เสน่ห์ จามริก : ผู้วางรากฐานองค์ความรู้ด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ สิทธิมนุษยชน

เสน่ห์ จามริก : ผู้วางรากฐานองค์ความรู้ด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ สิทธิมนุษยชน
วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2565 ผ่านมาแวดวงปัญญาชนสูญเสียบุคคลสำคัญไป 1 ท่าน นั่นคือ ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ซึ่งเสียชีวิตลงในวัย 95 ปี อาจารย์เสน่ห์ คือผู้ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานองค์ความรู้ด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ สิทธิมนุษยชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านรัฐศาสตร์ อาจารย์เสน่ห์ คือผู้ที่เปลี่ยนเป้าหมายของผู้ที่ร่ำเรียนรัฐศาสตร์ว่า มิได้จำเป็นที่จะต้องตั้งเป้าไว้ที่จะรับราชการในกระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น แต่บัณฑิตรัฐศาสตร์ คือผู้ที่ได้ “...เรียนรู้เรื่องการเมืองอย่างอิสรเสรีโดยไม่ต้องกังวลว่าจะสอดคล้องกับระบบการเมืองการปกครองในตอนนั้นหรือไม่...” ซึ่งในด้านหนึ่ง ความคิดแบบนี้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในช่วง พ.ศ. 2516 นอกจากนี้ หลังจากเกษียณอายุจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย อาจารย์เสน่ห์ ยังอุทิศเวลาทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนในการพัฒนาพื้นที่ชนบท พัฒนาท้องถิ่น จนได้รับยกย่องว่าเป็น “นักสิทธิมนุษยชนผู้ต่อสู้เพื่อคนรากหญ้า” และได้รับตำแหน่งเป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในระหว่างปี 2544-2552 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การเมืองไทยผันผวนที่สุดช่วงหนึ่งอีกด้วย

ภูมิหลังของอาจารย์เสน่ห์

อาจารย์เสน่ห์ เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2470 ที่อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ในครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ โดยประกอบอาชีพตกข้าว (ให้ชาวนาหยิบยืมเงินทุนทำนา) คุณแม่ของอาจารย์เสน่ห์ เลือกให้เข้าศึกษาในโรงเรียนที่ถือกันว่าเป็นลำดับต้น ๆ ในเมืองศูนย์กลางทางการศึกษาของภาคเหนือตอนล่างในเวลานั้น คือโรงเรียนชุมแสงชนูทิศ อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ที่เขาได้ศึกษาในระดับประถมศึกษาจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 ที่โรงเรียนนครสวรรค์ ทว่าเมื่อคุณแม่ของอาจารย์เสน่ห์ เสียชีวิตลง คุณพ่อของเขาเลือกที่จะมีครอบครัวใหม่ อาจารย์เสน่ห์ จึงได้ย้ายมาอยู่กับคุณตาที่กรุงเทพมหานคร และได้รับการอุปการะจากคุณอาและคุณอาเขย เนื่องด้วยทั้งสองนั้นไม่มีลูก ท่านจึงได้รับการส่งเสียให้ศึกษาต่อจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดราชบพิธ อาจารย์เสน่ห์ จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปี 2484 และศึกษาต่อเตรียมปริญญาของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นเวลา 2 ปี และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีธรรมศาสตร์บัณฑิต ในปี 2491 โดยเป็นคนเดียวในรุ่นที่สอบไล่ได้ในเวลาเพียง 3 ปีครึ่ง หลังจากนั้นเข้ารับราชการที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และย้ายมารับราชการที่กรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ ที่นี่เอง เขาสอบชิงทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเลือกไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ โดยเริ่มต้นศึกษาตั้งแต่ขั้นปริญญาตรีใหม่ในด้านการบริหาร (B.A. in Administration) จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ และจบการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2500 โดยวางแผนว่าจะศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษต่อ และจากนั้นจึงจะศึกษาระดับปริญญาเอกที่ประเทศฝรั่งเศส ทว่าก่อนที่จะศึกษาต่อในระดับปริญญาโทนั้นเอง อาจารย์เสน่ห์ ถูกกระทรวงการต่างประเทศเรียกตัวกลับประเทศไทยโดยไม่แจ้งสาเหตุ

รัฐศาสตร์ศึกษา : ปรัชญาการเมืองเพื่อประชาชน

หลังจากกลับมารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศจนถึงในปี 2503 อาจารย์เสน่ห์ ขอโอนย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งหลังเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 มหาวิทยาลัยถูกตัดชื่อ “การเมือง” เหลือเพียงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยผู้มีอำนาจในขณะนั้นต้องการสื่อนัยว่าไม่ให้นักศึกษายุ่งเกี่ยวกับการเมือง และเปลี่ยนให้ธรรมศาสตร์กลายเป็นมหาวิทยาลัยปิดที่ต้องอาศัยงบประมาณจากรัฐบาล ในสภาวะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกบังคับให้ไม่มี “การเมือง” นี้ ในปี 2512 ท่านก่อตั้งโครงการรัฐศาสตร์ศึกษาขึ้น โดยจัดการศึกษาแบบ Liberal Arts (ศิลปศาสตร์) และปรัชญาการเมือง ตามแบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของยุโรป ซึ่งอาจารย์เสน่ห์รับผิดชอบสอนในวิชาปรัชญาการเมือง และวิชาการเมืองไทย มีวิธีการเรียนการสอนแบบถาม-ตอบ และศึกษา “การเมือง” ในทางปรัชญา รัฐศาสตร์ศึกษาของอาจารย์เสน่ห์มีเป้าหมายหลักคือ “...สร้างคนที่รู้จักคิดอ่าน และมองสภาวะด้านการเมืองที่เป็นอิสระเสรีพ้นไปจากสภาพระบบพันธนาการที่เป็นอยู่ขณะนั้น เพื่อให้คานกับการศึกษารัฐศาสตร์ ที่มุ่งผลิตคนเพื่อป้อนระบบราชการ...” และ “...เรียนรู้เรื่องการเมืองอย่างอิสรเสรี โดยไม่ต้องกังวลว่าจะสอดคล้องกับระบบการเมืองการปกครองในตอนนั้นหรือไม่...” หรือก็คือรัฐศาสตร์ศึกษาก็คือแผนกวิชาในระดับอุดมศึกษาที่ผลิต “นักปรัชญาการเมือง” ให้แก่สังคมไทยในยุคสมัยที่ผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้มี “การเมือง” นั่นเอง รัฐศาสตร์ศึกษาของท่านเป็นแหล่งบ่มเพาะเสรีชน จนก่อกำเนิดเกิดสภาหน้าโดมขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 น่าเสียดายที่ต่อมาแผนกรัฐศาสตร์ศึกษาถูกยุบเข้ากับแผนกวิชาการเมืองการปกครองของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในที่สุด อาจารย์เสน่ห์ เคยกล่าวว่า “ผมเริ่มต้นเป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ เมื่อก่อนที่ มธ. ไม่มีอาจารย์ประจำ มีแต่อาจารย์พิเศษ เป็นมหาวิทยาลัยเปิด ผมเป็นอาจารย์ประจำรุ่นแรกๆ ก็ว่าได้ ส่วนงานรับราชการก่อนหน้านั้น ผมรู้สึกอึดอัดกับระบบ ไม่ค่อยชอบ และดูท่าแล้วว่าไม่เหมาะกับผม เลยลาออกมาเป็นครู” อาจารย์เสน่ห์ มีผลงานทางวิชาการมากมาย โดยเฉพาะงานแปลหนังสือ “ความคิดทางการเมืองจากเปลโต้ถึงปัจจุบัน” (2510) ที่แปลจากงานของ เอ็ม เจ ฮาร์มอน (Mont Judd Harmon) และหนังสือที่ท่านเขียนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ปัญหาและอนาคตการเมืองไทย” (2519) และ “การเมืองไทยกับการพัฒนารัฐธรรมนูญ” (2529) ที่เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของการศึกษารัฐศาสตร์ในสังคมไทยตามแนวรัฐศาสตร์ศึกษาที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น และยังถูกยกให้เป็นตำราคลาสสิคของการศึกษารัฐศาสตร์จนถึงปัจจุบัน ท่านเชื่อว่าความรู้ของฝรั่งนั้น เป็นเทคนิควิธีการเสริมให้เข้าใจสภาวะความเป็นจริงในสังคมไทย แต่ต้องไม่ใช่การครอบงำความเป็นจริง ประวัติศาสตร์ของสังคมจะช่วยเราอยู่กับความเป็นจริงของตัวเรา รู้ความเป็นมาของตัวเรา และที่สำคัญ แก้ไขจุดบอดที่ทำให้เราไม่สามารถเข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลที่เกิดขึ้นในสังคมเพราะมัวแต่ยึดติดกับทฤษฎีใหญ่ ๆ ของฝรั่ง ในปี 2518 อาจารย์เสน่ห์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2509 ท่านก่อตั้งโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งจดทะเบียนเป็นมูลนิธิโดยอาจารย์เสน่ห์เป็นประธานมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์คนแรกในปี 2521 ระหว่างปี 2523 - 2524 อาจารย์เสน่ห์ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและเป็นประธานคณะทำงานศึกษานโยบายพัฒนาชนบท ระหว่างปี 2524 - 2528 ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย และระหว่างปี 2527 - 2535 เป็นกรรมการให้กับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งในระหว่างนั้นก็ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา และนายกสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยไปพร้อมๆ กันด้วย ในปี 2530 ท่านก่อตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนาโดยดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิมาจนถึงปี 2550

บุกเบิกงานด้านสิทธิมนุษยชน

ย้อนไปในปี 2514 คุณอา คุณอาเขย และญาติสนิทคนหนึ่งของอาจารย์เสน่ห์ ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนเสียชีวิต ท่านตกอยู่ในความเศร้าและตัดสินใจบวชที่วัดเทพศิรินทราวาสเป็นเวลาหนึ่ง ในช่วงนั้นเองที่ท่านเริ่มมีความพยายามหลอมรวมองค์ความรู้ทางปรัชญาตะวันตกมาประยุกต์เข้ากับหลักธรรมทางศาสนาเพื่อพัฒนาสภาวะความเป็นอยู่ที่เป็นจริงของผู้คน โดยอาจารย์เสน่ห์กล่าวว่า “...คนเรานั้น หากมัวยึดถือ ‘ตนเอง’ เป็นใหญ่แล้วไซร้ จิตใจก็ย่อมคับแคบ คิดได้แต่แค่ผลประโยชน์ใส่ตัว ไม่รู้จักความรัก ความเมตตา และความเข้าใจต่อกัน โลกและสังคมก็ย่อมหาความสงบสุขได้ยากเต็มที...” ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ท่านได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นผู้เสนอให้มีการก่อตั้ง “สหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน” เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้รู้จักสิทธิของตน สหภาพฯก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2516 โดยอาจารย์เสน่ห์ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสหภาพฯ สหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือและพิทักษ์สิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนผู้ถูกละเมิดขั้นพื้นฐาน และเพื่อเผยแพร่แนวคิด ข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป กระทั่งปี 2526 สหภาพฯ ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคม จึงเปลี่ยนชื่อจากสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาเป็น “สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)” จนปัจจุบัน อาจารย์เสน่ห์ มีผลงานวิจัยในประเด็นสิทธิมนุษยชน และป่าชุมชนมาตั้งแต่ราวปี 2521 และยังดำรงตำแหน่งในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนให้กับหลายองค์กร ความพยายามของท่านในการแสวงหาประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพของผู้คน การเสนอทางเลือกเชิงนโยบายโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทางสังคมการเมืองของคนที่ด้อยโอกาส การพัฒนาชนบทที่มาจากฐานของชุมชนเกษตรกรรมและความหลากหลายด้านทรัพยากรธรรมชาติ ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับชุมชนในการบริหารจัดการฐานทรัพยากรของชุมชน ซึ่งการบุกเบิกงานด้านสิทธิมนุษยชนเหล่านี้นำมาซึ่งงานเขียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอีกจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลจากการที่ท่านทำงานวิจัยด้วยการปฏิบัติจริงในพื้นที่ภาคอีสาน เป็นผู้ประสานระหว่างชาวบ้านในชุมชน กับเจ้าหน้าที่รัฐด้วยบุคลิกที่สุภาพ อ่อนน้อม เคารพในคุณค่าความเป็นคน ให้เกียรติทุกคนโดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งการงาน พุทธศาสนาทำให้ท่านเชื่อว่าที่มาและหัวใจของสิทธิมนุษยชนไม่ใช่มาจากรัฐธรรมนูญ อำนาจรัฐหรือกระบวนการยุติธรรม แต่คือการมองลึกลงไปถึงโครงสร้างของความอยุติธรรม ความไร้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการไร้ซึ่งฐานะและสิทธิในความเป็นมนุษย์ของพลเมืองไทยที่มีไม่เท่าเทียมกับอภิสิทธิ์ชนในระบบราชการและระบบการเมือง การเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในระบอบที่เป็นอยู่อย่างสันติจะต้องทำให้ประชาชนรู้ เข้าใจในหลักของสิทธิเสรีภาพ ท่านใช้คำสอนของพุทธศาสนาไม่ใช่ในฐานะของคำสอนนามธรรมในการหลุดพ้นจากความทุกข์ยากของสังคม ทว่าพุทธศาสนาของอาจารย์เสน่ห์ คือเครื่องมือในการเข้าใจ วิพากษ์วิจารณ์สังคม ร่วมกับปรัชญาและแนวคิดแบบฝรั่ง สำหรับอาจารย์เสน่ห์นั้น การอ้างความถูกต้องและชอบธรรมของคุณธรรมและศีลธรรมโดยอ้างศาสนา หรือหลักการใด ๆ คือการกำกับ ชี้นำ ครอบงำคนอื่น ราวกับตำรวจศีลธรรม สิ่งนี้จะยิ่งสร้างความชอบธรรมให้แก่แนวคิดอำนาจนิยม และยิ่งเป็นปฏิปักษ์กับสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย ขณะเดียวกัน การใช้เสรีภาพอย่างล้นเกินโดยไม่เข้าใจความสลับซับซ้อนของสังคมอาจทำให้ฝ่ายที่เชิดชูเสรีภาพนั้น กลับทำลายเสรีภาพไปเสียเอง ท่านจึงเชื่อว่าการทำให้ความหมายของสิทธิเสรีภาพปรากฏเป็นจริงต้องมาจากการดัดแปลงศึกษาและพัฒนาตัวเองของแต่ละคนซึ่งอยู่ในชุมชน ค้นหาและนำเสนอลักษณะเฉพาะของสังคมไทยเองให้ได้ ในส่วนนี้เอง อาจารย์เสน่ห์นอกจากจะให้ความสำคัญกับชุมชนที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ และพัฒนาสิทธิ เสรีภาพแล้ว ท่านเชื่อว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏจะเป็นสถาบันการศึกษาซึ่งอยู่ในฐานะที่ดีที่สุดที่จะศึกษาคิดค้นความหมายของประชาธิปไตย ให้เป็นวิถีชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง มหาวิทยาลัยราชภัฏ คือสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นจึงต้องมองตนเองในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างเสริมปัญญาความรู้ของปวงชน ไม่ใช่เป็นสถาบันที่จะสร้างนโยบายของสาธารณะโดยตรง มหาวิทยาลัยราชภัฏต้องมีบทบาทในการปฏิรูปการศึกษา สร้างกระบวนการการพัฒนาโดยท้องถิ่นของตนเป็นฐานที่มั่นคงขึ้นให้ได้

ท่าทีของอาจารย์เสน่ห์ในการรัฐประหาร พ.ศ. 2549

หลังจากสังคมไทยว่างเว้นวงจรอุบาทว์ของการรัฐประหารมา 15 ปี ในปี พ.ศ. 2549 เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้งซึ่งในเวลานั้น อาจารย์เสน่ห์ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งจากการที่ท่านเป็นปูชนียบุคคลทางรัฐศาสตร์จึงเป็นที่คาดหวังต่อท่าทีในการต่อต้านรัฐประหารในครั้งนั้น ทว่าท่านกลับให้สัมภาษณ์ว่า “รัฐประหารเป็นทางออกที่เหลืออยู่ … อย่ามองว่ามันถอยหลัง เพราะเราถอยหลังมาจนถึงจุดแล้ว และรัฐธรรมนูญถูกต้อนเข้ามุม ดังนั้น ส่วนตัวผมมองว่ามันไม่ใช่เรื่องเดินหน้าหรือถอยหลัง แต่เป็นเรื่องของการแก้สถานการณ์...จริงอยู่เราไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่มันไม่พอที่จะหยุดที่ไม่เห็นด้วยเท่านั้น ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ประการแรกต้องทำความเข้าใจมัน มันขึ้นมาด้วยเหตุผลอะไร แต่ละครั้งแต่ละช่วงตอน เหตุผลไม่เหมือนกัน แล้วต้องรู้สถานการณ์ว่าระบอบทักษิณเป็นยังไง ทำไมไม่มีทางเลือก...” สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามต่อความเป็นประชาธิปไตยของอาจารย์เสน่ห์ ที่ในเวลานั้นเรียกได้ว่าคือปรมาจารย์ อาจารย์ และบาจรีย์ (อาจารย์ของอาจารย์) ของบรรดานักประชาธิปไตยในสังคมไทยในทันที ซึ่งท่านได้อธิบายว่า ที่ได้กล่าวไปเช่นนั้นเพราะแม้ในช่วงปี 2540 ประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยเต็มที่อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่อำนาจยังจำกัดอยู่ที่คนชั้นกลาง นายทุน กลุ่มทุน ทุนข้ามชาติ ซึ่งครองอำนาจโดยมีรัฐบาลที่ปกครองด้วยระบอบอำนาจเผด็จการัฐสภาภายใต้พรรคไทยรักไทยที่มีนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ อาจารย์เสน่ห์ มองว่าบรรยากาศทางการเมืองและสังคมเวลานั้นได้กลับกลายเป็นว่าระบอบที่ประชาธิปไตยได้ถูกครอบงำโดยนายทุนเผด็จการ ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ถูกเบียดเบียนและถูกกดขี่อย่างแยบยลโดยเฉพาะในท้องถิ่นชนบทจากโครงการขนาดใหญ่และเครือข่ายการคอร์รัปชั่นของนายทุน นักการเมือง และข้าราชการ รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้บิดเบือนผลการเลือกตั้งไปสร้างความชอบธรรมให้กับการคอร์รัปชั่นโดยมีนักวิชาการจำนวนหนึ่งเป็นผู้ให้ความชอบธรรม การพัฒนายังคงกระจุกตัวเพราะการจัดสรรทรัพยากรให้ดูราวกับว่าประชาชนจะได้ประโยชน์แต่เอาเข้าจริงแล้วไม่ใช่ เหตุผลเหล่านี้นำมาสู่การเคลื่อนไหวของประชาชน ทว่าข้อเรียกร้องก็กลับไม่ได้รับการสนใจ จนในที่สุดจึงนำมาสู่การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในที่สุด ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นเพราะรัฐบาลมีอำนาจมากจนเกินไปจนกลไกของรัฐไม่สามารถทำงานเพื่อประชาชนได้ ท่านจึงอธิบายว่านี่เองเป็นเหตุผลที่ทำให้การรัฐประหารกลายเป็นทางเลือกสุดท้าย แต่อาจารย์เสน่ห์ ก็ยังกล่าวว่าไม่ได้สนับสนุนรัฐประหารแต่อย่างใด แต่อาจารย์เสน่ห์พูดในฐานะคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนกับบรรดาคนรากหญ้าที่ได้รับผลกระทบ และมองไม่เห็นทางออกจากการถูกกดขี่จากเผด็จการรัฐสภา และท่านยังเชื่อว่าแม้หลังรัฐประหาร ระบบราชการและทหารก็ฝืนกระแสโลกไม่ได้ การธำรงอำนาจเผด็จการจึงย่อมจะค่อย ๆ สลายไป แต่ที่สำคัญ ตราบใดที่ท้องถิ่นยังเข้มแข็งไม่พอนั้น สังคมไทยยังจะไม่รู้เท่าทันเผด็จการที่เปลี่ยนแปรรูปไปเหล่านี้ อาจารย์เสน่ห์ ยืนยันว่ายังต่อต้านเผด็จการ แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารไปเสียแล้ว คงไม่ใช่เพียงจะต่อต้าน แต่ต้องคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้สังคมไทยได้ประโยชน์สูงสุด

คุณธรรมคือความรู้ซึ่งย่อมจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่

ในปี 2548 ท่านได้รับรางวัล 100 ปีศรีบูรพา สาขานักต่อสู้เพื่อสันติภาพ บทความชิ้นนี้จึงขอหยิบยกคำประกาศเกียรติคุณแด่อาจารย์เสน่ห์มาส่วนหนึ่ง ดังนี้ “ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริกเป็นนักวิชาการ นักวิจัย นักพัฒนาสังคม นักสิทธิมนุษยชน และครูผู้มีส่วนในการวางรากฐานวิชาความรู้และพัฒนาการทางรัฐศาสตร์สังคมการเมือง การศึกษา การให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างมีนัยสำคัญ...ผลงานทั้งหมดเป็นการพยายามจะศึกษาแก่นของปัญหา พร้อมทั้งเสนอทางออกของปัญหานั้นด้วย...” “...ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก เป็นนักรัฐศาสตร์ที่ประกาศตัวเสนอถึงพันธะทางสังคม ด้วยความเชื่อประการสำคัญที่สุดข้อหนึ่งที่ว่า 'คุณธรรมคือความรู้ ซึ่งย่อมจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่' และต่อวิสัยทัศน์ที่ว่า รัฐศาสตร์ที่มีพันธะทางสังคมภาคไกลที่สุด คือ การเมืองมนุษย์ ที่มีสาระสำคัญคือการตอบคำถามที่ว่า จะทำอย่างไรให้การเมืองกลายเป็นสิ่งเพิ่มคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์...” “...จากบทบาทความเป็นนักวิชาการที่อยู่กับองค์ความรู้และทฤษฎีต่างๆ ได้ขยายมาสู่การเป็นนักพัฒนา ผู้รังสรรค์และเคลื่อนไหวไปกับขบวนการต่อสู้สร้างสรรค์เป็นนักปฏิบัติอย่างแท้จริง...ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ซึ่งได้ใช้ความรู้ทางวิชาการเป็นเครื่องมือสื่อสาร สร้างสรรค์ผลงานขึ้น เพื่อให้ความรู้ ความคิด กระตุ้นจิตสำนึกทางสังคมและสร้างอุดมคติ ด้วยการอุทิศตน เพื่อรักษาเอาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันเป็นระบอบการปกครองที่เอื้อในการสร้างสันติประชาธรรมให้แก่สังคม อันสอดคล้องกับอุดมคติและแนวทางดำเนินชีวิตของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา)...” ตลอดชีวิต 95 ปีของอาจารย์เสน่ห์ ท่านได้สร้างคุณูปการไว้มากมาย ทั้งในทางวิชาการ และในทางสังคม แม้ในช่วงเวลาหนึ่งท่าทีของอาจารย์อาจสร้างความคลางแคลงใจแก่สานุศิษย์และนักประชาธิปไตย ทว่าสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือการที่อาจารย์เสน่ห์นั้นไม่ได้คิดสร้างความชอบธรรมให้แก่อำนาจอื่นใดนอกเสียจากอำนาจของประชาชน ดังที่อาจารย์เสน่ห์เชื่อเสมอว่า “คุณธรรมคือความรู้ ซึ่งย่อมจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่” และสิ่งที่ท่านทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังต้องย้อนกลับมามองท่าทีของตนเช่นกันว่า ไม่ว่าจะผลักดันการพัฒนาไปไกลเพียงใด และการพัฒนานั้นจะถูกรองรับด้วยทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่เพียงใด หากการปฏิบัตินั้นละทิ้งความเป็นจริงอันทุกข์ยากของประชาชนเสียแล้ว การพัฒนานั้นอาจไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมาใหม่นอกเสียจากการสร้างหน้ากากความชอบธรรมอันใหม่ให้แก่เผด็จการได้เปลี่ยนสวมใส่เพียงเท่านั้น เรื่อง : พิสิษฐิกุล แก้วงาม ภาพ : จากเพจงาน ๙๐ ปีศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก

เอกสารอ้างอิง

กษิดิศ อนันทนาธร. (2017, 27 Jul). บทเสวนาแห่งสามัญชน คนชื่อ “เสน่ห์ จามริก”. Retrieved. https://www.the101.world/saneh-chamarik/. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. (2560). ความคิดทางการเมืองของ “เสน่ห์ จามริก”. ใน ศิลปวัฒนธรรม38 (9), หน้า 154-169. ประชาไท (สัมภาษณ์). (2006, 26 Dec). สัมภาษณ์พิเศษ เสน่ห์ จามริก : เคลียร์วาทะ "รัฐประหารคือทางออกที่เหลืออยู่". Retrieved. https://prachatai.com/journal/2006/12/11064. รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ และ อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์. (2530). เสน่ห์ จามริก: รัฐศาสตร์กับการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. วีระ สมบูรณ์. (n.d.). ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก : นักวิชาการผู้เป็นกัลยาณมิตรของสังคมไทย. Retrieved. https://www.ldi.or.th/2017/06/19/ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก. ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน). (2545). ชีวิตงามด้วยความดี ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก. กรุงเทพฯ: บริษัท อินฟินิท โกลบอลเทรด จำกัด. Retrieved https://core.ac.uk/download/pdf/51449475.pdf. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.). (n.d.). ความเป็นมา. Retrieved. http://ucl.or.th/?page_id=206.