ริอิจิ เอซากิ : ซุปหอยนางรมช่วยชีวิตลูกชาย และศึกชิงวันป๊อกกี้ เบื้องหลังแบรนด์ ‘กูลิโกะ’

ริอิจิ เอซากิ : ซุปหอยนางรมช่วยชีวิตลูกชาย และศึกชิงวันป๊อกกี้ เบื้องหลังแบรนด์ ‘กูลิโกะ’
‘ป๊อกกี้’ คือชื่อขนมบิสกิตเคลือบช็อกโกแลตและรสชาติอื่น ๆ ในเครือ ‘กูลิโกะ’ ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคย บ้างก็อาจจะตกหลุมรักรสอร่อย รวมทั้งดีไซน์ที่ออกแบบมาให้ถือสะดวก กินง่าย ไม่เลอะมือ แถมในประเทศญี่ปุ่นยังมี ‘วันป๊อกกี้’ ทุกวันที่ 11 เดือน 11 อีกต่างหาก แต่เชื่อหรือไม่ว่า หากย้อนกลับไปเกือบ 100 ปีที่แล้ว ถ้า ‘ริอิจิ เอซากิ’ (Riichi Ezaki) ไม่ได้กลิ่นควันฉุยจากซุปหอยนางรมในวันนั้น ก็คงไม่มีขนมรสอร่อยในเครือกูลิโกะอย่างทุกวันนี้…   เหตุเกิดจากซุปหอยนางรม ณ เมืองซากะ ประเทศญี่ปุ่น ‘ริอิจิ เอซากิ’ ลืมตาดูโลกครั้งแรกเมื่อปี 1882 เขาเติบโตมาในครอบครัวที่เลี้ยงชีพด้วยการเปิดร้านขายยา ก่อนจะเริ่มสืบทอดกิจการของบิดาเมื่ออายุได้ 14 ปี ตั้งแต่เด็กจนโต คำพูดที่เขามักจะถูกปลูกฝังทั้งจากบิดาและครูที่เคารพรัก คือ “การค้าเป็นมากกว่าการเลี้ยงชีพ แต่ยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้เช่นกัน”  เพราะผู้ขายจะได้กำไรจากการขาย ส่วนผู้ซื้อก็ควรจะได้สินค้าที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป เอซากิจึงยึดถือแนวคิดนี้เป็นคติในการทำงานเสมอมา เมื่อเขาเติบใหญ่จนแต่งงานมีครอบครัว ในปี 1919 เอซากิได้พบกับชาวประมงคนหนึ่งที่กำลังต้ม ‘ซุปหอยนางรม’ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำชิคุโกะ ขณะที่มองควันฉุยของซุปร้อน ๆ เอซากิเริ่มนึกถึงบทความที่้เขาเคยอ่านเจอในหนังสือพิมพ์ว่า ‘ในซุปหอยนางรมมีสารไกลโคเจน (glycogen) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานและดีต่อสุขภาพ’ เมื่อคิดได้ดังนั้น เอซากิจึงขอซุปมาจากชาวประมง แล้วนำไปที่โรงพยาบาล the Kyushu Imperial University เพื่อตรวจหาสารดังกล่าว จนพบว่าองค์ประกอบหลักของซุปหอยนางรม คือไกลโคเจนอย่างที่บทความนั้นเขียนเอาไว้จริง ๆ  ถึงอย่างนั้นเอซากิก็ยังไม่ได้เริ่มก่อตั้งบริษัทอย่างจริงจัง จนกระทั่งลูกชายคนโตของเขาป่วยเป็นไข้ไทฟอยด์ (typhoid fever) ในปีถัดมา ท่ามกลางความห่วงหาและสิ้นหวัง เอซากิไม่รู้จะทำอย่างไรให้ลูกชายอาการดีขึ้นได้ เขาจึงขออนุญาตหมอประจำครอบครัว ให้ลองนำสารไกลโคเจนในซุปหอยนางรมมาให้ลูกชายลองกินดูสักครั้ง  และแล้วปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้น…  เมื่อลูกชายของเขาอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ เอซากิจึงเริ่มคิดว่าเขาน่าจะนำสารไกลโคเจนมาสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพได้   ลูกอมคาราเมล + ไกลโคเจน เริ่มแรก เอซากิยังไม่แน่ใจนักว่าจะทำเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบไหน แต่หมอที่โรงพยาบาล the Kyushu Imperial University ได้ให้คำแนะนำกับเขาว่า ‘เราควรผลิตสิ่งที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน มากกว่ายาสำหรับการรักษา’ (เช่นเดียวกับความเชื่อของ มิโนรุ ชิโรตะ ผู้ก่อตั้งยาคูลท์) ทั้งยังแนะนำว่ากลุ่มคนที่น่าจะต้องการไกลโคเจนมากที่สุด คือกลุ่มเด็กกำลังโต ดังนั้นการเพิ่ม ‘คาราเมล’ ลงไป น่าจะช่วยดึงความสนใจของเด็ก ๆ ได้ และกลายเป็นขนมที่รับประทานง่ายขึ้นอีกด้วย นับแต่นั้นมา เอซากิจึงมุ่งความสนใจไปยังการทำขนมเพื่อบำรุงสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ (เพราะขนมรสอร่อยก็ช่วยชุบชูหัวใจในวันที่ห่อเหี่ยวได้ไม่น้อย)  ในที่สุด เขาก็สามารถก่อตั้ง ‘บริษัท เอซากิ กูลิโกะ’ ได้สำเร็จ โดยสินค้าชนิดแรกคือลูกอมรูปหัวใจในกล่องสีแดงที่ชื่อว่า ‘กูลิโกะ’ (Glico) และจัดจำหน่ายครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1922 ณ ห้างสรรพสินค้าโอซากามิสึโกะชิ  เอซากิยังคงถือคติการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างประโยชน์ให้สังคมเรื่อยมา โดยในปี 1934 ยุคสมัยที่ประเทศญี่ปุ่นยังไม่มีกระทรวงสาธารณสุข เขาได้นำเงินส่วนหนึ่งมาก่อตั้งมูลนิธิเพื่อสุขภาพแม่และเด็ก ทั้งยังผลิตสินค้าที่ดีต่อกายและดีต่อใจอีกหลายชนิด เช่น บิสกิต ช็อกโกแลต โยเกิร์ต คาราเมลสอดไส้อัลมอนด์ ฯลฯ หากสินค้าที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอันดับต้น ๆ ของกูลิโกะ คงไม่พ้นแท่งบิสกิตเคลือบรสช็อกโกแลตและอีกหลายรสชาติในกล่องสี่เหลี่ยมขนาดพอดีมืออย่าง ‘ป๊อกกี้’ (Pocky) ริอิจิ เอซากิ : ซุปหอยนางรมช่วยชีวิตลูกชาย และศึกชิงวันป๊อกกี้ เบื้องหลังแบรนด์ ‘กูลิโกะ’

ภาพจาก https://www.glico.com/th/en/product/pocky/

  ป๊อกกี้ นวัตกรรมช็อกโกแลตแบบไม่เลอะมือ ก่อนจะมีขนมป๊อกกี้ ในปี 1963 กูลิโกะเริ่มจากการทำ ‘เพรทซ์’ (Pretz) ขนมปังแบบแท่งออกมาจัดจำหน่ายก่อน แล้วเพิ่มช็อกโกแลตลงไปเพื่อเติมความหวาน กลายเป็นสินค้าชนิดใหม่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือเด็กสาวที่อยากเดินไป กินขนมหวานไปแบบไม่เลอะมือ  เดิมทีกูลิโกะจะใช้กระดาษฟอยล์ห่อขนม เพื่อให้ช็อกโกแลตไม่สัมผัสกับมือโดยตรง แต่วิธีนี้ทั้งใช้ต้นทุนสูงแถมยังยุ่งยากสำหรับคนกิน กูลิโกะจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีการเคลือบช็อกโกแลตโดยเหลือพื้นที่บิสกิตเปล่า ๆ ไว้ให้จับอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ส่วนชื่อขนม ก่อนหน้านี้กูลิโกะจะใช้คำว่า ‘chocotekku’ แต่ดันมีคนเคยใช้ชื่อนี้ไปแล้ว จึงเปลี่ยนมาเป็นชื่อ ‘ป๊อกกี้’ แทน โดยคำว่า ‘ป๊อกกี้’ มาจากเสียงขนมที่ถูกหักออกเป็นสองท่อนนั่นเอง   11.11 Pocky vs Pepero  หลังจัดจำหน่ายครั้งแรกในปี 1966 ป๊อกกี้ได้กลายเป็นขนมเคลือบช็อกโกแลตแบบแท่งชนิดแรกของโลก และได้รับความนิยมทั้งกลุ่มเด็กสาวไปจนถึงผู้คนหลากเพศหลายวัย ซึ่งคาดว่าแต่ละปี ป๊อกกี้จะมียอดขายราว 500 พันล้านกล่องเลยทีเดียว  ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น จนกระทั่งปี 1983 ศึกระหว่างป๊อกกี้กับขนมจากประเทศใกล้เคียงได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเงียบเชียบ เมื่อบริษัทเกาหลีใต้อย่าง Lotte ผลิตสินค้าที่คล้ายคลึงกันออกมาโดยใช้ชื่อว่า ‘Pepero’  ริอิจิ เอซากิ : ซุปหอยนางรมช่วยชีวิตลูกชาย และศึกชิงวันป๊อกกี้ เบื้องหลังแบรนด์ ‘กูลิโกะ’

ภาพจาก https://www.facebook.com/globalpepero/photos/?ref=page_internal

  หลังจากนั้นในวันที่ 11 เดือน 11 ของปี 1994 ว่ากันว่ามีเด็กสาวชาวเกาหลีใต้คนหนึ่งได้นำขนม Pepero มาแลกกับเพื่อน แล้วขอพรให้เธอผอมสูงเช่นเดียวกับรูปร่างของขนมชนิดนี้ รวมทั้งรูปร่างของเลข 1 ในวันและเดือนดังกล่าว  แม้การ ‘กินขนม’ แล้ว ‘ขอพรให้ผอมเพรียว’ จะฟังดูไม่ค่อยเมคเซนส์สักเท่าไร แต่ความเชื่อนี้กลับถูกส่งต่อกันมาเรื่อย ๆ จนถึงขั้นตั้งชื่อวันที่ 11 เดือน 11 ว่า ‘Pepero Day’  เมื่อเรื่องไปถึงหูผู้บริหารของ Lotte พวกเขาจึงใช้โอกาสนี้เปิดตัว Pepero Day อย่างเป็นทางการในเกาหลีใต้ เมื่อปี 1997 ซึ่งทำให้ยอดขายพุ่งปรี๊ดในช่วงวันดังกล่าว อย่างปี 2012 ที่กำไรประจำปีของ Lotte กว่า 50% ได้มาจาก Pepero Day เลยทีเดียว ‘ไม่ได้การแล้ว… ทำไมขนมที่ฉันเป็นต้นฉบับ ถึงไม่ปังเท่าน้องใหม่อย่าง Pepero บ้าง !?’ ป๊อกกี้ไม่ได้กล่าว แต่แคมเปญหลังจากนั้นก็พอจะทำให้เราคาดเดาได้ว่า แบรนด์ป๊อกกี้น่าจะคิดแบบประโยคข้างต้น เพราะวันที่ 11 เดือน 11 ปี 1999 (ซึ่งนับเป็นปีที่ 11 ตามปฏิทินของญี่ปุ่น) ป๊อกกี้ได้เปิดตัว ‘วันป๊อกกี้’ หรือ ‘Pocky Day’ อย่างเป็นทางการในประเทศญี่ปุ่น  แถมยังเคยสร้างอีเวนต์สุดอลังการจนสามารถทำลายสถิติ Guinness World Records จากการถูกกล่าวถึงบนทวิตเตอร์มากที่สุด (Most Mentions of a Brand on Twitter) ในปี 2013 ทั้งยังมีแคมเปญ โฆษณา และกิจกรรมต่าง ๆ ในวันป๊อกกี้ของทุก ๆ ปี จนกลายเป็นวันที่คนญี่ปุ่น (รวมทั้งคนไทย) หลายคนรู้จักและมักจะซื้อป๊อกกี้ไปให้คนที่เราห่วงใย บ้างก็ใช้แทนคำขอบคุณสำหรับมิตรภาพดี ๆ มาจวบจนปัจจุบัน ย้อนกลับไปในวันนั้น ถ้า ‘ริอิจิ เอซากิ’ ไม่ได้กลิ่นควันฉุยจากซุปหอยนางรม ก็คงไม่มีป๊อกกี้และขนมรสอร่อยในเครือกูลิโกะอย่างทุกวันนี้ แต่หัวใจสำคัญที่ทำให้กูลิโกะกลายเป็นบริษัทที่ยืนหยัดมาเกือบ 100 ปีได้ คงจะเป็นความตั้งใจผลิตขนมที่ ‘นึกถึงคนกิน’ เสมอมา ไม่ว่าจะเรื่องสุขภาพ ความอร่อย หรือแม้กระทั่งความสะดวกสบายระหว่างหยิบมารับประทาน    ที่มา: https://www.glico.com/global/rd/ https://www.glico.com/sg/article/founder01/  https://www.glico.com/th/ https://asianheroes.wordpress.com/tag/riichi-ezaki/ https://www.tofugu.com/japan/pocky-day/ https://pocky.com/presskit/Pocky-Fact-Sheet.pdf  https://www.washingtonpost.com/news/worldviews/wp/2015/11/11/japan-and-south-korea-argue-over-a-chocolate-covered-pretzel-stick/ https://www.mentalfloss.com/article/649509/brief-history-glicos-pocky-sticks https://metropolisjapan.com/pick-pocky/   ที่มาภาพ https://www.glico.com/sg/article/founder01/  https://www.glico.com/th/en/product/pocky/