Spencer: ‘เจ้าหญิงไดอาน่า’ กุหลาบในโหลแก้วที่ไม่ยอมถูกราชวงศ์ตัดหนาม

Spencer: ‘เจ้าหญิงไดอาน่า’ กุหลาบในโหลแก้วที่ไม่ยอมถูกราชวงศ์ตัดหนาม
/ บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์เรื่อง Spencer (2021) / ‘งดงาม อึดอัด และอ้างว้าง’ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของกุลสตรีเจ้าของฉายา ‘กุหลาบแห่งอังกฤษ’ หรือ ‘เจ้าหญิงไดอาน่า’ (เจ้าหญิงแห่งเวลส์ - Princess of Wales) ผ่านภาพยนตร์ชีวประวัติเรื่อง ‘Spencer’ (2021) ซึ่งเปิดเผยอีกแง่มุมความรู้สึกที่ใครหลายคนไม่เคยนึกถึงขณะที่เจ้าหญิงไดอาน่าดำรงตำแหน่งเป็นทั้งพระชายาของ ‘เจ้าชายชาร์ลส์’ และพระมารดาของ ‘เจ้าชายวิลเลียม’ และ ‘เจ้าชายแฮร์รี่’ Spencer เป็นอีกหนึ่งผลงานของผู้กำกับมากฝีมือ ‘พาโบล ลาร์เรน’ (Pablo Larraín) ที่เคยฝากผลงานกำกับภาพยนตร์ชีวประวัติไว้หลายเรื่องทั้ง ‘Jackie’ (2016) ‘Neruda’ (2016) และ ‘No’ (2012) ในเรื่องนี้ พาโบลได้นักแสดงสาวชาวอเมริกันอย่าง ‘คริสเตน สจ๊วต’ (Kristen Stewart) มารับบทเจ้าหญิงไดอาน่า ซึ่งแน่นอนว่าคริสเตนต้องทำการบ้านอย่างหนักทั้งในเรื่องการฝึกสำเนียง และการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่มีใครเคยล่วงรู้ (และไม่อาจล่วงรู้ได้อีกแล้ว เนื่องจากเจ้าหญิงไดอาน่าสิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปี 1997) สำหรับผู้ชมที่คาดหวังจะมาดูชีวประวัติของเจ้าหญิงไดอาน่าแบบสมบูรณ์ ตั้งแต่วัยเด็ก วัยสาว ไปจนถึงวันแต่งงาน และวันที่พระองค์จากโลกใบนี้ไป ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่นัก เพราะผู้กำกับพาโบลไม่ได้เน้นการเล่าเรื่องแบบเก็บทุกเหตุการณ์สำคัญ หากแต่เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวเพียง 3 วัน ขณะที่เจ้าหญิงไดอาน่าต้องร่วมฉลองช่วงวันหยุดเทศกาลคริสต์มาสกับสมาชิกคนอื่นในราชวงศ์ ซึ่งทุกความอึดอัดกลับกลายเป็นตัวส่งเสริมให้เจ้าหญิงไดอาน่าได้เริ่มสำรวจตัวตน จนค้นพบสิ่งที่พระองค์ต้องการจากเบื้องลึกของจิตใจ คำบอกใบ้ว่าพระองค์ต้องการอะไรคงจะอยู่ที่ชื่อเรื่องที่ใครหลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมจึงไม่ใช้ชื่อ ‘Diana’ ? นั่นก็เพราะ ‘สเปนเซอร์’ (Spencer) คือนามสกุลของเจ้าหญิง ซึ่งมีชื่อเดิมว่า ‘ไดอาน่า ฟรานเซส สเปนเซอร์’ (Diana Frances Spencer) โดยพระองค์เป็นลูกสาวคนเล็กของบิดา ‘จอห์น สเปนเซอร์’ (เอิร์ลสเปนเซอร์ที่ 8) และมารดา ‘ฟรานเซส ชานด์ คีดด์’ ชีวิตในวัยเด็กของเจ้าหญิงไดอาน่าเต็มไปด้วยความสนุกสนานและอิสรภาพอันเต็มเปี่ยม แต่เมื่อพระองค์ในวัย 20 ปีต้องเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายชาร์ลส์ (รับบทโดย แจ็ค ฟาร์ธิง - Jack Farthing) ในปี 1981 ชีวิตของพระองค์กลับต้องพบการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และตั้งแต่นั้น กุหลาบงามก็ถูกกักขังไว้ในโหลแก้วที่ปิดมิดชิดตลอดมา Spencer: ‘เจ้าหญิงไดอาน่า’ กุหลาบในโหลแก้วที่ไม่ยอมถูกราชวงศ์ตัดหนาม ผู้จองจำกุหลาบในโหลแก้ว “ไม่มีใครอยู่เหนือประเพณี” ประโยคนี้ถูกเอ่ยขึ้นในช่วงต้นของภาพยนตร์ หลังจากที่เจ้าหญิงไดอาน่าต้องเข้าร่วมฉลองช่วงวันหยุดคริสต์มาสกับสมาชิกในราชวงศ์ที่พระตำหนักซานดริงแฮม (Sandringham) เป็นเวลา 3 วัน โดยทุกวันล้วนสะท้อนภาพประเพณีดั้งเดิมที่ถูกอนุรักษ์เอาไว้ แม้จะไม่ตอบโจทย์ชีวิตในปัจจุบัน (ของภาพยนตร์) กระนั้นก็ไม่มีใครยกเลิก หนึ่งในประเพณีที่ปรากฏในภาพยนตร์คือ ‘การชั่งน้ำหนัก’ ที่สมาชิกราชวงศ์จะต้องขึ้นไปนั่งบนตาชั่งโบราณทีละคน เพื่อชั่งน้ำหนักก่อนและหลังวันคริสต์มาส โดยประเพณีนี้เกิดขึ้นในยุคของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร (ช่วงปี 1900s) เพื่อให้แน่ใจว่า ทุกคนได้รับการดูแลด้านอาหารอย่างดีในช่วงเทศกาล กล่าวโดยง่ายคือ หากน้ำหนักขึ้นก็แสดงถึงความอิ่มหมีพีมันและความสุขที่ได้รับอย่างเต็มเปี่ยมนั่นเอง แต่นั่นกลับเป็นประเพณีที่เจ้าหญิงไดอาน่า (ในภาพยนตร์) ไม่ชอบเอาเสียเลย เพราะพระองค์ไม่มีความสุขกับเทศกาลดังกล่าวจนน้ำหนักลดลงทุกวัน นอกจากนี้ พระองค์ยังเคยเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดและเคยทำร้ายตัวเอง รวมถึงเป็นโรคบูลีเมียที่มักจะล้วงคอให้อาเจียนเสมอ ซึ่งนั่นคือผลของการรับแรงกดดันท่ามกลางบรรยากาศอันน่าอึดอัดในสถานที่ที่ไม่ใช่ที่ของพระองค์ การกดทับหลายอย่างประเดประดังเข้ามา ตั้งแต่การแต่งกายที่เจ้าหญิงไม่มีโอกาสได้เลือกเอง และต้องใส่ตามที่ถูกกำหนดไว้ทุกครั้งเพื่อให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่ต้องทำ โดยมีตั้งแต่ชุดรับประทานอาหารเช้า ชุดดินเนอร์ ชุดไปโบสถ์ จนถึงชุดแกะของขวัญ และเมื่อใดที่พระองค์ไม่ยอมทำการสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ พระองค์ก็มักจะถูกตักเตือนด้วยคำพูดและสายที่เย็นชา แม้กระทั่งจากพระสวามีของตัวเอง ความสัมพันธ์ของเจ้าหญิงไดอาน่าและเจ้าชายชาร์ลส์ดำเนินไปด้วยความระหองระแหง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรักที่มีบุคคลเกี่ยวข้องถึง 3 ฝ่าย ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากบทสัมภาษณ์ในรายการพานอรามา (Panorama) ของ BBC ที่สร้างแรงสะเทือนทั้งกับคนในราชวงศ์และคนทั้งโลก เมื่อปี 1995 ว่า Well, there were three of us in this marriage, so it was a bit crowded.” / มีเราสามคนอยู่ในชีวิตสมรสนี้ มันก็เลยแออัดไปหน่อย / (นอกจากนี้ การสัมภาษณ์ดังกล่าวยังมีการเปิดเผยเรื่องราววงในของราชวงศ์ ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตอย่างไม่สบายใจของเจ้าหญิงไดอาน่ามานับตั้งแต่นั้น ทั้ง ‘มาร์ติน บาเชียร์’ นักข่าวผู้สัมภาษณ์ยังใช้วิธีปลอมแปลงเอกสาร เพื่อให้ได้สัมภาษณ์เจ้าหญิงไดอาน่าด้วย) กลับมาที่ตัวภาพยนตร์ Spencer ให้เวลาในการถ่ายทอดความกดดันและความอัดอั้นในใจของเจ้าหญิงไดอาน่าอยู่ตลอดทั้งเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องราวความรักอันน่าเศร้า ในฉากที่พระองค์จำใจสวมสร้อยไข่มุกแบบเดียวกับที่เจ้าชายชาร์ลส์ซื้อให้หญิงสาวอีกคน และฉากที่พระองค์เดินฝ่าความมืดในยามค่ำคืน เพื่อกลับไปเยียวยาจิตใจตัวเอง ณ บ้านร้างที่เต็มไปด้วยความทรงจำในวัยเด็ก การอยู่ร่วมชายคากับชายที่ปันใจให้หญิงอื่นเป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจเจ้าหญิงบอบช้ำเป็นอย่างมาก ไหนจะประเพณีและข้อจำกัดมากมายที่พระองค์จำเป็นต้องทำ รอยยิ้มและความงดงามของเจ้าหญิงไดอาน่าจึงเป็นเพียงอาภรณ์ชั้นนอก หาใช่ความรู้สึกเบื้องลึกที่ถูกเก็บซ่อนไว้อย่างมิดชิด กระนั้น เจ้าหญิงไดอาน่ายังคงไม่ยอมศิโรราบต่อประเพณีและความกดดันที่ได้รับจากคนรอบกาย เธอดื้อรั้นทำในสิ่งที่ต้องการจะทำและพอทำได้ ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เจ้าหญิงยืนหยัดต่อก็คือเจ้าชายน้อยทั้งสองพระองค์ กุหลาบที่ไม่ยอมถูกตัดหนาม การเป็นพระมารดาของเจ้าชายทำให้เจ้าหญิงไดอาน่าต้องแบกรับความรับผิดชอบมากมาย รวมถึงการข่มใจเป็นพระชายาของเจ้าชายที่ไม่ได้รักพระองค์เพียงคนเดียว ซึ่งไม่ว่าความทุกข์ทรมานจะเข้ามาก่อกวนจิตใจขนาดไหน อะไรก็ตามที่ทำ ‘เพื่อลูก’ เจ้าหญิงกลับพร้อมทุ่มเทเสมอ เช่นเดียวกับสิ่งที่ผู้กำกับพาโบลต้องการถ่ายทอด นั่นก็คือการบอกว่า เจ้าหญิงไม่ได้ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของทุกสิ่ง หรือต้องอยู่เคียงข้างใคร นอกจากลูกของพระองค์ “ถ้าแม่ทำอะไรงี่เง่าไป ลูกต้องบอกแม่นะ เพราะแม่ฟังแค่ลูกเท่านั้น” เจ้าหญิงไดอาน่าเอ่ยกับเจ้าชายวิลเลียม เมื่อพระองค์รู้ดีว่าความอัดอั้นอาจทำให้พระองค์กลายเป็นม้าพยศ และเป็นคนมีปัญหาในสายตาสมาชิกราชวงศ์คนอื่น ซึ่งทุกครั้งที่ได้อยู่กับลูกชายทั้งสอง เจ้าหญิงจะผ่อนคลายเป็นพิเศษ และพลังของแม่ก็กลับกลายเป็นความกล้าหาญ ถึงขั้นที่พระองค์เข้ายืนขวางเหล่าเจ้าชายและผู้ชายจากการยิงไก่ฟ้า เพื่อขอให้เจ้าชายวิลเลียมจะไม่ต้องทำกิจกรรมล่าสัตว์ที่เขาไม่ชอบ “ฉันมาพาลูกไป ถ้าไม่อย่างนั้นก็ยิงฉันเลย” เจ้าหญิงไดอาน่าเอ่ยท่ามกลางกระบอกปืนที่ถูกลดจากมือลง นอกจากพระองค์จะไม่เคยเข้าร่วมกำหนดการอย่างตรงเวลาถึงขั้นที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (รับบทโดย สเตลลา โกเนต - Stella Gonet) ต้องคอยอยู่เสมอแล้ว พระองค์ก็ยังพร้อมเผชิญหน้ากับทั้งราชวงศ์เพื่อความสุขของลูกชายด้วย ซึ่งในท้ายที่สุด เจ้าหญิงไดอาน่าก็ได้พาเจ้าชายทั้งสองออกไปจากสนามล่าสัตว์ได้สำเร็จ ‘พระองค์พาลูก ๆ ขึ้นรถออกไปเที่ยวเล่นในเมือง พาไปสั่งอาหารฟาสต์ฟู้ดและนั่งทานอาหารกันที่ริมแม่น้ำ’ เมื่อไม่มีคำว่า ราชวงศ์ ก็ไม่คำว่ายศถาบรรดาศักดิ์ ไม่มีคนรับใช้ ไม่มีประเพณี และไม่มีกฎเกณฑ์ ทั้ง 3 แม่ลูกเป็นเพียง ‘ปุถุชน’ ที่ได้ใช้ชีวิตอย่างที่อยากใช้ แม้จะเป็นเวลาเพียงสั้น ๆ แต่นั่นก็คือช่วงเวลาที่พวกเขาได้หลุดพ้นจากโหลแก้วที่เคยถูกครอบไว้ “คริสมาสต์ที่ดีที่สุดของลูกคืออะไร” เจ้าหญิงไดอาน่าถามพระโอรสระหว่างที่เล่นเกมในพระตำหนัก “การกินด้วยมือ” “ไม่ต้องไปออกงาน” “ไม่ต้องทำตามกำหนดการ” นั่นคือคำตอบของเจ้าชายผู้ทรงพระเยาว์ทั้งสอง และอีกหนึ่งคำตอบที่เจ้าชายองค์เล็กตอบก็คือ “การมีแม่อยู่ด้วย” ดังนั้น ปัจจัยที่ทำให้ Spencer กลายเป็นภาพยนตร์ชีวประวัติที่น่าสนใจ คงหนีไม่พ้นเรื่องราวในระยะเวลาเพียง 3 วันที่สะท้อนชีวิตอันบอบช้ำของเจ้าหญิงไดอาน่าได้อย่างลุ่มลึก และการค้นพบในท้ายที่สุดว่า เจ้าหญิงไดอาน่าอาจไม่ได้ต้องการตำแหน่งใด นอกจากตำแหน่งมารดาของลูกชายทั้งสอง และ ‘ชีวิต’ ที่เปี่ยมไปด้วย ‘อิสระ’ และ ‘ความรัก’ ที่พระองค์เคยได้รับในวันที่พระองค์เป็นเพียง ‘ไดอาน่า ฟรานเซส สเปนเซอร์’ Spencer: ‘เจ้าหญิงไดอาน่า’ กุหลาบในโหลแก้วที่ไม่ยอมถูกราชวงศ์ตัดหนาม ข้อมูลเพิ่มเติมที่ไม่ได้ถูกเล่าในภาพยนตร์คือ ในปี 1992 เจ้าชายชาร์ลส์และเจ้าหญิงไดอาน่าได้ทรงแยกกันอยู่ ก่อนจะทรงหย่ากันอย่างเป็นทางการในปี 1996 และอีกหนึ่งปีต่อมา เจ้าหญิงไดอาน่าก็ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนเสียชีวิตที่ประเทศฝรั่งเศส พร้อมกับคนขับรถ และบุตรชายของเศรษฐีชาวอียิปต์นามว่า ‘โดดี ฟาแยต’ (Dodi Fayed) คนรักใหม่ของพระองค์ โดยเหตุเกิดจากการหลบหนีปาปารัสซี่ที่ตามถ่ายภาพเจ้าหญิงไดอาน่า จนละเมิดความเป็นส่วนตัว และนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่ทำให้เจ้าหญิงไดอาน่าผู้เป็นที่รักของประชาชนทั่วโลกกลับกลายเป็นเพียงความทรงจำอันอบอุ่นตลอดกาล เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ภาพ: https://www.imdb.com/title/tt12536294/ Gettyimages อ้างอิง ภาพยนตร์เรื่อง Spencer (2021) https://www.radiox.co.uk/news/tv-film/spencer-kristen-stewart-release-date-how-watch-diana-film/ https://www.biography.com/royalty/princess-diana https://www.oprahdaily.com/entertainment/a34786730/princess-diana-movie-spencer-news-cast-trailer-premiere-date/ https://www.elle.com/culture/movies-tv/a35950893/spencer-movie-kristen-stewart-news-release-date-cast/ https://www.radiotimes.com/movies/spencer-true-story/