โรเบิร์ต คลาร์ก แกรห์ม: สร้างโลกแห่งการเหยียด จาก ‘น้ำเชื้อ’ ของอัจฉริยะรางวัลโนเบล

โรเบิร์ต คลาร์ก แกรห์ม: สร้างโลกแห่งการเหยียด จาก ‘น้ำเชื้อ’ ของอัจฉริยะรางวัลโนเบล
จะเป็นอย่างไร ถ้าโลกของเราเต็มไปด้วยคนฉลาดที่ส่งผ่านทาง DNA เชื่อว่าทุกคนต่างมีโลกในอุดมคติเป็นของตัวเองกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นโลกที่เต็มไปด้วยความสุข โลกที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน หรือโลกที่เราต่างยอมรับซึ่งกันและกัน ไม่เว้นแม้กระทั่งเขาคนนี้ โรเบิร์ต คลาร์ก แกรห์ม (Robert Klark Graham) นักธุรกิจชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้ง ‘ธนาคารสเปิร์มสำหรับอัจฉริยะ’ ด้วยจุดมุ่งหมายการสร้างโลกที่เต็มไปด้วยบุคลากรผู้ทรงคุณภาพ ผ่านการคัดเลือกสเปิร์มที่ดีจากผู้ที่ได้รางวัลโนเบล   ช่างทำแว่น ผู้ฝันถึงโลกที่มนุษย์สมบูรณ์แบบ โรเบิร์ต คลาร์ก แกรห์ม (Robert Klark Graham) เกิดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 1906 ในเมืองฮาร์เบอร์ สปริงส์ รัฐมิชิแกน และได้มีโอกาสศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกน ก่อนที่ในปี 1937 เขาจะเรียนปริญญาตรีในสาขาทัศนศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ และที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอนี่เอง ที่เขาถูกทาบทามให้เข้าร่วมงานกับ Bausch & Lomb บริษัทผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพดวงตา ที่เป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์คอนแทคเลนส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อนจะย้ายไปทำงานที่ Univis และเปิดห้องทดลอง Armorlite ในแพซาดีนาในปี 1947 ทำให้ก่อนหน้านี้แกรห์มมักจะถูกรู้จักในชื่อของผู้ที่ผลิตแว่นตาพลาสติกที่มีความทนทานต่อการขีดข่วน เคลือบสารกันแสงสะท้อน และตัวดูดกลืนแสง UV แบบไม่มีสีสำหรับแว่นตา จนสามารถสร้างรายได้จากมันได้อย่างมหาศาล แต่ในช่วงเวลาที่แกรห์มประสบความสำเร็จด้วยการคร่ำหวอดอยู่ในวงการทัศนศาสตร์อยู่นั้น ลึก ๆ แล้วเขาก็ยังหวนนึกถึงความทรงจำหนึ่งที่อยู่กับเขามาตั้งแต่วัยเด็กอยู่เสมอ ในปี 1994 แกรห์มเล่าให้ผู้สื่อข่าว แฮร์รี่ เดซ (Harry Dace) ฟังว่า ในเมืองเล็ก ๆ ที่เขาเติบโตขึ้นมานั้น มีผู้ชายคนหนึ่งที่มีความโดดเด่นมากที่สุดในเมือง ที่เพียบพร้อมไปด้วยความสูง หล่อ รวย รวมไปถึงการเป็นนักประดิษฐ์ที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย “แต่ชายผู้ยอดเยี่ยมคนนี้ กลับเสียชีวิตอย่างลำพัง โดยไม่มีลูก นั่นเป็นเรื่องที่ผมเศร้าเป็นอย่างมาก ผมรู้สึกว่าพระเจ้าได้หว่านเมล็ดพันธ์ุที่ดีลงในเมืองเล็ก ๆ นี้ และมันก็ได้ตายลง” แกรห์มกล่าวด้วยความเศร้า แกรห์มยังเล่าต่อว่า หลังจากที่ชายคนนี้เสียชีวิตลง สิ่งที่ชาวเมืองทำคือการสร้างป้ายทองสำริดสำหรับจารึกคุณงามความดีของชายคนนี้เอาไว้ รวมไปถึงการตั้งชื่อโรงเรียนและถนนตามชื่อของเขา เพื่อเป็นอนุสรณ์สำหรับเขาคนนั้น “แต่สิ่งที่หายไปจากโลกนี้คือใบหน้าของผู้ชายคนนี้ และนี่คือความสูญเสียที่ผมกังวล” และด้วยเหตุนี้เองที่ถึงแม้แกรห์มจะโตขึ้นและทำงานในสายอาชีพที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงอย่างการทำเลนส์สายตา เขาก็ยังไม่ละทิ้งตะกอนบางอย่างที่ติดค้างอยู่ในใจของเขาลง เขาเริ่มศึกษาในเรื่องของการดำรงอยู่ซึ่งความสมบูรณ์ของมนุษย์อย่างจริงจังมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเขาได้เขียนหนังสือชื่อ ‘The Future of Man’ ออกมา และได้รับความสนใจจาก แฮร์มันน์ โจเซฟ มุลเลอร์ (Hermann Joseph Muller) นักพันธุศาสตร์ ผู้ได้รางวัลโนเบลในสาขาสรีรวิทยาการแพทย์ ในปี 1946   ปรับปรุงหรือทำลาย การที่ความคิดของแกรห์มได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากมุลเลอร์ ทำให้ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจสร้าง ‘Repository for Germinal Choice’ หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในนามของ ‘ธนาคารสเปิร์มสำหรับอัจฉริยะ’ หรือ ‘ธนาคารสเปิร์มโนเบล’ ขึ้นมาในปี 1980 ในเมืองเอสคอนดิโด รัฐแคลิฟอร์เนีย ด้วยแนวคิดดั้งเดิมของแกรห์มที่ต้องการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพแบบใน ‘อุดมคติ’ ของเขาขึ้นมา ซึ่งก็ดูเหมือนจะไปคล้ายกับกระบวนการ ‘สุพันธุศาสตร์ (Eugenics)’ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่มีชุดความเชื่อและแนวปฏิบัติ เพื่อจุดมุ่งหมายในการปรับปรุงคุณภาพทางพันธุกรรมของประชากรมนุษย์ และแนวคิดแบบสุพันธุศาสตร์นี่เองที่เป็นข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบันว่า เป็นแนวคิดที่เหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากครั้งในอดีตแนวคิดนี้เคยเป็นหนึ่งในทฤษฎีอ้างอิงของนาซีในการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุชาวยิว    ธนาคารสเปิร์มโนเบล หลายคนมักแอบตั้งชื่อเล่น ๆ ให้กับ ‘Repository for Germinal Choice’ ว่า ‘ธนาคารสเปิร์มโนเบล’ สิ่งนี้เป็นผลลัพธ์มาจากการเปิดเผยผู้บริจาคสเปิร์มในปี 1979 ว่ามีผู้ได้รางวัลโนเบลในสาขาต่าง ๆ ถึง 4 รายด้วยกันที่มาทำการบริจาคสเปิร์มของตัวเองให้กับธนาคารอย่างสม่ำเสมอ ผ่านทางกฎคัดกรองที่เข้มงวดของทางแกรห์ม และบุคคลที่เปิดเผยตัวตนว่าได้บริจาคสเปิร์มให้กับธนาคารนี้ คือ วิลเลียม ช็อคลีย์ (William Shockley) ชายผู้ซึ่งได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ และการเปิดเผยตัวตนของช็อคลีย์นี่เองที่ทำให้เกิดข้อกังขาสำหรับธนาคารสเปิร์มของแกรห์มมากขึ้นไปอีก เพราะมีปัญหาเรื่องของการเหยียดเชื้อชาติเข้ามาเพิ่มเติม เนื่องจากช็อคลีย์ได้นำเสนอแนวคิดสุพันธุศาสตร์ออกมาอย่างสุดโต่ง ว่าคนผิวดำ (Black People) เป็นกลุ่มคนที่มีสติปัญญาที่ด้อยกว่าคนผิวขาว (White People) ด้วยเหตุผลทางพันธุกรรม อีกทั้งยังมีการเสนอว่าบุคคลที่มี IQ ต่ำกว่า 100 ควรจะได้รับเงินเพื่อทำหมันโดยสมัครใจ  แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังแกรห์มก็ออกมาปฏิเสธคำกล่าวหาเหล่านั้น โดยกล่าวว่าเขาเพียงมองเห็นภาพสังคมที่ดีกว่า หากมีเด็ก ๆ ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ด้านสุขภาพและความมั่นคงทางอารมณ์ และมีการลดเกณฑ์ในการคัดเลือกเจ้าของสเปิร์มลงมาจากเดิมที่มีเจตนาเพื่อให้ได้สเปิร์มจากผู้ได้รับรางวัลโนเบลและมีไอคิวสูงมากเท่านั้น ให้เหล่านักกีฬาและนักวิชาการอื่น ๆ สามารถบริจาคได้ด้วยเช่นเดียวกัน “เราไม่ได้เหยียดผิว เรายอมรับความเป็นเลิศในทุกเชื้อชาติ สิ่งที่เราพยายามทำคือปรับเงื่อนไขการมีลูกให้เหมาะสม” แกรห์มให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อปี 1984 ท่ามกลางความกังขาจากประชาชน   ผลลัพธ์ของธนาคารสเปิร์ม ถึงแม้ว่าแกรห์มจะพยายามเสาะหา ‘พ่อพันธ์ุ’ ที่เป็นเลิศในด้านต่าง ๆ มากเท่าไร แต่ในขณะเดียวกันธนาคารสเปิร์มของแกรห์มไม่ได้ให้ความสนใจกับ ‘แม่พันธ์ุ’ มากนัก เพียงแค่คุณเป็นหญิงสาวที่แต่งงานแล้ว และสามารถจ่ายค่าธรรมเนียมการสมัคร 50 ดอลลาร์ และจ่าย 10 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับค่าจัดเก็บและจัดส่งสเปิร์ม เท่านี้ก็สามารถตั้งครรภ์โดยมีน้ำเชื้อจากธนาคารสเปิร์มของแกรห์มได้ โดยที่ไม่ต้อง​​ทำการทดสอบไอคิวหรือผ่านการคัดกรองทางพันธุกรรมใด ๆ ทำให้เหล่าแม่ ๆ ที่ต้องการให้ลูกของตัวเองเกิดมาอย่างสมบูรณ์ที่สุด ภายใต้กรอบของวัฒนธรรม ที่อย่างน้อยเพียงขอให้ลูกเกิดมาด้วยผิวขาวก็เพียงพอ ต่างหลั่งไหลเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก และจากการรายงานข่าวของนักข่าวเดวิด พลอตซ์ (David Plotz) ในปี 2001 หลังจากธนาคารสเปิร์มปิดตัวลงในปี 1999 เพราะไม่สามารถไปต่อได้หลังการเสียชีวิตของแกรห์มไป 2 ปีก่อนหน้า ก็พบว่ามีเด็กจำนวนมากถึง 217 คน ที่เกิดจากเชื้อสเปิร์มจากการบริจาคภายในธนาคารในสภาพร่างกายที่แข็งแรง โดยหลังจากเกิด เด็กจำนวน 217 คนก็ใช้ชีวิตเป็นปกติทั่วไป มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่มีความโดดเด่นในด้านความสามารถและ IQ ตามที่แกรห์มต้องการ และที่น่าตกใจคือมีจำนวนเด็กมากถึง 30 คน ที่เกิดขึ้นจากการผสมสเปิร์มที่มาจากคนคนเดียว ถึงแม้ว่าในปัจจุบันธนาคารสเปิร์มจะถูกปิดไปแล้วอย่างถาวร แต่ผลลัพธ์ชุดความคิดแบบสุพันธุศาสตร์ ก็ยังคงถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งในโลกปัจจุบัน ที่ใครต่อใครต่างแสวงหาความสมบูรณ์แบบให้กับชีวิตในอุดมคติ หรือแม้กระทั่งวิจารณ์ถึงความเลวร้ายของการมีอยู่ซึ่งสิ่งนี้     ภาพ: Paul Harris/Liaison และ Paul Harris/Getty Images   อ้างอิง: https://www.youtube.com/watch?v=kO7t0JdBmug https://www.latimes.com/archives/la-xpm-1997-02-18-mn-29931-story.html https://www.smithsonianmag.com/smart-news/nobel-prize-sperm-bank-was-racist-it-also-helped-change-fertility-industry-180963569/ https://www.theguardian.com/science/2004/apr/15/science.highereducation https://www.nytimes.com/1997/02/18/us/r-k-graham-90-creator-of-a-lens-and-a-sperm-bank.html https://edition.cnn.com/2014/10/08/health/genius-sperm-bank/index.html https://www.thecut.com/2019/08/what-ever-happened-to-the-mysterious-nobel-prize-sperm-bank.html https://www.nytimes.com/2005/07/01/arts/the-genius-factory-the-curious-history-of-the-nobel-prize-sperm-bank.html