โรเบิร์ต แพททินสัน: ผู้หันหลังให้หนังฮอลลีวูด ก่อนที่จะกลับมาอีกครั้งกับแบทแมน

โรเบิร์ต แพททินสัน: ผู้หันหลังให้หนังฮอลลีวูด ก่อนที่จะกลับมาอีกครั้งกับแบทแมน
ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2019 ได้มีการประกาศว่า ‘โรเบิร์ต แพททินสัน’ (Robert Pattinson) นักแสดงอังกฤษวัย 34 ปีจะมารับบทแบทแมนคนใหม่ในหนัง The Batman ซึ่งจะฉายในปี 2021 ท่ามกลางเสียงฮือฮาจากแฟนหนังซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน ใครที่รู้จักแพททินสันในฐานะแวมไพร์หน้าหล่อในหนังชุด Twilight อาจรู้สึกขัดใจกับการที่เขาได้รับบทอัศวินรัตติกาล แต่สำหรับผู้ที่ติดตามผลงานของเขามาตลอดอาจรู้สึกต่างออกไป ด้วยความที่ผลงานของเขาหลังจาก Twilight นั้นส่วนใหญ่เป็นหนังอิสระทุนต่ำของผู้กำกับมากวิสัยทัศน์ที่มีความแปลกใหม่ท้าทาย เช่นเดียวกับบทบาทของเขาที่ท้าทายความสามารถหักล้างภาพลักษณ์ของหนุ่มหน้าใสขวัญใจสาว ๆ ไปหมด ส่งผลให้เขาเป็นหนึ่งในบรรดานักแสดงรุ่นใหม่ที่มีผลงานการแสดงที่น่าสนใจที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ทำให้เขาเป็นตัวเลือกสำหรับบทแบทแมนที่เราเห็นว่าน่าตื่นเต้นมาก จุดเริ่มต้นความโด่งดัง แพททินสันเกิดและเติบโตที่เมืองลอนดอนในครอบครัวนักธุรกิจ ความสนใจของเขาในตอนวัยรุ่นอยู่ที่การเล่นดนตรีและการดูหนัง (เขาเป็นซีเนไฟล์ตัวยง) เมื่ออายุ 15 ปี พ่อได้ผลักดันให้เขาเข้าร่วมชมรมละครเวทีเนื่องจากเห็นว่าเขาเป็นเด็กขี้อาย ทำให้เขาได้เห็นถึงเสน่ห์ของมันจนตัดสินใจไปออดิชันและได้รับบทในละครเวทีหลายเรื่อง ต่อมาแพททินสันได้เล่นหนังเรื่องแรกอย่าง Vanity Fair (2004) ซึ่งเป็นบทเล็ก ๆ ที่ถูกตัดทิ้งในห้องตัดต่อ (โดยเขาเพิ่งรู้เรื่องนี้ตอนดูหนังในรอบพรีเมียร์) ก่อนที่จะโด่งดังเป็นพลุแตกจากบทใน Harry Potter and the Goblet of Fire (2005) ซึ่งเขาแสดงเป็นเซดริก ดิกกอรี่ – นักเรียนที่เข้าประลองไตรภาคีร่วมกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ บทดังกล่าวส่งผลให้นักแสดงวัย 19 ปี (ในขณะนั้น) ได้รับการจับตามองอย่างมาก โดยเขาถูกสื่อต่าง ๆ มองว่าเป็น ‘จู๊ด ลอว์’ คนใหม่ หลังจากรับบทในละครเวทีและหนังทางทีวีหลายเรื่อง เขาก็ได้แสดงหนังที่ส่งผลให้เขาโด่งดังยิ่งกว่าเดิมอย่างหนังชุด Twilight (ประกอบด้วยหนัง 5 เรื่องอย่าง Twilight (2008), New Moon (2009), Eclipse (2010), Breaking Dawn - Part 1 (2011), Breaking Dawn - Part 2 (2012)) ในบท ‘เอ็ดเวิร์ด คัลเลน’ แวมไพร์ซึ่งตกหลุมรัก ‘เบลล่า สวอน’ (รับบทโดยคริสเตน สจ๊วร์ต) เด็กสาวมนุษย์ธรรมดาที่เพิ่งย้ายเข้ามาในเมือง โดยแพททินสันสามารถเอาชนะคู่แข่งที่มาออดิชันมากกว่า 3,000 คน หนังชุดนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากโดยทำเงินทั่วโลกรวมกัน 3.3 พันล้านเหรียญ ทำให้เขาในวัย 22 ปีกลายเป็นนักแสดงที่ทำรายได้สูงสุดในช่วงนั้น, เป็นหนึ่งใน 100 บุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของโลกในปี 2010 ของนิตยสาร Time, เป็นหนึ่งในบุคคลที่เซ็กซี่ที่สุดในปี 2008 ของนิตยสาร The People ฯลฯ ด้วยบทบาทแวมไพร์หล่อเหลาเงียบขรึมที่จะเพอร์เฟ็กต์ไปเสียทุกอย่างส่งผลให้เขามีแฟนคลับที่หลงใหลคลั่งไคล้เขามากมาย (แฟนคลับของทไวไลท์ถูกเรียกว่า “Twihard” ส่วนเขาถูกเรียกจากเหล่าแฟนคลับว่า “RPatz”) ดังจะเห็นได้จากหนังสารคดี Robsessed (2009) ซึ่งเก็บภาพความคลั่งไคล้ของแฟน ๆ ที่มีต่อตัวเขาเอาไว้ได้อย่างดี แต่ในอีกแง่หนึ่งหนังชุดดังกล่าวก็ส่งผลในแง่ลบ ด้วยความที่หนังถูกถล่มอย่างมากทั้งจากนักวิจารณ์และผู้ชมหลายกลุ่ม ส่วนแพททินสันก็ถูกมองว่าเป็นนักแสดงขายหน้าตาไร้ความสามารถ นอกจากนั้นการที่เขาได้รับความสนใจจากสื่อและปาปาราซซีอย่างมาก (โดยเฉพาะช่วงที่เขาเกิดความรักนอกจอกับคริสเตน สจ๊วร์ต) มันก็ขัดแย้งกับตัวตนจริง ๆ ของเขาที่ไม่ชอบเป็นจุดสนใจ และไม่ชอบพูดถึงเรื่องส่วนตัว “หลัง Twilight ออกฉาย ชื่อเสียงความโด่งดังก็โถมใส่ผม มีผู้คนให้ความสนใจและเข้าหาผมมากมาย มีหลายคนตะโกนชื่อผม สิ่งที่ผมทำกลายเป็นข่าวไปเสียหมด ซึ่งมันยากที่จะเข้าใจหรือจัดการสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ มันดูบ้าคลั่งมาก” แพททินสันกล่าว “ผมเป็นคนพารานอยด์ ไม่ชอบคนเยอะ ไม่ชอบเป็นจุดสนใจ ไม่ชอบถูกมองหรือถ่ายรูป ไม่นิยมเปิดเผยเรื่องส่วนตัวหรือขายข่าวของตัวเอง ผมมักจะออกสื่อหรือให้สัมภาษณ์ก็ต่อเมื่อต้องโปรโมตหนังเท่านั้น ซึ่งบางครั้งผมก็คิดว่าผมเลือกการงานที่ไม่เหมาะกับตัวเอง” เขามักจะมีปัญหากับปาปาราซซีบ่อยครั้ง “เราไม่มีทางเอาชนะปาปาราซซีได้ ซึ่งผมคิดว่าโลกจะดีกว่านี้ถ้าปาปาราซซีเปลี่ยนไปจับจ้องความเคลื่อนไหวของนักการเมืองหรือนักธุรกิจพันล้านว่าเขาทำอะไรผิดปกติบ้าง แทนที่จะมาติดตามคนอย่างผม” สู่ความท้าทายที่มากขึ้น หลังหนังชุด Twilight จบลง แทนที่เขาจะเพลย์เซฟด้วยการเล่นหนังสตูดิโอฟอร์มใหญ่หรือหนังแฟรนไชส์ที่ได้ค่าตอบแทนสูง (เหมือนนักแสดงส่วนใหญ่ทำกัน) เขากลับเลือกเล่นหนังอิสระทุนต่ำ, หนังทดลองที่มีความแปลกใหม่, หนังของผู้กำกับออเตอร์ (auteur- ผู้กำกับที่มีความเป็นศิลปิน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง) และหนังที่เปิดโอกาสให้เขาได้รับบทท้าทายความสามารถ แน่นอนว่าหนังเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ทำเงิน ฉายวงแคบ ไม่อยู่ในสายตาออสการ์ และไม่สร้างรายได้ให้เขาสักเท่าไร แต่มันก็ทำให้เขาถูกมองว่าเป็นนักแสดงที่มีคุณภาพและกล้าหาญ ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่เขาอิ่มตัวจากหนังแฟรนไชส์ใหญ่ ๆ, เบื่อการเป็นซูเปอร์สตาร์ที่ต้องสูญเสียความเป็นส่วนตัว, ต้องการเป็นนักแสดงที่จริงจังมากขึ้น, ด้วยความเป็นซีเนไฟล์ที่ชอบดูหนังแปลก ๆ ท้าทายทำให้เขาอยากเห็นหนังแนวนี้ถูกสร้างมากขึ้น (หมายเหตุ – นอกจากแพททินสันแล้ว ยังมีคริสเตน สจ๊วร์ต, แดเนียล แรดคลิฟฟ์, เอมมา วัตสัน, ไชอา ลาบัฟ ซึ่งเป็นนักแสดงวัยรุ่นจากหนังแฟรนไชส์ฟอร์มยักษ์ที่เน้นเล่นหนังอินดี้อาร์ตเฮาส์เป็นหลักเช่นกัน) หนังเรื่องแรกที่ทำให้เขาได้รับความสนใจจากคอหนังรางวัล ได้แก่ Cosmopolis (2012) ของผู้กำกับเดวิด โครเนนเบิร์ก ซึ่งเข้าฉายในสายประกวดในคานส์ มันเป็นหนังที่เต็มไปด้วยบทสนทนาเกี่ยวกับโลกยุคใหม่, เศรษฐกิจ, ปรัชญา ฯลฯ ส่งผลให้ผู้ชมที่มาดูหนังเรื่องนี้เพราะแพททินสันเหวอกันเป็นแถว (ผู้เขียนดูหนังเรื่องนี้ในโรงหนังใจกลางเมือง มีคนเดินออกกลางเรื่องมากกว่า 10 คน) “มันเป็นประสบการณ์ที่เปิดหูเปิดตาผมมาก ทำให้ผมรำลึกถึงความรักในภาพยนตร์และย้ำเตือนผมถึงเหตุผลว่าทำไมผมถึงเลือกเป็นนักแสดง” แพททินสันกล่าว “ในอุตสาหกรรมหนังตอนนี้มีผู้กำกับออเตอร์แบบโครเนนเบิร์กน้อยลง สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมหงุดหงิดเกี่ยวกับการทำหนังก็คือ เมื่อคุณเตรียมเดินหน้าโปรเจกต์แล้ว แต่สองวันก่อนถ่ายทำกลับมีการสั่งให้รีไรต์บทใหม่จนหนังเปลี่ยนไปเสียหมด เช่นเปลี่ยนเรื่องราวของหนังหรือเปลี่ยนจากหนังเรท R เป็น PG – 13 ซึ่งพอเจอเหตุการณ์แบบนี้ก็ทำให้คุณรู้สึกว่าคุณไม่ได้ทำหนังแต่คุณกำลังทำ ‘แม่เหล็กติดตู้เย็น’ ต่างหาก แต่สำหรับโครเนนเบิร์ก คุณรู้ว่ามันจะยังคงเป็น ‘หนัง’ จนจบกระบวนการ และมันจะออกมายอดเยี่ยมแน่นอน” ซึ่งภายหลังเขาได้ร่วมงานกับโครเนนเบิร์กอีกครั้งใน Maps to the Star (2014) หลังจากนั้นเขาได้ร่วมงานกับผู้กำกับออเตอร์รุ่นเก๋าหลายคน เช่น เดวิด มิชอด – The Rover (2014), เวอร์เนอร์ แฮร์โซก – Queen of the Desert (2015), แอนทอน คอร์บิน – Life (2015), เจมส์ เกรย์ – The Lost City of Z (2016), แคลร์ เดนิส – High Life (2018) และได้ร่วมงานกับผู้กำกับหน้าใหม่มาแรงอย่างเบรดี้ คอร์เบต – The Childhood of the Leader (2016), จอช แซฟดี/เบนนี่ แซฟดี – Good Time (2017), โรเบิร์ต เอกเกอร์ส – The Lighthouse (2019), ซิโร กูเอร์ร่า – Waiting for the Barbarians (2019) โดยบทบาทในหนังที่เขาเล่นช่วงนี้ส่วนใหญ่ห่างไกลจากบทเทพบุตรขวัญใจสาว ๆ ที่เคยเป็นภาพจำของเขาอย่างมาก เช่น The Rover ในบทโจรสมองช้า, The Lost City of Z ในบทนักสำรวจป่าแอมะซอน (เขากลืนไปกับบทจนหลายคนจำเขาไม่ได้), Good Time ในบทกุ๊ยข้างถนน, High Life ในบทนักโทษประหารที่ถูกส่งไปอวกาศเพื่อทดลองเรื่องเพศ ซึ่งหลายบทก็ต้องอาศัยความทุ่มเทอย่างมาก เช่น The Lighthouse ซึ่งเขาต้องลดน้ำหนักและไปถ่ายทำบนเกาะที่ห่างไกลและยากลำบาก “ผมไม่ชอบเล่นบทประเภทเดิม ๆ ที่คาดเดาง่าย” แพททินสันกล่าว โดยบทส่วนใหญ่ที่เขาเล่นนั้นเป็นตัวละครคนนอกต่อต้านสังคม แอนตี้ฮีโร่ อาชญากร “มีบางสิ่งในหนังอาชญากรรมที่ดึงดูดผม เนื่องจากมันเป็นหนังที่ผมชอบดูตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก ผมชอบนักแสดงอย่างอัล ปาชิโนและโรเบิร์ต เดอนีโร นอกจากนั้นผมยังเบื่อการถูกผู้สร้างหนังชวนให้ไปเล่นหนังพีเรียดดราม่า เพราะผมเป็นนักแสดงที่ตัวสูง ผมฟู พูดสำเนียงอังกฤษ ซึ่งผมมองว่าน่าเบื่อ ผมอยากจะลบภาพจำด้วยการไปเล่นหนังแนวอื่น ๆ แทน” “เมื่อผมเริ่มอาชีพนักแสดงใหม่ ๆ ผมศึกษาจิตวิทยาของตัวละครลึกมาก ๆ บทหนังของผมจะเต็มไปด้วยโน้ตข้อความ แต่ผลที่ออกมากลับไม่ดีเท่าที่หวัง ช่วงหลังผมจึงเปลี่ยนไปเชื่อสัญชาตญาณและเซนส์ของตัวเองมากขึ้น ซึ่งผลที่ออกมานั้นน่าพอใจ” การที่เขาเล่นหนังอาร์ตเฮาส์อิสระทุนต่ำที่ไม่แมสเป็นหลัก ส่งผลให้หนังพวกนี้ที่เขามีส่วนเกี่ยวข้องได้รับอนุมัติให้สร้างง่ายขึ้นและได้รับความสนใจมากขึ้น ซึ่งถือเป็นผลดีเนื่องจากในยุคนี้หนังแนวดังกล่าวมีพื้นที่น้อยลง เนื่องจากถูกเบียดบังโดยหนังซูเปอร์ฮีโร หนังแฟรนไชส์ฟอร์มยักษ์ และหนังสตรีมมิงอย่าง Netflix ซึ่งแพททินสันกล่าวว่า “ผมไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นผู้สนับสนุนหนังอาร์ตเฮาส์ขนาดนั้น แต่ผมอยากให้หนังแนวดังกล่าวซึ่งผมชอบดูได้รับการสร้างและถูกพูดถึงมากขึ้น ผมไม่ได้คิดแบบแอคติวิสต์ ผมเป็นเพียงนักแสดงที่อยากมีส่วนร่วมกับหนังที่น่าสนใจ” กลับสู่หนังสตูดิโอฟอร์มใหญ่อีกครั้ง หลังจาก Twilight เขาไม่เคยเล่นหนังสตูดิโอฟอร์มใหญ่อีกเลย จนกระทั่งตอนนี้ที่เขาจะรับบทนำในหนังฟอร์มใหญ่ของสตูดิโอวอร์เนอร์ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ Tenet หนังแอ็คชั่นซึ่งมีฉากหลังอยู่ในโลกของสายลับ กำกับโดยคริสโตเฟอร์ โนแลน “โนแลนเป็นผู้กำกับคนเดียวในตอนนี้ที่ทำหนังซึ่งมีความเป็นหนังอิสระและเป็นส่วนตัวในสเกลใหญ่ขนาดนี้ได้ ผมได้อ่านบทหนังแล้ว มันให้ความรู้สึกเหนือจริง (Unreal) มาก” แพททินสันกล่าว หนังมีกำหนดเข้าฉายที่อเมริกา 17 กรกฎาคม 2020 เรื่องที่สองคือ The Batman ของผู้กำกับแมตต์ รีฟส์ (จาก Cloverfield, Dawn of the Planet of the Apes) ซึ่งแพททินสันเป็นนักแสดงอายุน้อยที่สุดที่เคยเล่นบทแบทแมน ผู้กำกับกล่าวว่าหนังจะขับเคลื่อนด้วยตัวละครเป็นหลัก, ตัวละครแบทแมนจะอยู่ในช่วงวัยหนุ่ม, หนังจะใกล้เคียงกับการ์ตูนยุคแรกที่มีความเป็นการ์ตูนแนวนักสืบ หนังมีกำหนดฉายในอเมริกา 25 มิถุนายน 2021 การที่สตูดิโอเลือกแพททินสัน (ซึ่งช่วงหลังถูกมองว่าเป็นนักแสดงที่นิยมเล่นหนังสายทดลองและบ้าบิ่น) มารับบทนี้ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญและน่าตื่นเต้น ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างความแปลกใหม่ให้กับซูเปอร์ฮีโร่ที่มีอายุยืนยาวกว่า 80 ปีตัวนี้ได้ (คุณสมบัติหนึ่งของเขาที่แฟน ๆ มองว่าเหมาะกับบทแบทแมนก็คือการที่เขามีกรามใหญ่และคางสวย ซึ่งเหมาะแก่การเล่นเป็นตัวละครที่ใส่หน้ากากปิดหน้าโชว์คาง) แต่สำหรับผู้ที่ชื่นชอบแพททินสันสายหนังอินดี้ การตัดสินใจเล่นบทแบทแมนอาจทำให้หลายคนเกิดข้อกังขา แต่หากพิจารณาดี ๆ ก็จะพบว่ามันยังคงสอดคล้องกับอุดมการณ์ของเขาอยู่นั่นคือเลือกเล่นหนังจากผู้กำกับ (ซึ่งโนแลนกับรีฟส์ถือเป็นผู้กำกับที่ผลงานโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแม้จะทำหนังสตูดิโอทุนสูง) นอกจากนั้นการที่เขาได้รับค่าตัวกับชื่อเสียงจากบทแบทแมน นั่นก็แปลว่าจะทำให้เขามีโอกาสผลักดันหนังฟอร์มเล็กให้ได้สร้างต่อไปอีกหลายเรื่อง   ข้อมูล: อ้างอิงจากนิตยสาร Empire, Little White Lies// เว็บไซต์ variety.com. collider.com, indiewire.com, theguardian.com   เรื่อง: บดินทร์ เทพรัตน์