รูดี เคอร์เนียวาน ปลอมไวน์หรูพันล้าน สุดท้ายลงเอยที่ตะราง

รูดี เคอร์เนียวาน ปลอมไวน์หรูพันล้าน สุดท้ายลงเอยที่ตะราง
เป็นเรื่องที่โจษขานกันในแวดวงไวน์ระดับโลกมานานหลายปี และกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง เมื่อ รูเบน แอทลาส (Reuben Atlas) และ เจอร์รี ร็อธเวลล์ (Jerry Rothwell) สองผู้กำกับ นำเรื่องราวของอาชญากรชื่อดังในโลกของไวน์ มาสร้างเป็นภาพยนตร์สารคดี เรื่อง Sour Grapes (2016) ซึ่งแฟนหนังและคอไวน์สามารถหาชมได้แล้วทาง Netflix ช่วงทศวรรษ 2000s รูดี เคอร์เนียวาน (Rudy Kurniawan) ซึ่งพื้นฐานเดิมเป็นชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน มีชื่อเดิมว่า Zhen Wang Huang เริ่มสร้างตัวตนขึ้นใหม่ กลายเป็นกระแส talk of the town ให้แก่แวดวงไวน์ที่สหรัฐอเมริกา โดยรูดีเผยโฉมตนเองเป็นคนรักไวน์ ที่มีทั้งความรู้และความลุ่มหลงไวน์จนถอนตัวไม่ขึ้น ที่สำคัญกว่านั้น เขายังมีกระเป๋าหนักพอที่จะประมูลไวน์ราคาแพงและหายากได้บ่อยครั้ง ตั้งแต่หลักหลายหมื่นเหรียญสหรัฐจนถึงหลายแสนเหรียญสหรัฐ นิตยสาร Time เคยนำเสนอเรื่องราวของเขาเป็นข่าวพาดหัว เมื่อครั้งที่เขาควักเงินซื้อไวน์ลังละ 75,000 เหรียญ (ราว 2.5 ล้านบาท หรือตกขวดละกว่า 2 แสนบาท) ราวกับเงินไม่ใช่ปัญหาสำหรับหนุ่มคนนี้ แม้พื้นเพความเป็นมาของรูดีจะค่อนข้างคลุมเครือว่าเขาร่ำรวยจริงหรือไม่ แล้วได้มรดกหรือสมบัติพัสถานมาจากครอบครัวหรือกิจการใด แต่ด้วยภาพลักษณ์ของรูดีที่มาพร้อมกับความเป็นอาเสี่ยใจป้ำ พลอยทำให้หลายคนมองข้ามปริศนาที่ชวนให้ฉงนนี้เสียสิ้น ผนวกกับองค์ความรู้เรื่องไวน์หรูของเขา นับว่าพอจะกล้อมแกล้มประสมกลมกลืนได้ระดับหนึ่ง จึงทำให้รูดีย่างกรายเข้าสู่แวดวงสังคมไวน์ชั้นสูงได้อย่างแนบเนียน ในปี ค.ศ. 2006 รูดีประมูลซื้อไวน์ด้วยเงินสูงถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ จากนั้นเขาเริ่มสร้างโปรไฟล์ตัวเองเพิ่มเติม ด้วยการจัดให้มีงานชิมไวน์หรูและหายากกับเหล่ามหาเศรษฐีและนักสะสมไวน์กลุ่มต่าง ๆ บ่อยครั้งที่รูดีเปิดเผยถึงรายชื่อไวน์ที่มีอยู่ในการสะสมและครอบครอง ซึ่งทำเอาคนฟังที่รู้เรื่องราวต้องส่งเสียงร้องออกมาด้วยความทึ่ง เช่น เขาอ้างว่ามีไวน์แพงจากเขตเบอร์กันดีของฝรั่งเศส อย่าง Domaine de la Romanée-Conti ที่มีสะสมเป็นจำนวนมาก ถ้าตีเป็นเงินไทยก็ขวดละหลายแสนบาท จนทำให้เขาได้รับฉายานามว่า Dr. Conti ในเวลาต่อมา จากนั้น รูดีเริ่มเปลี่ยนสถานะจากคนซื้อมาเป็นคนขาย ด้วยการนำไวน์ในความครอบครองส่วนตัวออกประมูลขายถึง 2 ครั้งภายในปีเดียวกัน โดยทำผ่านบริษัทประมูล Acker, Merral & Condit  ด้วยยอดรวมของมูลค่าสูงถึง 35 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1,155 ล้านบาท) เขายังเริ่มส่งไวน์ราคาแพงไปในการประมูลขายหลายแห่ง ทั้งในอเมริกาและอังกฤษ รวมถึงการขายในแบบส่วนตัวอีกหลายครั้ง ชื่อชั้นของรูดีในเวลานั้นขึ้นสู่จุดสูงสุดไปแล้วว่าเป็น “ตัวจริง” ของวงการ การประมูลซื้อไวน์ของนักสะสมอย่างรูดีย่อมเชื่อถือได้ด้วยประการทั้งปวง หากแต่ด้วยจุดผิดพลาดที่เขาก่อขึ้นในบางจุดได้ย้อนกลับเป็นข้อสงสัยในหมู่นักเลงไวน์บางคนว่า สรุปแล้วไวน์หรูที่รูดีซื้อมาแล้วนำออกขายนั้น จริง ๆ แล้ว มีอะไรผิดพลาดหรือไม่ สัจธรรมตอกย้ำว่า อาชญากรรรมย่อมทิ้งร่องรอยของหลักฐานในตัวเองให้ตามสืบเพื่อค้นหาความจริงได้เสมอ เริ่มจากการเสนอขายไวน์ Château Lafleur ปี 1947 เป็นขวดแม็กนั่ม (ขนาด 1.5 ลิตร) จำนวน 8 ขวด เรื่องนี้ เดวิด โมลีโนซ์-เบอร์รี (David Molyneux-Berry) อดีตหัวหน้าแผนกไวน์ของ Sotheby’s ออกมาหักล้างที่งาน TASTE3 food and wine conference ซึ่งจัดขึ้นในนาปา แคลิฟอร์เนีย ในปีถัดมาว่า ในปี 1947 Château Lafleur ผลิตขวดแม็กนั่มออกมาจริง ๆ เพียง 5 ขวดเท่านั้น นั่นเท่ากับไวน์ของรูดีน่าจะเป็นไวน์ปลอม ! เดือนเมษายน ปี 2007 รูดี เสนอขาย Château Le Pin ปี 1982 ขนาดแม็กนั่ม ในการประมูลที่ Christie's ในลอสแอนเจลิส โดยมีภาพถ่ายไวน์ขึ้นปกแคตาล็อก ผลปรากฏว่า ตัวแทนของ Château Le Pin รีบแจ้งกับบริษัทประมูลว่า ไวน์เหล่านั้น คือของปลอม จน Christie's ต้องถอดมันออกจากรายการประมูล ปี 2008 รูดีเสนอขายไวน์หลายขวด ภายใต้ฉลาก Clos St. Denis จากผู้ผลิต Domaine Ponsot ซึ่งประกอบด้วยวินเทจระหว่างปี 1945-1971 แต่ ลอแรงท์ ปงโซต์ (Laurent Ponsot) ซึ่งดูแลการผลิตไวน์ของ Domaine Ponsot บอกว่า ที่นั่นไม่เคยผลิตไวน์ Clos St. Denis ก่อนปี 1982 โดยปงโซต์พยายามติดต่อผู้ดำเนินการประมูลในเรื่องนี้ เพื่อให้ถอดถอนออกจากรายการ เมื่อได้พบเจอกัน ปงโซต์พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะถามรูดีว่า เขาได้ไวน์ปลอมพวกนี้มาจากไหน คำตอบกลับมาเพียงว่า “พวกเราพยายามดีที่สุดแล้ว แต่มันเป็นเบอร์กันดี บางครั้งก็มีของปลอมรวมเข้ามา” เมื่อความจริงเริ่มเปิดเผย ชื่อเสียงของรูดีก็เหม็นเน่าในทันที ตามมาด้วยคดีฟ้องร้องอีกเพียบ ไม่เพียงเท่านั้น ไวน์ปลอมยังทำลายความน่าเชื่อถือแก่วงการไวน์ในวงกว้าง ทำให้เกิดความหวาดระแวงว่า แล้วต่อไปใครจะเสนอขายไวน์ปลอมได้อีก ในที่สุด เรื่องนี้จึงกลายมาเป็นคดีที่ FBI ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง 8 มีนาคม ค.ศ. 2012 FBI ดำเนินการรวบตัวรูดีได้โดยละม่อม บุกเข้าค้นหาหลักฐานที่บ้านพักของเขา ทำให้พบวัตถุพยานมากมายที่เชื่อได้ว่า ต้นตอของไวน์ปลอมทั้งหลายมาจากฝีมือของเขา ไม่ว่าจะเป็นขวด ฉลาก จุกค็อร์ก รวมถึงไวน์ที่ใช้สำหรับปลอม ซึ่งคาดการณ์ว่ารวมแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 ขวด ในที่สุด หลาย ๆ อย่างที่เป็นความลับเกี่ยวกับตัวรูดี ก็ค่อย ๆ ได้รับการเปิดเผยออกมา มีการสืบค้น ติดตาม ไล่ไปจนถึงญาติ ๆ ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้รู้ว่ารูดีมิได้ร่ำรวย หรือครอบครัวมิได้มีกิจการใหญ่โตอย่างที่เข้าใจกัน หลาย ๆ บุคคลที่รูดีกล่าวอ้างถึงไม่มีตัวตนจริง ส่วนตัวเขาเองเดินทางมาสหรัฐอเมริกาในช่วงกลางทศวรรษ 1990s ด้วยวีซ่านักศึกษา แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับการต่อวีซ่า และพำนักอยู่อย่างผิดกฎหมาย หลังจากใช้เวลาไต่สวนนานกว่า 1 ปี ในที่สุด ศาลพิพากษาความผิดของรูดี ด้วยคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 10 ปี จากนั้นเขาจะถูกขับไล่ออกจากสหรัฐอเมริกากลับอินโดนีเซีย ปัจจุบันรูดีถูกกุมขังที่เรือนจำ Taft Correctional Institution ในเขตทาฟท์เคาน์ตี แคลิฟอร์เนีย โดยคาดการณ์ว่าเขาจะถูกปล่อยตัวในวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 2021 หนังสารคดี Sour Grapes มีการนำฟุตเทจเก่าเกี่ยวกับตัวรูดีมาใช้ มีบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิตไวน์ นักสะสม ฯลฯ ซึ่งช่วยปะติดปะต่อภาพเหตุการณ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งยังบอกเล่าถึงแง่มุมสารพันในธุรกิจไวน์ โดยเฉพาะไวน์ราคาแพงที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และกลายมาเป็นที่หมายปองของผู้คนทั้งโลก ด้วยคุณค่า ราคา ความน่าพิศวง ผนวกกับความโลภที่แฝงอยู่ในจิตใต้สำนึก รูดี เคอร์เนียวาน ทำให้โลกของไวน์ในวันนี้ มีด้านมืดเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ทุกวันนี้ นอกจากรูดีแล้ว เชื่อว่ายังมีคนอีกไม่น้อยที่พยายามปลอมไวน์ และคนอีกกลุ่มหนึ่งพร้อมจะซื้อไวน์ราคาแพงเหล่านั้นด้วยความเชื่อว่านั่นคือของแท้ บางทีในเซลลาร์ของคุณ อาจจะมีไวน์ปลอมของรูดีปะปนอยู่ เพราะคาดกันว่าในเวลานี้ มันได้เคลื่อนย้ายจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปมาถึงฮ่องกงและเอเชียเรียบร้อยแล้ว