โรซา ซาลาซาร์ สาวลาตินผู้สวมร่างไซบอร์ก Alita: Battle Angel

โรซา ซาลาซาร์ สาวลาตินผู้สวมร่างไซบอร์ก Alita: Battle Angel

โรซา ซาลาซาร์ สาวลาตินผู้สวมร่างไซบอร์ก Alita: Battle Angel

อาจจะดูเป็นหนังแสดงหน้าใหม่สำหรับ โรซา ซาลาซาร์ ที่จู่ๆ ก็กลายมาเป็นนางเอกภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ Alita: Battle Angel แต่จริงๆ เธอหาใช่นักแสดงหน้าใหม่วงการสักทีเดียว เพราะซาลาซาร์เข้าวงการมาตั้งแต่อายุ 15 ปี ด้วยความมุ่งมั่นอยากเป็นนักแสดงจริงจัง และย้ายตัวเองมาอยู่นิว ยอร์ก ในฐานะนักแสดงรุ่นใหม่ของวงการ ถึงแม้ในเรื่อง Alita: Battle Angel ซาลาซาร์จะปรากฏร่างเป็นรูปแบบคอมพิวเตอร์กราฟิก แต่ตัวจริงของเธอนั้นหน้าตาน่ารักไม่แพ้กัน ความที่เป็นคนอเมริกันเชื้อสายคิวบา ทำให้เธอมีหน้าตาสวยคม ดวงตากลมโตอันเป็นเอกลักษณ์ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ใครก็ตามที่ได้มองเธอเป็นต้องหลงเสน่ห์แน่นอน โรซา ซาลาซาร์ เริ่มต้นมีผลงานในวงการภาพยนตร์สั้นและซีรีส์โทรทัศน์ ถึงแม้จะเป็นเพียงตัวประกอบ แต่ก็อยู่ในซีรีส์เบอร์ใหญ่ๆ อย่าง Law & Order: Los Angeles, American Horror Story หรือ Parenthood ก่อนจะมีบทบาทมากขึ้นในภาพยนตร์แฟรนไชส์ชื่อดังอย่าง The Divergent Series: Insurgent หรือ Maze Runner: The Scorch Trials และ The Death Cure นอกจากนี้เราอาจคุ้นเธอจากภาพยนตร์ The Kindergarten Teacher และบทตำรวจสาวสุดเอ็กซ์ใน Bird Box ทาง Netflix หลังจากรับบทตัวประกอบเสียส่วนใหญ่ ในที่สุดเธอก็ก้าวกระโดดมารับบทนำในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ Alita: Battle Angel เพื่อแจ้งเกิดในวงการฮอลลีวูดเต็มตัว โรซา ซาลาซาร์ สาวลาตินผู้สวมร่างไซบอร์ก Alita: Battle Angel Alita: Battle Angel ดัดแปลงจากมังงะของ ยุกิโตะ คิชิโระ มีฉบับแปลไทยในชื่อ “เพชฌฆาตไซบอร์ก” โดยเรื่องราวมีฉากหลังศตวรรษที่ 26 เมื่อโลกกลายเป็นดินแดนเศษเหล็ก เล่าเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์ที่นำร่างไซบอร์กเก่าๆ มาซ่อมในชื่อ “อลิตะ” พร้อมทักษะการเป็นนักฆ่าจึงฝึกฝนเป็นนักล่าหัวเงินรางวัล หนังมีธีมหลักของเรื่องพูดถึงการค้นพบตัวเองและการเสาะหาความรัก แรกเริ่มหนังเป็นไอเดียของ เจมส์ คาเมรอน ตั้งแต่ก่อนปี 2000 ก่อนจะผันตัวมาเป็นผู้อำนวยการสร้าง และปล่อยให้ โรเบิร์ต โรดริเกซ คุมบังเหียนงานกำกับเต็มตัว โดยเขานับเป็นผู้กำกับที่มีสไตล์การทำหนังโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ถ่ายทำหนังเรื่องแรก El Mariachi ด้วยงบประมาณเพียง 7,000 เหรียญ ก่อนจะมีผลงานสร้างชื่ออย่าง Desperado, Once Upon A Time In Mexico, Spy Kids, Machete, Sin City และ From Dusk Till Dawn “ฉันสนใจการทำงานใน Alita จากเหตุผลหลายอย่าง หนึ่งคือผู้กำกับ โรเบิร์ต โรดริเกซ เป็นคนเชื้อสายละตินเหมือนกัน และเป็นคนที่ฉันอยากทำงานด้วยมานานหลายปีแล้ว เขาเป็นคนทำหนังที่โดดเด่นเพราะสามารถสร้างหนังโดยเริ่มต้นจากศูนย์ และฉันก็ชอบรสนิยมทางภาพยนตร์ของโรเบิร์ต ที่สำคัญโครงการนี้ก็ยังมี เจมส์ คาเมรอน ด้วย” ซาลาซาร์เล่าถึงความประทับใจในการทำงานกับผู้กำกับคนนี้ว่า “เขารับฟังความคิดเห็นทุกคน ฉันได้มีสิทธิ์มีเสียงในกองถ่าย สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะผู้หญิงเชื้อสายละตินในวงการหนัง มันน่าตกใจเลย เพราะคุณไม่อยากทำตัววุ่นวายหรอก แต่ฉันก็ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองจุ้นจ้านหรือเกะกะกองถ่ายเลย และเมื่อคุณมีสิทธิ์มีเสียง คุณก็ต้องรับผิดชอบความคิดของตัวเองด้วย” โรซา ซาลาซาร์ สาวลาตินผู้สวมร่างไซบอร์ก Alita: Battle Angel ตามท้องเรื่องอลิตะเป็นไซบอร์กสาวที่บังเอิญถูกสร้างขึ้นมาจากชิ้นส่วนจักรกล ตื่นขึ้นมาในเมืองเศษเหล็กซึ่งเป็นกองขยะหลังวันสิ้นโลก เธอไม่ได้มองว่าโลกสกปรก เลวร้ายหรือโหดร้ายมาตั้งแต่ต้น แต่ด้วยดวงตาที่เปิดกว้างและพร้อมที่จะเรียนรู้ ในไม่ช้าเธอก็เรียนรู้ว่าโลกใบนี้มีพลังชั่วร้ายซ่อนอยู่ “มันก็เหมือนโลกแห่งความจริงที่มีคนคิดจะเอาเปรียบและทำลายชีวิตคนอื่นเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด เหมือนยุคตื่นทอง ทุกคนต่างกอบโกยผลประโยชน์ และอลิตาก็เข้าไปต่อสู้กับสิ่งเลวร้ายเหล่านั้น” สำหรับการถ่ายทำ ทีมงานเนรมิตตัวละครให้มีชีวิตโดยอาศัยเทคโนโลยี Motion-Capture หรือการจับความเคลื่อนไหวที่ท้าทายความสามารถของเธอเป็นอย่างยิ่ง ซาลาซาร์จึงเตรียมตัวรับมือด้วยการศึกษาผลงานของปรมาจารย์ด้านนี้อย่าง แอนดี เซอร์คิส นักแสดงระดับเทพผู้อยู่เบื้องหลังลิง “ซีซาร์” จากแฟรนไชส์ Planet Of The Apes และกอลลัมจากแฟรนไชส์ The Lord of the Rings “ฉันเป็นแฟนขนานแท้ของ แอนดี เซอร์คิส จึงดูคลิปเบื้องหลังการทำงานของเขาทุกคลิปในดีวีดีเมื่อนานมาแล้ว จากนั้นฉันก็ได้ดู เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ รับบทเป็น สม็อก ใน The Hobbit รวมถึงหนังตระกูล Apes หลายเรื่อง ฉันอยากเล่นบทที่ใช้เทคโนโลยีพิเศษ และชอบค้นหาวิธีการใหม่ๆ ที่ฉันได้ใช้ฝีมือการแสดงอย่างเต็มที่” แน่นอน การถ่ายทำด้วยเทคโนโลยีแบบนี้ย่อมแตกต่างกับการถ่ายทำแบบปกติ แต่สำหรับซาลาซาร์แล้ว เธอมองว่ามันไม่มีความแตกต่างอะไร เพียงแค่คุณทำตัวให้คุ้นชินกับอุปกรณ์เสริมทั้งหมดที่น้ำหนักมากกว่าปกติ ที่เหลือก็แค่ตั้งสมาธิไปกับการแสดงอย่างเดียว โรซา ซาลาซาร์ สาวลาตินผู้สวมร่างไซบอร์ก Alita: Battle Angel ถ้าเรากำลังเล่นฉากอย่างฉากต่อสู้และกำลังแทงมีด แล้วเราอยากให้มีดปักเข้าไปที่หน้าของตัวละคร ฉากนั้นคุณอาจต้องแสดงให้เกินจริง แต่นอกเหนือจากนั้นมันก็เหมือนการแสดงธรรมดาโดยมีอุปกรณ์แปลกๆ ทำงานอยู่รอบตัวเท่านั้นเอง สิ่งที่จะปรากฏอยู่ในหนังก็คือใบหน้าของฉัน ฉันว่ามันดูน่าทึ่งและถึงแม้ว่ามันจะเป็นการเรนเดอร์ภาพขึ้นมาใหม่ทั้งหมด มันก็ยังดูเป็นฉันอยู่ดี ฉันสามารถมองเห็นตัวเองและรู้สึกผูกพันกับตัวละครนี้ได้” ความผูกพันที่ว่าทำให้เธอมองตัวละครนี้คล้ายเป็นตัวเอง อลิตะมีอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลาย เธอไม่มั่นใจ กล้าหาญ เก่งกล้า เข้มแข็ง สงสัยอยากรู้และต่อต้านท้าทาย เธอมีพลังแต่เธอก็อ่อนแอ เธอมีชีวิตจิตใจ ซึ่งต้องอดทนรับทุกอย่างตลอดเวลา เช่นเดียวกับตัวซาลาซาร์ที่ผ่านช่วงเวลาชีวิตตกอับ และต้องผ่านการทดสอบและอุปสรรคต่างๆ นานา จนสุดท้ายก็ได้รู้ว่าตัวเองเป็นใคร รู้ว่าต้องยืนหยัดเพื่อสิ่งใด รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด โดยเฉพาะการเป็นนักแสดงเชื่อสายลาตินในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด “ฉันอยากเป็นผู้หญิงเชื้อสายละตินที่รับบทนำในหนังแฟรนไชส์ทุนสูง เพื่อแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงละตินก็รับบทนำในหนังทุนสูงแบบนี้ได้” ในวันนี้ โรซา ซาลาซาร์ ทำสำเร็จแล้ว