ร็อกแมน ไอ้หนุ่มร็อกแอนด์โรล ผู้ต้านภัยคุกคามจาก AI

ร็อกแมน ไอ้หนุ่มร็อกแอนด์โรล ผู้ต้านภัยคุกคามจาก AI
ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 สองนักวิทยาศาสตร์หนุ่ม โทมัส ไลต์ (Thomas Light) และ อัลเบิร์ต ไวลี (Albert Wily) ที่เป็นคู่แข่งกันมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ต่างเร่งพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อใช้ประโยชน์เพื่อมนุษยชาติ  เริ่มจากหุ่นยนต์ที่ช่วยงานในอุตสาหกรรมและกิจการต่าง ๆ ก่อนที่พวกเขาจะคิดสร้างหุ่นยนต์ที่มีความเหมือน "มนุษย์" ดร.ไลต์ประสบความสำเร็จกับการสร้าง "โปรโตแมน" (Proto Man) หุ่นแอนดรอยด์ต้นแบบขึ้นมา (android - หุ่นยนต์ที่ถูกออกแบบให้คล้ายมนุษย์มากที่สุด)  โปรโตแมนเป็นหุ่นยนต์ที่มีความคิดเป็นของตัวเองสูง เมื่อดร.ไลต์พบข้อบกพร่องในส่วนเครื่องกำเนิดพลังงาน เขาพยายามจะช่วยซ่อม แต่โปรโตแมนกลัวว่า การซ่อมจะทำให้เขาสูญเสียตัวตนของตัวเอง จึงหลบหนีไป ดร.ไลต์ จึงสร้างแอนดรอยด์สองพี่น้องขึ้นมาทดแทนคือ ร็อก (Rock) และ โรล (Roll) โดยร็อกกลายเป็นหุ่นยนต์ที่คอยช่วยเหลือไวต์ในห้องทดลอง ส่วนโรลรับผิดชอบเรื่องงานบ้าน ก่อนจะสร้างฮิวแมนอยด์ (humanoid - หุ่นยนต์ที่โครงสร้างอย่างมนุษย์ เช่นมีแขนมีขา แต่รูปร่างหน้าตาต่างออกไป) ที่เชี่ยวชาญในงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ขึ้นมาอีก 6 ตัว   ความสำเร็จของไลต์ทำให้เขาได้รับรางวัลมากมายรวมถึงรางวัลโนเบล ฝ่ายไวลีที่มีอุดมคติในการใช้งานหุ่นยนต์ต่างออกไป (เขาเชื่อในเรื่องการควบคุมและครอบครอง ต่างจากไลต์ที่เชื่อในเรื่องของเสรีภาพ) และได้รับการยกย่องน้อยกว่าจึงออกไปซุ่มสร้างหุ่นยนต์วางแผนที่จะครองโลก และยังได้ขโมยหุ่นยนต์อุตสหกรรมอีก 6 ตัวของไลต์มาดัดแปลงให้กลายเป็น "บอส" ดูแลหุ่นยนต์ในส่วนต่าง ๆ ของโลก  ร็อกและโรลสองพี่น้องรอดพ้นจากการลักพาตัวของไวลีมาได้ เพราะไวลีไม่เห็นค่าของหุ่นยนต์ที่ไม่ได้มีความสามารถพิเศษอะไรอย่างทั้งคู่ ร็อกหุ่นยนต์ที่รักความยุติธรรมจึงเสนอตัวให้ไลต์ดัดแปลงตนเองเป็นหุ่นยนต์รบเพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกดัดแปลงให้เป็นภัยต่อมนุษย์  "ร็อกแมน" (หรือที่รู้จักกันนอกญี่ปุ่นว่า เมกาแมน - Mega Man) จึงได้ถือกำเนิดขึ้น  นี่คือเรื่องย่อของ "ร็อกแมน" เกมดังจากค่าย Capcom ซึ่งถือเป็นเกมแรกของค่ายที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อลงในระบบเกมคอนโซล หรือเกมคอมพิวเตอร์ตามบ้าน เพราะก่อนหน้านั้น Capcom เน้นแปลงเกมอาร์เขตหรือเกมตู้มาลงเกมบ้านเป็นหลัก แต่เมื่อเครืองแฟมิคอมกลายเป็นที่แพร่หลายพวกเขาก็คิดว่า มันน่าที่จะลงทุนในระบบนี้โดยตรง ร็อกแมนจึงถูกนำออกสู่ตลาดในระบบแฟมิคอมในปี 1987 มันได้รับความนิยมระดับหนึ่งไม่ได้ประสบความสำเร็จทางยอดขายมากมายแต่ก็ดีพอที่ค่ายจะให้ไปต่อจึงได้มีภาคสองออกมาอีกในปีต่อมาซึ่งเป็นภาคที่ทำให้ร็อกแมนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในเกมที่ดีที่สุดตลอดกาล และร็อกแมนก็กลายมาเป็นไอคอนหลักตัวหนึ่งของค่าย Capcom สำหรับชื่อของตัวเอกของเกมก่อนจะมาลงตัวในชื่อนี้ได้ก็มีการเสนอกันอยู่หลายชื่อ เช่น ไมตีคิด (Mighty Kid - เจ้าหนูจอมพลัง) หรือนักเคิลคิด (Knuckle Kid - เจ้าหนูมะเหงก?) ก่อนจะมาลงตัวที่ชื่อ "ร็อกแมน" ซึ่งมาจากชื่อของแนวเพลงดนตรี "ร็อกแอนด์โรล" (ร็อกแมนจึงมีน้องสาวชื่อโรล) แต่เมื่อทาง Capcom เอาไปขายที่อเมริกา โจ โมริชิ (Joe Morici) รองประธานฝ่ายขายของค่ายฝั่งอเมริกาสมัยนั้นมองว่าชื่อร็อกแมนมันฟังดูแย่มาก เลยขอเปลี่ยนเป็น "เมกาแมน" แทน ซึ่งทางต้นสังกัดก็ยอม (The Mega Man Network) แถมทางฝั่งอเมริกายังลงทุนทำอาร์ตเวิร์กใหม่ให้ตัวเอกมีความ "แมน" ยิ่งกว่าต้นฉบับของญี่ปุ่น กลายเป็นชายที่โตเต็มวัยมีเคราหรอมแหรมถือปืนที่เหมือนปืนปกติ ขัดกับคาแรกเตอร์ของร็อกแมนซึ่งเหมือนกับฮีโร่ในการ์ตูนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่มักจะเป็นเด็กในวัยมัธยม มีความน่ารักและไร้เดียงสาปนอยู่มาก เมื่อร็อกแมนลงสู่ตลาด มันเป็นเกมที่นำเสนออะไรใหม่ ๆ หลายอย่างในตลาดเกม ทั้งการให้ผู้เล่นเลือกได้ว่าพวกเขาจะเริ่มต้นต่อสู้จากตรงไหน เพราะที่ผ่าน ๆ มา แต่ละฉากที่ผู้เล่นจะก้าวไปข้างหน้าล้วนถูกกำหนดแบบเป็นเส้นตรง แต่ร็อกแมนให้พวกเขาเลือกได้ว่าจะเล่นฉากไหนก่อนก็ได้  ขณะเดียวกันผู้เล่นก็จะเจอกับความท้าทายเป็นอย่างมาก (ยากระดับขว้างจอยทิ้งกันมานักต่อนัก) หากเลือกลำดับการเล่นแต่ละด่านได้ไม่ดี เพราะบอสแต่ละตัวจะแพ้อาวุธอะไรบางอย่างเสมอ (เหมือนเกมเป่ายิ้งชุบ ที่ ค้อนชนะกรรไกร กรรไกรชนะกระดาษ กระดาษชนะค้อน) ผู้เล่นจึงควรเอาชนะบอสตัวหนึ่งตัวใดแล้ว เอาอาวุธที่ได้จากบอสที่แพ้มาใช้เพื่อปราบบอสตัวอื่นที่แพ้อาวุธชนิดนั้นไล่เรียงกันไป  การออกแบบร็อกแมนผู้ที่ได้รับเครดิตว่าเป็นคนที่คิดคอนเซปต์และคิดตัวละครตัวนี้ขึ้นมาก็คือ อากิระ คิตามูระ (Akira Kitamura - A.K) ซึ่งเป็นผู้ที่ออกแบบตัวละครในตัวเกมที่เป็นพิกเซลจุด ๆ สไตล์เกม 8 บิตสมัยนั้น ส่วน เคอิจิ อินาฟูเนะ (Keiji Inafune) ซึ่งเคยถูกเข้าใจว่าเป็น "บิดา" แห่งร็อกแมนนั้นจริง ๆ เขาคือคนที่วาดมันออกมาเป็นการ์ตูน ก่อนจะมีส่วนสำคัญกับการพัฒนาเกมซีรีย์นี้ต่อมาอีกหลายภาค    "ผมมักจะถูกเรียกว่าเป็นบิดาของเมกาแมน (ร็อกแมน) เสมอ แต่จริง ๆ แล้ว ต้นแบบของเขาได้ถูกสร้างขึ้นก่อนแล้วตอนที่ผมแรกเข้าร่วมงานกับ Capcom" อินาฟูเนะกล่าว (Game Spot) "รุ่นพี่ (ที่ Capcom) ที่ออกแบบเมกาแมนต้นฉบับได้วางคอนเซปต์ว่าเมกาแมนควรจะหน้าตาอย่างไรเอาไว้แล้ว ดังนั้นงานที่ผมทำในการออกแบบก็แค่งานอีกครึ่งนึงเท่านั้น"  ความสำเร็จในช่วงแรกทำให้มีการแตกไลน์ร็อกแมนออกไปนอกเหนือจากภาคหลัก เช่น เมกาแมนเอ็กซ์ (Rockman X) หรือเมกาแมนเลเจนด์ (Rockman Legends) การเปลี่ยนผ่านจากยุคเกมแบบสองมิติมาเป็นสามมิติก็ทำให้ร็อกแมนต้องเจอกับความท้าทายสำคัญว่าพวกเขาจะรักษาคาแรกเตอร์ที่เป็นตำนานนี้ไว้อย่างไร ความพยายามที่จะเปลี่ยนรูปแบบเกมที่บังคับเดินทิศทางเดียวเป็นแผนที่สามมิติในบางภาคก็ทำให้แฟนเก่า ๆ ที่หลงเสน่ห์เกมในรูปแบบเดิมไม่เอาด้วย ในร็อกแมนซีรีส์หลักภาค 9 และ 10 จึงย้อนกลับไปหารูปแบบการเล่นและกราฟิกในยุคคลาสสิกแบบ 8 บิตอีกครั้งซึ่งได้รับคำชมไม่น้อย และเมื่อปลายปี 2018 หลังครบรอบ 30 ปี ของซีรีส์ได้หนึ่งปี ทาง Capcom ก็ได้ออกภาคต่อในซีรีส์คลาสสิกเป็นภาคที่ 11 ในหลายแพลตฟอร์ม  แต่คราวนี้พวกเขาได้ปรับกราฟิกให้ทันสมัยขึ้นให้ตัวละครเป็นโพลีกอนแบบสามมิติ แต่ยังอยู่ในฉากแบบสองมิติแบบเดิม (ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ พวกเขาก็เคยทำแบบนี้มาก่อนแล้วในซีรีส์ร็อกแมนเอ็กซ์) และรูปแบบการเล่นที่ไม่ต่างจากเดิมมากนัก ถึงอย่างนั้นเสน่ห์แบบเก่า ๆ ของร็อกแมนก็ยังคงดึงดูดนักเล่นเกมยุคใหม่ได้ดี ทำยอดขายครบหนึ่งล้านชุดไปได้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019 และได้รับคำวิจารณ์เชิงบวกเสียเป็นส่วนมาก และบางคนก็เชื่อว่าภาคนี้จะเป็นพื้นฐานให้ Capcom ออกซีรีส์ร็อกแมนต่อไปได้อีกหลายสิบภาค