สัตยา นาเดลลา: ‘ซีอีโอ’ ผู้พลิกฟื้น ‘ไมโครซอฟท์’ ด้วยปรัชญาเรียนไม่รู้จบ

สัตยา นาเดลลา: ‘ซีอีโอ’ ผู้พลิกฟื้น ‘ไมโครซอฟท์’ ด้วยปรัชญาเรียนไม่รู้จบ
“อย่าเป็นคนที่รู้ไปทุกเรื่อง (know-it-alls) แต่จงเป็นคนที่พร้อมเรียนรู้ทุกเรื่อง (learn-it-alls) จะดีกว่า” นั่นคือประโยคที่ชายวัยกลางคนเชื้อสายอินเดีย รูปร่างสันทัด สวมแว่นกรอบหนา และโกนผมทรง ‘สกินเฮด’ จนเป็นที่สะดุดตานามว่า สัตยา นาเดลลา มักพูดออกมาเมื่อถูกถามถึงคติและความเชื่อในฐานะผู้นำรุ่นที่ 3 ของบริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft) ไมโครซอฟท์ ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1975 โดย บิล เกตส์ และพอล อัลเลน สองเพื่อนรักนักศึกษาชาวอเมริกันที่ลาออกจากมหาวิทยาลัยกลางคันมาร่วมกันสร้างตำนาน ก่อนจะพากิจการผงาดเป็นบริษัทไอทีที่ครองโลกในปลายศตวรรษที่ 20 ด้วยสินค้าหลักคือระบบปฏิบัติการ Windows ทว่า กระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในศตวรรษใหม่ที่ 21 ซึ่งมาพร้อมกับเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน ทำให้ไมโครซอฟท์ภายใต้ผู้นำรุ่นที่ 2 คือ สตีฟ บอลเมอร์ (2000 - 2014) เกือบถูกกลืนหายไปในคลื่นลูกใหม่แห่งการเปลี่ยนแปลง ไมโครซอฟท์ขาดทุนมหาศาลจากการซื้อกิจการ Nokia มูลค่า 6,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำมาต่อยอดพัฒนาสมาร์ทโฟนของตนเอง แต่ไม่สามารถสู้กับ iPhone ของค่ายแอปเปิล (Apple) และ Android ของกูเกิล (Google) นอกจากนี้ Windows 8 ของไมโครซอฟท์ ยังเผชิญปัญหาทำให้ยอดขายตกต่ำควบคู่กับความนิยมคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PCs) ที่ลดลงฮวบฮาบ ขณะที่ Bing โปรแกรมค้นหาข้อมูลที่สร้างขึ้นมาท้าทาย Google ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ความล้มเหลวของ สตีฟ บอลเมอร์ นอกจากจะทำให้ไมโครซอฟท์สูญเสียตำแหน่งบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกแล้ว ไมโครซอฟท์ยังกลายเป็นแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ล้าสมัย ไม่ใช่เทคโนโลยีของโลกยุคใหม่ และเป็นที่มาของการลาออกเพื่อเปิดทางให้ สัตยา นาเดลลา เข้ามาบริหารแทน   ซีอีโอเบอร์ 3 นาเดลลา เข้ารับตำแหน่งซีอีโอคนที่ 3 ของไมโครซอฟท์ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2014 โดยทันทีที่รับตำแหน่ง เขาส่งอีเมลแนะนำตัวกับพนักงานทุกคน มีใจความว่า “ผมมีอายุ 46 ปี ผมแต่งงานมาแล้ว 22 ปี มีลูก 3 คน และคล้ายกับคนอื่นทั่วไป หลายสิ่งที่ผมทำและวิธีคิดของผมได้รับอิทธิพลมาจากครอบครัวและประสบการณ์ทั้งหมดในชีวิต “หลายคนที่รู้จักบอกว่า ผมยังถูกกำหนดโดยความอยากรู้อยากเห็นและความหิวกระหายในการเรียนรู้ ผมซื้อหนังสือมามากกว่าจำนวนที่ผมสามารถอ่านจบ และสมัครเรียนออนไลน์มากกว่าจำนวนคอร์สที่สามารถเรียนจบ “ผมเชื่อโดยพื้นฐานว่า หากคุณไม่เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ คุณจะหยุดทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่และเป็นประโยชน์ ดังนั้น ครอบครัว ความอยากรู้อยากเห็น และความกระหายใคร่รู้ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคำนิยามตัวผม” จุดประสงค์ของการแนะนำตัวดังกล่าว คือการพยายามเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้เลิกยึดติดกับความสำเร็จในอดีต และหันมาสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต “ในปี 1998 เรากลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าในตลาดสูงที่สุดในโลก คุณสามารถพบคนเดินผ่านไปมาและพูดว่า ‘ว้าว! เราต้องเป็นของขวัญของพระเจ้าที่มอบให้กับมนุษยชาติแน่ ๆ’ (ในทางตรงข้าม) ผมอยากได้วัฒนธรรมที่สะท้อนองค์กรแห่งการเรียนรู้มากกว่า” นาเดลลากล่าว   การศึกษา สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) เกิดวันที่ 19 สิงหาคม 1967 ที่เมืองไฮเดอราบัด ประเทศอินเดีย เขาเรียนจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ที่สถาบันเทคโนโลยีเมืองมานิปาล (Manipal Institute of Technology) หรือ MIT แห่งอินเดีย  จากนั้นจึงเดินทางมาสหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาต่อปริญญาโทด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ในเมืองมิลวอกี และสำเร็จการศึกษาในปี 1990 ก่อนเริ่มงานแรกที่ ซิลิคอนแวลลีย์ กับบริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (Sun Microsystems) ปี 1992 นาเดลลาย้ายมาร่วมงานกับไมโครซอฟท์ ภายใต้ซีอีโอ บิล เกตส์ โดยระหว่างทำงานที่นี่ เขายังลงเรียนปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA) ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ควบคู่กันไป ทำให้นาเดลลาต้องเดินทางไป-มาระหว่างชิคาโกกับสำนักงานใหญ่ของไมโครซอฟท์ ในเมืองเรดมอนด์ รัฐวอชิงตัน เป็นประจำ จนกระทั่งได้ปริญญาโทใบที่สองมาครองในปี 1996   กีฬาในฝัน อันที่จริง ซีอีโอไม่ใช่อาชีพในฝันของนาเดลลา เนื่องจากวัยเด็กเขาอยากเป็นนักกีฬาอาชีพในกีฬาคริกเก็ต “มีอยู่ครั้งหนึ่งสมัยเรียนไฮสกูล ผมเล่นให้ทีมของโรงเรียน และขว้างลูกได้แย่มาก จากนั้นกัปตันทีมได้เข้ามาเล่นแทนผม เขาขว้างโดนวิคเก็ต (เป้าหมายที่เป็นไม้ 3 ท่อน) และนั่นคือการแก้ปัญหาครั้งใหญ่ หลังจากนั้นเขาคืนลูกบอลให้ผมเล่นต่อ และผมสามารถก้าวไปเป็นผู้เล่นที่ขว้างลูกได้ดีที่สุดในชีวิต การตัดสินใจครั้งนั้นของเขาคือการแสดงภาวะผู้นำโดยไม่ทำให้ผมเสียความมั่นใจ” นาเดลลาเล่าประสบการณ์ที่ทำให้เขากลายเป็นผู้นำที่เน้นทำตัวเป็นแบบอย่าง มากกว่าชี้นิ้วสั่ง หรือบังคับให้ปฏิบัติตาม และประโยชน์ของการเล่นกีฬาเป็นทีม “ผมไม่เคยทราบมาก่อนว่าหน้าที่ของซีอีโอต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนมากมายหลากหลายเพียงใด ตอนนี้ผมรู้แล้วว่า มันเกี่ยวกับลูกค้า มันเกี่ยวกับหุ้นส่วน มันเกี่ยวกับลูกจ้าง นายทุน และรัฐบาล มันเกี่ยวข้องกับพวกเขาทั้งหมดตลอดเวลา “การเล่นกีฬาเป็นทีมช่วยสอนคุณเกี่ยวกับภาวะผู้นำ”   พ่อตัวอย่าง นาเดลลาเปลี่ยนเส้นทางความฝันจากนักกีฬา หันมาเอาดีด้านการศึกษาเนื่องจากต้องการเป็นนักประดิษฐ์ โดยครอบครัวมีส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันให้ประสบความสำเร็จ “พ่อผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์และข้าราชการสายมาร์กซิสต์” นาเดลลาพูดถึงบิดาที่เขายึดเป็นแบบอย่าง “พ่อเห็นเกรดของผมแล้วถึงกับประหลาดใจว่าใครกันนะเรียนได้แย่ปานนี้ แต่เขาก็บอกว่า ‘มันเป็นการวิ่งมาราธอน ลูกจะตามคนอื่นทันในที่สุด’ ส่วนแม่จะถามแค่ว่า ‘ลูกมีความสุขหรือไม่?  “วิธีที่พ่อหลอมรวมหน้าที่การงานเข้ากับความหลงใหล (passion) ในชีวิต ความหมายอันลึกซึ้งที่เขาได้มาจากมัน สิ่งเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อมุมมองความคิดของผมทั้งในเรื่องการใช้ชีวิต และการทำงาน” หลังจากแต่งงานกับ อนุปะมา ภรรยาชาวอินเดีย และพบว่า ซาอิน ลูกชายของเขาป่วยเป็นโรคสมองพิการและกล้ามเนื้อแขนขาเกร็ง นาเดลลาได้พบบทเรียนสำคัญที่เขาสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานได้อีกด้วย “แรก ๆ ผมก็ติด ๆ ขัด ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวางแผนชีวิตเหล่านี้ไว้หมดแล้ว จากนั้นผมก็คิดได้ว่า ผมต้องก้าวออกมาและทำหน้าที่พ่อ ผมเริ่มมองเห็นโลกผ่านสายตาของลูกชาย นั่นคือสิ่งที่เรียกว่าความเข้าอกเข้าใจ (empathy) “ความเข้าอกเข้าใจยังนำมาปรับใช้กับการทำงานได้ทุกเรื่อง หากนวัตกรรมคือการค้นพบความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองและยังไม่มีผู้อื่นค้นพบมาก่อน คุณจะสามารถพบความต้องการเหล่านั้นได้อย่างไร? การจะนำมันมาปรับใช้คุณต้องมีความเข้าอกเข้าใจ การคิดเชิงออกแบบ (design thinking) คือความเข้าอกเข้าใจ ที่ไมโครซอฟท์ เราใส่คำว่า ‘ความเคารพ’ (respect) เข้าไปในภาษาของพวกเรา เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นของความเข้าอกเข้าใจ”   วัฒนธรรมองค์กร ไมโครซอฟท์ ภายใต้ซีอีโอ สัตยา นาเดลลา มี 3 เสาหลักเป็นวัฒนธรรมองค์กร นั่นคือ ความหลากหลายและการยอมรับความหลากหลาย (diversity and inclusion) ลูกค้าต้องมาก่อน (customer obsession) และแนวคิด ‘บริษัทเป็นหนึ่ง’ (one company) ซึ่งเน้นความสามัคคีมากกว่าการแข่งขันกันเองภายในองค์กร วัฒนธรรมเหล่านี้ทำให้นาเดลลาสามารถชุบชีวิตไมโครซอฟท์ให้กลับมายืนหนึ่งในโลกไอทีได้อีกครั้ง โดยปลายปี 2018 หรือไม่ถึง 5 ปีหลังจากเขาเข้ารับตำแหน่งต่อจาก สตีฟ บอลเมอร์ มูลค่าของไมโครซอฟท์สามารถแซงแอปเปิล กลับขึ้นไปเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกหมายเลขหนึ่งได้อีกครั้ง จุดเด่นของไมโครซอฟท์ ภายใต้ซีอีโอรุ่นที่ 3 คือการใช้โมเดลธุรกิจที่ตรงข้ามกับแอปเปิล โดยขณะที่แอปเปิลเน้นขายอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่เชื่อมต่อกันภายใต้ระบบปฏิบัติการ iOS ของตนเอง แต่ไมโครซอฟท์ที่สู้เรื่องนี้ไม่ได้ หันมาใช้กลยุทธ์ร่วมมือกับทุกฝ่าย ไม่เว้นแม้แต่คู่แข่งที่เคยขับเคี่ยวกันมาในอดีต การพลิกเกมของนาเดลลา ทำให้ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่เป็นเรือธงของไมโครซอฟท์ อย่าง Windows และ Office สามารถใช้งานกับฮาร์ดแวร์ได้ทุกชนิด รวมถึงบน iPad ของแอปเปิล นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังเน้นลงทุนกับการสร้างศูนย์ข้อมูลและพัฒนาระบบคลาวด์ (cloud) ที่ใช้งานได้บนทุกแพลตฟอร์ม พร้อมพัฒนาแท็บเล็ต Surface และเกม Xbox ที่เป็นฮาร์ดแวร์ แต่ก็ไม่ทิ้งธุรกิจซอฟต์แวร์สำหรับลูกค้าบริษัทขนาดกลางและเล็กแบบที่เคยทำมาตลอด “เราไม่ได้ต้องการเป็นบริษัทเท่ ๆ ในภาคเทคโนโลยี แต่ต้องการเป็นบริษัทที่ทำให้ผู้อื่นมีความเท่มากกว่า” นาเดลลากล่าวอย่างถ่อมตัว   เป้าหมายและการเรียนรู้ “ผมขอเรียกตัวเองว่า ‘ซีอีโอธรรมดาคนหนึ่ง’ (mere-motal CEO) และอยากทำให้สำนึกในเป้าหมาย (sense of purpose) และวัฒนธรรมของเรามีความชัดเจนมากขึ้น ยุทธศาสตร์และการตลาดผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่ไม่ใช่กับสิ่งเหล่านั้น “เราทุกคนล้วนทราบดีว่า อายุขัยของบริษัทมักสั้นกว่ามนุษย์ มีตัวอย่างของบริษัทอายุเก่าแก่ถึงร้อยปีให้เห็นน้อยมาก หากเราต้องการเป็นบริษัทที่มีอายุร้อยปี พนักงานที่นี่ต้องหาความหมายอันลึกซึ้งของงานที่ทำให้ได้ นั่นคือการแสวงหาของเรา” นอกจากนี้ นาเดลลายังทิ้งท้ายถึงคนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำองค์กรให้ทุ่มเทกับทุกสิ่งที่ทำ “มันง่ายที่จะพูดว่า ‘เมื่อไรผมจะได้เป็นซีอีโอ?’ แต่จงอย่าคอยให้ถึงงานหน้าเพื่อจะทำให้ดีที่สุด จงคิดว่างานทุกงานที่ทำคืองานสำคัญที่สุด หรืออาจคิดว่าเป็นงานสุดท้ายในชีวิตเลยก็ได้ ผมคิดว่างานแต่ละงานของผมเป็นงานที่วิเศษจนกระทั่งได้ทำงานต่อไป” นั่นคือปรัชญาของ สัตยา นาเดลลา ซีอีโอผู้เข้ามากอบกู้ ไมโครซอฟทท์ให้กลับมาผงาดในศตวรรษที่ 21 และเป็นการสะท้อนภาพชัดเจนว่า ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่หรือเก่งกาจมาเพียงใด หากปราศจากการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ทุกคนมีโอกาสพ่ายแพ้ และถูกกลืนหายไปในเกลียวคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา   ข้อมูลอ้างอิง: https://www.gsb.stanford.edu/insights/microsoft-ceo-satya-nadella-be-bold-be-right?sf140858789=1&fbclid=IwAR0EyE-5R3Kcr52b7ePEfPLcsBr2hw-gIEGQUZWD14mwU1aq366YMMy_4rg https://www.nytimes.com/2014/02/21/business/satya-nadella-chief-of-microsoft-on-his-new-role.html https://www.wsj.com/articles/microsoft-ceo-nadella-bets-businesses-are-ready-to-spend-big-on-employee-software-11612447214 https://www.wsj.com/articles/ceo-satya-nadella-seeks-to-change-microsofts-image-1477368916?mod=article_relatedinline https://www.theladders.com/career-advice/microsoft-ceo-satya-nadella https://www.ndtv.com/india-news/microsoft-ceo-satya-nadella-pens-tribute-to-his-father-on-fathers-day-2250587