Turning Red: วัยแรกสาวและการก้าวออกจากกรอบเด็กดีของแม่ สู่การโอบรับ ‘แพนด้า’ ในตัวเอง

Turning Red: วัยแรกสาวและการก้าวออกจากกรอบเด็กดีของแม่ สู่การโอบรับ ‘แพนด้า’ ในตัวเอง
“หนูชอบผู้ชาย หนูชอบเพลงโหวกเหวก หนูชอบเต้นส่ายก้น หนู 13 แล้ว ทำใจซะเถอะ!” คือเสียงตะโกนจากแพนด้าแดงตัวน้อย (?) ถึงแพนด้าแดงตัวใหญ่ยักษ์ แม่ของเธอ ท่ามกลางฉากแพนด้าแดงโยกย้ายบั้นท้ายและพวงหางไปมา ภาพยนตร์แอนิเมชันจากสตูดิโอ Disney/Pixar นั้นบอกเล่าเรื่องราวการก้าวสู่วัยแรกรุ่นของลูกสาวในครอบครัวชาวเอเชียได้อย่างน่าดูชมไม่น้อย   ***บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในภาพยนตร์   หากกดกรอกลับไปจากจุดที่แพนด้าน้อยตะโกนบอกแม่ว่า ‘หนูชอบผู้ชาย หนูชอบเต้นส่ายก้น!’ ไปยังจุดเริ่มต้นของหนัง ท่ามกลางบรรยากาศการไปโรงเรียนยามเช้าของเหล่านักเรียนในโทรอนโต ‘เมยหลิน ลี’ คือเด็กหญิงลูกครึ่งจีน - แคนาดา อายุ 13 ปี ที่ร่าเริงสมวัย ไม่ต่างจากเด็กทั่วไป นาทีแรกของภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวด้วยเสียงพูดพากย์ของเธอว่า “กฎอันดับหนึ่งในครอบครัวฉันเหรอ ต้องเคารพพ่อแม่ พวกเขาคือผู้ยิ่งใหญ่ที่ให้กำเนิดเรา ยอมเหน็ดเหนื่อยและเสียสละมากมายเพื่อให้เรามีบ้านอยู่ มีอาหารกิน แบบจัดหนักจัดเต็มเลยด้วย “อย่างน้อยสิ่งที่เราตอบแทนพวกเขาได้คือ ทำตามทุกอย่างที่พวกเขาขอ” ฟังดูคุ้นหูอย่างไรชอบกล เมื่อเรา ๆ เหล่าเด็กน้อยที่เติบโตจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ชาวเอเชียมักจะถูกปลูกฝังมาด้วยประโยคใกล้ ๆ กันนี้ว่า ‘ต้องเชื่อฟังพ่อแม่’ และตามมาด้วยเหตุผลที่มีโครงเค้าแบบเดียวกับที่เมยหลินพูดเป๊ะ ๆ ด้วยคำสอนสั่งอันศักดิ์สิทธิ์ของครอบครัว เมยหลิน ลี ที่แบกความคาดหวังของพ่อแม่ไว้บนบ่าจึงเป็นเด็กเรียนดีชนิดได้เกรด A+ ทุกวิชา แถมกิจกรรมเด่น เป็นนักดนตรีในชมรมโรงเรียนเสียด้วย พ่วงมาด้วยถ้วยรางวัลจากการแข่งขันต่าง ๆ นานา  ทุกวันหลังจากเลิกเรียน เธอแยกกับเพื่อนในแก๊งอีกสามสาว ‘มิเรียม’, ‘ปรีญา’ และ ‘แอ็บบี้’ ที่พยายามชวนเธอไปร้องคาราโอเกะผ่อนคลาย แม้จะแสนเสียดายที่ไม่ได้เที่ยวเล่น แต่เธอก็ตรงขึ้นรถรับส่งอย่างด่วนจี๋ กลับบ้าน และเริ่มทำหน้าที่ลูกสาวที่ดีอย่างการไหว้เทพซันหยี เทพเจ้าประจำตระกูลลี ช่วยแม่ทำความสะอาดศาลเจ้า กินข้าวพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว และเข้านอนแต่หัวค่ำ เมยหลินทำหน้าที่ ‘เมยเมย เด็กน้อยของแม่’ ได้ดีมาตลอด ขณะเดียวกันก็อาจกล่าวได้ว่าเพราะต้องการจะเป็นเด็กดีคนนั้น เพราะต้องการจะทำให้แม่ภูมิใจ เพราะรู้ดีว่าแม่คาดหวังกับเธอแค่ไหน เพื่อให้เป็นดังนั้น เมยหลินได้เก็บงำตัวตนของเธอให้พ้นจากคนเป็นแม่ไปแบบไม่เหลือเค้า ยิ่งนานวันไปเด็กน้อยก็ยิ่งคิด จะให้ ‘หมิง’ และ ‘จิน’ แม่และพ่อของเธอรู้ไม่ได้ว่าที่โรงเรียนเธอแก่นเซี้ยวแค่ไหน ให้รู้ไม่ได้ว่าเธอคลั่งนักร้องบอยแบนด์ ‘4*Town’ ที่ชื่อสี่แต่มีห้าคนอย่างไร และให้รู้ไม่ได้ว่าในวัยอ่อนไหวใจเต้นตึกตัก เลือดแรกสาวของเธอสูบฉีดจนหน้าแดงเมื่อนึกถึงพนักงานประจำเคาน์เตอร์ร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน ‘เดวอน’ แต่แม่ของเธอก็รู้จนได้ แถมเป็นการรู้ที่น่าอับอายจนอยากมุดดินหนีเมื่อแม่ที่รัก - ถนอม - สอดส่องดูแล - และจับตามองลูกสาวอย่างใกล้ชิด ถึงกับจูงมือเธอไปชี้หน้าว่ากล่าว ‘เดวอน’ ต่อหน้าลูกค้าทั้งร้าน โดยที่เขาไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะเขาไม่รู้จักเมยหลินด้วยซ้ำ ความอายอย่างรุนแรง รู้สึกผิดอย่างรุนแรง สับสนอย่างรุนแรงทำให้เมื่อเมยหลินผล็อยหลับไปหลังเหตุการณ์นั้น เธอตื่นมาพบว่าตัวเองกลายเป็นแพนด้าแดงตัวใหญ่กว่าเตียงเดี่ยว เธอพบว่าที่เธอกลายเป็นแพนด้าแดงนั้น เป็น ‘พร’ เมื่อแรกเทพซันหยีประทานให้ผู้หญิงทุกคนที่เกิดในตระกูล แต่นับร้อยปีพ้นผ่าน พรที่ว่ากลับไม่ต่างอะไรจากคำสาป เพราะเมื่อพวกเธอมีความรู้สึกบางอย่าง ไม่ว่าจะแง่ดีหรือร้ายอย่างรุนแรงเมื่อไหร่ เธอก็จะกลายร่างเป็นแพนด้า เรื่องราววุ่น ๆ ในวัยแรกสาวจึงเกิดขึ้น เมื่อเมยหลินและแก๊งเพื่อนอีกสามสาว ‘โฟร์ทาวน์นี่’ (ชื่อแฟนคลับของวง 4*Town) ผุดไอเดียปฏิบัติการลับเพื่อหาเงินค่าบัตรคอนเสิร์ตวงโปรดของพวกเธอ โดยมีเงื่อนไขข้อใหญ่อยู่ว่า ‘เรื่องนี้ให้แม่รู้ไม่ได้!’ เพราะการตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวนี้เองที่ทำให้ ‘เมยเมยน้อยของแม่’ โกหกผู้ให้กำเนิดอย่างเป็นทางการครั้งแรก นับเป็นการก้าวเข้าสู่ ‘วัยต่อต้าน’ ของเด็กวัยรุ่นตอนต้นอย่างกล้ามากกว่ากลัว แต่ก็ยังกลัว สับสน และรู้สึกผิดปะปนกันไป สำหรับผู้เขียน ภาพยนตร์แอนิเมชัน ‘เขินแรงแดงเป็นแพนด้า’ เรื่องนี้มีจุดน่าประทับใจอยู่หลายแห่งด้วยกัน อย่างแรก มันเป็นแอนิเมชันจากค่ายยักษ์ใหญ่ที่พูดตรง ๆ ถึงสัญลักษณ์ของวัยแรกสาวอย่าง ‘ประจำเดือน’ และมีจุดที่แสดงให้เห็นว่าครอบครัวของเมยหลินนั้นได้เตรียมการถึงเรื่องนี้ไว้พร้อมสรรพ ทั้งของใช้จำเป็น และข้อมูลความเข้าใจที่ผู้เป็นแม่ต้องอธิบายให้ลูกฟัง จุดต่อมาที่ผู้เขียนชอบคือความเหมือนกันระหว่างเรื่องราวในภาพยนตร์ กับเรื่องราวในวัยเด็กของตัวเองและเพื่อนอีกหลายคน ที่ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นเด็กสาวรุ่นราวคราวเดียวกับเมยหลิน ในตอนนั้น การบอกพ่อแม่ว่า ‘หนูเป็นใคร’ ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก ความคาดหวังและความหวังดีของครอบครัวทำให้หลาย ๆ ครั้ง ในวัยเยาว์ เรามักจะทำเป็นลืมความต้องการลึก ๆ ของตัวเอง ไม่ก็ปัดมันให้พ้นทางไปก่อน แล้วเติบโตต่อบนเส้นทางที่ท่านกำหนดไว้ ภาพของเมยหลินที่จ้องลึกเข้าไปในกระจกแล้วรำพึงกับตัวเองว่า ‘ครึ่งหนึ่งนี่คือชีวิตของฉัน ส่วนอีกครึ่งเป็นของแม่ด้วย’ คือภาพเดียวกับที่ครั้งหนึ่ง เราเคยเห็นตัวเองในกระจกมองสะท้อนกลับมา ในวันนั้น ผู้เขียนเองก็ปฏิเสธ ‘แพนด้าแดง’ ของตัวเองไม่ต่างจากตอนที่เมยหลินค้นพบมันครั้งแรก ทว่าต่างจากเมยหลินที่มีเพื่อน ๆ คอยร้องเพลง ‘Nobody Like U’ อยู่ข้าง ๆ คอยแสดงออกให้รู้ว่าความผิดแปลกแตกต่างเหล่านั้นไม่ได้ทำให้เธอไม่ถูกยอมรับ “เป็นแพนด้าแล้วยังไง?” พวกเขาถามก่อนกอดพุงกลมของเธอแน่น ไม่ใช่เด็กวัยแรกหนุ่มสาวทุกคนที่โชคดีอย่างนั้น และไม่ใช่เด็กวัยแรกหนุ่มสาวทุกคนที่มีโอกาสได้บอกผู้ให้กำเนิดว่า “หนูชอบผู้ชาย หนูชอบเพลงโหวกเหวก หนูชอบเต้นส่ายก้น หนู 13 แล้ว ทำใจซะเถอะ!” เช่นกัน ไม่ใช่เด็กวัยแรกหนุ่มสาวทุกคนที่เต้นส่ายก้นหรือทำสิ่งเพี้ยน ๆ นอกกรอบสุดกู่ให้ผู้ใหญ่ดูแล้วได้รับการยอมรับกลับมา “นี่ไม่ใช่ตัวลูก” คือคำแรกที่แม่ของเมยหลินพูดกับเธอ และเด็กหญิงวัย 13 ก็กล้าพอที่จะบอกกลับไปว่า “นี่แหละหนู” แม้จะมีจุดร่วม แต่ครอบครัวแต่ละครอบครัว บุคคลแต่ละบุคคล ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกัน ทำให้สำหรับหลายคน กว่าจะสบโอกาสแบบเดียวกันได้ก็กินเวลานานจนตัวเองเติบโตเกือบเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ การจับเข่าคุยครั้งแรกเพื่อบอกผู้ให้กำเนิดว่า ‘หนูคือใคร’ จึงเกิดขึ้นช้ากว่าที่เห็นในภาพยนตร์นัก ขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็รู้มาว่า มีเด็ก ๆ หลายคนที่เติบโตจนพ้นผ่านวันวัยเหล่านั้นโดยไม่มีโอกาสได้พูดถึงตัวตนที่แท้จริง หรือด้านที่เป็นแพนด้าของตัวเองกับพ่อแม่เลยแม้แต่ครั้งเดียว ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้บอกเล่าปัญหาโดยละมุนละม่อม และเช่นเดียวกัน ‘Turning Red’ เป็นหนังที่ไม่ได้ใจดีแค่กับเด็ก ๆ แต่กับผู้ใหญ่ที่เติบโตจนเป็นพ่อคนแม่คนก็ด้วย ‘Turning Red’ ฉายภาพตัวละคร ‘หมิง’ เป็นคุณแม่สุดเนี้ยบ ขณะเดียวกันก็ปกป้องลูกสาวคนเดียวจนแทบจะเกินเหตุ เห็นได้จากการที่เธอมักจะมาเยี่ยมลูกสาวที่โรงเรียนโดยไม่ได้รับเชิญและลงท้ายด้วยการถูกยามไล่อยู่บ่อย ๆ ทั้งยังคอยดูแลเรื่องการเลือกคบเพื่อนของลูกอย่างเข้มงวดอยู่เสมอ - เธอรักลูกสาวของเธอถึงเพียงนั้น ขณะเดียวกันก็หวาดกลัว ‘แม่’ ของตัวเองจากก้นบึ้งของจิตใจ กระทั่งหนังพาผู้ชมเพลิดเพลินไปถึงฉากท้าย ๆ เราจึงได้รู้ว่าครั้งที่หมิงเป็นลูก เธอเองก็เคยคร่ำครวญ ร้องไห้ด้วยความเสียใจ และพ้นผ่านวันวัยมาด้วยความคิดว่า “ฉันไม่มีวันดีพอสำหรับแม่ หรือใครก็ตาม” เป็น ‘เมยเมยตัวน้อย’ ลูกสาวของเธอนั่นเองที่บอกกับเธอว่าไม่ใช่ เป็นเด็กหญิงวัยสิบสามที่ยอมรับ ‘แพนด้า’ จอมร้องไห้และโมโหร้ายของเธอ เป็นเมยหลินอีกเช่นกันที่พาเธอก้าวออกมาจนเราได้เห็นภาพของคุณแม่ที่ยังคงเป็นห่วงลูกเหมือนเคย แต่ไม่โมโหเดือดดาลแล้วเมื่อลูกสาวยืดอกภูมิใจบอกเธอว่า “แพนด้าหนู หนูเลือกเอง” ท่ามกลางวัยแรกรุ่นแสนว้าวุ่นใจ วัยที่เด็ก ๆ กำลังค้นหาตัวตนจนพ่อแม่หลายคนปวดหัวเมื่อภาพ ‘ลูก’ ที่ตนวางไว้เริ่มเปลี่ยนไป ภาพยนตร์เรื่องนี้เสนอทางเลือกหนึ่งให้ และทางเลือกนั้นมีอยู่ว่า ถ้าสักวันเด็ก ๆ เดินมาบอกคุณว่าพวกเขาอยากเป็นใคร หากมันไม่โลดโผนหรืออันตรายเกินไปนัก จงปล่อยให้เขาเป็น หนังเรื่องนี้อาจอยากเล่าว่า หากคนเป็นพ่อแม่ทำผิดกับลูกไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ การขอโทษลูกสักครั้งคงไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป เด็กน้อยที่คุณรักและรักคุณพร้อมให้อภัยคุณเสมอ เช่นเดียวกับที่คุณพร้อมให้อภัยพวกเขาเสมอในฐานะพ่อแม่นั่นแหละ “หนูรู้แล้วว่าหนูอยากเป็นอะไร แต่หนูกลัวว่ามันจะพรากหนูไปจากแม่” “แม่เห็นแล้วเมยเมย ลูกพยายามทำให้ทุกคนมีความสุขแต่กลายเป็นกดดันตัวเอง และถ้าแม่สอนให้ลูกเป็นแบบนั้น แม่ขอโทษ “จงอย่าฝืนตัวเองเพื่อใครก็ตาม ยิ่งลูกไปได้ไกล แม่ก็ยิ่งภูมิใจ” นั่นคือสิ่งที่คุณและเขา พ่อแม่และลูกต้องการร่วมกันไม่ใช่หรือ การที่พวกเขาเติบโตขึ้นอย่างมั่นใจ มีความสุข และไปได้ไกลในเส้นทางของเขาเองอย่างนั้น ดังนั้น การปล่อยให้เขาเป็นแพนด้าดูอาจไม่ใช่เรื่องเสียหายนักก็ได้