นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ผลักดันหลักประกันสุขภาพไทย ที่มาโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค

นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ผลักดันหลักประกันสุขภาพไทย ที่มาโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค
คนจำนวนไม่น้อยรู้จัก หรือเคยใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท รักษาทุกโรค อันเป็น ‘สิทธิขั้นพื้นฐาน’ ด้านสาธารณสุขที่รัฐมีหน้าที่ต้องจัดให้ ซึ่งผู้ที่บุกเบิกริเริ่มแนวคิดนี้ในเมืองไทยไม่ใช่นักการเมืองคนไหน แต่เป็นนายแพทย์ผู้มีนามว่า สงวน นิตยารัมภ์พงศ์  ย้อนไปในปี พ.ศ.2520 นักศึกษาแพทย์จบใหม่ทุกคนต้องเลือกโรงพยาบาลในพื้นที่เพื่อเข้าปฏิบัติงานเป็นแพทย์ใช้ทุนในต่างจังหวัด ซึ่งหากใครเคยชมภาพยนตร์เรื่องหมอเจ็บ ฉากหนึ่งที่คุ้นตากันดีคือบรรดานักศึกษาแพทย์จะมายืนรอเพื่อจับฉลากโรงพยาบาลที่ตนเองต้องไปปฏิบัติภารกิจ หลายคนภาวนาให้ได้จังหวัดหัวเมืองที่พอจะมีแสงสีให้ได้หย่อนใจ แต่ไม่ใช่สำหรับ ‘หมอหงวน’ หรือ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ บัณฑิตคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เลือกไปประจำที่โรงพยาบาลราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ในตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาล  สิ่งที่เป็นแรงผลักสำคัญให้สงวนเลือกจังหวัดที่ติดอันดับความยากจนที่สุดเป็นพื้นที่แรกที่รับราชการ นั่นคือเลือดของความเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและคนทุกข์ยากมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ที่รามาธิบดี ในสมัยนั้น สงวนเป็นตัวตั้งตัวตีทำหนังสือ ‘มหิดลสาร’ ที่มีเนื้อหาตั้งคำถามถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม เผยแพร่ความคิดและอุดมการณ์ที่ว่ากันว่าก้าวหน้าในห้วงเวลานั้น โดยใช้นามปากกาว่า ‘พงศา อารัมภ์’ สงวนสวมหมวกนักศึกษาและนักกิจกรรมในเวลากลางวัน ส่วนยามค่ำเขากลับมาสวมเสื้อกาวน์ขึ้นวอร์ดดูแลคนไข้ หลังเหตุการณ์ ‘6 ตุลา 2519’ แกนนำนักศึกษาหลายคนตัดสินใจเข้าป่า แต่สงวนกลับเลือกปักหลักอยู่ในเมือง ไม่ใช่เพราะอุดมการณ์ที่เปลี่ยนผัน แต่เพื่อร่ำเรียนจะได้นำความรู้ไปช่วยเหลือประชาชนได้เต็มที่ หลังเรียนจบ เขาสานต่อเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างความเท่าเทียมให้กับเพื่อนมนุษย์ ด้วยการไปเป็นแพทย์ชนบทที่ราษีไศล หลังจากรับราชการได้ 5 ปี นพ.สงวนได้ทุนไปเรียนต่อที่เบลเยียมและอังกฤษ เมื่อกลับมาแล้ว เขาก็ยังกลับไปเป็นแพทย์ชนบทต่อที่โรงพยาบาลบัวใหญ่ จ.นครราชสีมา ซึ่งทั้งที่ศรีสะเกษและนครราชสีมา นพ.สงวนได้เข้าไปบุกเบิกโครงการสุขภาพชุมชน ตั้งแต่เรื่องโภชนาการหมู่บ้านไปจนถึงการจัดตั้งกองทุนยา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น จุดเปลี่ยนสำคัญของทั้ง นพ.สงวน และโฉมหน้าระบบสาธารณสุขของไทย เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2529 นพ.สงวนย้ายมาทำงานในกระทรวงสาธารณสุข และเริ่มเรียนรู้เรื่องระบบการเงินและงบประมาณสาธารณสุข ซึ่งได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่วางอยู่บนฐานคติที่การรักษาพยาบาลคือ ‘สิทธิ’ ซึ่งเดิมทีนั้นการรักษาพยาบาลของไทยไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะชนบท บางครอบครัวต้องสิ้นเนื้อประดาตัวเพราะไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล หากไม่เช่นนั้นก็ต้องรอให้โรงพยาบาลจำแนกเป็นผู้ป่วยอนาถา รอรับการสงเคราะห์จากโรงพยาบาล  ราว พ.ศ.2543 นพ.สงวนได้รับทุนจากสหภาพยุโรปให้ทำงานเรื่องปฏิรูประบบสุขภาพ โดยเริ่มทดลองที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ในชื่อโครงการ 70 บาท รักษาทุกโรค เก็บค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วย 70 บาท และโครงการจะจ่ายงบอุดหนุนรายหัวในส่วนที่เหลือ เล่ากันว่าช่วงนั้น นพ.สงวนนำโครงการเข้าไปปรึกษากับรัฐบาล แต่ถูกปฏิเสธกลับมาด้วยคำตอบที่ว่างบประมาณไม่เพียงพอ แต่ นพ.สงวนไม่ล้มเลิกความคิด เขาเดินหน้าศึกษาลู่ทางความเป็นไปได้เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง เขานำแนวคิดเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าไปคุยกับพรรคการเมืองใหญ่ ซึ่งก็ได้รับคำปฏิเสธเหมือนเดิม มีเพียงพรรคไทยรักไทย ที่มี ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค ให้ความสนใจ จนกลายมาเป็นหนึ่งในนโยบายที่ไทยรักไทยนำไปใช้ประกอบการหาเสียงจัดตั้งรัฐบาล จนออกมาในรูปของนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ของรัฐบาลไทยรักไทยในที่สุด นพ.สงวนเคยกล่าวเอาไว้ว่า ช่วงแรกของการผลักดันโครงการ สิ่งที่ต้องเผชิญอย่างหนักคือ ความหวาดระแวงว่าโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค จะเป็นเพียงนโยบายประชานิยมของพรรครัฐบาล รวมถึงแรงเสียดทานที่ว่าตนเองทำงานรับใช้นักการเมือง เพื่อแลกกับตำแหน่งหน้าที่การงาน  “กว่าจะมาขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้นใครจะรัก ใครจะชัง ใครจะด่าว่าเรารับใช้นักการเมือง เราก็รู้ตัวเองดีว่าเราไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่เคยมีใครรู้หรอกว่าเขาเสนอให้ตำแหน่งทางการเมืองกับผม แต่ผมไม่เคยรับเลย”  นอกจากแรงเสียดทานทางสังคมที่ นพ.สงวนต้องเผชิญ สิ่งท้าทายสำคัญที่เกือบทำให้โครงการเดินหน้าต่อไปไม่ได้คือ การได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่างจำกัด ซึ่งหากจะให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ งบรายหัวที่รัฐบาลควรจะจัดสรรให้คือคนละ 2,200 บาท ต่อคนต่อปี ซึ่งในปีแรก พ.ศ.2545 ได้งบประมาณเหมาจ่ายต่อปีคนละ 1,202.40 บาท ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 6 ปี กว่าที่รัฐบาลในขณะนั้นจะจัดสรรงบประมาณมาให้ได้เกือบเท่าที่ตั้งไว้ ซึ่งงบที่ได้คือ 2,100 บาท  กระนั้น นพ.สงวนก็เห็นว่า หากต้องการให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างถ้วนหน้าจริง จะต้องไม่ใช่เพียงโครงการระยะสั้นที่ขึ้นอยู่กับพรรครัฐบาล เพราะหากภายภาคหน้าเปลี่ยนรัฐบาล โครงการก็อาจถูกพับเก็บไปได้ จึงจำเป็นต้องมีการตราขึ้นเป็นกฏหมายเพื่อบังคับใช้ เป็นที่มาของการตั้ง สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) เป้าหมายสูงสุดก็เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ บูรณาการ 3 กองทุนเข้าด้วยกัน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนข้าราชการ ซึ่งตั้งแต่จัดตั้งระบบหลักประกันสุขภาพขึ้นมาจนถึง พ.ศ.2558 สามารถช่วยให้คนไทยมีสิทธิรักษาพยาบาลได้ถึง 48.386 ล้านคน หรือราว ๆ 160 ล้านครั้ง หากนับจากการเข้ารับบริการรักษาพยาบาล  นพ.สงวนกล่าวไว้เสมอตั้งแต่ครั้งที่เริ่มผลักดันระบบขึ้นมาว่า ระบบประกันสุขภาพนั้นอย่างไรเสียเงินมันก็ไม่พอ สิ่งที่ต้องคิดถึงคือในอนาคตต้องมองหาภาษีใหม่ ๆ เข้ามาช่วย เช่น ภาษีกำไรจากการขายหุ้น กำไรจากภาษีการซื้อขายเงินตราในตลาดเงิน และสิ่งหนึ่งที่นายแพทย์ผู้นี้มักกล่าวอยู่เสมอต่อความเห็นต่างคือ  “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นระบบของการ ‘เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข’ ในสังคม คนมีช่วยคนจน คนไม่ป่วยช่วยคนป่วย ให้ทุกคนเสียค่าใช้จ่ายในอัตราเดียวกันหรือไม่เสีย เป็นสัญลักษณ์ของประเทศที่มีวัฒนธรรมของประชาคมที่เจริญแล้ว คือการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันในสังคม ไม่ใช่อยู่อย่างตัวใครตัวมัน” น่าเสียดายที่ นพ.สงวนจากไปด้วยวัย 55 ปี ด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อ พ.ศ.2551 ซึ่งหากหมอยังมีชีวิตอยู่ เขาคงจะได้เห็นว่าระบบหลักประกันสุขภาพที่เขาร่วมปลุกปั้นขึ้นมานั้นยังคงเผชิญกับสิ่งที่เขากังวลเสมอมา นั่นคือความไม่จีรังของโครงการที่แม้ว่าจะถูกทำให้อยู่ในรูปกฎหมายแล้วก็ตาม หากแต่มันยังคงแกว่งไหวไปมาตามรัฐบาลที่เลือกให้ความสำคัญ   ที่มา รำลึกถึงชีวิตและผลงาน นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ https://www.doctor.or.th/clinic/detail/6968?fbclid=IwAR3rIdJ0hDZPLy9v0pFW24SVmOxS0aNBwDDT4dmtZqCkSpAcQ6zebhmyVCI ๘ เรื่องเพื่อเข้าใจปณิธาน นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ให้กำเนิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า https://www.sarakadee.com/2017/06/13/8-facts-sanguan-nittayarumpong/?fbclid=IwAR2HPg9MZYihtuk50lylROoUWIbIkujJ7LNIQIeo0TlEi9tjBRMsPqCCT-g 10 ปีการจากไปของ หมอสงวน ฮีโร่บัตรทอง เปลี่ยนคนไข้อนาถาให้ได้สิทธิ์ถ้วนหน้า  https://thestandard.co/10-years-doctor-sanguan/ เปิดข้อมูล '30 บาทรักษาทุกโรค' ปี 2558 ช่วยคนไทยได้มากกว่า 160 ล้านครั้ง https://www.tcijthai.com/news/2016/15/scoop/6357 ประยุทธ์ ยันไม่เลิก '30 บาท' เพียงหาวิธีการให้มันดีขึ้น ขู่ใครพูดอีก มีเรื่องแน่ https://prachatai.com/journal/2015/12/63214 [สาระ+ภาพ] ย้อนฟังประยุทธ์พูดถึง 30 บาทรักษาทุกโรค เวทีไทย-เวทีโลก https://prachatai.com/journal/2019/09/84476   เรื่อง: รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด