สฤณี อาชวานันทกุล "5 เรื่องที่ควรทำและไม่ควรทำ ในการถกเถียงบนโลกออนไลน์"

สฤณี อาชวานันทกุล "5 เรื่องที่ควรทำและไม่ควรทำ ในการถกเถียงบนโลกออนไลน์"

สฤณี อาชวานันทกุล "5 เรื่องที่ควรทำและไม่ควรทำ ในการถกเถียงบนโลกออนไลน์"

ในโอกาสครบรอบ 1 ปีของ The People ได้เชิญสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนผู้สนใจประเด็นสังคม โดยเฉพาะสังคมออนไลน์ มาทอล์กในหัวข้อเรื่อง "การถกเถียงในโลกออนไลน์" กับ 5 เรื่องที่คิดว่าควรทำและก็ 5 เรื่องที่ไม่ควรทำ ในการถกเถียงบนโลกออนไลน์ "(เสียงปรบมือ) สวัสดีค่ะผู้มีเกียรติทุกท่านคะ ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับ The People นะคะ ขอบคุณที่ให้เกียรติมาแลกเปลี่ยน "วันนี้จริง ๆ อยากจะมาแลกเปลี่ยนในประเด็นเรื่องการถกเถียงในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นประเด็นที่คิดว่าหลาย ๆ คนข้องเกี่ยวกับมันอยู่แล้วแหละทุกวัน ซึ่งการถกเถียงมันก็มีหลายแบบ แล้วก็มีเหตุผลต่าง ๆ นานาในการเข้าถกเถียง แต่คิดว่าสิ่งที่ตัวเองคงจะเน้นคือเรื่องการเถียงด้วยเหตุผล การใช้เหตุผล เพราะเราไม่อยากเห็นการถกเถียงด้วยอารมณ์ ซึ่งมันมีเยอะมากแล้ว แล้วก็ต้องยอมรับว่าส่วนตัวไม่เชี่ยวชาญเรื่องการสร้างดรามา หรือดึงดรามา หรือเน้นกระแสดรามาต่าง ๆ ฉะนั้นอยากจะแลกเปลี่ยนสั้น ๆ ว่ามันมี 5 เรื่องที่คิดว่าควรทำ และ 5 เรื่องที่ไม่ควรทำ เวลาที่เราพยายามถกเถียงในโลกออนไลน์ด้วยเหตุผล ก็มาจากประสบการณ์ส่วนตัว "5 เรื่องที่ควรทำก่อนนะคะ เรื่องแรกเลยคิดว่าก่อนอื่นเราต้องปรับทัศนคติก่อน ไม่ใช่ปรับทัศนคติคนอื่น แต่ปรับทัศนคติตัวเราเอง ก่อนที่จะเข้าไปในโลกออนไลน์ สังเกตว่าหลาย ๆ ท่าน ถ้าเกิดไม่ได้คุ้นเคยกับป่าดงดิบที่ชื่ออินเทอร์เน็ต ก็จะรู้สึกกลัว รู้สึกเอ๊ะ ฉันพูดอะไรไปแล้วจะมีใครมาด่าอะไร หรือจะมีใครมาพาดพิงอะไรก็ตาม เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าโลกออนไลน์มีลักษณะที่เป็นคนจริง ๆ อยู่ แต่ว่าคนจริง ๆ เหล่านั้นจำนวนมาก เราก็คงไม่ได้เจอกับเขาในชีวิตจริง บางทีก็เลิกแล้วจากกันไป "มิหนำซ้ำ ในแพลตฟอร์มหลาย ๆ ที่เขาก็ยอมให้เราใช้ชื่อแฝง ทั้งชื่อปลอม จริง ๆ เฟซบุ๊กเขาบอกเขามีนโยบายชื่อจริง แต่สังเกตดูมันก็ไม่เห็นไปตามว่าชื่อจริง จะรู้ได้ยังไงว่าชื่อจริงหรือเปล่า แต่ทวิตเตอร์นี่ชัดเจนว่ามีชื่อแฝง ชื่อน่ารัก ๆ ครีเอทีฟเป็นสัญลักษณ์อะไรต่าง ๆ ก็มี ก็อย่างที่เราเห็นว่าเขาให้อิสระในการถกเถียง "เพราะฉะนั้นการที่คุณสามารถเป็นนิรนาม แล้วก็ความที่ในชีวิตจริงเขารู้อยู่แล้วว่าคุณไม่รู้จักกัน เจอตัวกันจริงหรอก มันก็ทำให้คนมีแนวโน้มที่จะพูดอะไรแบบใส่อารมณ์ พูดอะไรแบบเกินเลย บางทีก็คีย์บอร์ดหรือว่าอารมณ์พาไปเยอะ เพราะงั้นก็อยากจะให้คนปรับทัศนคติก่อนว่าเวลามีใครพาดพิงอะไรหรือด่าเรา เขาอาจจะไม่ได้หมายความอย่างนั้นจริง ๆ หรอก คนเหล่านี้ในเวลาเจอกันตัวเป็น ๆ ก็อาจจะสุภาพเรียบร้อย พูดกับเราดี ๆ ก็ได้ ก็คิดว่าในทวิตเตอร์ ฟังก์ชันเป็นแบบนี้ อย่าไปคิดว่าเขากำลังโจมตีเราเป็นการส่วนตัว "อันที่สอง อันนี้ก็สำคัญก็คือเรื่องของการเปิดใจนะคะ เปิดใจที่จริงก็อย่ากลัวโง่ เราจะเห็นว่า คือไม่เป็นไรนะคะ เพราะคิดว่าหนึ่งก็คือมันไม่มีใครฉลาดตั้งแต่เกิดใช่ไหมคะ แล้วก็มันไม่มีทางหรอกที่เราจะฉลาดทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นหลายเรื่องเราก็โง่นั่นแหละ แล้วก็จริง ๆ บางเรื่องมันก็ไม่ถึงขนาดว่าไม่รู้เรื่องจริง แต่ว่าอาจจะมองไม่รอบด้าน หรือว่าข้อมูลอาจจะเก่าไปแล้ว หรือว่ามันมีการมองแบบมุมอื่น ๆ ที่เราไม่รู้จักมาก่อนในโลกนี้นะคะ "เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้วก็อยากจะให้เวลาก่อนไปเข้าถกเถียง อยากให้ยอมรับก่อนว่าเราอาจจะผิดก็ได้ไอ้ที่โพสต์ไปเนี่ย หรือว่าถกเถียงกับใคร ให้พยายามฟัง จริง ๆ ชอบคำนี้มาก การฟังก็คือตั้งใจอ่านสิ่งที่คนอื่นเขาเถียงกับเรา เราอาจจะไม่เห็นด้วยกับเขาก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยต้องตั้งใจฟัง อย่าไปตัดสินเขาล่วงหน้าว่าเขาจะต้องคิดอย่างนั้นอย่างนี้ หรือว่าเราถูกแล้วแหละ "เรื่องที่สามที่คิดว่าสำคัญมากเหมือนกันก็คือว่าเราคิดว่าในยุคนี้ เรากำลังได้ยินคำว่า fake news ข้อมูลบิดเบือน ข้อมูลเท็จอะไรต่าง ๆ มากมาย ซึ่งก็ถูกใช้ในทางที่บางทีก็ไม่ควร คืออินเทอร์เน็ต ที่เราอ่านอยู่ ข้อมูลพวกนี้ จริง ๆ แล้วต้นตอมันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า หรือว่ามันมีการเปลี่ยนสาร แปลงสาร เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรทำก็คือว่าถ้าเห็นอะไร ถ้าเป็นไปได้ก็พยายามเข้าไปดูที่ต้นตอของมันจริง ๆ อย่างเช่นเวลาที่เราเห็นการนำเสนอข้อมูลที่เป็นตัวเลข แล้วเราเข้าไปดูที่ต้นทางเลย หรือเว็บราชการก็ได้ว่า เขาเขียนอย่างนั้นจริงไหม "ถ้ามันเป็นการ quote คำพูดของบางคน ซึ่งจริง ๆ ต้องชมเชยเว็บ The People ว่าไม่เคยตัดคำพูดใครมาบิดเบือนนะคะ แต่คำพูดก็เข้าไปดูเลยที่ต้นทางว่าเจ้าตัวเขาพูดอย่างนั้นจริงไหม แล้วบริบทจริง ๆ ทั้งหมดมันคืออะไร ไม่อย่างนั้นตอนนี้เราจะเห็นการบิดเบือน ตัดออกมานอกบริบทเต็มไปหมด ตัวเองก็เคยโดน ตรงนี้ก็คิดว่าสำคัญมาก แล้วต้องพยายามเข้าไปดูแหล่งต้นตอ พยายามตรวจสอบคล้าย ๆ กับพยายามทำงานเป็นสื่อกลาย ๆ "เรื่องต่อมาที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการหาความหลากหลายของข้อมูล วันนี้จริง ๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตมันมีปรากฏการณ์ที่เขาว่ากันว่า echo chamber ห้องเสียงสะท้อน หรือว่า filter bubble คือการที่เรามีฟองสบู่แวดล้อมไปด้วยคนที่คิดเหมือนกันกับเรา เห็นตรงกันกับเรา ซึ่งปรากฏการณ์นี้ส่วนหนึ่งมันเกิดจากอัลกอริทึมด้วย คือถ้าเราไปกดฟอลโลว์แต่คนที่คิดคล้าย ๆ กับเราตลอดเวลา โซเชียลมีเดียมันจะยิ่งต้อนเนื้อหาแบบนั้นมาให้เราเห็น เพราะงั้นโอกาสที่เราจะได้เห็นข้อมูลที่มันหลากหลาย มุมมองที่แตกต่างกันน้อยมาก เราต้องพยายามตั้งสติ แล้วก็พยายามเข้าไปในพื้นที่ที่นี่มันต่างจากเราจริง ๆ หรือว่าเราเชื่อว่าเอ๊ะ คนตรงนี้เขาคิดไม่เหมือนเราแน่ ๆ เพื่อที่จะได้รับความหลากหลาย ไม่อย่างนั้นมันก็อาจจะไม่ได้เกิดการถกเถียงที่เป็นประโยชน์ "เรื่องสุดท้ายที่สำคัญก็คือการพยายามศึกษาเรื่องของตรรกะวิบัติ หรือการใช้เหตุผลผิด ๆ ซึ่งในไทยเป็นเรื่องที่ดีมากเลยในการศึกษาคำพูดที่ตรรกะวิบัติ เจอภูมิต้านทานมโหฬาร ล่อยลอยอยู่นะคะ ที่พบบ่อยมากก็คือเช่น “เป็นคนไทยเปล่า” เช่น “เมื่อก่อนไปอยู่ที่ไหนมา” หรือว่า “ไอ้นี่ใคร ๆ ก็ทำกัน” บางทีคนไทยเก่งเรื่องตรรกะวิบัติในทำนองที่มันเป็นการเบี่ยงประเด็น หรือว่าออกนอกเรื่อง ก็คิดว่าน่าที่จะลองทำความเข้าใจ เพื่อที่จะลองใช้ประโยชน์ที่ว่าบางทีเราก็ทำเองเหมือนกันโดยที่ไม่รู้ตัว นี่คือ 5 เรื่องนี่คือควรทำนะคะ "ทีนี้ 5 เรื่องที่ไม่ควรทำคืออะไรบ้าง ไหน ๆ คิดว่าก่อนอื่นเลย เรื่องที่ส่วนตัวถ้าเจอก็จะรู้สึกแย่มาก ก็คือว่า เวลาเริ่มการถกเถียงมันเหมือนกับเราต้องให้ความทุ่มเทกับมัน เหมือนเรามีความรับผิดชอบที่จะเถียงอยู่ เรื่องที่ไม่ควรทำก็คือเริ่มเถียงกับใคร แล้วก็หายไปดื้อ ๆ (เสียงหัวเราะ) นึกออกไหมคะ ทุกคนพอจะเข้าใจไหมคะ เวลาที่เราเอ๊ะ ตรงนี้เราอยากเถียงด้วยจังเลย เราก็อุตส่าห์ไปนั่งคิดมาทั้งวันว่าจะตอบอะไร เราก็เรียบเรียงอย่างดีงาม เขียนมาสัก 3 ย่อหน้าเหตุผลทั้งหมด แล้วก็แท็กเขา ปรากฏว่าเขาหายไปแล้ว (หัวเราะ) หายไปแล้วไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน บางคนก็พยายามมากเลย ตามไปหาเจ้าตัวที่เพจของเขาเอง อันนี้ไม่ควรทำอย่างยิ่งนะคะ คู่สนทนาจะรู้สึกว่าเอ๊ะ ตกลงทำไมเข้ามาถามอะไร คุณรับจ้างกวนเขาหรือเปล่าอะไรอย่างนี้ "เรื่องที่ไม่ควรทำเหมือนกันข้อที่สองก็คือว่าถ้าคุณเป็นเจ้าของพื้นที่ ก็คือการลบคอมเมนต์ อันนี้คิดว่าส่วนตัวแล้วเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง แล้วก็เชื่อมโยงกับประเด็นที่สาม ก็คือว่าการแบนหรือว่าบล็อก "คือจริง ๆ ก็พอเข้าใจนะ ค่อนข้างแบบว่า มันรับไม่ได้จริง ๆ บางคนก็เข้ามาเหมือนว่าก็ด่า ๆๆๆ โดยไม่ฟังอะไรเลย ซึ่งโอเคแหละ แต่ละคนก็คงมีเพดานระดับการรับได้ที่แตกต่างกัน ระดับความอดทนที่ไม่เท่ากัน ก็เข้าใจได้นะ บางคนก็ไม่ได้อยากจะแบนหรืออยากจะลบหรอก แต่ว่าคนอื่นเขาทนไม่ไหว เขาบอกว่าช่วยลบให้หน่อยได้ไหม มันทำให้การสนทนามันไร้สาระมากเลย "อันนี้ก็คงต้องแล้วแต่สถานการณ์ แต่ว่าให้คุณคิดว่าความเสี่ยงมีอยู่จริง ทุกครั้งที่เราลบคอมเมนต์ของใครหรือว่าเราแบน หรือว่าบล็อกเขาออกไป มันเท่ากับไปเพิ่มความเสี่ยงที่เราจะตกบันไดห้องเสียงสะท้อน echo chamber แล้วก็พลาดโอกาสในการที่จะได้เรียนรู้จากเขา จริง ๆ บางทีเราอาจจะได้เรียนรู้อะไรดี ๆ จากเขาก็ได้ หรือว่าจริง ๆ เราอาจจะคิดผิด เขาอาจจะคิดถูกก็ได้ แล้วแต่ "ข้อที่สี่ก็มีเชื่อมโยงกันก็คือว่าสิ่งที่ไม่ควรทำก็คือว่า ไปตัดสินเขาล่วงหน้า ไปตัดสินว่าเขาคิดยังไงก่อนที่จะตั้งใจฟังเขาจริง ๆ บางทีสังเกตว่าบางคนเห็นภาษาไม่ถูกต้อง บางคนก็ใช้ภาษาผิด ทั้งสะกดผิด ใช้คะเป็นค่ะอะไรพวกนี้ บางคนบอกว่า ไปเพ่งเล็งเขาเรื่องภาษา อันนี้สะกดผิดแสดงว่าคุณไม่ได้เรื่องหรอกความเห็น ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะภาษาก็เรื่องหนึ่ง ความเห็นก็เรื่องหนึ่ง อย่าเอาอะไรที่มันไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา มาทำให้เราปิดตาจากความเห็นหรือว่าคอมเมนต์ของเนื้อหาที่แท้จริง "แล้วก็ข้อสุดท้ายก็คือเรื่องของ... เราไม่อยากให้ใครใช้ตรรกะวิบัติ เราไม่อยากให้ใครมาโจมตีเรา เราไม่อยากให้ใครมาจับแพะชนแกะ หรือว่าเอาคำพูดไปบิดเบือน ก็อย่าทำสิ่งเดียวกันกับคนอื่น สิ่งที่คิดว่าสำคัญมาก ๆ ในเรื่องนี้ก็คือ เช่น ไปด่าคนอื่นว่าโง่ คือเราควรจะยอมรับว่าตัวเองอาจจะโง่ อาจจะเข้าใจผิด แต่อย่าไปว่าคนอื่น เพราะว่าทันทีที่เราบอกว่า “แกนี่มันโง่มากเลย” “ทำไมคุณโง่ได้ขนาดนี้” มันก็ไปตัดโอกาสที่เขาจะอยากคุยกับเราต่อ "ทั้งหมดนี้ก็เป็นประสบการณ์ที่อยากจะนำเสนอว่า 5 เรื่องที่ควรทำและ 5 เรื่องที่ไม่ควรทำของการคุยในโลกออนไลน์ ซึ่งหวังว่าก็จะทำให้เราสามารถอยู่กันได้อย่างมีเหตุผลมากขึ้น ขอบคุณค่ะ" *ทอล์กนี้ เป็นส่วนหนึ่งในงานครบรอบ 1 ปี The People: Do You Hear THE PEOPLE Talk? จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ณ ห้องคริสตัล บ็อกซ์, เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท