ซัลมาน ข่าน แห่ง Khan Academy ก่อตั้งเว็บเรียนออนไลน์ฟรี จากการสอนการบ้านหลาน

ซัลมาน ข่าน แห่ง Khan Academy ก่อตั้งเว็บเรียนออนไลน์ฟรี จากการสอนการบ้านหลาน
ลองเปรียบเทียบการเรียนคณิตศาสตร์ให้เหมือนการขี่จักรยาน ถ้าคุณยังขี่แบบ 2 ล้อได้ไม่ดี คุณจะขี่ล้อเดียวได้ไหม? ถ้าเลขยกกำลังยังไม่เข้าใจ คุณจะข้ามไปเรียนแคลคูลัสได้หรือเปล่า? ย้อนกลับไปราว 16 ปีก่อน ซัลมาน ข่าน (Salman Khan) อดีตนักวิเคราะห์การเงินชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย-บังคลาเทศ เป็นชายหนุ่มผู้เฉลียวฉลาด (อาจเรียกได้ว่าอัจฉริยะ) ที่เรียนจบปริญญาตรี 3 ใบ จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) หลังจบปริญญาโทอีกใบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาก็ทำงานเป็นนักวิเคราะห์การเงินของเฮดจ์ฟันด์ (Hedge Fund) กองทุนเก็งกำไรแห่งหนึ่งในบอสตัน ด้วยความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญที่ข่านมี ประกอบกับหน้าที่การงานที่กำลังเติบโตขึ้น คงไม่มีใครคิดว่าวันหนึ่งเขาจะลาออกมาเป็นบุคลากรด้านการศึกษาที่ปฏิวัติการเรียนหนังสือของนักเรียนกว่า 60 ล้านคนทั่วโลก เหตุการณ์ทั้งหมด เริ่มต้นขึ้นจาก นาเดีย หลานสาววัย 12 ปี ที่โทรศัพท์สายตรงมาจากนิวออร์ลีนส์ รัฐหลุยเซียน่า เธอบอกข่านว่า เธอมีการบ้านวิชาพีชคณิต ที่คิดยังไงก็คิดไม่ออก ข่านค่อย ๆ อธิบายให้เธอฟังอย่างใจเย็นทางโทรศัพท์ โดยใช้ Yahoo Doodle โปรแกรมเมสเซนเจอร์ของยาฮูร่วมด้วย เมื่อนาเดียสามารถทำการบ้านในวันนั้นได้ มันก็กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของงานติวเตอร์ระหว่างเขา นาเดีย และญาติคนอื่น ๆ อีกเป็นสิบ “พอเด็ก ๆ เริ่มเยอะขึ้น ผมก็เริ่มสอนโดยการอัดวิดีโอและโพสต์ลงบน YouTube ตอนนั้นก็แค่อัดคลิปใส่ ๆ เข้าไป แล้วปล่อยให้พวกเขาเปิดดูเอง ปรากฏว่าเด็ก ๆ บอกว่าชอบดูผมผ่านวิดีโอมากกว่าเจอตัวเป็น ๆ อีก”  ข่านพอจะเข้าใจวิธีที่เด็ก ๆ คิด แม้ญาติหลายคนจะบอกว่าเขามีพรสวรรค์ในการอธิบายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย แต่เพราะช่วงเวลาที่ใช้ทำความเข้าใจของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน เขาสังเกตเห็นว่า บางคนจะรู้สึกกดดันเวลาโดนถามว่า “เธอเข้าใจไหม” หรือ “มีอะไรสงสัยหรือเปล่า” “การเรียนจากวิดีโอทำให้เด็ก ๆ สามารถใช้เวลาเท่าไหร่ก็ได้ พวกเขาจะกรอซ้ำไปฟังจุดที่ไม่เข้าใจกี่รอบก็ได้ หากใครมีอะไรไม่เข้าใจก็ค่อยโทรกลับมาถาม" ข่านอัดคลิปวิดีโอสอนการบ้านลง YouTube ไปเรื่อย ๆ เพราะเขาไม่เห็นเหตุผลอะไรที่จะเก็บไว้เป็นส่วนตัว จึงปล่อยมันไว้เป็นสาธารณะ เขาพบว่าจู่ ๆ คนทั่วไปก็เริ่มเข้ามาดูคลิปเยอะขึ้น แถมยังทิ้งความเห็น รวมถึงคำแนะนำไว้ให้เขาอีกด้วย“ช่วงแรกมันยังเป็นแค่คำขอบคุณ ที่จริงขอบคุณก็ดีใจมากแล้ว แต่หลัง ๆ ความเห็นพวกนั้นดูเหมือนจะยิ่งจริงจังขึ้น” “คอมเมนต์หนึ่งบอกว่า ‘ลูกชายฉันเป็นออทิสซึม และมีปัญหาเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ พอเจอวิดีโอเรื่องทศนิยมของคุณ เขาก็ทำได้ พวกเราไม่อยากเชื่อเลย เขาเองก็ตื่นเต้นมาก’ ตอนนั้นล่ะที่ผมคิดว่า ‘นี่มันไม่ใช่แค่ทำ ๆ ไปแล้ว’ ผมได้รับความเห็นและคำแนะนำจากนักเรียนและครูอาจารย์มากมาย บอกว่าบทเรียนของผมเข้าใจง่ายกว่าที่พวกเขาสอนในโรงเรียนอีก” ข่านเริ่มต้นจริงจังกับการอัดวิดีโอมากขึ้น แต่ละคลิปของเขามีความยาวไม่เกิน 6-8 นาที แต่กลับอธิบายเรื่องที่ใคร ๆ ต่างก็หันหน้าหนี อย่าง ทฤษฎีคณิตศาสตร์ การเงิน เศรษฐศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ (สอนคนเดียว) ให้ดูเป็นเรื่องง่าย ๆ ได้ ชื่อของเขากลายมาเป็นหนึ่งในคนดังด้านการศึกษา ที่มีผู้ติดตามสูงที่สุดช่วงเวลาหนึ่งของ YouTube ซึ่งตอนนั้นข่านยังทำงานอยู่ที่เฮดจ์ฟันด์ และใช้เวลาหลังเลิกงานทำคลิปเป็นงานอดิเรก “ผมทำงานอยู่ที่เฮดจ์ฟันด์ สถาบันที่คุยกันแต่เรื่องเงิน การลงทุน และความเสี่ยง คุณคงนึกภาพออกใช่ไหม ว่ามันรู้สึกแปลกแค่ไหนที่ได้มาทำอะไรเพื่อสังคมหรือเพื่อคนอื่น” ด้วยไอคิวระดับ 160+ อันที่จริงข่านจะทำงานด้านเงิน ๆ ทอง ๆ เพื่อแสวงหาความร่ำรวยให้กับตัวเองต่อไปก็ได้ แต่มันดันไม่ใช่เป้าหมายที่เขาอยากไปถึงอีกต่อไปแล้ว หลังจากทำตัวเป็นติวเตอร์ออนไลน์อยู่นาน ข่านก็ตัดสินใจลาออกจากงาน และทุ่มเวลาให้กับการสอนอย่างเต็มที่ เขาก่อตั้ง Khan Academy เว็บเรียนออนไลน์ฟรีที่ใครก็เข้าถึงได้ ขอแค่มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ในปี 2009 ข่านเอาคลิปวิดีโอทั้งหมดที่เขาเคยสอนใส่ลงไปบนเว็บไซต์ เขายังใส่ใจเพิ่มส่วนแบบฝึกหัดที่เรียงลำดับจากง่ายไปยากให้เด็ก ๆ ลองทำอย่างเป็นสัดส่วน เขาบอกว่าการทำแบบนี้จะทำให้เด็ก ๆ สามารถเข้าใจบทเรียนตั้งแต่พื้นฐาน เพราะหากยังทำข้อสอบไม่ผ่าน คุณก็ไม่สามารถข้ามไปเรียนบทต่อไปได้ “ผมได้วิธีสอนแบบนี้มาจากตอนสอนญาติ ๆ หลายคนเริ่มเรียนกับผมโดยบอกว่าเขาไม่เก่งวิชาคณิตศาสตร์เลย พวกเขาคงไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ แต่พอผมกลับไปสอนพื้นฐานใหม่ ก็ไม่มีใครบ่นเรื่องนั้นอีก” ข่านค้นพบว่า สาเหตุที่เด็ก ๆ เรียนไม่เข้าใจ เพราะระบบการศึกษาปล่อยให้พวกเขาข้ามไปเรียนส่วนที่ยากกว่า ทั้งที่ยังรู้พื้นฐานไม่กระจ่าง เด็ก ๆ ที่ทำข้อสอบได้มากถึง 75% แม้จะสอบผ่าน แต่ก็ไม่มีทางรู้เลยว่าที่เขาทำผิดไปเป็นเพราะอะไร ช่องโหว่ทางความรู้เหล่านี้ เมื่อเด็ก ๆ ข้ามไปเรียนบทเรียนที่ซับซ้อนขึ้น พวกเขาอาจจะกลับมาพบกับส่วนที่เคยผิดและยังไม่เคยได้รับคำตอบอีก หากปล่อยไว้แบบนี้นาน ๆ พวกเขาจะชนกำแพง และละความพยายามที่จะเข้าใจวิชานั้นต่อ ด้วยวิธีการสอนของข่าน เด็ก ๆ จะไม่ถูกตัดเกรด ไม่ว่าพวกเขาจะทำแบบฝึกหัดได้กี่คะแนน ข้อสอบจะทำหน้าที่เป็นเพียงตัววัดความเข้าใจ แต่ไม่ปล่อยผ่านให้เด็ก ๆ ที่ยังทำผิด ผ่านไปยังแบบฝึกหัดต่อไปได้ ข่านบอกว่านี่คือการ ‘สอนเพื่อความเชี่ยวชาญ ไม่ใช่เพื่อคะแนนสอบ’ “มันก็เหมือนกับการฝึกความเชี่ยวชาญหลาย ๆ อย่าง การเรียนศิลปะการป้องกันตัว ก็ใช้วิธีนี้ คุณเริ่มฝึกทักษะเบื้องต้นในระดับสายขาว นานเท่าที่จะจำเป็น เมื่อคุณเชี่ยวชาญแล้ว คุณจึงจะก้าวขึ้นไปเป็นสายเหลืองได้ เช่นเดียวกับที่คุณหัดเล่นเครื่องดนตรี คุณเริ่มฝึกโน้ตง่ายๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก เมื่อคุณเชี่ยวชาญพื้นฐาน คุณจึงก้าวต่อไปฝึกขั้นสูงขึ้น” ปัจจุบันเนื้อหาความรู้ใน Khan Academy มีคลิปวิดีโอต่าง ๆ รวม 20,000 กว่าคลิป จาก 5,000 คอร์สเรียน ครอบคลุมตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงอุดมศึกษา พันธกิจพวกเขาคือการเผยแพร่ความรู้ในแต่ละสาขาวิชา (มีซับไตเติลถึง 18 ภาษา) ให้คนทั้งโลกได้เรียนโดยไม่คิดเงินสักบาท ตอนนี้นอกจากตัวข่านเองที่ยังสอนอยู่ เขาก็มีอาสาสมัครและผู้เชี่ยวชาญอีกมากมาย เข้ามาช่วยออกแบบบทเรียนในเว็บไซต์แล้ว องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของเขา อยู่ได้ด้วยเงินบริจาคของผู้สนับสนุนรายใหญ่ อย่าง Microsoft, Google, Comcast, AT&T แม้แต่ Walt Disney ก็ยังบริจาคเงินให้โรงเรียนออนไลน์ของเขาไปต่อได้ด้วย ปี 2012 ซัลมาน ข่าน ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร TIMES ว่าเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลด้านเทคโนโลยีการศึกษา เขาไม่ได้เรียนจบด้านครุศาสตร์ หรือมีใบอนุญาตในการเป็นครูแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ข่านทำไว้ คือการมอบโอกาสทางการศึกษาที่เด็ก ๆ ทั่วโลกสามารถไขว่คว้าได้อย่างเท่าเทียม (ขอแค่มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต)  ข่านบอกว่า นี่มันไม่ใช่แค่สิ่งที่ ‘ทำได้ก็ดี’ แต่เป็นสิ่งที่ ‘จำเป็น’ ในช่วงเวลาที่โลกกำลังก้าวไปข้างหน้า ในยุคที่เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทแทนที่ชนชั้นแรงงาน ความรู้และความทะเยอทะยานจะเปลี่ยนแปลงหน้าตาของสังคม และชีวิตของผู้คนไปโดยสิ้นเชิง    ที่มา https://www.ted.com/talks/sal_khan_let_s_use_video_to_reinvent_education https://www.ted.com/talks/sal_khan_let_s_teach_for_mastery_not_test_scores https://www.sfchronicle.com/visionsf/article/Sal-Khan-creates-online-academy-to-educate-anyone-12511884.php https://hbr.org/2014/01/salman-khan https://www.straitstimes.com/singapore/firing-up-an-education-revolution-0