HUNT: พลิกดูแนวคิดของประชาชนที่มีต่อเผด็จการเกาหลีใต้ในยุคของรัฐบาล ‘ชุน ดู-ฮวาน’

HUNT: พลิกดูแนวคิดของประชาชนที่มีต่อเผด็จการเกาหลีใต้ในยุคของรัฐบาล ‘ชุน ดู-ฮวาน’

'HUNT ล่าคนปลอมคน' ภาพยนตร์ที่ทั้งแสดงนำและกำกับโดย 'อีจองแจ' (Lee Jung-jae) พระเอกจากซีรีส์สุดฮิตอย่าง Squid Game สู่ภาพยนตร์เรื่องที่ไม่เพียงสาดความเดือดผ่านการเฉือนคมกันไปมา แต่ยังตีแผ่และนำเสนอเกาหลีใต้ในยุคที่ถูกปกครองโดยเผด็จการทหารอีกด้วย

เมื่อสายลับจากเกาหลีเหนือแฝงตัวเข้ามาอยู่ในองค์กรเพื่อมุ่งเป้ากำจัดผู้นำเผด็จการแห่งเกาหลีใต้ ‘ชุน ดู-ฮวาน’ (Chun Doo-Hwan) หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับ พัคพยองโฮ ที่นำแสดงโดย ‘อีจองแจ’ (Lee Jung-jae) จาก Squid Game และ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการภายในประเทศ นามว่า คิมจองโด ที่สวมบทบาทโดย ‘จองอูซอง’ (Jung Woo-sung) จึงถูกสั่งการให้ลงมาลากคอสายลับที่แฝงตัวนามว่า ‘ดงลิม’ ออกมาให้จงได้ ปฏิบัติการสุดเดือดดาลที่ไล่ล่าเฉือนคมกันไปมาระหว่างสองคนจึงเริ่มขึ้น เพราะด้วยสถานการณ์ที่มีหนอนบ่อนไส้เช่นนี้ แม้แต่เพื่อนสนิทที่สุดก็คงไว้วางใจไม่ได้…

 

/ บทความต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์ของเรื่อง HUNT /

ไม่เพียงแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ สามารถสรรสร้างฉากแอคชั่นสุดเดือดดาลจนสามารถดึงผู้ชมให้จมหายไปในหนังกว่าสองชั่วโมงได้อย่างไม่ละสายตา แต่ด้วยเนื้อหาในเรื่องก็นับเป็นเรื่องราวการเมืองและสังคมเกาหลีใต้ที่ในหลาย ๆ แง่มุม ก็เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนมาสู่ประเด็นปัญหาที่หลาย ๆ ประเทศ (รวมถึงประเทศไทย) กำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของอุดมการณ์ทางความคิดในหมู่คนรุ่นใหม่, การปกครองแบบเผด็จการที่ใช้กำลังกดหัวประชาชน และการตั้งคำถามถึงเรื่องวิถีการเปลี่ยนแปลงในแบบสันติภาพและความรุนแรง

HUNT ล่าคนปลอมคน’ จึงอัดแน่นไปด้วยความมันส์และข้อคิดทางประเด็นสังคมที่น่าตั้งคำถามและนำกลับไปคิดต่อเป็นอย่างมาก

การเมืองเกาหลีใต้ในยุคชุนฮวาน

พ่อแม่ส่งให้มาเรียนแต่เสือกมาประท้วง!

เรื่องราวของภาพยนตร์เริ่มต้นขึ้นในขณะที่บ้านเมืองของประเทศเกาหลีใต้เคล้าไปด้วยการชุมนุมและแก๊สน้ำตาที่ปลิวว่อน เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนของเกาหลีใต้ก็ตะโกนกำราบด้วยถ้อยคำดังกล่าวพร้อม ๆ กับการง้างไม้กระบองในมือใช้ทุบตีเหล่านักศึกษาที่เดินหน้าออกมาประท้วงรัฐบาลเผด็จการ ‘ชุน ดู-ฮวาน’ ที่ครองอำนาจผ่านการรัฐประหารในปี 1979 

นอกจากนั้นเชื้อเพลิงอีกประการที่เป็นตัวจุดประกายให้คนรุ่นใหม่หลายคนออกมาแสดงความไม่พอใจและยืนหยัดไม่ยอมรับรัฐบาลเผด็จการก็คือเหตุความรุนแรงจากเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชน ณ กวางจู (The Gwangju Massacre) ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 1980 จนมีผู้เสียชีวิตไปกว่า 165 ราย แถมสูญหายไปอีก 76 ราย ส่วนผู้รอดชีวิตก็บาดเจ็บและถูกจับไปเกือบ 5,000 คน นับเป็นความรุนแรงที่เกิดจากรัฐในเกาหลีใต้ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

ไม่เพียงแต่ปัญหาภายในประเทศที่ปะทุขึ้นมาอย่างต่อเนื่องของประชาชนชาวเกาหลีใต้ ศึกอีกด้านหนึ่งที่รัฐบาลต้องรับมือก็คือคู่แค้นที่ทำศึกกันมาหลายทศวรรษอย่าง ‘เกาหลีเหนือ’ ที่มุ่งเป้ารวมประเทศ (ในวิถีแบบที่ตนเองคิดว่าถูกต้อง) และกำจัดประธานาธิบดีเกาหลีใต้ลงให้ได้ 

สถานการณ์ของรัฐบาลของประธานาธิบดีชุน ณ ตอนนี้เรียกว่ารับศึกรอบด้าน ไม่ว่าจะภายในหรือภายนอก แต่หารู้ไม่ว่าอีกปัญหาหนึ่งที่กำลังคืบคลานมาเข้าใกล้เขาเรื่อย ๆ ก็คือ ‘หนอนบ่อนไส้’ ภายในสำนักข่าวกรองกลางเกาหลี หรือ ‘KCIA(Korean Central Intelligence Agency) ที่ถูกส่งมาจากเกาหลีเหนือ จึงต้องมีคำสั่งให้เร่งหาตัวมากำจัดให้เร็วที่สุด แต่หารู้ไม่ว่าสายลับ ‘ดงลิม’ จากเกาหลีเหนืออาจไม่ใช่ภัยร้ายใกล้ตัวเดียวที่พยายามจะโค่นล้มผู้นำจากเผด็จการทหารลง

สองจุดยืนเป้าหมายหนึ่งเดียว

 

การใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ไขปัญหามันใช่ทางออกที่จะจบปัญหาที่แท้จริงหรือ?

 

แต่แกก็มีตัวอย่างที่ชัดเจนแล้วนี่ ว่าวิวัฒนาการของเผด็จการมันจะไปจบที่ตรงไหน

บทสนทนาข้างต้นมาจากสองตัวละครหลักอย่างพัคพยองโฮและคิมจองโดที่แทนถึงจุดยืนจากสองฝั่งที่ไม่เพียงแต่สร้างมิติให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เท่านั้น แต่ยังสะท้อนมาถึงสองแนวคิดที่ขัดแย้งกันเอง แม้ว่าจุดยืนและเป้าหมายปลายทางที่มุ่งหวังนั้นเป็นที่เดียวกัน

ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมถึงประเด็นดังกล่าว ก็คงต้องรีแคปสั้น ๆ ถึงจุดยืนของตัวละครทั้งสองก่อน ในฝั่งของพัคพยองโฮที่เป็นหัวหน้าหน่วยสืบราชการลับ แท้จริงแล้วเขาก็คือ ‘ดงลิม’ สายจากฝั่งเกาหลีเหนือที่แฝงตัวเข้ามาบ่อนทำลาย แต่ตัวเขาเองก็ไม่เห็นด้วยในวิถีทางการใช้ความรุนแรงที่เป็นแนวทางที่ต้นสังกัดอย่างเกาหลีเหนือมุ่งเป้า ตัวเขาเพียงแต่อยากรวมประเทศด้วยสันติวิธี

ในอีกด้านหนึ่ง คิมจองโด ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการภายในประเทศที่รีบเร่งสืบสวนค้นหาดงลิม แม้จะทำงานให้รัฐบาลแบบสายตรง แต่หากดำลึกเข้าไปในจิตใจแล้ว เขารังเกียจเผด็จการเข้าไส้ มีอยู่ซีนหนึ่งที่ทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่มีส่วนสำคัญและเกี่ยวข้องในการชักใยการเมืองเกาหลีใต้ได้คุยกับคิมว่า ทางสหรัฐฯ​ ได้ทำการยอมรับประธานาธิบดีชุนเรียบร้อยแล้ว เขาเองถึงขั้นเดือดดาลจนตัวสั่นและพูดกับตัวเองว่า “จะให้ยอมรับคนชั่วที่เข่นฆ่าประชาชนได้อย่างไร?” และเป้าหมายของเขาก็คือ ‘การกำจัดชุน ดู-ฮวาน’ แม้มันจะต้องใช้ความรุนแรงก็ตาม

จุดร่วม-จุดต่าง ที่สะท้อนผ่านตัวละครทั้งสองนี้ก็เป็นเหมือนภาพแทนของใครหลายคนในยุคปัจจุบันที่อาจมีความคิดทั้งสองแบบนี้ขัดแย้งกันในหัวว่าควรจะดำเนินแนวทางการต่อสู้ขับเคลื่อนไปในเส้นทางไหนดีระหว่างสันติวิธีและความรุนแรง - ถ้าเราโต้กลับด้วยความรุนแรง ปัญหามันจะจบจริงหรือ และหากกระทำเช่นนั้น เราจะต่างอะไรกับคนที่เราก่นด่า? และหากใช้สันติวิธี เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่ามันจะได้ผล แถมเราก็เห็นอยู่ตำตาอยู่แล้วว่าการสยบยอมมันจะทำให้เผด็จการวิวัฒน์ไปเป็นแบบไหน แล้วเราจะยอมให้เป็นแบบนั้นได้หรือ?

ในเชิงความบันเทิงของภาพยนตร์เรื่องนี้ การที่บทใส่ความขัดแย้งทั้งในแนวความคิด จุดยืน และสถานะของตัวละคร ก็ทำให้อดไม่ได้ที่จะทำให้ย้อนนึกถึงการหักเหลี่ยมเฉือนคมกันเองแบบในภาพยนตร์เรื่อง The Departed โดย มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) หรือว่าหนังภาคต้นฉบับอย่างหนังฮ่องกงขึ้นหิ้ง Infernal Affairs เพราะทั้งสองตัวละครก็ล้วนแฝงตัวในแบบของตัวเอง - คนหนึ่งแฝงตัวในเชิงกายภาพ และอีกคนหนึ่งในเชิงจิตใจของตัวเองอยู่

 

ชะตากรรมของเผด็จการ

แกต้องได้รับโทษประหาร ข้อหาเข่นฆ่าประชาชนและอำนาจอธิปไตย!

คือถ้อยคำที่คิมจองโดเอ่ยในขณะที่จ่อกระบอกปืนไปที่หัวของชุน ดู-ฮวานหลังจากแผนการลอบสังหารที่เตรียมการมาอย่างดีล้มเหลวหลังจากที่พัคพยองโฮเปลี่ยนใจวินาทีสุดท้าย และแม้ว่าได้โอกาสสุดท้ายในการที่จะลั่นไกใส่เป้าหมาย แต่โชคก็ยังคงไม่เข้าข้างปณิธานของเขา เพราะระเบิดที่ตั้งไว้ก็ดันปะทุออกมา และทำให้เผด็จการที่คิมจองโดวางแผนกำจัดมานาน หลุดรอดจากเงื้อมมือไปได้อย่างหวุดหวิด

แม้จะรอดจากการถูกลอบสังหารไปได้ในภาพยนตร์ แต่ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง ๆ การปกครองด้วยกำปั้นเหล็กแบบเผด็จการของเขาก็ต้องจบลงหลังจากที่ต้องเจอกับการลุกฮือของประชาชนเกาหลีใต้หลายล้านคน ด้วยเหตุความไม่พอใจในการปกครองแบบอำนาจนิยม ความพยายามจะสืบสานอำนาจเผด็จการต่อให้ ‘โร แท-อู’ (Roh Tae-woo) และการที่นักศึกษาคนหนึ่งเสียชีวิตจากความรุนแรงในการตอบโต้ของรัฐ ปัจจัยทุกอย่างนี้หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว และก่อเป็นประกายไฟให้ประชาชนมากมายหลายคนลุกขึ้นต่อสู้ ในเดือนมิถุนายน ปี 1987 การเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตยจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม้ได้

ในเวลาต่อมา ชุน ดู-ฮวานก็ถูกกระบวนการยุติธรรมของเกาหลีใต้ตัดสินว่ามีความผิดข้อหาเป็นกบฏ และถูกเข้าจับกุมตัวหลังจากที่ไม่ยอมมามอบตัวตามนัด ในช่วงการไต่สวนนั้น เขาอ้างว่าการรัฐประหารของเขานั้นเป็นเหตุจำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองในประเทศ

ในตอนแรกเขาถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ได้รับการลดโทษเนื่องจากเหตุผลการพัฒนาทางเศรษฐกิจและก้าวลงจากตำแหน่งอย่างสันติ เขาจึงถูกจำคุกแทน และเขาก็ถูกลดโทษจนถูกปล่อยตัวในปี 1997 แต่ก็ยังต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินมหาศาล ชุน ดู-ฮวานเสียชีวิตในวันที่ 23 พฤศจิกายน ปี 2021 ด้วยวัย 90 ปี และเขาก็ไม่เคยกล่าวขอโทษกับสิ่งที่เขาเคยทำไว้ในอดีตเลย

 

อ้างอิง: 

https://www.britannica.com/biography/Chun-Doo-Hwan

https://www.nytimes.com/2021/11/23/world/asia/chun-doo-hwan-dead.html

https://www.youtube.com/watch?v=FqlUkDVJde4
https://www.britannica.com/event/Kwangju-Uprising

https://www.nbcnews.com/news/world/widow-chun-doo-hwan-south-korean-last-military-dictator-issues-apology-rcna6861