ตำนานช่างภาพสงคราม ‘โรเบิร์ต คาปา’ แด่ม้วนฟิล์ม ความรัก แสงแฟลช และเสียงปืน 

ตำนานช่างภาพสงคราม ‘โรเบิร์ต คาปา’ แด่ม้วนฟิล์ม ความรัก แสงแฟลช และเสียงปืน 
“ถ้าคุณไม่สามารถบันทึกภาพที่ดีพอได้ แปลว่าคุณยังเข้าไปใกล้ไม่พอ” ประโยคดังกล่าวคือคำพูดที่โด่งดังที่สุดของช่างภาพสงครามระดับตำนานที่กดชัตเตอร์บันทึกภาพ ‘The Falling Soldier’ (ชื่อทางการว่า SPAIN. Córdoba front. Early September, 1936. Death of a Loyalist Militiaman) เอาไว้ได้ หลังจากเริ่มอาชีพของตนในยุค 30s ‘โรเบิร์ต คาปา’ (Robert Capa) คือช่างภาพฝีมือดีที่ทุ่มเกือบทั้งชีวิตให้การถ่ายภาพสงคราม แม้ว่าตัวเขาจะเกลียดชังสงครามจับขั้วหัวใจ  ท่ามกลางเสียงกระสุนปืนนัดแล้วนัดเล่า คาปาวิ่ง หมอบ เล็งแฟลช และกดถ่าย คละเคล้าด้วยความไม่น่าพิสมัยและโหดร้ายในสนามรบ ภาพถ่ายของคาปาเต็มไปด้วยผู้คน นายทหาร บาดแผล หยดเลือด และความพยายามที่จะเอาชีวิตรอดของพวกเขาเหล่านั้นที่โดยมากจบด้วยความตาย นี่คือเรื่องราวของชายผู้วิ่งเข้าหาสมรภูมิแห่งดินปืนพร้อมด้วยกล้อง Contax II และม้วนฟิล์ม ตั้งแต่เริ่มออกเดินบนถนนสายนี้จวบจนวันสุดท้ายของเขาที่ลูกระเบิดในสงครามจะพรากชีวิตเขาไป ทิ้งไว้เพียงชื่อ ‘คาปา’ และผลงานที่เปลี่ยนโลกแห่งการรายงานข่าวด้วยภาพไปตลอดกาล   โรเบิร์ต คาปา ช่างภาพอุปโลกน์ ก่อนหน้าที่จะกลายเป็นช่างภาพสงครามระดับตำนาน วัยเด็กของโรเบิร์ต คาปา มีชื่อโดยกำเนิดว่า อันเดร ฟริดมันน์ (Endre Friedmann) เด็กชายเชื้อสายยิวที่เกิดและเติบโตในครอบครัวชนชั้นกลางที่กรุงบูดาเปสต์ ฮังการี พร้อมด้วยความฝันที่ได้รับอิทธิพลจาก ‘เอวา เบสนโย’ (Eva Besnyo) เพื่อนสาวในวัยแรกรุ่น และแนวคิดของลายอช คัสซัก (Lajos Kassák) นักเขียนหัวสังคมนิยม – อันเดรฝันอยากเป็นนักข่าว เขาสนใจและแสดงออกทางการเมืองอยู่เสมอ จนกระทั่งตำรวจเริ่มหมายหัวและต้องการจับเขาเข้าขังในซังเต ความฝันของอันเดรเริ่มเป็นรูปเป็นร่างเมื่อปี 1931 เพื่อหลบหนีจากการเพ่งเล็งของตำรวจ อันเดรตัดสินใจออกจากฮังการีและมุ่งหน้าไปที่กรุงเบอร์ลินเพื่อเป็นผู้ช่วยในห้องล้างฟิล์มที่ Dephot  ในยุคสมัยที่รัฐปิดปากสื่อไม่ให้รายงานข่าวผู้ชุมนุมทางการเมือง อันเดรกลับบันทึกภาพการชุมนุมเหล่านั้นและเผยแพร่มันเป็นผลงานชิ้นแรกในฐานะ ‘ช่างภาพผู้สื่อข่าว’ เขาเล่าเรียนและทำงานในกรุงเบอร์ลินอยู่พักใหญ่ จนกระทั่งการเรืองอำนาจของฮิตเลอร์และอุดมการณ์ในการกวาดล้างชาวยิวของเขามาถึง อันเดรย้ายที่อยู่อีกครั้ง คราวนี้หมุดหมายของเขาคือกรุงปารีส ที่นั่นเองที่เขาได้พบกับ เกอร์ตา พอฮอลเลอ (Gerta Pohorylle) ช่างภาพสาวเชื้อสายเยอรมัน-ยิว ผู้ลี้ภัยจากประเทศบ้านเกิดตัวเองด้วยเหตุผลเดียวกัน ท่ามกลางความสัมพันธ์ของสองหนุ่มสาวที่งอกงามขึ้น อันเดรและเกอร์ตาให้กำเนิด ‘โรเบิร์ต คาปา’ ช่างภาพอุปโลกน์ไร้ตัวตนขึ้นมาเป็นตัวแทนของพวกเขาในการเผยแพร่ภาพถ่ายร่วมกัน    คู่รักนักข่าวสงคราม ด้วยกล้องคนละตัว ฟิล์มคนละ (หลาย) ม้วน ความรักในการถ่ายภาพของอันเดรและเกอร์ตาทำให้พวกเขาถ่ายและเผยแพร่ภาพอยู่เสมอ หากด้วยสภาพสังคมยุโรปในเวลานั้น ด้วยเชื้อชาติของพวกเขา ภาพจากหญิงสาวชาวเยอรมัน-ยิว และชายหนุ่มชาวฮังกาเรียน-ยิว มักถูกมองข้าม ไม่มีใครอยากซื้อหรือแม้แต่พูดถึงผลงานของสองช่างภาพชื่อไม่ดังอย่างพวกเขา ‘โรเบิร์ต คาปา’ คือตัวละครเกิดใหม่ที่อันเดรและเกอร์ตาสร้างให้เป็นเศรษฐีชายชาวอเมริกันที่มีงานอดิเรกเป็นการเดินทางทั่วยุโรปเพื่อถ่ายภาพ กลลวงโลกเพื่อการตลาดครั้งนั้นทำให้ภาพของพวกเขาในนาม ‘โรเบิร์ต คาปา’ ขายได้ราคาสูงลิ่ว และไม่มีทีท่าว่าจะต่ำลง แม้ว่าหลังจากนั้นไม่นานนักผู้คนจะจับได้ว่าคาปาไม่ได้มีตัวตนจริง ๆ ตอนนั้นเองที่อันเดรตัดสินใจเปลี่ยนชื่อ เขาเปลี่ยนไปใช้ชื่อ ‘โรเบิร์ต คาปา’ อย่างถาวร เช่นเดียวกับเกอร์ตา ที่เปลี่ยนชื่อและสกุลเป็น ‘เกอร์ดา ทาโร’ (Gerda Taro) ช่างภาพหญิงที่กลายเป็นตำนานรบและรักเคียงข้างชื่อคาปา แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ร่วมลงหลักปักรักด้วยการแต่งงานหรือใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเช่นคู่รักคู่อื่น ๆ เกอร์ดารักในสิทธิและเสียงทางการเมืองของตนพอ ๆ กับที่เธอรักการถ่ายภาพ ทุกครั้งที่ต้องลงสนาม เธอจะอยู่แนวหน้าเสมอ เธอและคาปาทำงานในสนามรบเดียวกันบ้าง แยกกันบ้าง พวกเขาทั้งคู่ถือกล้องฟิล์มให้กระชับมือ แบกความกล้าและทักษะเอาตัวรอดกลางสงครามอีกกระบุงใหญ่ พวกเขากดชัตเตอร์และวิ่ง และกดชัตเตอร์อีกครั้ง จวบจนกระทั่งการวิ่งครั้งสุดท้ายของเกอร์ดามาถึง 26 กรกฎาคม 1937 เกอร์ดาเป็นแนวหน้าในการถ่ายภาพสงครามสเปน ขณะที่คาปาอยู่ในปารีส เธอเสียชีวิตในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลหลังจากการพุ่งชนของรถถังที่ปะทะกับรถบรรทุกที่เธอนั่งเข้าอย่างจัง พร้อมด้วยคำสุดท้ายของเธอที่ว่ากันว่า เธอไม่ได้ถามหาสิ่งใดนอกจากกล้องถ่ายภาพ  “พวกเขาดูแลกล้องของฉันได้ใช่ไหม” เกอร์ดาจากไปในวัยเพียง 26 ปี นับจากนี้ภาพถ่ายภายใต้ชื่อ ‘โรเบิร์ต คาปา’ จะมีเพียงคาปาเท่านั้นที่เป็นผู้ลั่นชัตเตอร์   ความตายในภาพฟิล์ม หนึ่งปีก่อนหน้าการจากไปของเกอร์ดา ภาพถ่าย ‘The Falling Soldier’ (1936) ในสงครามสเปนถูกเผยแพร่และเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้คนแล้ว ภาพทหารที่กางสองแขนออกกว้างขณะที่ลูกกระสุนวิ่งเข้าเจาะอก กลายเป็นวินาทีแห่งความตายที่ถูกบันทึกไว้ได้อย่างสวยงาม ความถูกต้องซึ่งสัดส่วนตามหลักการถ่ายภาพของมันนำมาซึ่งคำถามมากมาย ภาพจริงหรือไม่ จัดฉากเพื่อถ่ายหรือเปล่า? แม้จะมีข้อครหาว่ารายละเอียดในภาพทั้งชื่อหมู่บ้านและตำแหน่งที่ตั้งนั้นไม่สอดคล้องกับความจริง หากก็ไม่ได้มีการยืนยันใด ๆ ออกมาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ‘The Falling Soldier’ ยังคงทรงคุณค่าในฐานะภาพข่าวและงานศิลปะไม่เสื่อมคลาย หลังความตายของเกอร์ดา คาปายิ่งทวีความจริงจังกับการลงสนามเพื่อถ่ายภาพมากขึ้น ช่วงชีวิตของเขาหลังจากนั้น คาปาได้ถ่ายภาพชุดอย่าง ‘The Magnificent Eleven’ ในวัน D-Day เมื่อปี 1944 และภาพ ‘The Face in the Surf’ ที่โด่งดังที่สุดในชุดว่าด้วยการตะเกียกตะกายเข้าฝั่งของนายทหารอเมริกันนาม ฮุสตัน ไรลีย์ (Huston Riley)  วีรกรรมของคาปาในภาพชุดนี้เป็นอีกเหตุผลที่เขาถูกยกย่องให้เป็นช่างภาพระดับตำนาน – ไม่เพียงอยู่แนวหน้า หากคาปายังสวมเครื่องแบบทหารและลุยน้ำเพื่อเข้าสมรภูมิเยี่ยงทหารคนอื่น ๆ การบุกตะลุยทะเลสาบพร้อมด้วยข้อผิดพลาดระหว่างขั้นตอนการล้างฟิล์มนี่เอง ทำให้ภาพชุดดังกล่าวเหลือรอดออกมาเป็นภาพฟิล์มที่สมบูรณ์ได้เพียง 11 รูปเท่านั้น จากที่คาปาถ่ายไปร่วมร้อย แม้คาปาจะบันทึกความตายลงในภาพฟิล์มที่เขาถ่ายภาพแล้วภาพเล่า หากคาปาก็ยังเกลียดชังสงคราม เขามักย้ำอยู่เสมอถึงความโหดร้ายของสงคราม และยิ่งตอกย้ำว่าเขาเกลียดมันเพียงใดด้วยถ้อยคำว่า “มันไม่ง่ายนักหรอกที่ต้องยืนอยู่กลางสงคราม แต่ทำอะไรได้ไม่มากไปกว่าบันทึกภาพความเจ็บปวดและความตายรอบตัว “ไม่มีความปรารถนาใดที่ช่างภาพสงครามจะต้องการมากไปกว่าการตกงาน” สงครามโลกครั้งที่สองจบลงเมื่อปี 1945 คาปาได้ฤกษ์ปลดระวางตัวเองเมื่อพบกับ ‘อิงกริด เบิร์กแมน’ (Ingrid Bergman) นักแสดงฮอลลีวูดที่กรุงปารีส เขาตัดสินใจเริ่มความสัมพันธ์ลับ ๆ กับเธอ (อิงกริดมีสามีอยู่แล้ว) ทั้งคู่เดินทางกลับฮอลลีวูดด้วยกัน เขามีเพื่อนในวงการบันเทิงมากมาย จนหลาย ๆ คนคิดว่านั่นอาจจะเป็นการหยุดพักจากสงครามอย่างถาวรของเขา   ฉากสุดท้าย เมื่อสงครามสงบ คาปาก็มีเวลาว่างมากพอให้ก่อตั้ง ‘Magnum Photos’ (1947) เอเจนซีช่างภาพที่มีนโยบายให้ลิขสิทธิ์ภาพถ่ายทุกใบเป็นของตัวช่างภาพเอง (ก่อนหน้านั้นลิขสิทธิ์ภาพถ่ายจะตกอยู่ในมือนายหน้าหรือสำนักพิมพ์) ร่วมกับเพื่อน ๆ ก่อนที่คาปาจะขึ้นแท่นเป็นประธานของ Magnum เมื่อปี 1951 แม้ว่าชีวิตของเขาจะไปได้ดีในทุกด้าน หากคาปาก็ยังโหยหาการถ่ายภาพในสงครามอยู่เสมอ เขาหวนคืนวงการช่างภาพสงครามอีกครั้งเมื่อปี 1954 กลางสงครามอินโดจีนที่กลายเป็นฉากสุดท้ายในอาชีพนักข่าว รวมทั้งฉากสุดท้ายของชีวิตเขาด้วย คาปาถึงแก่ความตายด้วยวัย 40 ปี โดยที่ยังประคองกล้องถ่ายรูปไว้กับอกจนวินาทีสุดท้าย ตอกย้ำความรักและหลงใหลที่เขามีให้กับศิลปะการถ่ายทอดเรื่องราวแขนงนี้ไม่ต่างไปจากคำพูดของเขาที่เคยกล่าวไว้ว่า “คุณไม่ต้องจัดท่าทางหรือองค์ประกอบอะไรหรอก ภาพมันอยู่ตรงหน้า คุณก็แค่ถ่ายมันออกมา ความจริงคือภาพถ่ายที่ดีที่สุด คือจริงคือโฆษณาชวนเชื่อที่ดีที่สุด” (On the Spanish Civil War, 1937)   ที่มา: https://www.theguardian.com/artanddesign/2012/may/13/robert-capa-gerda-taro-relationship https://medium.com/history-through-the-lens/the-falling-soldier-89171e5191e3 https://medium.com/@ishaanj/the-mythical-appeal-of-robert-capas-the-falling-soldier https://www.widewalls.ch/artists/robert-capa https://www.theartstory.org/artist/capa-robert/life-and-legacy https://theculturetrip.com/europe/hungary/articles/a-life-in-war-the-photography-of-robert-capa/ https://www.magnumphotos.com/newsroom/conflict/robert-capa-d-day-omaha-beach/