ซอลาฮุดดีน วีรบุรุษแห่งสงครามศักดิ์สิทธิ์ ตำนานผู้นำสุภาพชนมุสลิม

ซอลาฮุดดีน วีรบุรุษแห่งสงครามศักดิ์สิทธิ์ ตำนานผู้นำสุภาพชนมุสลิม
ในสงครามศักดิ์สิทธิ์ หรือ "สงครามครูเสด" การสู้รบที่มีฉากหน้าเป็นเรื่องการแย่งชิงดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของฝ่ายหนึ่งที่เป็นคริสเตียน กับอีกฝ่ายเป็นมุสลิม (แต่ที่สำคัญคือการแย่งชิงทรัพยากรของกลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่ม จนทำให้เกิดการจับมือไขว้กันไปมา ไม่สนว่าอีกฝ่ายนับถือศาสนาไหน) มีบุคคลซึ่งเป็นที่จดจำในประวัติศาสตร์อยู่มากมาย ซอลาฮุดดีน (หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ ซาลาดิน ตามอย่างสำเนียงภาษาอังกฤษ "Saladin") เป็นบุคคลหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในสงครามดังกล่าว ทั้งในแง่นักรบที่ยิ่งใหญ่ที่นำชัยชนะมาให้กองทัพมุสลิม รวมถึงความเป็นสุภาพบุรุษนักรบที่พร้อมหยิบยื่นน้ำใจให้ศัตรู จนได้รับการชื่นชมและยกย่องจากทั้งชาวมุสลิมเองไปจนถึงชาวคริสเตียนอีกด้วย "ซอลาฮุดดีน วีรบุรุษแห่งสงครามศักดิ์สิทธิ์" โดย ภาสพันธ์ ปานสีดา (สำนักพิมพ์ยิปซี, พ.ศ. 2562) ก็เป็นหนังสือฉบับภาษาไทยเล่มหนึ่ง (ซึ่งมีไม่มากนัก) ที่เล่าถึงเรื่องราวของนักรบสุภาพชนคนนี้ (คำนำของผู้เขียน กล่าวว่า เคยจัดพิมพ์มาก่อนในชื่อ "วีรบุรุษแห่งศรัทธา: ซอลาฮุดดีน) ซอลาฮุดดีน วีรบุรุษแห่งสงครามศักดิ์สิทธิ์ ตำนานผู้นำสุภาพชนมุสลิม “ผมเชื่อว่าหลายท่านคงจะเพิ่งมาได้ยินชื่อเสียงของสุลต่านพระองค์นี้จากภาพยนตร์เรื่อง “Kingdom of Heaven” ที่ฉายในปี พ.ศ. 2548 ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว พระองค์ทรงเป็นพระประมุขมุสลิมที่มีชื่อเสียงเลื่องลืออยู่ในประวัติศาสตร์โลกยุโรปยุคกลางมาอย่างช้านาน เพราะไม่เพียงแต่พระองค์จะทรงเป็นพระประมุขมุสลิมที่สามารถแย่งชิงกรุงเยรูซาเลมกลับมาได้เป็นพระองค์แรกเท่านั้น หากแต่ชื่อเสียงและกิตติศัพท์ที่แท้จริงของพระองค์นั้นคือความสัตย์ซื่อและความยุติธรรม แม้แต่กับศัตรูผู้รุกราน จนทำให้เหล่าอัศวินครูเสดและอัศวินยุโรปคริสเตียนในยุคหลังต่างก็ให้การขนานนามสุลต่านมุสลิมผู้นี้ว่า ‘สุภาพบุรุษนักรบ’ เลยทีเดียว” ภาสพันธ์กล่าวในคำนำหนังสือ ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างมุสลิมต่างนิกาย ซึ่งมีมาตั้งแต่การจากไปของศาสดานบีมูฮัมหมัด ไปจนถึงความขัดแย้งจนนำมาซึ่งการทำสงครามระหว่างคริสเตียนกับมุสลิม สามารถทำความเข้าใจเรื่องราวอันเป็นบริบทเบื้องต้นก่อนยุคของซอลาฮุดดีนได้ไม่ยาก ด้วยภาสพันธ์ได้ใช้พื้นที่ในการอธิบายเนื้อหาส่วนนี้มากพอสมควร ตั้งแต่การก่อตัวของรัฐอิสลามในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 7 นำโดย มูฮัมหมัดแห่งเผ่ากุรอยซ์ ผู้กลายมาเป็นศาสดาแห่งอิสลาม รัฐอิสลามสามารถขยายตัวจนครอบงำอาณาเขตตั้งแต่คาบสมุทรอาระเบีย พื้นที่ในจักรวรรดิเปอร์เซียเก่าไปจนถึงอียิปต์และแอฟริกาเหนือ  ภายหลังรัฐอิสลามก็เกิดความแตกแยกภายในเป็นซุนนะห์ (ซุนหนี่) และชีอิห์ (ชีอะห์) เมื่อฝ่ายหลังไม่ยอมรับ มุอะวิยะห์ที่ 1 ผู้สถาปนาราชวงศ์อุมัยยะห์ หลังสิ้นยุคคอลิฟทั้งสี่ไปแล้ว (อะบูบักร์, อุมัร, อุสมาน และอาลี) เกิดการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างมุสลิมสองขั้ว ระหว่างขั้วซุนหนี่ที่มีศูนย์กลางอำนาจที่แถว ๆ บัฆดัด หรือ แบกแดด กับกลุ่มชีอะห์ที่มีศูนย์กลางอยู่ในอียิปต์ ขณะเดียวกันการขยายอิทธิพลอย่างก้าวร้าวของกลุ่มอำนาจมุสลิม (ซึ่งมิได้เป็นเอกภาพทั้งหมด) ก็ทำให้เกิดการปะทะกับฝ่ายคริสเตียน จนทำให้จักรพรรดิอเล็กซิอุส คอมเมนุส แห่งโรมันตะวันออกที่ถูกเซลญูกเติร์กรุกรานอย่างหนักต้องขอความช่วยเหลือไปยังวาติกันในฝั่งตะวันตก (ซึ่งในเชิงศาสนา ปกติก็มิได้กินเส้นกัน) พระสันตะปาปาเออร์บานที่ 2 เห็นเป็นโอกาสดีที่จะรวมอำนาจของศาสนจักรทั้งสองฝั่งให้เป็นหนึ่ง จึงประกาศเชิญชวนให้คริสเตียนทำสงครามศักดิ์สิทธิ์กับมุสลิม เพื่อกอบกู้แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์คืนมา พร้อมให้สัญญาว่า ผู้ที่ตายในสงครามศักดิ์สิทธิ์จะได้รับการล้างบาปทั้งปวง จึงเป็นที่มาของสงครามครูเสดยกแรก (ค.ศ. 1095–1099 ซึ่งซอลาฮุดดีนเกิดไม่ทัน ก่อนมีส่วนร่วมในสงครามครั้งที่ 2 และ 3) ส่วนตัวของซอลาฮุดดีนนั้น เกิดที่เมืองทากริตในปี ค.ศ. 1137 มีชื่อว่า “ยูซุฟ” ส่วน “ซอลาฮุดดีน” นั้นเป็นฉายาที่แปลว่า “สัจธรรมแห่งศรัทธา” ซึ่ง นัจญ์ อุดดีน อัยยูบ ผู้เป็นพ่อเป็นคนตั้งให้ อัยยูบเป็นขุนศึกในฝั่ง อิมาอุดดีน ซังกี “อะตาเบ็ก” (ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครของพวกเติร์ก) แห่งโมซูล (ในอิรัก) และฮาเล็บ (ปัจจุบันคือเมืองอเลปโปในซีเรีย) ส่วนยูซุฟเติบโตมาในดามัสกัส ศูนย์กลางอำนาจใหม่ภายใต้การนำของ “นูรุดดีน” (นูรุดดีน อุดดีน อะบู อัล-กอซิม มาห์มุด อิบน์ อิมาอุดดีน ซังกี) บุตรคนรองของอะตาเบ็ก  ภาสพันธ์เล่าว่า “ยูซุฟเติบโตมาเป็นบุรุษหนุ่มผู้สุภาพนอบน้อมและเฉลียวฉลาด โดยท่านแตกฉานในวิชาความรู้ด้านกฎหมาย ศาสนา หลักคำสอน หลักปรัชญา และบทกวีต่าง ๆ เป็นอันมากเลยทีเดียว จนทำให้ยูซุฟหนุ่มตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าท่านต้องการจะเป็นอุลามะห์หรือกอฎี” (อุลามะห์ หมายถึง นักปราชญ์ด้านศาสนา ส่วน กอฎี คือ ผู้ตีความและตัดสินคดีตามหลักอิสลาม) แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้ยูซุฟหันมาเอาดีด้านการเมืองการทหารมาจากความชั่วช้าของผู้นำคริสเตียนที่ชื่อว่า เรนัลด์ เดอ ชาติลญอง ผู้ครองนครอันตากิยะห์ (หรือ อันติโอค - Antioch เมืองท่าชายฝั่ง ปัจจุบันอยู่ในตุรกี) ของพวกครูเสด ตัวร้ายคนสำคัญใน Kingdom of Heaven “ความชั่วช้าของเรนัลด์ไม่เพียงแต่จะเป็นที่เกลียดชังในหมู่ชาวมุสลิมเท่านั้น แม้แต่ชาวคริสต์นิกายตะวันออก หรือแม้กระทั่งชาวฟรอนญ์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์เองก็ยังรังเกียจเขาเหมือนกัน เพราะเขาถือโอกาสขูดรีดเหล่าพ่อค้าหรือนักแสวงบุญที่เข้าออกหรือผ่านดินแดนของตนเองเอาด้วยเหมือนกัน ซึ่งความชั่วช้าของเขานั้นยังทำให้ซอลาฮุดดีนที่ตั้งใจจะไปเอาดีทางด้านศาสนามากกว่าการทหาร ถึงกับตั้งปณิธานเอาไว้ว่าท่านจะต้องสังหารคนคนนี้ด้วยน้ำมือของท่านเองให้ได้ในสักวันหนึ่งเลยทีเดียว” ภาสพันธ์กล่าว แต่หากพิจารณาตามลำดับเวลาจะเห็นว่า ซอลาฮุดดีนนั้นใช้เวลาในการทำสงครามกับมุสลิมด้วยกันเอง มากยิ่งกว่าการทำสงครามกับคนต่างศาสนา เริ่มจากการรุกรานอาณาจักรแห่งราชวงศ์ฟาติมิยะห์ที่ถือนิกายชีอะห์ในอียิปต์ ซึ่งตามข้อมูลของภาสพันธ์ระบุว่า ซอลาฮุดดีนไม่มีความประสงค์เช่นนั้นเลย แต่ไม่อาจขัดคำสั่งของ อะซาดุดดีน ซีรกูฮ์ ผู้เป็นลุงได้ ขณะเดียวกัน ความสำเร็จในการรุกรานอียิปต์ทำให้สถานะของซอลาฮุดดีนซึ่งอยู่ปกครองดินแดนอันอุดมสมบูรณ์แห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ ดีขึ้นเป็นลำดับ เขาไม่ได้กวาดล้างราชวงศ์ฟาติมิยะห์ให้สิ้นไป เพียงแต่กำจัดชนชั้นปกครองเดิม แทนที่ตำแหน่งที่ว่างลงด้วยบริวารของตน แล้วอิงแอบสิทธิอำนาจของสองฐานอำนาจ (ตระกูลซังกีในดามัสกัสกับราชวงศ์ฟาติมิยะห์) ในการปกครองอียิปต์ ทำการสั่งสมความมั่งคั่งและอำนาจจนมีอิทธิพลขึ้นมาทัดเทียมกับเจ้านายที่ดามัสกัส  ภาสพันธ์ได้อธิบายความสัมพันธ์เช่นนี้เอาไว้ว่า “เหตุผลอาจมาจากการที่ซอลาฮุดดีนเคยคิดหวังจะเอาดีทางศาสนาด้วยการเป็นอุลามะห์ หรือกอฎีมาก่อนที่จะเข้ามารับราชการทหาร ทำให้ท่านมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ หลักธรรมคำสอนในศาสนาอิสลาม รวมไปถึงหลักปรัชญามาตั้งแต่อายุยังน้อย จึงทำให้ซอลาฮุดดีนมีความเห็นอกเห็นใจในศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์มากกว่าขุนพลซุนหนี่ทั่วไปนั่นเอง” เมื่อ คอลิฟอัล-อะดีด แห่งฟาติมะห์ล้มป่วยและเสียชีวิตลง นั่นก็เป็นจุดจบของราชวงศ์ฟาติมิยะห์ ทำให้ซอลาฮุดดีนกลายเป็นผู้นำสูงสุดแห่งอียิปต์แทน หลังจากนั้น ความสัมพันธ์ของซอลาฮุดดีนกับราชวงศ์ซังกีในดามัสกัสก็เสื่อมทรามลงเรื่อย ๆ เพราะแม้ซอลาฮุดดีนจะแสดงท่าทีภักดีกับตระกูลซังกีต่อไป แต่เขาก็ก่อเหตุยกทัพหนีระหว่างรบกับพวกครูเสดอยู่หลายครั้ง โดยอ้างเหตุต่าง ๆ นานา ยืนยันว่าเป็นเหตุจำเป็น เช่นเกิดการจลาจลในอียิปต์ หรือบิดาเสียชีวิต และเมื่อนูรุดดีนเสียชีวิตลง ซอลาฮุดดีนก็ไม่ต้องทำเหนียมอีกต่อไป  “ภายในปีเดียวกันนั้นซอลาฮุดดีนได้ส่งสารไปถึงสุลต่านอัล-ซอลิห์ เพื่อแสดงความเคารพต่อเจ้าเหนือหัวคนใหม่ พร้อมยืนยันความบริสุทธิ์ของตนด้วยการเคลื่อนทัพม้าล้วนเพียง 700 นาย มุ่งตรงไปยังกรุงดามัสกัสโดยพร้อมเพรียงกันด้วย แต่กลับทำให้เหล่าขุนนางในดามัสกัสเกิดความหวาดกลัวเป็นอันมากและรีบพาตัวอะตาเบ็กน้อยหนีไปยังเมืองหลวงเก่าคือนครฮาเล็บทันที ซอลาฮุดดีนจึงสามารถยกทัพเข้ากรุงดามัสกัสได้โดยไร้การต่อต้านใด ๆ ทั้งสิ้น พร้อมกับความยินดีของเหล่าชาวเมืองดามัสกัสทั้งปวงในที่สุด” ภาสพันธ์กล่าว หลังจากนั้น ซอลาฮุดดีนก็สถาปนาราชวงศ์อัยยูบิยะห์ขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อเขารบกับชาติมุสลิมให้ยอมอยู่ใต้อำนาจของตนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เขาจึงได้ทำการรบกับพวกครูเสดอย่างจริงจังเสียที ความสำเร็จที่ทำให้เขาได้รับการยกย่องมากที่สุดก็คือการที่เขาสามารถยึดกรุงเยรูซาเลมกลับคืนมาจากคริสเตียนได้สำเร็จ ด้วยการทูตและการวางแผนอย่างรัดกุม รอจังหวะที่เยรูซาเลมตกอยู่ในภาวะระส่ำระสายหลังการสิ้นพระชนม์ของบอลวินด์ที่ 4 กษัตริย์หนุ่มที่มีพระปรีชาแต่ป่วยด้วยโรคเรื้อนและเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย แล้วจึงรวบกำลังมุสลิมทั่วแผ่นดินเพื่อพิชิตแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ซอลาฮุดดีน ล่อให้กองทัพเยรูซาเลมเดินทัพฝ่าทะเลทรายจนเหนื่อยล้า แล้วตนก็ยกทัพไปดักหน้าแหล่งน้ำในฮัทตีน ความเหนื่อยล้าทำให้ทัพเยรูซาเลมเสียเปรียบและเสียวินัย สุดท้ายก็พ่ายแพ้ให้กับทัพมุสลิมไปอย่างง่ายดาย พระองค์ (ซอลาฮุดดีน) สังหารเรนัลด์ เดอ ชาติลญอง ด้วยตัวพระองค์เอง ก่อนสั่งให้สังหารเหล่าเชลยศึกที่ไร้ทางสู้ที่จับได้ทั้งหมด  “เพื่อเป็นการประกาศศักดาให้เหล่าเชลยศึกผู้สูงศักดิ์ในกองทัพครูเสดได้เห็นความเด็ดขาดของกองทัพอิสลามที่จะไม่มีวันปรานีต่อผู้รุกรานต่างชาติเช่นนี้อีกต่อไปแล้ว” หลังพิชิตทัพใหญ่ของเยรูซาเลมได้แล้ว การยึดกรุงเยรูซาเลมก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป และพระองค์ก็ยังได้รับการยกย่องอย่างมากเมื่อยื่นคำขาดให้เยรูซาเลมยอมจำนนแต่โดยดี โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่เปิดฉากปล้นสะดมหรือเข่นฆ่าผู้คนในเมือง ซึ่งซอลาฮุดดีนก็ได้ทำตามคำมั่นที่ได้ประกาศไว้ ภายใต้เงื่อนไขที่ชาวเมืองจะต้องจ่ายเงินไถ่ตัวเองด้วยเช่นกัน ความยิ่งใหญ่ของซอลาฮุดดีนได้รับการยกย่องไม่เพียงแต่ในโลกมุสลิม แม้แต่ในโลกคริสเตียน เขาก็ได้รับการเชิดชู “เพราะเหล่านักรบครูเสดที่เดินทางกลับจากดินแดนศักดิ์สิทธิ์ต่างได้พากันเล่าขานถึงคุณธรรมอันประเสริฐ อีกทั้งความสุภาพนอบน้อม ความมีสัจจะ และการให้เกียรติคู่ต่อสู้ของกษัตริย์มุสลิมผู้นี้ไปทั่วทั้งแผ่นดินยุโรป” ภาสพันธ์กล่าว อย่างไรก็ดี ปีเตอร์ มัลคอล์ม โฮลต์ (Peter Malcolm Holt) นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า เรื่องราวของซอลาฮุดดีนนั้นมีแหล่งข้อมูลสำคัญจากงานของบุคคลร่วมสมัยของพระองค์สองราย (Baha’ al-Din Ibn Shaddad และ Imad al-Din al-Isfahani) ซึ่งถูกนำไปเผยแพร่เป็นภาษาละตินในยุโรปเมื่อปี 1732 ก่อนกลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญว่าด้วยประวัติของซอลาฮุดดีนในตะวันตก ซึ่ง “จำเป็นต้องระมัดระวังเพราะบุคคลเหล่านี้คืออาลักษณ์ในราชสำนัก เป็นงานที่เขียนขึ้นโดยข้าราชสำนักว่าด้วยเรื่องของนายเหนือหัว” และน่าจะเป็นงานที่เขียนเพื่อให้ซอลาฮุดดีนทอดพระเนตรดูด้วยตัวเองก่อนด้วย (Saladin and His Admirers: A Biographical Reassessment) การประเมินเรื่องคุณธรรมของซอลาฮุดดีนจากคำสรรเสริญที่ปรากฏในงานเขียนลักษณะนี้ (ซึ่งถูกทำซ้ำสืบมา) จึงอาจต้องให้ความระมัดระวังพอสมควร แต่ที่ปรากฏชัดเจนก็คือเรื่องของความสามารถที่เหนือชั้นในฐานะของนักการเมืองในยุคนั้น ซอลาฮุดดีนไม่ใช่คนบุ่มบ่ามที่เอะอะก็จะใช้กำลัง แม้จะพิชิตอียิปต์ได้ก็ไม่รีบโค่นประมุขเดิม แต่คอยบั่นทอนขุมกำลังรอจังหวะที่เหมาะสมก่อนโค่นอำนาจของฐานอำนาจเดิมทั้งในอียิปต์และซีเรีย ซึ่งกลายเป็นว่าพระองค์ถูกมองว่าเป็นผู้มีขันติธรรมต่อคนต่างนิกาย เช่นเดียวกับการไม่ปล้นสะดมและไว้ชีวิตคนต่างศาสนาเมื่อครั้งยึดกรุงเยรูซาเลม ก็ได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงจากคนทั้งสองฝั่งความขัดแย้งในความมีเมตตาและสัจจะ แม้ว่าจริง ๆ แล้ว อาจจะเป็นเพราะพระองค์ประเมินประโยชน์ไว้ก่อนแล้วว่า มันคุ้มกว่าที่จะให้ชาวเมืองใช้เงิน “ไถ่ตัวเอง” แล้วให้เมืองเหลือความเป็นเมืองต่อไป แทนที่จะใช้วิธีการเผาทำลายและปล้นเมืองศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ให้เสื่อมทรามลง ก็เป็นได้