เปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสปรับพฤติกรรมดูแลสุขภาพรับปี 2565 

เปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสปรับพฤติกรรมดูแลสุขภาพรับปี 2565 
หากเปรียบเทียบสังคมไทยยุคนี้กับเมื่อสองทศวรรษก่อน ต้องบอกว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปมากมาย สิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือความตื่นตัวในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพของคนไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งในมิติของแนวคิดและพฤติกรรม คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้อยลง ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะอย่างเห็นได้ชัด และหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ รวมถึงออกกำลังกายกันเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นเทรนด์ ‘หนุ่มสาวผู้รักสุขภาพ’ ประกอบกับวิถีชีวิตที่ต้องอยู่กับโควิด-19 ที่แพร่กระจายรวดเร็วอย่างสายพันธุ์โอไมครอน ยิ่งต้องปรับพฤติกรรมเพื่อดูแลร่างกายให้พร้อม มีภูมิคุ้มกัน มีสุขภาพที่ดี ป้องกันโรคร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวโน้มที่ดีขึ้นด้านสุขภาวะของคนไทยนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำงานที่มุ่งมั่นของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ขับเคลื่อนรณรงค์ให้สังคมไทยหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเองตั้งแต่เมื่อสองทศวรรษก่อน เราจึงอยากชวนคุณมาเจาะลึก 10 เทรนด์สุขภาพที่ไทยควรเตรียมรับมือในปี 65 พร้อมสนทนากับ ‘พี่อุ๋ม’ หรือ เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ผู้ที่ลงเรือร่วมปลุกปั้นตั้งแต่วันแรกเริ่มจนถึงวันที่ สสส. ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 เปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสปรับพฤติกรรมดูแลสุขภาพรับปี 2565  Thaihealth Watch 2022  Thaihealth Watch 2022 ได้เจาะลึก 10 เทรนด์สุขภาพที่ไทยควรเตรียมรับมือในปี 2565 นี้ ภายใต้แนวคิดที่ว่า "Adaptive Living กระตุ้นคนไทยปรับตัวต่อสู้วิกฤตโควิด-19 ให้ดียิ่งขึ้น" ถึงแม้ว่าอะไรหลายอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะหมดไปจากโลกเราในเร็ววันนี้แน่นอน แถมโรคระบาดครั้งนี้ยังกลายเป็นต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหามิติต่างๆ ตามมามากมายอีกด้วย สถานการณ์น่าเป็นห่วงนี้ทำให้ทุกฝ่ายทั่วโลกยังคงจับตาเรื่องสุขภาพกันอยู่อย่างใกล้ชิด รวมถึงสถานการณ์ในบ้านเราที่ สสส. ได้เฝ้าติดตาม ให้ความช่วยเหลือ และได้จัดทำข้อมูลทิศทางสุขภาพคนไทยในครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมการส่งเสริมสร้างสุขภาวะให้ดียิ่งขึ้นครบทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย-จิต-ปัญญา-สังคม เบญจมาภรณ์ มองว่า “สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วง หากประชาชนยังขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโควิด-19 มีพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อ-แพร่เชื้อ ไม่รักษามาตรการป้องกัน อาจส่งผลให้สถานการณ์ในปี พ.ศ. 2565 ในเมืองไทยแย่ลงได้ การดำเนินชีวิตในยุคนี้จึงจำเป็นต้องเรียนรู้และปรับตัวให้มีพฤติกรรมที่ใช้ชีวิตได้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ตลอดจนส่งเสริมสุขภาพชีวิตที่ดีไปพร้อมกัน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ให้ดีที่สุด”  เปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสปรับพฤติกรรมดูแลสุขภาพรับปี 2565  10 เทรนด์สุขภาพคนไทยปี 2565 เทรนด์สุขภาพทั้ง 10 ประเด็นในคราวนี้เป็นการพัฒนาองค์ความรู้ขึ้นจากหลักการ 3S ที่ประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ 1. Situation ข้อมูลสถานการณ์สุขภาพคนไทยระหว่างปี พ.ศ.2563-2564 2. Social Trend กระแสสังคมใน Social Trend บนโลกออนไลน์ และ 3. Solution การรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ ทั้งจากระดับปัจเจกบุคคลไปจนถึงเชิงนโยบายสังคม    10 เทรนด์สุขภาพคนไทยในปี 65 ที่น่าจับตาในปีหน้านี้ ได้แก่ ประเด็นที่เกี่ยวข้องทางกาย 
  1. จับตาโควิดกลายพันธุ์ ดูแลสุขภาพอย่างไรเมื่อต้องอยู่กับโควิด-19 ที่ยังคงต้องกระตุ้นเตือนให้ทุกคนดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พร้อมเรียนรู้ ตลอดจนปรับตัวให้อยู่รอดต่อไปได้ดีในทุกมิติ 
  2. ดูแลสุขภาพใกล้-ไกล ห่วงใยทุกกลุ่มประชากร ปัญหาสุขภาพในช่วงนี้มีหลากหลายมิติ ตั้งแต่ปัญหาโรคระบาดไปจนถึงปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่เราควรดูแลใส่ใจในทุกกลุ่มประชากรอย่างเท่าเทียม ตลอดจนประชากรกลุ่มเปราะบางอื่นๆ ที่อาจตกหล่นจากการดูแลด้วย
  3. สร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดโภชนาการขาด-เกิน วิกฤตโควิดส่งผลให้ผลผลิตเพื่อการบริโภคลดลงและมีปัญหาในหลายๆ ด้าน ทำให้กลุ่มคนด้อยโอกาส คนไร้บ้านหลายคนประสบปัญหาในด้านอาหารการกิน แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มเด็กที่เรียนออนไลน์ คนที่ต้องกักตัวอยู่กับบ้านรับประทานอาหารเดลิเวอรี่ก็ทำให้เกิดการบริโภคเกินความจำเป็น ตลอดจนการไม่มีกิจกรรมทางกายก็ทำให้สุขภาพย่ำแย่ขึ้นด้วย
ประเด็นที่เกี่ยวข้องทางจิต
  1. เลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างไรในยุคโควิด การส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยจิตวิทยาเชิงบวก กับการใส่ใจ มุมมองของผู้ปกครองที่ต้องคอยดูแลช่วยเหลือเด็กๆ ตลอดจนแนะนำครอบครัว เป็นวิธีในการรับมือกับสถานการณ์นี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  2. เมื่อ บ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย ปัญหาคลื่นใต้น้ำที่กำลังรุนแรงขึ้นในช่วงนี้อีกเรื่องก็คือปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นจากภาวะความเครียด ตลอดจนผลกระทบต่างๆ เนื่องมาจากสถานการณ์โควิด โดยผู้ที่น่าเป็นห่วงที่สุดจะอยู่ที่เด็กและเยาวชนที่ต้องเผชิญปัญหานี้อย่างเลี่ยงไม่ได้
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญญา 
  1. รู้เท่าทันสื่อ พ้นภัยกับดักข่าวลวง ข่าวลวง (Fake News) ยังคงเป็นปัญหาสังคม โดยเฉพาะข่าวลวงในด้านโรคระบาดและสุขภาพช่วงนี้ยิ่งส่งผลเสียกับสังคมอย่างมาก การตรวจสอบตลอดจนการเสพข่าวอย่าง ‘รู้เท่าทันสื่อ’ มีสติ รวมถึงการเช็คความถูกต้องของข้อมูลจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
ประเด็นที่เกี่ยวข้องทางสังคม
  1. เจ็บต่อเพราะ พนันออนไลน์โควิดมีส่วนทำให้วัยรุ่นใช้เวลาอยู่กับโลกออนไลน์มากขึ้น และเริ่มมีการติดพนันออนไลน์อันนำมาซึ่งความเสียหายอีกหลายมิติ 
  2. เด็กไทยใส่ถุงยางเพิ่ม แต่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังพุ่ง การรณรงค์ให้วัยรุ่นรู้จักป้องกันตัวเองเมื่อยามมีเพศสัมพันธ์นั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่กลับพบว่าแนวโน้มของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งต้องเร่งรณรงค์ในเรื่องค่านิยมตลอดจนความรู้ในเรื่องนี้ในสังคมไทยให้ดียิ่งขึ้น 
  3. ขยะหน้ากากอนามัย พิษภัยที่กำลังล้นเมือง ปัญหาขยะพลาสติกยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต แต่ปัญหาขยะที่รุนแรงขึ้นมาจนกลายเป็นวิกฤตใหม่ในยุคนี้ก็คือขยะติดเชื้อโดยเฉพาะขยะหน้ากากอนามัยที่กำลังเพิ่มขึ้นและเป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง
  4. อากาศสะอาด สิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน เรื่องอากาศกลายมาเป็นปัญหาด้านสุขภาวะสำคัญของคนไทยทั่วทั้งประเทศ และเป็นประเด็นที่ต้องเร่งกันจัดการปัญหามลภาวะทางอากาศนี้ให้หมดจากเมืองไทยไปโดยไวที่สุด ซึ่ง สสส. ให้ความสำคัญและมีแนวโน้มวิกฤติมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องของมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ไม่ว่าจะเป็นคนเมืองหรือคนท้องถิ่นต่างก็กำลังเผชิญกับปัญหานี้ด้วยกันทั้งสิ้น แต่เผชิญกันคนละมิติ โดยคนเมืองต้องประสบปัญหามลพิษจากการจราจรไปจนถึงความแออัดของเมือง ส่วนคนท้องถิ่นก็กำลังเผชิญกับสภาพอากาศเป็นพิษจากฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาไหม้แบบไร้การควบคุม ในเรื่องนี้ทาง สสส. ได้มีส่วนช่วยเหลือในมิติต่างๆ ที่แตกต่างกัน อาทิ การร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : GISTDA เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันในการจัดการการเผาขยะทางการเกษตรให้เหมาะสมเพื่อช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศลง หรือการริเริ่มโปรเจกต์ “ปทุมวันโมเดล” ในการบริหารจัดการด้านมลภาวะทางอากาศในชุมชนเมืองที่จะเป็นต้นแบบให้กับเขตอื่นๆ ของเมืองใหญ่ในอนาคต 
เปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสปรับพฤติกรรมดูแลสุขภาพรับปี 2565  เทรนด์ของปัญญาประดิษฐ์ (AI) แก้ปัญหาสุขภาพมาแน่! สิ่งที่ดีมากๆ คือวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับการแก้ปัญหาสุขภาวะในยุคดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งทาง สสส. ร่วมมือกับเครือข่ายภาคี ยังคงมุ่งพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเป็นแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ให้ข้อมูลความรู้อย่างถูกต้อง รวมถึงพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อรองรับการแก้ปัญหาต่างๆ ไปพร้อมกันด้วย เพราะยุคนี้เทคโนโลยีพัฒนาไปไกลและไวมาก เรื่องของข้อมูลมันไม่ใช่แค่นำไปใส่ไว้บนเว็บแล้วให้อ่านอย่างเดียวแล้ว เราต้องบูรณาการข้อมูลเชิง Big Data แล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้ได้ด้วย อย่างเทรนด์ของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว ทาง สสส. ก็ต้องการพัฒนาตรงจุดนี้ให้มากยิ่งขึ้น ทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนเทคโนโยลีเทคโนโลยีให้กลายเป็นอาวุธคู่กายประชาชนสำหรับต่อสู้กับภัยสุขภาวะต่างๆ ทำอย่างไรที่เราจะสามารถจัดการข้อมูลที่เรามีอยู่มากมายให้เป็นระบบและเกิดประโยชน์กับคนไทยให้มากที่สุดด้วย    ส่องนวัตกรรมสุขภาพที่ตอบโจทย์สไตล์คนไทย  ที่ผ่านมา สสส. ได้จัดทำนวัตกรรมสุขภาพ ทั้งรูปแบบแอปพลิเคชัน ตลอดจนแพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือสังคมในด้านสุขภาวะตลอดจนปัญหาสังคมมากมาย ทั้งยังสอดคล้องกับหลากหลายประเด็นที่ต้องจับตาในปีหน้าด้วย อย่างเช่น แอปพลิเคชัน FoodChoice ที่ช่วยให้คนไทยมีโภชนาการที่ดี มีสุขภาพที่แข็งแรง พร้อมต่อสู้กับโรคภัยต่างๆ, แพลตฟอร์ม Cofact (cofact.org) สำหรับตรวจสอบข่าวปลอมและช่วยให้คนไทยเสพข่าวได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น, โปรเจกต์ “แชทชัวร์” ที่ทาง สสส. ร่วมพัฒนาระบบแชทบอทกับทาง เฟซบุ๊ก ประเทศไทย ในการตอบปัญหาสุขภาพต่างๆ อย่างทันท่วงที, แอปพลิเคชัน “ตามสั่ง ตามส่ง” ที่สร้างแพลตฟอร์ม Food Delivery เฉพาะย่านเพื่อให้คนในชุมชนละแวกนั้นได้มีรายได้และช่วยเหลือเกื้อกูลเศรษฐกิจชุมชนระหว่างกัน รวมถึงโปรเจกต์สำคัญอย่างการจัดทำแพลตฟอร์มระบบข้อมูลสุขภาพ Persona Health ที่มุ่งเน้นการคัดกรองข้อมูลเพื่อสามารถตอบสนองความต้องการให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลให้มากขึ้นด้วย โดยแพลตฟอร์มนี้มีเป้าหมายในการเชื่อมต่อข้อมูลจากภาคีต่างๆ ไว้ในหนึ่งเดียว แล้วยังเป็นข้อมูลที่อัพเดทสม่ำเสมอ ซึ่งโปรเจกต์นี้มีเป้าหมายว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการสำหรับประชาชนได้ในราวช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2565 นี้ สำหรับ Thaihealth Watch 2022 ประจำปีนี้เป็นข้อมูลการจับตาเทรนด์สุขภาพประจำปีที่จัดทำขึ้นโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ และ บริษัท ไวซ์ไซท์ ประเทศไทย จำกัด ตลอดจนภาคีเครือข่ายภาควิชาการต่างๆ เพื่อนำเสนอข้อมูลด้านสุขภาวะที่เป็นประโยชน์สำหรับคนไทยสู่สาธารณะ โดยสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลตลอดจนดาวน์โหลดเอกสารกันได้ที่เว็บไซต์ “ศูนย์บริการข้อมูล สสส. (Resource Center)” https://resou.thaihealth.or.th/rcecenter เปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสปรับพฤติกรรมดูแลสุขภาพรับปี 2565