โรนัลด์ เพเรลแมน เจ้าของ Marvel ยุคฟองสบู่ก่อนล้มละลายปลาย 90

โรนัลด์ เพเรลแมน เจ้าของ Marvel ยุคฟองสบู่ก่อนล้มละลายปลาย 90
Marvel คือค่ายการ์ตูนคอมิกแนวซูเปอร์ฮีโรที่ประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนาน และปัจจุบันพวกเขายังครองตลาดภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม อย่างเช่นผลงานในเรื่อง Avengers: Infinity War ที่ทำรายได้รวมทั่วโลกกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถึงตอนนี้มีหนังที่ทำเงินได้มากกว่าเพียงแค่สามเรื่องเท่านั้น (แต่ Endgame ภาคต่อของ Avengers ในปี 2019 อาจจะทำยอดแซงก็ได้) อย่างไรก็ดี ก่อนที่พวกเขาจะเข้าสู่ตลาดภาพยนตร์ Marvel เคยล้มลุกคลุกคลานหลังดำเนินธุรกิจผิดพลาดจนบริษัทเข้าสู่ภาวะล้มละลายขาดความสามารถในการชำระหนี้ จนถูกเจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายเพื่อฟื้นฟูธุรกิจมาแล้ว ตอนนั้น Marvel อยู่ภายใต้การควบคุมของ โรนัลด์ เพเรลแมน (Ronald Perelman) นักธุรกิจเจ้าของผู้ผลิตเครื่องสำอางรายใหญ่ Revlon ที่เข้ามาซื้อกิจการของ Marvel ในช่วงต้นปี 1989 ด้วยเงินเพียงไม่ถึงร้อยล้านดอลลาร์ ขณะที่ธุรกิจการ์ตูนคอมิกกำลังเฟื่องมาก เพราะมันไม่ได้เป็นเพียงสื่อบันเทิงสำหรับเด็ก ๆ เท่านั้น มันยังเป็นที่ต้องการของนักสะสม ผู้ผลิตจึงใช้วิธีพิมพ์หนังสือการ์ตูนเล่มเดียวกันออกเป็นหลายรุ่น เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภครายเดียวต้องซื้อหนังสือที่มีเนื้อหาเดียวกัน แต่มีปกหรือของแถมต่างกันหลาย ๆ รอบ ด้วยหวังว่าวันหน้ามันจะมีมูลค่าสูงยิ่งกว่า วิธีการหากินแบบนี้ทำให้ผู้เสพการ์ตูนบางรายต้องซื้อหนังสือเล่มเดียวกันถึงห้าหกชุด เพื่อเก็บสะสมทั้งหนังสือและของแถมโดยยังไม่มีการแกะซอง (ซึ่งจะกลายเป็นของมีค่าสูงสุด) ไว้ให้ครบทุกเอดิชันและแกะไว้อ่านต่างหากอีกชุดหนึ่ง ชัก โรซานสกี (Chuck Rozanski) เจ้าของ Mile High Comics ร้านจำหน่ายการ์ตูนในโคโลราโด ซึ่งมีร้านค้าออนไลน์สำหรับจัดจำหน่ายทั่วโลกวิจารณ์ว่า เพเรลแมนซื้อ Marvel ด้วยเหตุผลทางธุรกิจล้วน ๆ และมีส่วนทำให้ธุรกิจหนังสือการ์ตูนคอมิกเกือบล่มสลาย ด้วยการขึ้นราคากระตุ้นยอดขายอย่างบ้าคลั่ง "เขา [เพเรลแมน] คิดคำนวณเหตุและผลได้อย่างถูกต้องทีเดียวว่า ถ้าเขาขึ้นราคาและเพิ่มปริมาณ แฟน Marvel สายฮาร์ดคอร์ก็จะยอมควักรายได้ที่มีมาซื้อคอมิกมากขึ้นมากขึ้น เมื่อเขาได้ตัวเลขยอดขายพอที่จะพิสูจน์สมมติฐานของเขาได้แล้ว เขาก็เอา Marvel เข้าตลาดหลักทรัพย์ ขายหุ้นออกไป 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงินที่มากเกินกว่าที่เขาลงทุนซื้อมามากมาย อย่างไรก็ดี แผนของเขามันมีจุดบอดเมื่อเขาไปสัญญากับนักลงทุนว่าจะขยายอาณาจักร Marvel ออกไปและจะขึ้นราคาเพิ่มอีก แผนนี้มันชัดเจนว่าทำไม่ได้ หลักฐานที่เห็นเป็นประจักษ์ก็คือ การล้มหายของบรรดาผู้ค้าปลีกการ์ตูนในช่วงต้นปี 1993 เนื่องจากแฟน ๆ พากันเลิกสะสมเพราะราคามันสูงเกิน บวกกับความรู้สึกที่เห็นต้องกันอย่างกว้างขวางถึงการลดลงด้านคุณภาพในตัวคอมิกของ Marvel" โรซานสกีกล่าว (Mile High Comics) เพเรลแมนพยายามขยายธุรกิจของ Marvel ออกไปด้วยการไปซื้อบริษัทผลิตของเล่น การ์ดและสติกเกอร์สะสมหลายแห่งจนมีหนี้สะสมเกือบพันล้านดอลลาร์ แต่เมื่อตลาดเข้าสู่ภาวะฟองสบู่แตก ทั้งตลาดคอมิกและการ์ดกีฬาสะสม บริษัทก็แทบหมดหนทางที่จะหาเงินมาใช้หนี้ได้ โดยในปี 1993 หุ้นของ Marvel เคยซื้อขายกันที่ราคา 35.75 ดอลลาร์ แต่เมื่อถึงช่วงปลายปี 1996 ราคาหุ้นของพวกเขาตกต่ำอย่างรุนแรงจนเหลือมูลค่าหุ้นละ 2 ดอลลาร์กว่า ๆ เท่านั้น ณ ตอนนั้น เพเรลแมนที่ถือหุ้นของ Marvel อยู่ 80 เปอร์เซ็นต์ พยายามหาทุนเพิ่มสำหรับใช้ในการปรับโครงสร้าง รวมทั้งการตั้ง Marvel Studios (ซึ่งจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญในภายหน้า) และเสนอให้มีการควบรวมกิจการกับ Toy Biz ผู้ผลิตของเล่นซึ่ง Marvel ถือหุ้นอยู่แล้วบางส่วน ด้วยความหวังว่าจะสามารถกุมอำนาจในบริษัทต่อไป ขณะที่ฝ่ายเจ้าหนี้ได้ยื่นเรื่องต่อศาลอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลายเพื่อเข้าแทรกแซงกิจการ โดยให้เหตุผลว่า แม้เพเรลแมนจะถือหุ้นใหญ่ใน Marvel แต่เขาก็ใช้หุ้นเป็นประกันกับเจ้าหนี้ ทำให้ในเชิงปฏิบัติพวกเขาคือผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ที่แท้จริงจึงมีแรงจูงใจในการนำพาบริษัทให้รอดมากกว่า หลังต่อสู้กันมาหลายเดือนถึงเดือนมีนาคม 1997 เพเรลแมนก็ยอมแพ้ถอนแผนฟื้นฟูของตนแล้วปล่อยให้ คาร์ล ไอคาห์น (Carl Icahn) แกนนำฝ่ายเจ้าหนี้เข้ามามีอำนาจในการจัดตั้งบอร์ดบริหารชุดใหม่ของ Marvel แทน "สำหรับ คุณเพเรลแมน การเดินออกจาก Marvel อาจดูเหมือนเป็นสิ่งที่น่าอับอาย เขาจะถูกจดจำในฐานะผู้ที่นำพาบริษัทที่ประสบความสำเร็จไปดิ่งจมดิน แต่มันไม่ใช่สิ่งที่น่าอายในเชิงการเงิน เขาหาเงินมาซื้อหุ้นด้วยการให้หนึ่งในบริษัทของเขาออกหุ้นกู้ขยะ (junk bond - หุ้นกู้ความเสี่ยงสูงที่ออกโดยบริษัทที่ประสบปัญหาทางการเงินเสี่ยงต่อการล้มละลาย)  โดยรวมแล้วเขาจะเดินออกไปด้วยกำไรติดกระเป๋าไม่น้อยกว่า 50 ล้านดอลลาร์" รายงานของ The New York Times กล่าว แม้เพเรลแมนจะยอมถอยแต่ความวุ่นวายใน Marvel ยังไม่จบง่าย ๆ เมื่อกลุ่มเจ้าหนี้มีประกันร่วมกันก่อหวอดไม่เดินตามแผนของไอคาห์น ซึ่งศาลก็ได้ตั้งคนกลางเข้ามาดูแลแทน และต่อมาในเดือนกรกฎาคม 1998 ศาลจึงได้ยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อออกจากการคุ้มครองภายใต้ภาวะล้มละลายของฝ่าย Toy Biz ทำให้ Marvel และ Toy Biz ควบรวมกิจการกันได้สำเร็จ ซึ่งถือว่าเป็นการตัดสินใจไม่ผิดเพราะทีมบริหารของ Toy Biz เดิมสามารถนำพาบริษัทใหม่ "Marvel Enterprises" ก้าวสู่สหัสวรรษใหม่ได้อย่างสวยงาม