ศักดา พันธุ์น้อย คนขับรถบริษัทบ้านจัดสรร สู่ “ศักดาทุบตึก” ผู้รับทุบตึกทั่วเมืองไทย

ศักดา พันธุ์น้อย คนขับรถบริษัทบ้านจัดสรร สู่ “ศักดาทุบตึก” ผู้รับทุบตึกทั่วเมืองไทย
ใครผ่านไปผ่านมาบนถนนหนทางของกรุงเทพฯ น่าจะเคยผ่านตาป้ายโฆษณา 'ศักดาทุบตึก' อยู่บ้าง แม้อาจไม่เคยใช้บริการเลยก็ตามที เพราะป้ายของเขากระจัดกระจายไปทั่ว และพาดหัวด้วยประโยคเรียกความสนใจ (ทั้งที่เนื้อหาอาจไม่เกี่ยวกันเลยสักนิด) อย่าง “ใกล้เลือก ส.ส. เข้าสภา อย่าลืมเลือกศักดาไปทุบตึก” 'ศักดาทุบตึก' คือใคร แล้วทำไมต้องมาทุบตึก เบื้องหลังธุรกิจศักดาทุบตึกคือ ศักดา พันธุ์น้อย เจ้าของกิจการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศักดา (ผู้เชี่ยวชาญในการรื้อถอน) ย้อนไปเมื่อราว 30 ปีก่อน ศักดา-หนุ่มอีสานจาก จ.อุบลราชธานี ในวัย 24-25 ปี เดินทางเข้าเมืองหลวงของไทยเพื่อหวังหางานทำ จุดหมายปลายทางของผู้ใช้แรงงานทุกคนในสมัยนั้นคือหัวลำโพง ที่ที่นายจ้างจะมาเดินเรียกหาแรงงานหน่วยก้านดีไปทำงานกรรมกร แต่ตัวเขาเองนั้นลักษณะท่าทางออก ‘จิ๊กโก๋’ จึงได้ติดค้างอยู่หัวลำโพงเป็นสัปดาห์ ๆ กระทั่งถูกขโมยเงินไปหมด จึงต้องขอความช่วยเหลือจากญาติให้ฝากงานให้ในที่สุด ศักดาในวัยหนุ่มแน่นได้งานทำเป็นคนขับรถให้บริษัทขายบ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง หน้าที่ของเขาคือการขับรถพาเซลส์และลูกค้าไปดูบ้านที่จะขาย อาชีพนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้ความรู้เรื่องการขายและการตลาด ซึ่งจะมีประโยชน์กับบริษัทตัวเองในอนาคต เพราะระหว่างขับรถไปเขาก็ได้ฟังและซึมซับวิธีขายของเซลส์แมนไป จนได้เป็นผู้ช่วยเซลส์อย่างไม่เป็นทางการ เพราะต้องช่วยรับโทรศัพท์ลูกค้าให้เวลาเซลส์ไม่ว่าง “เจ้าของเห็นท่าทางเราได้ ก็เลยจับใส่สูทผูกไทดู” ศักดากล่าว แต่เริ่มแรกเขาต้องไปเป็นเด็กแจกใบปลิวก่อน แล้วถึงได้เลื่อนขั้นมาเป็นเซลส์ขายบ้านเต็มตัว ชีวิตเซลส์แมนทำให้ลืมตาอ้าปากได้ในเมืองกรุง และมาถึงจุดเปลี่ยนโดยบังเอิญอีกครั้งเมื่อศักดาพาเพื่อนฝูงไปเที่ยวซอยบุปผาสวรรค์ ได้พบเพื่อนใหม่ที่ทำงานรับจ้างทุบตึกอยู่ เขาจึงทดลองนำคำโฆษณารับทุบตึกไปลงพ่วงกับโฆษณาขายบ้านกรอบเล็ก ๆ ให้ในหนังสือพิมพ์ โดยไม่ได้รับค่านายหน้าแต่อย่างใด ปรากฏว่าผ่านไป 2-3 เดือน พบกันอีกครั้งเพื่อนคนนั้นร่ำรวยจนถอยรถเบนซ์มาขับได้แล้ว “ผมก็ อ้าว แล้วเราจะมานั่งขายบ้านจัดสรรได้ค่าคอมมิชชั่นหลังละ 4-5 พันได้ไง ก็เลยลงโฆษณาของตัวเอง ทุบตึกเลย” โดยศักดาใช้วิธีดึงตัวคนงานจากบริษัทของเพื่อนมารับงานของเขาบ้าง ศักดาเล่าว่ายุคนั้นยังไม่มีคู่แข่งมากนัก แต่จะทำให้ลูกค้าเข้ามาก็ต้องใช้การโฆษณา สิ่งนี้ถือเป็นจุดขายหลักจนชื่อของ 'ศักดาทุบตึก' ติดตลาด ซึ่งศักดาใช้วิชาที่ได้จากการเป็นเซลส์ขายบ้านมาปรับใช้ในจุดนี้เอง คำโฆษณาต่าง ๆ ที่ขึ้นป้ายนั้นเขาเป็นผู้คิดสร้างสรรค์เองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น “ใกล้เลือก ส.ส. เข้าสภา อย่าลืมเลือกศักดาไปทุบตึก”, “ศักดาทุบตึก ลดราคาแบบสุด ๆ เก็บเงินไว้แต่งเมีย”, “เลือกศักดาไปทุบตึก ขอให้ถูกรางวัลที่ 1” ซึ่งอารมณ์ขันปนความตรงไปตรงมาของป้ายเหล่านี้ กลายเป็นสะกิดสายตาของทุกคนให้ต้องอ่าน ทุกวันนี้ศักดายังคงทำป้ายโฆษณาสัปดาห์ละ 20 แผ่น จะออกติดป้ายทุกวันอาทิตย์ช่วงกลางดึกเพื่อเลี่ยงเวลารถติด ศักดาเสียค่าโฆษณาน้อยมาก มีจุดติดป้ายโฆษณาที่เสียค่าเช่าเป็นทางการไม่ถึง 10 ป้าย ส่วนที่เหลือน่ะหรือ...ก็ใช้วิธี ‘ลักไก่’ ไปแอบติดตามบ้านร้าง ที่ดินร้าง มีตำรวจโทรมาเรียกไปถอดป้ายบ้าง แต่เขาก็มองว่า อย่างน้อยป้ายนั้นได้ปรากฏต่อสายตาคนไปแล้วเป็นเดือน คุ้มแสนคุ้ม! ธุรกิจของศักดาทุบตึกเป็นงานกำไรดี แต่ก็มีความเสี่ยงและการจัดการที่ไม่ง่าย เขารับจ้างทุบตึก บ้าน โรงงาน ทุกชนิด แต่ต้องมีความสูงไม่เกิน 8 ชั้น และรับจ้างทั่วประเทศไทย เขาอธิบายคร่าว ๆ ว่า รับจ้างงานทุบบ้านสักหลังหนึ่งได้ค่าจ้างราว 40,000 บาท แต่จะได้เศษหิน ปูน ไม้ เหล็ก ฯลฯ ไปขายต่อตีมูลค่าได้ 100,000 บาท เมื่อหักต้นทุนค่าแรงคนงานแล้ว กำไรก็เหลือตั้งแต่ 50,000-70,000 บาททีเดียว ส่วนความเสี่ยงและการจัดการ งานทุบตึกเป็นงานเสี่ยงภัยและต้องอาศัยฝีมือแรงงานสูง ต้องมีคนงานที่ขับรถแบ็คโฮได้คล่อง และคนงานก็ต้องกล้าพอจะขึ้นไปยืนใช้ค้อนปอนด์ทุบบนชั้นสูง ๆ ด้วย คนงานเหล่านี้ล้วนต้องฝึกฝนทักษะ โดยคนที่ทำงานกับศักดานานที่สุดทำอาชีพนี้มา 20 ปีแล้ว “ไม่เคยเรียนโยธาเลย ผมจบอาชีวะช่างยนต์ แต่ทำถูกต้อง ทำมา 30 กว่าปี หจก.ศักดา ไม่เคยทำตึกถล่ม เพราะว่าเราต้องป้องกันอย่างดี แข็งแรง อย่างเช่นทุบตึก 8 ชั้นนี่ผมก็ต้องไปจ้างรถดับเพลิงจากเทศบาลมาฉีดน้ำเพื่อกันฝุ่นละออง” ศักดาพูดถึงคุณภาพงานรับทุบตึกของเขา เพราะเป็นงานใช้แรงงาน การคุมพนักงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ ศักดาผู้เคยเป็นจิ๊กโก๋ก็บริหารลูกน้องแบบจิ๊กโก๋เหมือนกัน รอบสำนักงานและแคมป์คนงานของเขาจะมีป้ายอบรมบ่มนิสัยแบบไม่เหมือนใคร เพราะเป็นคำตรง แรง ไปจนถึงสาปแช่ง เช่น “ติดคุกเพราะเสพยาไม่ประกันตัวเด็ดขาด”, “ใครขโมยของขอให้ฉิบหาย” เป็นต้น เขาอธิบายเรื่องนี้ว่าคุมลูกน้องต้องมีดุด่า แต่ขณะเดียวกัน ลูกน้องยังอยู่กับเขาเพราะพื้นฐานแล้วเขาใจดี และมีนิสัยแบ่งปันนั่นเอง ปัจจุบัน ศักดาทุบตึก ขยายธุรกิจมาตามลำดับโดยไม่เคยกู้ธนาคารสักครั้ง ศักดาใช้วิธีเก็บหอมรอมริบมาเรื่อย ๆ จนมีรถเทรลเลอร์ไว้ขนเศษเหล็กเศษหิน และยังไปลงทุนทำร้านอาหารและรีสอร์ทไว้เผื่อเกษียณแล้วด้วย ซึ่งตามข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หจก.ศักดา (ผู้เชี่ยวชาญในการรื้อถอน) รายงานรายได้ปี 2561 ไว้ที่ 3.16 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 9.7 แสนบาท ศักดาเล่าว่า ชีวิตที่มีกินมีใช้มากขึ้นของเขานั้น มีหลักสำคัญคือต้องไม่ท้อถอย แม้แต่มาทำธุรกิจรับทุบตึกก็ยังต้องผจญกับมิจฉาชีพหรือถูกโกง แต่ต้องสู้อย่าหยุด “ผมไม่เคยเลือกว่าชีวิตจะเป็นอะไรหรือทำอะไร มีอะไรให้ทำผมก็ทำจนสุดฝีมือ ผมเป็นคนที่ทำอะไรทำจริง รับงานแล้วต้องทำให้เสร็จ” ศักดาสรุปปิดท้าย   ที่มา รายการ Perspective ออกอากาศ 16 พฤษภาคม 256 พอดคาสต์ Foundercast EP.22 คุยกับศักดาทุบตึก   เรื่อง: Synthia Wong