ริก แอสต์ลี นักร้อง 80s เจ้าของมีมกลั่นแกล้งยุคบุกเบิก

ริก แอสต์ลี นักร้อง 80s เจ้าของมีมกลั่นแกล้งยุคบุกเบิก
"Never gonna give you up. Never gonna let you down. Never gonna run around and desert you. Never gonna make you cry. Never gonna say goodbye. Never gonna tell a lie and hurt you.” นี่เป็นท่อนยุคเพลงดังจากยุค 80s ของ ริก แอสต์ลี (Rick Astley) นักร้องชาวอังกฤษ ที่ชาวเน็ตยุค web 2.0 รุ่นบุกเบิก (ที่เว็บไซต์เริ่มพัฒนาให้มีการตอบโต้ระหว่างผู้ใช้ได้ต่างจาก web 1.0 ที่ผู้ใช้รับสารได้อย่างเดียว) มาจนถึงยุคปัจจุบันน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้างไม่ว่าจะโดยตั้งใจ หรือ "โดนหลอก" ให้ต้องฟังเพลงของเขา ซึ่งถือว่าเป็น "มีม" ยุคแรก ๆ นับตั้งแต่เว็บบอร์ดเริ่มเป็นที่แพร่หลาย คำว่า มีม (meme) หมายถึงอะไร? จากคำอธิบายของ Cambridge Dictionary มีม หมายถึง ลักษณะทางวัฒนธรรมหรือพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นโดยไม่มีเรื่องของ "ยีนส์" หรือสารพันธุกรรมมาเกี่ยวข้อง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง มีม ก็คือ "ยีนส์" ในทางวัฒนธรรมก็คงได้ ส่วนข้อมูลจาก Lifewire ระบุว่า มันถูกเสนอขึ้นมาครั้งแรกในปี 1976 โดยนักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการชื่อ ริชาร์ด ดอว์กินส์ (Richard Dawkins) โดยมีรากจากคำว่า mimema ในภาษากรีก แปลว่า สิ่งที่ถูกลอกเลียน ดอว์กินส์อธิบายว่า มีมคือลักษณะของการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม ซึ่งผู้คนส่งต่อความทรงจำทางสังคมและไอเดียในทางวัฒนธรรมให้แก่กัน ไม่ต่างจากรหัสพันธุกรรมและชีวิตที่แพร่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ไอเดียที่เป็น "มีม" ก็แพร่จากหัวคนคนหนึ่ง ไปยังคนอื่น ๆ เช่นกัน “Rickrolling” จึงเป็นมีมรูปแบบหนึ่ง มันเป็นการกลั่นแกล้งกันด้วยการแจกลิงก์ที่บอกว่าเป็นลิงก์บางอย่างที่คนอ่านน่าจะสนใจโดยซ่อนไฮเปอร์ลิงก์จริง ๆ เอาไว้ เมื่อคนอ่านเห็นคำโปรยที่ดึงดูดให้กดไปดูเช่น “คลิปหลุดดาราช่องหลายสี คลิกที่นี่ด่วน ก่อนโดนลบ” พอกดไปปุ๊บ กลับไปโผล่ที่มิวสิกวิดีโอเพลง Never Gonna Give You Up ของ ริก แอสต์ลี ชื่อของนักร้องดังจึงกลายเป็นคำขึ้นต้นของชื่อมีม ส่วนคำหลัง (rolling) เป็นการดึงมาจากมีมที่แพร่หลายอยู่ก่อนหน้านั้น นั่นก็คือ “duckrolling” ซึ่ง “moot” หรือ คริสโตเฟอร์ พูล (Christopher Poole) ผู้พัฒนาบอร์ด 4Chan (แฟนการ์ตูนญี่ปุ่นและได้แบบอย่างมาจาก Futaba Channel บอร์ดโอตะต้นแบบ) แอบแกล้งผู้ใช้บอร์ดเล่นด้วยการใส่ฟิลเตอร์ในระบบไว้ว่าถ้าใครพิมพ์คำว่า “egg” มันจะแสดงคำว่า “duck” ขึ้นมาแทน ถ้าใครพิมพ์ว่า “eggroll” ก็จะกลายเป็น “duckroll” แทน จากนั้น การกลั่นแกล้งก็พัฒนาขึ้นเป็นการยั่วให้กดแต่ถูกสับเปลี่ยน (bait and switch) คือหลอกคนอ่านว่านี่เป็นลิงก์อะไรบางอย่างที่น่าสนใจมาก แต่พอกดไปกลับเป็นรูปภาพของเป็ดที่มีล้อเลื่อน (สมกับคำว่า duckrolling) แทน (Know Your Meme การกลั่นแกล้งแบบนี้เป็นที่นิยมมากในบอร์ดโอตะเวอร์ชันภาษาอังกฤษ ต่อมาในราวปี 2007 ตอนนั้นเกม Grand Theft Auto IV เพิ่งออกหมาด ๆ ก็มีคนมาแกล้งเล่นในบอร์ดว่า กดลิงก์นี้สิเรามีพรีวิวเกมนี้มาฝาก แต่พอกดเข้าไปมันก็กลับเป็นมิวสิกวิดีโอเพลง Never Gonna Give You Up แทน ปรากฏว่าคนชอบใจการแกล้งแบบนี้มากจนกลายเป็นมีม ริก แอสต์ลี ที่แขวนไมค์ไปนานเกือบยี่สิบปีจึงกลับมาดังอีกรอบ Never Gonna Give You Up เป็นเพลงหนึ่งในอัลบัมเปิดตัวของแอสต์ลี Whenever You Need Some Body เผยแพร่เมื่อปี 1987 ซึ่งเป็นอัลบัมขายดีอันดับ 1 ประจำปีในอังกฤษ ส่วน Never Gonna Give You Up ก็เป็นเพลงที่ติดอันดับ 1 บนชาร์ตเพลงยอดนิยมของอังกฤษนาน 5 สัปดาห์ ได้รางวัลซิงเกิลยอดเยี่ยมแห่งปีจาก Brit Awards และยังขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ในอีก 24 ประเทศทั่วโลก  ด้วยอายุเพียง 21 ปี เขากลายเป็นเศรษฐีและเป็นที่รู้จักทั่วโลก แต่หลังจากอยู่ในวงการได้เพียง 6 ปี เขาก็ตัดสินใจหันหลังให้กับการร้องเพลง  "ผมคงไม่เรียกว่าสติแตก แต่มันเหมือนกับว่าตัวเองกำลังวิ่งชนกำแพง" แอตส์ลี เล่าถึงช่วงเวลาที่ทำให้เขาตัดสินใจแขวนไมค์ ซึ่งเกิดขึ้นขณะเดินทางไปสนามบินฮีทโธรว์เพื่อออกทริปที่นิวยอร์ก (The Express) "แล้วจู่ ๆ มันก็เหมือนเชือกที่ขาด ผมเอนตัวไปบอกกับคนขับรถว่า 'คุณต้องกลับรถแล้วพาผมกลับบ้าน ผมมีอาการกลัวการบิน' จริง ๆ แล้วในใจผมรู้ทันทีว่ามันไม่ใช่อะไรแบบนั้น ผมไม่อยากขึ้นเครื่องบิน เพราะผมไม่อยากจะไปถึงที่ที่มันจะพาไป ผมอยากกลับไปอยู่บ้านกับลีน (ภรรยา) และลูกของเรา"   ชีวิตในวัยเด็กของแอตส์ลีไม่ได้ราบรื่นมากนัก ครอบครัวของเขาอยู่ที่แลงคาเชอร์ แอตส์ลีเป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 5 คน พี่ชายของเขาตายตั้งแต่เขายังไม่เกิด และนั่นก็ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับแม่เขาไม่น้อย เขาเองเคยบอกว่า ถ้าพี่เขาไม่เสียชีวิต เขาเองก็คงไม่ได้เกิดมา เขาอายุได้ 4 ขวบ พ่อแม่ก็แยกทางกัน  โตขึ้นมาหน่อยเขาชอบไปโบสถ์ใกล้บ้านด้วยความที่ชอบร้องเพลง พอเริ่มแตกเนื้อหนุ่มก็เริ่มเล่นวงดนตรี โดยเขาเองเป็นมือกลอง แต่ตอนหลังก็ได้มาร้องนำ อายุได้ 18 ปีก็ไปสะดุดตาของ พีท วอเทอร์แมน (Pete Waterman) โปรดิวเซอร์ชื่อดังจึงพาเขาไปอยู่ลอนดอน สามปีหลังจากนั้นก็กลายเป็นนักร้องดังระดับนานาชาติซึ่งเขามองว่าไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก ที่จู่ ๆ เปลี่ยนจากเด็กที่ไม่มีอะไร กลับสามารถได้ทุกอย่างในสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่แอตส์ลีก็ไม่หันหน้าเข้าหายาเสพติด เขาเคยบอกว่าเขาไม่เคยเสพผงผ่านจมูก แม้จะชอบดื่มเบียร์แต่ก็ไม่หนักหนา  ชีวิตส่วนตัว เขาคบหากับ ลีน เบาซาเจอร์ (Lene Bausager) โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ที่เคยถูกเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ ซึ่งทั้งคู่ได้พบกันเมื่อปี 1988 ทั้งคู่คบกันอย่างยาวนานและมีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคน แต่กว่าที่ทั้งคู่จะแต่งงานด้วยกันก็ปี 2013 ซึ่งแอตส์ลีเคยบอกว่า ก่อนหน้านั้นเขากลัวว่าคู่ของเขาจะเป็นเหมือนพ่อแม่ตัวเอง เลยคิดว่า ถ้าทั้งคู่ไม่แต่งงานกันก็ไม่ต้องหย่า ซึ่งเป็นความคิดที่ไร้สาระ เพราะความรักของทั้งคู่ยังคงเหมือนเดิมแม้จะอยู่ด้วยกันมานานกว่า 3 ทศวรรษแล้ว  การกลับมาดังอีกครั้ง แอตส์ลีบอกว่าเขารู้สึกดีกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นในอดีตมากกว่าแต่ก่อน และก็รู้สึกโชคดีมากที่ได้กลับมาทำงานเพลงอีกเป็นระยะ ๆ ตลอดกว่าสิบปีที่ rickrolling กลายเป็นปรากฏการณ์ เพราะเขาเองยังใช้ชีวิตอย่างปกติไม่ถูกจับจ้องหรือรู้สึกกดดันเหมือนสมัยที่เขาโด่งดังครั้งเป็นวัยรุ่น และยังได้ออกอัลบัมลำดับที่ 7 “50” เมื่อปี 2016 เปิดตัวด้วยยอดขายอันดับ 1 ในอังกฤษ  ส่วน Never Gonna Give You Up ของเขาตอนนี้มียอดคนดูเกิน 600 ล้านวิวไปแล้ว ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับเพลงจากยุค 80s (Like A Virgin เพลงติดชาร์ตอันดับ 1 บิลบอร์ด 6 สัปดาห์เมื่อปี 1984 ปัจจุบันมียอดวิวที่ราว 64 ล้านวิว) และแฟน ๆ ที่ถูก “rickrolled” หรือจงใจ rickrolled ตัวเอง ก็ยังเข้ามาดูมาคอมเมนต์อยู่เสมอ บ้างยังขอเสนอให้เพลงนี้เป็นเพลงชาติของอินเทอร์เน็ตอีกด้วย