ศรัณยู วงษ์กระจ่าง “ไอ้คล้าวในความทรงจำของคนยุค 90” .

ศรัณยู วงษ์กระจ่าง “ไอ้คล้าวในความทรงจำของคนยุค 90” .
หอมเอยหอมดอกกระถิน รวยระรินเคล้ากลิ่นกองฟาง เห็ดตับเต่าขึ้นอยู่ริมเถาย่านาง มองเห็นบัวสล้างลอยปริ่มริมบึง นี่คือท่อนหนึ่งของบทเพลงอมตะ ‘มนต์รักลูกทุ่ง’ หนึ่งในผลงานคลาสสิกจากปลายปากกาของ ครูไพบูลย์ บุตรขัน จากเสียงร้องของไพรวัลย์ ลูกเพชร ที่บรรยายความงดงามของชีวิตชนบทที่เป็นฉากหลังของความรักของ “ไอ้คล้าวและทองกวาว” คู่รักสุดคลาสสิก ที่เมื่อนำมาสร้างกี่ครั้งก็ได้รับการตอบรับที่ดี ไม่ว่าจะเป็นยุคของคู่ขวัญจอเงิน “มิตร ชัยบัญชา-เพชรา เชาวราษฎร์” เมื่อปี 2513 และปี 2525 “ทูน หิรัญทรัพย์-หทัยรัตน์ อมตวณิชย์” หรือจะเป็นยุคละครจอแก้วช่อง 7 สีทีวีเพื่อคุณ ในความทรงจำของคนยุค 90 อย่าง “ศรัณยู วงษ์กระจ่าง-ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์” ในปี 2538 จากฝีมือของดาราวีดีโอ ที่ดังเป็นพลุแตก เรียกเรตติ้งได้ถึง 36 สูงเป็นอันดับ 3 ในบรรดาละครที่มีเรตติ้งสูงสุดตลอดกาลของวงการโทรทัศน์ไทย อีกทั้งเพลงประกอบละครที่ถูกทำออกมาถึง 2 อัลบั้มโดยค่ายอาร์เอสเป็นคนดูแลส่วนนี้ก็ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น ‘สิบหมื่น’ ‘คนหล่อถมไป’ หรือ ‘มาทวงสัญญา’ ก็ได้รับความนิยมติดชาร์ต และเมื่อนึกถึงภาพไอ้คล้าว หลายคนจะนึกถึง “ศรัณยู วงษ์กระจ่าง” กับบทบาทการแสดงละครที่ประสบความสำเร็จที่สุดในชีวิต ตั้ว ศรัณยู หนุ่มสมุทรสงคราม จากบางคนที แต่เดิมไม่ได้มีความตั้งใจจะมาเป็นนักแสดงเพราะหลังจากเขาจบจากรั้วสวนกุหลาบวิทยาลัย เขาเลือกที่จะมุ่งหน้าสู่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อตามความฝันในการเป็นสถาปนิก แต่เมื่อครั้งเป็นนิสิตจุฬาฯ ศรัณยูได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับละครเวทีของคณะ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “ละคอนถาปัด” ที่บ่มสร้างนักแสดงและคนเบื้องหลังมาประดับวงการบันเทิงไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนมากจะมีนิสิตชั้นปีที่ 3 และ 4 เป็นแม่งาน ละคอนถาปัดนั้นมีเสน่ห์ที่เรียกว่า “ตลกปัญญาชน” ที่มักจะเอาเหตุบ้านการเมืองมาเสียดสีล้อเลียน โดยเป็นมุกที่มีความซับซ้อนทางความคิด และหลายมุกเป็นมุกเฉพาะกลุ่ม ซึ่งทำให้มีฐานแฟนคลับ โปรดักชั่นทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการเขียนบท เสื้อผ้า ฉาก นักแสดง ทีมเต้น แสงสีเสียง นั้นเป็นฝีมือของนิสิตในคณะ ทำให้นอกจากโลกในห้องเรียนแล้วพวกเขายังได้นำความรู้ความสามารถมาประยุกต์ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ มาทดลองแก้ปัญหาในการทำงานจริง ซึ่งศรัณยูเข้าร่วมทำงานละคอนถาปัดตั้งแต่ปี 2523 ในเรื่อง “น่านเจ้า” เมื่อเกิดเป็นกลุ่มก้อนเพื่อนพ้องพี่น้องคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ จึงได้มีโอกาสก่อตั้งกลุ่ม “เพชฌฆาตความเครียด” ที่มีผลงานทางช่อง 9 อ.ส.ม.ท. เป็นการเอาตลกปัญญาชนมาขึ้นหน้าจอแก้วให้แฟน ๆ ได้สัมผัส ไม่ว่าจะเป็นดาวเด่นอย่าง ปัญญา นิรันดร์กุล ซูโม่กิ๊ก-เกียรติ กิจเจริญ เจี๊ยบ เฉลียง (วัชระ ปานเอี่ยม) และศรัณยูเองก็มีโอกาสได้แสดงฝีไม้ลายมือในการแสดงผ่านจอแก้วครั้งแรกในรายการนี้ด้วยเช่นกัน ทำให้คนเริ่มเห็นหน้าและมีชื่อเสียง ด้วยความหน้าตาหล่อเหลาสไตล์ไทย บวกกับบุคลิกที่นิ่งสุขุม “เก้าอี้ขาวในห้องแดง” ฉบับปี 2527 ของช่อง 3 จึงเป็นละครเรื่องแรกที่ศรัณยูได้รับบทนำเป็น “บูรพา” และเริ่มเป็นที่คุ้นตากับผู้ชม ด้วยพื้นฐานการเรียนการแสดงจากบรมครูละครเวทีของไทยอย่าง อ.สดใส พันธุมโกมล เมื่อครั้งที่หนุ่มสถาปัตย์ฯ ข้ามฟากมาเล่นละครเวทีให้คณะอักษรศาสตร์ ทำให้ศรัณยูมักมีการแสดงบทบาทที่ลึก และทำความเข้าใจกับบทบาทก่อนที่จะถ่ายทอดออกมาได้ดี ถือว่าเป็นนักแสดงฝีมือดีที่หาตัวจับได้ยาก และเมื่อมีชื่อเสียงศรัณยูเองก็ยังผันเวลาไปเล่นละครเวทีอยู่สม่ำเสมอเพื่อลับฝีมือของตัวเอง ด้านผลงานจอแก้ว ศรัณยูผ่านการแสดงมาเกือบทุกช่องสถานี ไม่ว่าจะเป็นผลงานที่โดดเด่นกับช่อง 3 อย่าง “วนาลี” ในบทผู้กองศยาม ประกบกับ หมิว ลลิตา ปัญโญภาส หรือ “วนิดา” ในบท พันตรีประจักษ์ มหศักดิ์ คู่กับหมิว สองเรื่องนี้ทำให้มาดของผู้ชายมาดเข้ม นิ่ง สุขุมตามขนบชายไทยของศรัณยูโดดเด่นและมีเสน่ห์สำหรับสาว ๆ ไม่น้อย ช่อง 5 ใน “เรือนแพ” ในบทของ “เจน” 1 ใน 3 ตัวเอกของเรื่องประกบกับ นุสบา ปุณณกันต์ (เดิมนามสกุล วานิชอังกูร) ส่วนช่อง 7 นั้น ถือว่าจับศรัณยูมาเล่นเรื่องไหนก็ดัง แสดงเรื่องไหนก็ปัง ไม่ว่าจะเป็น “บ้านทรายทอง-พจมาน สว่างวงศ์” คู่กับมนฤดี ยมาภัย หรือ “ทวิภพ” ที่ส่งชื่อให้ศรัณยูได้รับรางวัลเมขลานักแสดงชายดีเด่นปี 2537 ประกบกับสิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ ก่อนที่จุดเปลี่ยนจะเกิดขึ้นในปี 2538 กับ “มนต์รักลูกทุ่ง” ที่เปลี่ยนภาพพระเอกสุดหล่อมาดเข้ม ให้เป็นหนุ่มบ้านนอกใสซื่ออย่าง “ไอ้คล้าว” โดยมีลูกคู่อย่าง “ไอแว่น” อนันต์ บุนนาค ที่รับส่งมุกกันอย่างสนุกสนาน เรื่องนี้ศรัณยูได้แสดงความสามารถทั้งการแสดง การร้อง และการเต้น โดยเฉพาะเพลง ‘สิบหมื่น’ ที่เป็นการประชดพ่อตาแม่ยายที่เข้ามาขัดขวางความรักของไอ้คล้าวและทองกวาว โดยจะยกลูกสาวให้กับ “ไอ้เจิด” ด้วยค่าสินสอดเป็นเงินสิบหมื่น หรือ หนึ่งแสนบาท ศรัณยูสามารถสลัดภาพกลายเป็นนักร้องลูกทุ่งอารมณ์ดี ความสำเร็จของละครเรื่องดังกล่าวทำให้ไม่ว่าจะเป็นเทป งานโชว์ตัว รวมไปถึงคอนเสิร์ตมนต์รักลูกทุ่ง และกระแสนิยมเพลงลูกทุ่งไทยได้กลับมาตื่นตัวอีกครั้งหนึ่ง และศรัณยูยังได้มีผลงานเดี่ยว “หัวใจลูกทุ่ง” ออกมาให้แฟน ๆ ได้ชื่นชมอีกด้วย แต่หลังจากนั้นดูเหมือนว่าศรัณยูจะถึงจุดอิ่มตัวทางงานแสดง และเริ่มกลับไปยังศาสตร์ที่เขาเรียนรู้จากละคอนถาปัดและงานละครเวที ด้วยการมุ่งหน้าสู่เบื้องหลังบันเทิง โดยทำงานผู้จัดละครและผู้กำกับการแสดง ศรัณยูเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาอยากผลิตละครน้ำดีที่ตีแผ่สังคมไทย เพื่อให้เห็นว่าในสังคมไทยไม่ได้มีแต่ละครน้ำเน่า ดังนั้นละครที่ศรัณยูลงไปมีส่วนร่วมจะต้องให้ข้อคิดทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพิษภัยของยาเสพติดในเรื่อง “น้ำพุ” ที่ได้ เติ้ล ตะวัน จารุจินดา มาสวมบทน้ำพุที่เสียชิวิตจากการเสพยาเสพติด หรือ “สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย” ที่เติ้ล ตะวัน มารับบทชายหนุ่มจากสลัมผู้ไม่ยอมแพ้โชคชะตาดิ้นรนไปเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ประกบกับนุ่น วรนุช ภิรมย์ภักดี ในบทบาทความเป็น “พ่อ” ศรัณยูแต่งงานกับ “ดีเจเปิ้ล” หัทยา เกษสังข์ ผู้ที่จะกลายเป็นคู่ทุกข์คู่ยากในยามสุดท้ายของชีวิต ในช่วงที่ศรัณยูเองกำลังอยู่ในจุดสูงสุดในการแสดงโดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้รับพระราชทานน้ำสังข์ จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี 2537 และมีลูกสาวฝาแฝด “ศุภรา-ศีตลา วงษ์กระจ่าง” ที่นำความชื่นชมยินดีให้กับพ่อและแม่  ด้านบทบาททางการเมือง หลายคนคงทราบดีว่าศรัณยูเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล แต่หลายคนอาจจะไม่ทราบว่างานการเมืองแรกที่ศรัณยูเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองก็คือ เป็น 1 ใน 100 ชื่อที่ร่วมก่อตั้ง “พรรคไทยรักไทย” ของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในปี 2541 และศรัณยูยังดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยในยุคแรกด้วย จุดเปลี่ยนของศรัณยูกับการเมืองคือร่วมเข้าชุมนุมกับพันธมิตรฯ ในช่วงปี 2549 ก่อนรัฐประหาร ถือว่าเป็นนักแสดงคนแรก ๆ ที่ประกาศเลือกข้างทางการเมืองอย่างชัดเจน โดยขึ้นปราศรัยบนเวทีของพันธมิตรฯ ที่สยามพารากอน ก่อนที่การชุมนุมพันธมิตรฯ จะปูทางไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในขณะนั้น และเมื่อมีการเลือกตั้งพรรคที่ต้องการสืบทอดอำนาจของ คมช. กลับพ่ายแพ้ให้แก่พรรคพลังประชาชนของนายสมัคร สุนทรเวช กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้งเพื่อขับไล่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนของ “สมัคร สุนทรเวช-สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ในช่วงปี 2551 โดยศรัณยูได้รับแต่งตั้งให้เป็นแกนนำพันธมิตรฯ รุ่นที่ 2 การออกหน้าครั้งนั้นส่งผลต่อผลงานในวงการบันเทิงของศรัณยูเป็นอย่างมาก ทำให้เขาได้รับทั้งโอกาสและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบ จากนั้นศรัณยูได้หันมาทำงานเบื้องหลัง และมีผลงานการแสดงบ้างประปราย จนเมื่อปี 2562 หัทยาได้ออกมาเปิดเผยว่าศรัณยูมีอาการป่วยหนักเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย ก่อนเสียชีวิตในวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ปิดฉากนักแสดงมากบทบาท ผู้กำกับมากฝีมือ คุณพ่อผู้นำครอบครัว และแกนนำกลุ่มการเมือง ในวัยเพียง 59 ปี แต่เมื่อย้อนไปแล้ว ภาพของ “ไอ้คล้าว” ในมนต์รักลูกทุ่งก็ยังสร้างความสุขให้กับผู้ชมเสมอมา และยังเป็นละครที่เรตติ้งติดอันดับท็อปตลอดกาลของวงการบันเทิงไทย หลับให้สบาย “ไอ้คล้าวของคนยุค 90” ศรัณยู วงษ์กระจ่าง   เรื่อง: พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ