La Boum : การปฏิวัติวัฒธรรมของสาววัยรุ่น สู่กระแสหนังฮิตแห่งยุค 80s

La Boum : การปฏิวัติวัฒธรรมของสาววัยรุ่น สู่กระแสหนังฮิตแห่งยุค 80s
รอยต่อคาบเกี่ยวระหว่างช่วงทศวรรษที่ 1970s กับ 1980s โดยเฉพาะวัฒนธรรมของวัยรุ่นที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไป จากวัฒนธรรมฮิปปี้บุปผาชนที่เบิกบานในช่วงกลางทศวรรษที่ 1960s สู่บทบาทของวัฒนธรรม Hard Rock อันกร้าวแกร่งในช่วงยุค 70s แต่พอก้าวข้ามสู่ยุค 80s ความแข็งกร้าวทางวัฒนธรรมนั้นยังคงอยู่ แต่สีสันอันร้อนแรงถูกฉาบเคลือบให้หวานยิ่งขึ้น ตัดกันกับภาพเทคโนโนโลยีที่ทำให้คนเริ่มจินตนาการโลกแห่งอนาคตอันชวนฝันว่าสักวันน่าจะเป็นไปได้ในวันข้างหน้า วงการบันเทิงก็เช่นกัน เมื่อหนังมหากาพย์อย่าง ‘Star Wars’ (1977) เปลี่ยนรูปแบบของการดูหนังไปตลอดกาล ศิลปะแขนงที่ 7 ก็ขานรับความหลากหลายของเรื่องราวเพื่อรับใช้กลุ่มเป้าหมายที่แปลกและแตกต่างยิ่งขึ้น และปลายปี 1980 โรงหนังทั่วฝรั่งเศสก็ต้องพบเซอร์ไพรส์ครั้งยิ่งใหญ่จากหนังวัยรุ่น Pre-Teen ‘La Boum’ ที่ตอนแรกไม่คาดหวังเรื่องรายได้ แต่กลับกลายเป็นหนังทำเงินแห่งปี 1980 ที่ชนะหนังเต็งอย่างภาค 2 ของ ‘Star Wars: The Empire Strike Back’ ไปได้อย่างขาดลอย เพราะอะไรทำไมหนังเล็ก ๆ เรื่องนี้ ถึงกลายเป็นแจ๊คล้มยักษ์ และเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมพ็อพไปตลอดกาล เรื่องเล่าของสาวน้อยที่ความใฝ่ฝันสูงสุดคือการปาร์ตี้ La Boum หรือชื่อฉบับภาษาอังกฤษว่า ‘The Party’ เล่าเรื่องราวของเด็กสาว ‘วิค’ (รับบทโดย โซฟี มาร์โซ) สาวน้อยวัย 13 ที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ในที่เรียนแห่งใหม่ เธอมีพ่อเป็นทันตแพทย์ และแม่เป็นนักเขียนการ์ตูนหัวก้าวหน้า ที่ต่างง่วนอยู่กับงานจนไม่เหลียวแลความรู้สึกของลูกเลย ทั้ง ๆ ที่ชีวิตของเด็กสาว 13 อย่างวิค ไม่ต้องการอะไรพิเศษไปกว่าเด็กวัยรุ่นคนอื่น ๆ เธออยากจะมีเพียงชายในฝันสักคน ในช่วงเวลาปาร์ตี้อันน่าจดจำในช่วงเวลานี้เพียงเท่านั้น แต่เพียงสิ่งเล็กที่เธอร้องขอ กลับต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคมากมาย ทั้งการแตกแยกของพ่อและแม่ของเธอเมื่อแม่ของเธอจับได้ว่าพ่อแอบมีกิ๊กจนต้องแยกกันอยู่ ไปจนถึงผู้ชายคนแรกที่เธอตกหลุมรักนั้นนั้น รักแรกอาจจะไม่สวยงามเหมือนที่เธอนั้นวาดฝันไว้ การเปลี่ยนผ่านช่วงวัยจาก 13 สู่ 14 จึงมีทั้งเรื่องดีและเรื่องร้ายรอเธออยู่มากมาย ในช่วงเวลาอันแสนเบ่งบานของวัฒนธรรม Pop Culture แรงบันดาลใจจากลูกสาวสู่เรื่องราวที่พลิกผัน จุดเริ่มต้นของหนัง La Boum เกิดจากความบังเอิญ เมื่อ Danièle Thompson คนเขียนบทร่วม เจ้าของไอเดียของเรื่องนี้ เผลอกลับเข้ามาในบ้านในช่วงเวลา 5 โมงเย็น แล้วพบลูกสาวของเธอนั้นกำลังจัดปาร์ตี้อยู่ในบ้านกับเพื่อน ๆ “ฉันตกใจอย่างมากที่อะพาร์ตเมนต์ของฉันฉาบด้วยแสงไฟนีออนสลัว ๆ และลูกสาวคนเดียวของฉันอยู่ในชุดสุดเปรี้ยวราวกับเป็นคนละคน” Danièle Thompson ที่มองลูกสาวของเธอที่ยังเป็นเด็กน้อยในสายตาเธอเสมอ ตกใจไม่น้อยที่เห็นลูกสาวของเธอเปลี่ยนไปเป็นคนละคน เธอมีความปรารถนาที่จะก้าวเข้าสู่โลกของผู้ใหญ่ Danièle จึงเอาเรื่องราวของลูกสาวเป็นแรงบันดาลใจ โดยเชื่อมโยงโลกทั้ง 2 ใบ คือโลกอันแสนเพ้อฝันอันแสนสวยงามของเด็กสาว กับโลกที่เต็มไปด้วยปัญหาสารพันของโลกผู้ใหญ่เข้าหากัน โซฟี มาร์โซ โปสเตอร์ที่มีอยู่ทุกบ้าน อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญ ที่ทำให้หนัง La Boum โด่งดังในระดับตำนาน คือสาวน้อย วิค ที่รับบทโดย โซฟี มาร์โซ สาวในฝันของเด็กผู้ชายทั่วโลก ที่สามารถโค่นตำแหน่งที่ถือครองมาอย่างยาวนานของ ฟาร์ราห์ ฟอว์เซตต์ ในฐานะธิดาโปสเตอร์ที่แปะในห้องนอนทุกบ้านลงอย่างราบคาบ โซฟี มาร์โซ ที่เป็นเด็กสาวบ้าน ๆ ลูกสาวของคนขับรถบรรทุกที่ไม่มีประสบการณ์ใด ๆ กลับชนะใจกรรมการ หลังพยายามเฟ้นหาแคสติ้งตัวละครวิคมานานแสนนาน จนหนังใกล้ถ่ายทำก็ไม่มีใครตรงใจเสียที จนในช่วงเวลาท้าย ๆ ฟ้าก็ประทานเด็กสาวคนนี้ที่มาสมัครพร้อมกับแม่ของเธอ ด้วยความแตกต่างจากพิมพ์นิยมของเด็กสาวผมบลอนด์ทั่ว ๆ ไป เพราะเธอมาพร้อมผมดำหน้าม้า และรอยยิ้มอันแสนสดใส และการแสดงที่มอบความประทับใจอย่างเป็นธรรมชาติให้กับหนังเรื่องนี้ หลังจากหนังเรื่องนี้ออกฉายจนกลายเป็นกระแส ทรงผมหน้าม้าก็กลายเป็นพิมพ์นิยมของเด็กสาวทั่วโลกในทันที โดยเฉพาะประเทศไทยที่แม้ว่าหนังจะฉายช้ากว่าประเทศอื่นถึง 2 ปี แต่เมื่อหนังฉายก็กลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญทางด้านแฟชั่น โดยเฉพาะทรงผมของนางเอกที่กลายเป็นทรงผมสุดฮิตที่เด็กสาวมากมายที่ทำตามกันอย่างเกรียวกราว โดยอิทธิพลสำคัญที่คือการแจ้งเกิดของนักแสดงสาว อรพรรณ พานทอง ที่มีความละม้ายและน่ารักใกล้เคียงกัน จนเป็นหนึ่งในผู้สร้างกระแสหนังวัยรุ่นแนวนิยายรักนักศึกษาจนโด่งดังทั่วบ้านทั่วเมือง Reality ปรากฏการณ์ความฮิตของเพลงมูลค่ากว่าพันล้านบาท อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ช่วยผลักดันให้หนังเรื่องนี้ดังระเบิด คือเพลง Reality เพลงสุดซึ้งประกอบในหนัง ขับร้องโดยริชาร์ด แอนเดอร์สัน เป็นหนึ่งในความอมตะ โดยผู้แต่ง วลาดิมีร์ คอสมา แต่งเพลงนี้โดยใช้เรื่องความจริงและความฝันมาเล่าเรื่องเพื่อสะท้อนตัวตนของเด็กสาวที่กำลังตกอยู่ในห้วงภวังค์แห่งรัก และคัดเลือกศิลปินหนุ่มที่โนเนมในช่วงเวลานั้นอย่าง ริชาร์ด แอนเดอร์สัน หนุ่มลูกครึ่งฝรั่งเศส-สกอตต์แลนด์ มาขับร้อง โดยเพลง ๆ นี้ปรากฏขึ้นในหนังหลายต่อหลายครั้ง และซีนที่บทเพลงนี้ทำหน้าที่ได้ดีที่สุด คือซีนที่หนุ่มในฝันของวิคใส่หูฟังให้เธอฟังและเพลงนี้ก็ดังขึ้น กลายเป็นภาพจำคลาสสิกของหนังเรื่องนี้ไปในทันที จากบทเพลงที่ส่งให้ทางคลื่นวิทยุ และวิทยุไม่คิดจะเปิด เพราะมองเป็นเพลงเล็ก ๆ ที่ไม่น่าจะดังเท่าไหร่ จนกระทั่งตัวหนังค่อย ๆ ไต่ตารางหนังทำเงิน คนที่ดูหนังเรื่องนี้ต่างเรียกร้องร่ำหาเพลงประกอบนี้จากรายการวิทยุ จนเพลงได้ถูกเปิดและพุ่งทะยานสู่ชาร์ตอันดับ 1 ในกว่า 15 ประเทศ ถูกนำมาทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเวอร์ชั่นต่าง ๆ ซึ่งความดังนี้เอง วลาดิมีร์ คอสมา กล่าวในภายหลังว่า เขาได้รับค่าจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลง ๆ นี้โดยเฉลี่ยปีละ 250,000 ยูโร รวม ๆ แล้วเพลงนี้สร้างรายได้ให้เขาถึง 29,000,000 ยูโร หรือกว่าพันล้านบาทของไทย และด้วยอานิสงส์ของเพลงนี้ก็ทำให้ตัวนักร้องเองก็โด่งดังและกลายเป็นนักแสดงในเวลาต่อมา วัฒนธรรมเปลี่ยนผ่านเมื่อ_บ้าน_กลายเป็นสถานที่จัดปาร์ตี้ ยุคสมัย 70s-80s นั้นคือช่วงสำคัญของ ‘เบบี้บูมเมอร์’ ที่ทำงานกันแทบเป็นแทบตายเพื่อหลีกหนีสถานะยากจนหลังสิ้นสุดสงครามโลก เราจึงเห็นการต่อสู้ปากกัดตีนถีบของพ่อและแม่ของวิค ที่ก้มหน้าก้มตาทำงานเพื่อพิสูจน์ตัวเอง พวกเขาแทบจะไม่มีเวลาให้ลูกของเขาปรึกษาชีวิตอะไรเลย ในขณะที่ผับและดิสโก้เธคนั้นยังเป็นเรื่องไกลตัวเกินไปสำหรับพวกเขา บ้านที่ว่างเปล่านั้นเองจึงกลายสภาพเป็นแหล่งปาร์ตี้มั่วสุมของเพื่อนลูก ๆ ที่สบโอกาสยามที่พ่อและแม่ดิ้นรนหาเงินข้างนอก ซึ่งคาดหวังเพียงการได้ตกร่องปล่องชิ้นกับผู้ชายในฝันสักคน แต่เมื่อสถานะที่แท้จริงของบ้านกลับกลายเป็นที่รองรับบรรยากาศมาคุแทน การอยู่พร้อมหน้าของ 3 พ่อ-แม่-ลูกจึงอัดแน่นไปด้วยปัญหามากมาย พ่อที่แอบไปมีชู้รักข้างนอกและต้องถูกลงโทษเมื่อโดนจับได้ด้วยการถูกไล่ให้ไปนอนนอกบ้าน แม่ที่ตรากตรำทำงานวาดการ์ตูนเพื่อพิสูจน์ตัวเองก็จมจ่ออยู่กับงานตรงหน้ามากกว่าจะรับฟังปัญหาของลูก La Boum จึงเป็นการสะท้อนปัญหาสมัยใหม่ยุคนั้นเมื่อการเปลี่ยนผ่านของวัฒนธรรมอันรวดเร็ว ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัยที่ต่างคนต่างไม่เข้าใจในกันและกัน นอกจากจะเป็นกระบอกเสียงสำคัญของเด็กวัย Pre-Teen ที่ต้องการความรัก ความเอาใจใส่และความเข้าใจมากกว่าเงินทอง ในขณะเดียวกัน หนังก็เสนอปัญหาของฝั่งผู้ใหญ่ที่ต้องเผชิญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่ถูกสั่นคลอนจากมือที่สาม จนเกิดการหย่าร้างที่ค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในหนังเกิดจากความรักที่จืดจางไปตามกาลเวลา เพื่อสะท้อนกลับไปสู่เด็ก ๆ ที่คาดหวังว่าความรักจะหอมหวานตลอดไป ซึ่งมันไม่จริงเสียทีเดียว จุดเชื่อมสำคัญกลับกลายเป็นยายทวดสุดเฟี้ยวที่ผ่านร้อนผ่านหนาวชีวิตมาอย่างยาวนาน เธอเข้ามาเป็นตัวเชื่อมที่เข้าใจในทุกตัวละคร โดยเฉพาะเหลนสาวที่มักจะสอนทริกการใช้ชีวิตให้กับเธออยู่เสมอ ยายทวดจึงเป็นคาแรกเตอร์ที่บอกให้ทั้งตัวละครและคนดูว่า “จงฉวยเอาความสุขตักตวงใส่ให้เต็มที่ก่อน เพราะช่วงเวลานั้นเมื่อมันผ่านเลยไปอาจจะไม่มีโอกาสหวนกลับมาอีกเป็นครั้งที่ 2 ก็เป็นได้” La Boum จึงไม่ใช่เพียงหนังวัยรุ่นวุ่นรักที่ขายแค่วัยรุ่นเท่านั้น แต่เสนอมิติชีวิตมุมมองความรักที่ครอบคลุมทั้งวัยรุ่นและคนที่ผ่านการเป็นวัยรุ่นได้อย่างสวยงามและสมจริง ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงทรงคุณค่าและเป็นที่กล่าวขวัญถึงมายาวนานกว่า 40 ปี ภาพ: ภาพยนตร์เรื่อง La Boum อ้างอิง https://www.purepeople.com/.../la-boum-daniele-thompson.../1 https://www.lady-first.me/.../20-things-that-la-boum... https://www.archyde.com/the-hit-of-la-boum-always-brings.../