โรลันท์ ไฟรส์เลอร์ ตุลาการนาซี เนติบริกรฮิตเลอร์

โรลันท์ ไฟรส์เลอร์ ตุลาการนาซี เนติบริกรฮิตเลอร์
สถาบันศาลเป็นหนึ่งในเสาหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทำหน้าที่เป็นฝ่ายตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลที่ทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง และรัฐสภาซึ่งทำหน้าที่ออกกฎหมายหรือฝ่ายนิติบัญญัติ การที่ศาลจะทำหน้าที่นี้ได้ดีจึงต้องมีความเป็นอิสระไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของสองสถาบันข้างต้น ขณะเดียวกันก็ต้องมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ มิใช่วางตัวเองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ใครก็วิจารณ์ไม่ได้ ตรงกันข้ามในรัฐเผด็จการ สถาบันศาลก็มีสภาพเป็นเพียงแขนขาหนึ่งของรัฐบาล เมื่อจะเล่นงานฝ่ายตรงข้ามก็พร้อมจะวิ่งหาข้อกฎหมายมาบังคับใช้อย่างแข็งขัน แต่ถ้าถึงคราวต้องตรวจสอบรัฐบาลของตัวเองก็เกิดเป็นง่อยขึ้นโดยพลัน ทำให้รัฐบาลแบบนี้ขาดความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองและประชาชน นำไปสู่การใช้อำนาจตามอำเภอใจ ในยุคนาซี สถาบันศาลก็ตกอยู่ในภาวะดังกล่าว ด้วยตุลาการต่างภักดีต่อ "อดอล์ฟ ฮิตเลอร์" ผู้นำสูงสุด น้อยนักที่จะกล้าทัดทานนโยบายของเผด็จการหนวดจิ๋ม ซึ่งอาจจะเป็นเพราะบรรดาผู้พิพากษากลัวจะ "ตกงาน" จนลืมจริยธรรมของนักกฎหมาย เมื่อฮิตเลอร์เคยวิจารณ์ศาลกลางรัฐสภากับการลงโทษจำเลยด้วยโทษสถานเบาจนเกินไป (ในสายตาของเขา) ว่า "ผมหวังว่าผู้มีวิชาชีพกฎหมายจะเข้าใจว่า ชาติไม่ได้มีไว้เพื่อพวกคุณ แต่พวกคุณมีชีวิตอยู่ก็เพื่อชาติ...จากนี้ไปผมจะเข้าไปแทรกแซงคดีทั้งหลายแหล่ และจะเด้งบรรดาผู้พิพากษาที่แสดงให้เห็นว่ามิได้เข้าใจถึงความจำเป็น ณ ชั่วโมงนี้" และเพื่อให้แน่ใจว่า นโยบายของเขาจะสามารถแปรสภาพให้มีผลทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัยได้สำเร็จ เขาจึงจำเป็นต้องมีมือกฎหมายที่เชื่อใจได้ และ "โรลันท์ ไฟรส์เลอร์" (Roland Freisler) ก็เป็นหนึ่งในเนติบริกรที่ได้รับความไว้วางใจจากฮิตเลอร์มากที่สุดคนหนึ่ง ไฟรส์เลอร์เกิดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 1893 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่  1 เขาอาสาเป็นแนวหน้าไปรบที่รัสเซีย ก่อนถูกจับเป็นเชลยอยู่หลายปีทำให้เขาได้เรียนรู้ภาษารัสเซีย จนได้รับความไว้วางใจให้รับหน้าที่เป็นผู้ช่วยแจกจ่ายอาหารในค่ายเชลย จนกระทั่งโซเวียตรัสเซียทำสัญญาสงบศึกกับมหาอำนาจกลาง (1918) เขาจึงได้เดินทางกลับเยอรมนีมาเรียนกฎหมายต่อจนจบที่มหาวิทยาลัยเจนา (Universityo of Jena) และได้ดอกเตอร์ด้านกฎหมายในอีกสองปีต่อมา (1922) ทำงานเป็นนักกฎหมายได้ไม่นาน ไฟรส์เลอร์ก็เริ่มเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และกลายมาเป็นสมาชิกพรรคนาซี เขาใช้ความสามารถทางด้านกฎหมายในการช่วยเหลือเหล่าสมาชิกพรรคหัวรุนแรงที่สร้างความวุ่นวายในสังคมทำให้เขามีบทบาทที่โดดเด่นและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เมื่อพรรคนาซีก้าวขึ้นสู่อำนาจได้สำเร็จ เขาจึงได้รับตำแหน่งใหญ่ในกระทรวงยุติธรรมของรัฐบาลนาซี เบื้องต้นหน้าที่สำคัญของไฟรส์เลอร์ก็คือการ "ปฏิรูปกฎหมาย" ให้สอดคล้องกับอุดมการณ์นาซี เช่นการเขียนกฎหมายอาญาบรรยาย "ลักษณะของฆาตกร" เพื่อชี้ให้เห็นว่าการเป็นฆาตกรเป็นสิ่งที่เป็นมาแต่กำเนิด เขายังเขียนงานวิชาการหลายชิ้นเพื่อหาข้ออ้างในการออกกฎหมายรับใช้นโยบายฮิตเลอร์ ทั้งการกักขังเด็กที่มีเชื้อสายต่างชาติ มีข้อบกพร่องทางเชื้อชาติ หรือมีโรคทางพันธุกรรม เพื่อแบ่งแยกเด็กกลุ่มนี้จากเด็กเยอรมันขนานแท้ที่มีคุณค่าสูงส่ง และเป็นผู้สนับสนุนให้มีการการออกกฎหมายลงโทษกับการมีเพศสัมพันธ์ของคนข้ามชาติพันธุ์ เพื่อป้องกันมิให้เชื้อสาย "อารยัน" ถูกปลอมปน และยังเป็นผู้ที่นำเอาโทษประหารมาบังคับใช้กับเยาวชน เหนือสิ่งอื่นใด บทบาทที่เขาได้รับการจดจำมากที่สุดก็คือการทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานศาลประชาชน ศาลพิเศษที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเอาผิดกับคดีการเมืองเป็นการเฉพาะตั้งแต่ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่อำนาจ หลังไม่พอใจเมื่อศาลระบอบเดิมยกฟ้องจำเลย 4 รายจากทั้งหมด 5 รายในคดีวางเพลิงเผารัฐสภา (อันเป็นข้ออ้างให้เขาประกาศภาวะฉุกเฉินนำไปสู่การยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ) ด้วยศาลฎีกาในขณะนั้นเห็นว่าหลักฐานที่นาซีใช้ปรักปรำจำเลยอ่อนเกินเหตุ แรกทีเดียวศาลประชาชนมีหน้าที่พิจารณาคดีของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทรยศต่อชาติเท่านั้น ด้านไฟรส์เลอร์ (ที่ได้เป็นประธานศาลแห่งนี้ในปี 1942) พยายามเรียกร้องให้เพิ่มบทบาทศาลแห่งนี้ให้มากขึ้น ซึ่งรัฐบาลนาซีก็จัดให้ จากศาลที่มีลักษณะเป็นศาลพิเศษเฉพาะกาล ศาลประชาชนกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมของเยอรมนี ทำหน้าที่ตัดสินโดยผู้พิพากษาหลักสองคน กับผู้พิพากษาสมทบซึ่งส่วนใหญ่ก็คือเจ้าหน้าที่รัฐหรือสมาชิกพรรคนาซีผู้ภักดีอีกสามคน ไฟรส์เลอร์เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ว่าเขาถือหลัก "ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม" ซึ่งเป็นคติที่มีไว้เพื่อช่วยเยียวยาผู้เสียหายโดยเร็ว กลับกันเขาแค่ต้องการรวบรัดตัดตอนจัดการกับผู้ถูกกล่าวหาให้จบ ๆ ไป โดยไม่มีโอกาสที่จะได้โต้แย้งเนื่องจากเขาต้องการให้มีการลงโทษโดยเร็วที่สุด รวมถึง "โทษตาย" มีรายงานว่า ตลอดช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1934 ถึง 1945 ศาลประชาชนได้ตัดสินจำเลยไปทั้งสิ้นราว 16,700 ราย กว่า 5,200 รายได้รับโทษตาย หนึ่งในคดีที่แสดงถึงปัญหาการไร้ความยุติธรรมของศาลประชาชนก็คือการพิจารณาคดีต่อกลุ่ม "กุหลาบขาว" กลุ่มเยาวชนต่อต้านนาซี อันประกอบด้วยสองพี่น้องตระกูลโชล (Scholl) ฮันส์ และโซฟี อดีตยุวชนนาซีที่โดดเด่นในองค์กรก่อนตาสว่างรู้ว่าถูกล้างสมอง โดยทั้งคู่ถูกจับได้ขณะแจกใบปลิวโจมตีนาซี ประณามฮิตเลอร์ในมหาวิทยาลัยมิวนิก สองพี่น้องพร้อมด้วย คริสตอฟ โพรบสต์ (Christoph Probst) สมาชิกกลุ่มกุหลาบขาวอีกราย ถูกไพรส์เลอร์ตัดสินประหารชีวิตและต้องรับโทษเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากมีคำพิพากษา ซึ่งถือเป็นโทษที่ไม่ได้สัดส่วนอย่างมาก เพราะ “ถ้อยคำ” ยากเหลือเกินที่จะทำให้ใครบาดเจ็บได้ และกล่าวกันว่า เมื่อฮันส์ต้องเผชิญหน้ากับเครื่องประหารกิโยติน (นาซีสไตล์) เพื่อรับโทษตาย เขาได้ร้องกล่าวคำสุดท้ายว่า "เสรีภาพจงเจริญ!" หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมนี ศาลฎีกากลางของเยอรมนีไม่เอาผิดใด ๆ กับตุลาการของศาลประชาชนโดยถือว่าได้ทำหน้าที่ไปตามกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในขณะนั้น แต่ก็มีผู้พิพากษาและอัยการบางส่วนที่ถูกจับขึ้นศาลทหารของสหรัฐฯ ในข้อหาอาชญากรรมสงครามซึ่งบ้างได้รับโทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิต ส่วนไฟรส์เลอร์ไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองในชั้นศาลเมื่อถูกระเบิดตายไปเสียก่อนตั้งแต่การโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1945      ที่มา: https://www.dw.com/en/justice-ministry-to-change-german-laws-nazi-definition-of-murder/a-18620945 https://www.dw.com/en/sophie-hans-scholl-remain-symbols-of-resistance/a-16605080 https://www.nytimes.com/1994/12/17/opinion/l-death-of-a-nazi-judge-141143.html https://www.researchgate.net/publication/326693176_Why_Adolf_Hitler_Spared_the_Judges_Judicial_Opposition_Against_the_Nazi_State https://www.welt.de/geschichte/zweiter-weltkrieg/article177397930/NS-Volksgerichtshof-Die-braunen-Richter-trugen-blutrote-Roben.html