมชาติฮังการีที่นำโดย เฟเรนซ์ ปุสกัส สุดยอดกองหน้าจอมถล่มประตูแห่งยุคและทีมชาติฮังการีก็คือหนึ่งในตัวเต็งของฟุตบอลโลกในครั้งนั้นอีกด้วย

แน่นอนครับ ทีมชาติเกาหลีใต้ไม่สามารถสู้ทีมชาติฮังการียุคนั้นได้เลย และโดนถล่มไปถึง 0-9 ก่อนที่ในนัดต่อมากับตุรกีก็โดนถล่มยับไม่แพ้กันเมื่อทีมชาติเกาหลีใต้ พ่ายทีมชาติตุรกีไป 0-7

สรุปว่าฟุตบอลโลกครั้งแรกของเกาหลีใต้ลงสนาม 2 นัด โดนถล่มไป 16 ประตูและไม่สามารถยิงประตูได้เลย ฟุตบอลโลกในครั้งนั้นคือบทเรียนสำคัญของทีมชาติเกาหลีใต้

ในช่วงปี 1950-1954 นั้น จะเห็นว่าทีมชาติไทยยังไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลรายการสำคัญในระดับเอเชียเลย ทั้งฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกหรือแม้แต่การแข่งขันฟุตบอลในกีฬาเอเชียนเกมส์ 2 ครั้งแรกในปี 1951 และ 1954 ทีมชาติไทยก็ยังไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน รวมทั้งการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียหรือรายการเอเอฟซี เอเชียน คัพ ครั้งแรกที่จัดขึ้นในปี 1956 ที่ฮ่องกง ทีมชาติไทยก็ไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน

ขณะที่ทีมชาติเกาหลีใต้หลังจากกลับมาจากฟุตบอลโลกปี 1954 ก็เอาประสบการณ์มาพัฒนาทีมชาติของตนจนสามารถคว้าแชมป์เอเอฟซี เอเชียน คัพ 1956 ไปครองได้เป็นชาติแรกของทวีปเอเชีย

ทีมชาติไทยในยุคนั้นเน้นและให้ความสำคัญกับการแข่งขันฟุตบอลปรีโอลิมปิกหรือก็คือการแข่งขันฟุตบอลโอลิมปิกรอบคัดเลือกมากกว่า จนในปี 1956 ทีมชาติไทยก็สามารถเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ได้เป็นครั้งแรกที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

ในขณะที่ทีมชาติเกาหลีใต้พลาดโอกาสในการเข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ไปอย่างหน้าเสียดาย เมื่อในรอบคัดเลือกผลัดกันแพ้ชนะกับทีมชาติญี่ปุ่น แต่ต้องตกรอบเพราะการจับสลาก

สำหรับผลงานของทีมชาติไทยในโอลิมเกมส์ครั้งแรกก็ไม่ต่างจากทีมชาติเกาหลีใต้ในฟุตบอลโลกมากนักเพราะก็ไปโดนทีมสหราชอาณาจักรถล่มขาดลอย 0-9

ในปี 1957 ประเทศมาเลเซียได้จัดให้มีการแข่งขันฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาวงการฟุตบอลในภูมิภาคนี้ และทีมชาติไทยก็เข้าร่วมแข่งขันในรายการดังกล่าว แต่ก็ทำผลงานได้ไม่ดีนัก ขณะที่เกาหลีใต้เริ่มมาเข้าร่วมการแข่งขันในปี 1959 และในปีถัดมาก็สามารถคว้าแชมป์ไปครองร่วมกับทีมชาติมาเลเซียเจ้าบ้านได้

นอกจากนี้ ทีมชาติเกาหลีใต้ก็เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลในระดับทวีปอย่างต่อเนื่อง ในปี 1958 ทีมพลังโสมสามารถคว้าเหรียญเงินฟุตบอลชายในเอเชียนเกมส์ได้อีกครั้ง และในปี 1960 ทีมชาติเกาหลีใต้ก็สามารถป้องกันแชมป์รายการเอเอฟซี เอเชียน คัพเอาไว้ได้ ทำให้ทีมชาติเกาหลีใต้ขึ้นเป็นเจ้าเอเชียโดยสมบูรณ์ ณ เวลานั้น

ขณะที่ทีมชาติไทยไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันในสองรายการดังกล่าว แต่ก็ถูกทดแทนด้วยการคว้าเหรียญเงินในกีฬาแหลมทองหรือกีฬาซีเกมส์ในปัจจุบัน (ในยุคนั้นยังใช้ทีมชาติชุดใหญ่ลงทำการแข่งขันและรับรองผลการแข่งขันโดยฟีฟ่า)

ในยุค 1950-1960 นี้จะเห็นได้ว่าทีมชาติเกาหลีใต้นั้นเน้นให้ความสำคัญกับการแข่งขันฟุตบอลรายการหลักในระดับทวีปเอเชียทั้งรายการเอเอฟซี เอเชียน คัพและเอเชียนเกมส์ รวมทั้งรอบคัดเลือกของศึกรายการระดับโลกต่าง ๆ ทำให้เกาหลีใต้มีผลงานและพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง หลังจากไปร่วมการแข่งขันในฟุตบอลโลก 1954 มา

ขณะที่มีชาติไทยเองยังไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันรายการในระดับทวีปอย่างจริงจังนัก อาจจะด้วยปัญจัยทางด้านเศรษฐกิจและการเงินในยุคนั้นที่สมาคมฟุตบอลเองก็ไม่ได้มีสภาพคล่องมากนัก ขนาดทีมฟุตบอลชุดโอลิมปิกเกมส์ที่ไปเข้าร่วมการแข่งขันที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ยังไม่สามารถนำนักกีฬาและทีมงานไปแบบเต็มอัตราศึกได้ ทำให้หลังจากกลับมาจากโอลิมปิกเกมส์ 1956 ทีมชาติไทยก็ยังไม่มีพัฒนาการที่ต่อเนื่องนัก

ชา บุน กุน นักฟุตบอลชาวเกาหลีใต้ในเกมลีกเยอรมนี ยุค 80s

ยุค 1961-1985: สร้างรากฐานระดับเอเชียก่อนไปเวทีโลก

ทีมชาติเกาหลีใต้มีนโยบายที่จะสร้างรากฐานฟุตบอลในระดับเอเชียก่อน โดยเกาหลีใต้นอกจะเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลรายการหลัก และเน้นสร้างผลงานในรายการระดับดังกล่าวแล้ว ยังส่งทีมชาติของตนเองเข้าร่วมการแข่งขันรายการกระชับมิตรของชาติในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง

รายการอย่างเมอร์เดกา ทัวร์นาเมนต์และฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์ คัพ ถือว่าเป็นรายการประจำปีที่ทีมชาติเกาหลีใต้ต้องมาเข้าร่วมทำการแข่งขัน

นอกจากนี้ในปี 1971 เกาหลีใต้ก็จัดการแข่งขันรายการโคเรีย เพรสซิเดนท์ คัพ หรือเพรสซิเดนท์ ปาร์ค คัพ ขึ้นโดยนอกจากจะเชิญทีมชาติชุดใหญ่ของชาติในเอเชียอย่างไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า ไปเข้าร่วมการแข่งขันอยู่เป็นประจำแล้ว เกาหลีใต้ยังเชิญสโมสรชั้นนำของโลกมาร่วมทำการแข่งขันด้วยเช่น พีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น (PSV Eindhoven) จากเนเธอร์แลนด์ ไบเออร์ 04 เลเวอร์คูเซ่น (Bayer 04 Leverkusen) จากเยอรมนี รวมถึงสโมสรเซาเปาโล (São Paulo) ของบราซิลที่มักส่งทีมชุดเยาวชนมาร่วมการแข่งขัน รวมทั้งการเชิญทีมชาตินอกทวีปอย่างสหรัฐอเมริกา และกาน่า มาสร้างประสบการณ์ให้ทีมชาติของตัวเอง

ฟุตบอลรายการเพรสซิเดนท์ ปาร์ค คัพ นอกจากจะสร้างเสริมประสบการณ์ให้กับทีมชาติเกาหลีใต้หรือสโมสรของเกาหลีใต้แล้ว ยังเป็นเวทีสำหรับเปิดโอกาสให้นักฟุตบอลเกาหลีใต้ได้โชว์ฝีเท้าเพื่อไปเล่นฟุตบอลอาชีพในต่างประเทศได้ ซึ่งตัวอย่างก็ได้แก่ ชา บุม กุน (Cha Bum-Kun) ยอดกองหน้าของเกาหลีใต้ ที่โชว์ฟอร์มได้น่าประทับใจทีมงานและแมวมองของสโมสรไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต 2 จากเยอรมันตะวันตก ที่มาร่วมทำการแข่งขันรายการดังกล่าวในปี 1978

นำมาสู่การเชิญ ชา บุม กุน ให้ไปทำการทดสอบฝีเท้าที่ประเทศเยอรมันตะวันตกจนได้รับการเซ็นสัญกับสโมสรดาร์มสตัดท์ 98 (Darmstadt 98) ก่อนจะย้ายมาสร้างชื่อกับสโมสรไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต (Eintracht Frankfurt) ในศึกบุนเดสลีกา ช่วงปี 1979-1983 จากนั้นจึงย้ายไปสโมสรไบเออร์ 04 เลเวอร์คูเซ่น ในปี 1983-1989 ลงเล่นไปกว่า 300 นัดและยิงไป 98 ประตูบนแผ่นดินเยอรมัน

ขณะที่โครงสร้างของฟุตบอลภายในประเทศเกาหลีใต้ก็เริ่มจัดการแข่งขันฟุตบอลเค ลีก (K League) ในปี 1983 ก่อนฟุตบอลไทยลีกถึง 13 ปี โดยฟุตบอลเคลีก ถือว่า เป็นลีกที่แข่งแกร่ง จริงจัง มีระบบการฝึกซ้อมแบบทีมอาชีพอย่างในทวีปยุโรป

สโมสรอย่างแดวู รอยัล (Daewoo Royals) หรือก็คือสโมสรปูซาน ไอพาร์ค (Busan IPark) ในปัจจุบันที่เป็นแชมป์ลีกในปี 1984 ก็สามารถก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์สโมสรเอเชีย หรือเอเชียน คลับ แชมเปียนชิพ (Asian Club Championship) ได้ในปีถัดมา

การวางรากฐานของวงการฟุตบอลเกาหลีใต้มาอย่างต่อเนื่องทำให้ทีมชาติเกาหลีใต้ยังสามารถรักษามาตรฐานผลงานในระดับทวีปเอเชียได้ แม้ในช่วงปี 1970 ประเทศจากกลุ่มอาหรับ ไม่ว่าจะเป็นอิหร่าน อิรัก คูเวต และซาอุดิอาระเบีย จะเริ่มพัฒนาและสร้างผลงานนระดับเอเชียได้อย่างน่ากลัว แต่ทีมชาติเกาหลีใต้ก็ยังคงสามารถรับมือได้

ช่วงระหว่างปี 1961-1985 ทีมชาติเกาหลีใต้แม้จะเสียตำแหน่งแชมป์เอเอฟซี เอเชียน คัพ ให้กับอิสราเอล อิหร่าน คูเวต และซาอุดิอาระเบีย แต่ก็สามารถคว้ารองแชมป์มาได้ 2 สมัย (1972 และ 1980) รวมทั้งได้อันดับที่ 3 อีกหนึ่งสมัยในปี 1964

ในยุคนี้ เกาหลีใต้รวมทั้งทุกชาติในเอเชียต่างก็ให้ความสำคัญกับการแข่งฟุตบอลเอเชียนเกมส์ไม่ต่างจากรายการเอเอฟซี เอเชียน คัพ เกาหลีใต้สามารถคว้าเหรียญทองได้เป็นครั้งแรกในปี 1970 ก่อนจะมาคว้าแชมป์สมัยที่สองได้ใน 1978

โดยในปีนี้ทีมชาติเกาหลีใต้ไม่มี ชา บุม กุน ยอดกองหน้าที่อยู่ระหว่างการไปทดสอบฝีเท้าที่ประเทศเยอรมันตะวันตก แต่ผู้เล่นที่เหลือก็สามารถนำพาทีมพลังโสมไปสู่ความสำเร็จได้ ซึ่งนโยบายเน้นการวางรากฐานในระดับเอเชียของทีมชาติเกาหลีใต้ รวมทั้งการจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติและฟุตบอลลีกให้แข็งแกร่งก็ส่งให้เกาหลีใต้สามารถผ่านเข้าสู่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 1986 ที่ประเทศเม็กซิโกได้

ด้านทีมชาติไทยเองก็พยายามพัฒนาตัวเองขึ้นมาเช่นกันในช่วงปี 1960-1974 ทีมชาติไทยยังคงเป็นรองทีมในภูมิภาคอาเซียนอยู่พอสมควรโดยเฉพาะเมียนมาและมาเลเซีย โดยทีมชาติไทยสามารถคว้าแชมป์ระดับนานาชาติได้เพียงครั้งเดียว คือการได้เหรียญทองกีฬาแหลมทองหรือเซียพเกมส์ (SEAP Games) ในปี 1965 เท่านั้น แต่ไทยก็สามารถผ่านเข้าสู่การแข่งขันฟุตบอลในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ได้เป็นสมัยที่สองในปี 1968 ที่ประเทศเม็กซิโกเป็นเจ้าภาพ แต่ก็ไม่สามารถผ่านด่านหินอย่างเชกโกสโลวะเกีย บัลแกเรีย และกัวเตมาลาได้

ทีมชาติไทยสามารถขึ้นครองเจ้าอาเซียนได้โดยคว้าเหรียญทองเซียพเกมส์และซีเกมส์ได้เพิ่มอีก 4 สมัยในปี 1975, 1981, 1983 และปี 1985 แต่ด้วยความที่โครงสร้างฟุตบอลภายในประเทศเป็นเพียงระบบทัวร์นาเมนต์ไม่ได้มีฟุตบอลลีกอาชีพที่จริงจัง ทำให้พัฒนาการไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง นักฟุตบอลทีมชาติไทยในช่วงเวลานั้นจะเป็นแบบสมัครเล่นเสียมากกว่า นักกีฬาจะมีรายได้จากการเล่นฟุตบอลและทำงานให้หน่วยงานที่ตัวเองสังกัดทั้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่เป็นธนาคาร

แม้ประเทศไทยจะมีนักฟุตบอลอย่าง วิทยา เลาหกุล ที่สามารถไปเล่นฟุตบอลอาชีพกับสโมสรแฮร์ธ่า เบอร์ลิน (Hertha BSC) และเอฟซี ซาบรุคเค่น (1. FC Saarbrücken) ในศึกบุนเดสลีกา และบุนเดสลีกา 2 ของประเทศเยอรมันตะวันตกในช่วงปี 1979-1984 แต่การที่ประเทศไทยไม่มีลีกฟุตบอลอาชีพอย่างจริงจังก็ทำให้ประเทศไทยไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอต่อการยกระดับไปสู่เวทีที่สูงกว่าระดับภูมิภาคอาเซียนได้

ทีมชาติเกาหลีใต้ในฟุตบอลโลก 2002

ยุค 1986-2000: สร้างประสบการณ์เวทีระดับโลกอย่างต่อเนื่อง

ทีมชาติเกาหลีใต้ไม่ได้เน้นแต่ทีมชาติชุดใหญ่ และการสร้างฟุตบอลอาชีพเท่านั้น ในระดับเยาวชน ทั้งการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนอายุไม่เกิน 16 และ 19 ปี ทีมชาติเกาหลีใต้จะใช้ผู้เล่นที่มีอายุจริงลงแข่งขัน ต่างจากหลายชาติในทวีปเอเชียที่มักจะใช้ผู้เล่นอายุเกินจริงจนสามารถผ่านเข้าสู่การแข่งขันฟุตบอลเยาวชนโลกได้ แต่ก็ไม่สามารถพัฒนาต่อยอดได้ ต่างจากทีมชาติเกาหลีใต้

แม้จะผิดหวังในระดับเยาวชน พอมาเป็นในระดับโอลิมปิกเกมส์ และทีมชาติชุดใหญ่แล้ว เกาหลีใต้ก็สามารถผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายได้อย่างต่อเนื่องทุกครั้งตั้งแต่ปี 1986 จนถึงปัจจุบัน

เมื่อทีมชาติเกาหลีใต้สามารถผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายในศึกฟุตบอลโลกและฟุตบอลโอลิมปิกเกมส์ได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ก็ทำให้มีโอกาสพบกับทีมฟุตบอลชั้นนำของโลกมากมายในรายการดังกล่าว โดยในการแข่งขันฟุตบอลโลกช่วงปี 1986-1998 ทีมชาติเกาหลีใต้ที่แม้จะไม่เคยประสบกับชัยชนะเลยและตกรอบแรกมาโดยตลอด แต่ก็ทำผลงานได้ดีและยกระดับฟุตบอลของตัวเองขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง

การเสมอกับ บัลแกเรีย 1-1 (ปี 1986), เสมอ สเปน 2-2 (ปี 1994), เสมอ โบลิเวีย 0-0 (ปี 1994) และเสมอ เบลเยียม 1-1 (ปี 1998) นับเป็นผลงานที่ดีในยุคเริ่มต้นที่ทีมชาติเกาหลีใต้เริ่มก้าวเข้าสู่เวทีโลกฃ

ทีมชาติเกาหลีใต้เริ่มให้ความสำคัญกับการลงสนามเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์กับทีมระดับโลกมากขึ้น มีการเชิญทีมระดับโลกมาร่วมแข่งขันฟุตบอลนัดกระชับมิตรหรือ FIFA International Friendly Match มากมาย ขณะที่ฟุตบอลทัวนาเมนต์นานาชาติของประเทศในอาเซียน เกาหลีใต้เริ่มใช้ทีมชาติชุดบีหรือชุดโอลิมปิกมาเข้าร่วมการแข่งขันแทนเพื่อเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ดาวรุ่งหน้าใหม่

ขณะที่ในช่วงเวลาดังกล่าว ฟุตบอลทีมชาติไทยมีข่าวไม่ค่อยสู้ดีนักเมื่อผลงานในการแข่งขันฟุตบอลซีเกมส์ไม่ดีในช่วงปลายยุค 80s ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธากับทีมชาติไทย และแม้ในปี 1990 คาร์ลอส โรแบร์โต้ คาร์วัลโญ่ กุนซือชาวบราซิลจะพาทีมชาติไทยไปสร้างประวัติศาสตร์ คว้าอันดับที่ 4 ในเอเชียนเกมส์ 1990 ได้ แต่ก็กลายเป็นฮีโร่ตกสวรรค์ในเวลาอันรวดเร็ว

เมื่อปีถัดมาทีมชาติไทยพ่ายจุดโทษทีมชาติอินโดนีเซีย ในรอบชิงชนะเลิศ ซีเกมส์ 1991 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ได้เพียงเหรียญเงินมาครอง

วงการฟุตบอลไทยเริ่มมาฟื้นตัวในยุคของดรีมทีม และสามารถกลับมาครองแชมป์ซีเกมส์ได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1993-1999 ซึ่งเป็นการแข่งขันของทีมชาติชุดใหญ่ที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่าให้การรับรอง และการคว้าแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน (AFF Championship) หรือชื่อตามสปอนเซอร์คือไทเกอร์ คัพ (Tiger Cup) ในปี 1996 ทำให้ทีมชาติไทยได้ชื่อว่าเป็นเจ้าอาเซียน

แต่ในระดับที่สูงกว่านั้นไม่ว่าจะเป็นเอเอฟซี เอเชียน คัพ หรือเอเชียนเกมส์ ทีมชาติไทยยังไม่สามารถสร้างผลงานที่แสดงให้เห็นถึงผลงานที่มีพัฒนาการอย่างยั่งยืนและต่อเนื่องได้

จะมีก็เพียงช่วง 1998-2000 ที่ทีมชาติไทยได้กุนซือชาวอังกฤษอย่าง ปีเตอร์ วิธ มาคุมทีมและก็สร้างประวัติศาสตร์พาทีมชาติไทยคว้าอันดับที่ 4 เอเชียนเกมส์เป็นครั้งที่ 2 ในปี 1998 โดยครั้งนั้นทีมชาติไทยก็สามารถเอาชนะเกาหลีใต้ได้ 2-1 ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย เป็นนัดประวัติศาสตร์ที่ได้รับการกล่าวถึงมาจนทุกวันนี้ และชัยชนะนัดนี้ก็คือชัยชนะนัดสุดท้ายของทีมชาติไทยที่มีต่อเกาหลีใต้ภายใต้การรับรองผลการแข่งขันของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า (นับจนถึงปี 2022)

การทำทีมของปีเตอร์ วิธ ร่วมกับนักเตะทีมชาติยุคนั้นที่หลายคนก็ก้าวมาจากชุดดรีมทีมและทีมเยาวชนทำให้ผลงานในระดับภูมิภาคอาเซียน ทีมชาติไทยสามารถทิ้งห่างเพื่อนร่วมภูมิภาคได้

การคว้าแชมป์ซีเกมส์ 1999 ที่ประเทศบรูไนเป็นเจ้าภาพ และการคว้าแชมป์ศึกชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน หรือไทเกอร์ คัพในปี 2000 ส่งผลให้กระแสฟุตบอลไทยเริ่มกลับมาอีกครั้ง

นักเตะทีมชาติไทยหลายคนมีโอกาสไปเล่นยังฟุตบอลลีกอาชีพของสิงคโปร์ หรือเอสลีก (S League) ที่ ณ เวลานั้นได้รับความนิยมและเป็นมืออาชีพมากกว่าไทย ลีก (Thai League) ที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งในปี 1996

ปี 2000 ปีเตอร์ วิธ และขุนพลนักเตะทีมชาติไทยเริ่มทำผลงานได้ดีในระดับเอเชียเมื่อสามารถเสมอกับยักษ์ใหญ่อย่างอิหร่าน และเลบานอน ในศึกเอเอฟซี เอเชียน คัพ ปีนั้นได้ อีกทั้งยังผ่านเข้าสู่รอบคัดเลือกรอบสุดท้ายของทวีปเอเชียได้สำเร็จเป็นครั้งแรก และสามารถทำผลงานได้น่าพึงพอใจด้วยการเสมออิหร่าน อิรัก และบาห์เรนได้ ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทีมชาติไทยสามารถทำผลงานได้ดีขึ้นก็เนื่องมาจากนักเตะหลายคนได้มีโอกาสเล่นในฟุตบอลลีกอาชีพที่ประเทศสิงคโปร์ อีกทั้งนักเตะหลายคนก็เล่นด้วยกันมาเป็นเวลานานและอยู่ในจุดพีกพอดี

เกาหลีใต้ ในฟุตบอลโลก 2002 เกมชนะอิตาลี

ยุค 2000-ปัจจุบัน : มาตรฐานระดับโลกกับช่องว่างระหว่างทีมชาติไทย

ทีมชาติเกาหลีใต้สามารถคว้าอันดับที่ 4 ในฟุตบอลโลกปี 2002 ที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพร่วมกัน แม้จะเกิดคำวิพากษ์วิจารณ์มากมายเกี่ยวกับข้อผิดพลาดในการตัดสิน ซึ่งดูเหมือนทำให้ทีมชาติเกาหลีใต้ได้เปรียบคู่แข่งจนสร้างผลงานได้ดี แต่ก็ต้องยอมรับว่าทั้งก่อนและหลังฟุตบอลโลกในครั้งนั้น เกาหลีใต้มีการพัฒนาที่เป็นระบบอย่างต่อเนื่อง

ฟุตบอลลีกที่แข็งแกร่ง การเฟ้นหาคู่ต่อสู้ในระดับโลกมาทำการแข่งขันนัดกระชับมิตร มีนักฟุตบอลออกไปหาประสบการ์ในฟุตบอลลีกชั้นนำของโลก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทีมชาติเกาหลีใต้กลายเป็นทีมระดับโลก

นักเตะอย่าง ลี ดอง กุก (Lee Dong-gook) สามารถไปค้าแข้งกับสโมสรแวร์เดอร์ เบรเมน (Werder Bremen) ของประเทศเยอรมนีและสโมสรมิดเดิลสโบรห์ (Middlesbrough) ในประเทศอังกฤษ

อาห์น จุง ฮวาน (Ahn Jung-hwan) ที่ไปค้าแข้งกับสโมสรเปรูจา (Perugia) ในอิตาลี และสโมสรดุยส์บวร์ก (MSV Duisburg) ของเยอรมนี หรือที่โด่งดังที่สุดก็คงหนีไม่พ้น ปาร์ค จี ซอง (Park Ji-sung) ที่ประสบความสำเร็จมากมายกับยอดสโมสรอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และในปัจจุบันนี้ก็มีนักเตะเกาหลีใต้มากมายในเวทียุโรป และหนึ่งในนั้นก็คือ ซอน เฮือง มิน (Son Heung-min) ของสโมสรท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ

ขณะที่ทีมชาติไทยตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ปรับปรุงรูปแบบการจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพให้เป็นแบบ 4 ทีมและเชิญทีมชาติต่าง ๆ มาทำการแข่งขันจนถึงปี 2007 โดยทีมชั้นนำที่ส่งทีมชาติชุดใหญ่มาทำการแข่งขันและได้รับการรับรองจากทางฟีฟ่าก็ได้แก่ฟินแลนด์ สวีเดน เอสโตเนีย สโลวะเกีย ลัตเวีย คาซัคสถาน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ จีน กาตาร์ อุซเบกิสถาน อียิปต์ รวมทั้งทีมชาติบราซิลชุดใหญ่ที่มาถล่มทีมชาติไทยไปยับเยิน 0-7

นอกจากนี้ ยังมีทีมชาติชุดบีหรือชุดรวมลีกของบางประเทศมาร่วมทำการแข่งขันซึ่งแม้ฟีฟ่าจะไม่ได้รับรองผลการแข่งขันแต่ก็มีประโยชน์ต่อการพัฒนาทีมชาติไทย เข่น เดนมาร์ก โรมาเนีย ฮังการี เป็นต้น

แต่ช่วงปี 2008-2015 ทีมชาติไทยที่มีปัญหาเรื่องการจัดโปรแกรมการแข่งขันของทีมชาติไทยกับฟุตบอลลีกภายในประเทศทำให้บางปีฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพก็ไม่มีการแข่งขัน และอย่างในปี 2015 ที่แม้จะจัดการแข่งขันกันแต่ทีมที่เข้าร่วมนั้นก็เป็นทีมเยาวชนของเกาหลีใต้ อุซเบกิสถาน และฮอนดูรัส ทำให้ในครั้งนั้นไม่มีนัดไหนที่ได้รับรองจากฟีฟ่าเลย

เมื่อรวมกับผลงานของรายการหลักที่ไม่ค่อยสู้ดีนักในช่วงปี 2008-2013 ทำให้อันดับโลกของทีมชาติไทยตกลงไปพอสมควร ในปัจจุบันแม้ปัญหาตรงนี้จะได้รับการแก้ไขภายใต้การบริหารงานของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในชุดปัจจุบันแล้วที่มีการจัดแข่งขันนัดกระชับมิตรตามตารางฟีฟ่าเดย์โดยฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทางคิงส์คัพก็กลับมาจัดโดยเน้นทีมชาติชุดใหญ่ที่ได้รับการรับรองจากฟีฟ่าเท่านั้น แต่ก็ต้องใช้เวลา เพราะผลงานที่ผ่านทำให้ทีมชาติไทยมีคะแนนฟีฟ่าแรงค์กิ้ง (FIFA Ranking) ที่ไม่สูงมากนัก การจะเชิญทีมระดับโลกมาแข่งขันด้วยก็เป็นเรื่องยากมากขึ้น

อีกทั้งนักฟุตบอลไทยในชุดปัจจุบันก็เล่นอยู่ไทย ลีก เป็นหลัก จะมีก็เพียงชนาธิป สรงกระสินธ์ และสุภโชค สารชาติ เท่านั้นที่เล่นอยู่เจ ลีกของญี่ปุ่น ฟุตบอลลีกของประเทศไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นแต่ยังไม่อาจเทียบกับลีกชั้นนำของเอเชียหรือยุโรปได้ ปัญหาเหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลาและแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไข

ปัจจุบันนี้ เราคงต้องยอมรับว่าทีมชาติเกาหลีใต้ได้พัฒนาตัวเองจนกลายเป็นทีมระดับโลกไปแล้ว ขณะที่ทีมชาติไทยยังต้องพิสูจน์ตัวเองในระดับอาเซียนและระดับทวีปก่อนเป็นลำดับแรก การจะได้ลงสนามแข่งขันกันก็คงเฉพาะในรายการอย่างเป็นทางการเท่านั้น

 

เรื่อง: ธิษณา ธนคลัง (แฟนพันธุ์แท้เอเชียนเกมส์)