แบงค์ พงษ์ศักดิ์ : ‘ ใจแผ่นดิน’ คือบ้านของหัวใจ ความหวังใหม่ของบางกลอย

แบงค์ พงษ์ศักดิ์ : ‘ ใจแผ่นดิน’ คือบ้านของหัวใจ ความหวังใหม่ของบางกลอย
“ตอนนั้นเขาก็อ้างว่าพี่น้องที่อยู่แหล่งต้นน้ำเป็นคนตัดไม้ทำลายป่า ทำให้แหล่งต้นน้ำเสียหาย แล้วก็สอง เขาอ้างถึงภัยความมั่นคงอะไรพวกนี้ แล้วก็เขาก็บอกเหตุผลแค่นี้แหละ แล้วเขาก็บอกว่าที่นีอยู่ไม่ได้” แบงค์เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวที่บ้านของเขา นี่เป็นเสียงจาก แบงค์ พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร หนุ่มวัย 23 ปี หนึ่งในตัวแทนชาวบ้านใจแผ่นดินที่ออกมาเรียกร้องพื้นที่ทำกินร่วมกับพี่น้องในชุมชนนับ 10 ชีวิตที่เดินทางออกมาจากบ้านบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี จนถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล (วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564) สีหน้าของแต่ละคนดูเหนื่อยอ่อน บางคนนั่ง บางคนนอนพักลงกับพื้น จากการรอคอยตั้งแต่เช้าจรดเย็นเพื่อให้ผู้มีอำนาจออกมารับฟังพวกเขา และสร้างความเข้าใจถึงวิถีชีวิตของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงบางกลอยอย่างแท้จริง แบงค์ พงษ์ศักดิ์ : ‘ ใจแผ่นดิน’ คือบ้านของหัวใจ ความหวังใหม่ของบางกลอย   ชายหนุ่มผู้เติบโตในป่ามาสู่ชีวิตในเมือง ในผืนป่าแก่งกระจานที่อุดมสมบูรณ์ ต้นไม้ใหญ่ยืนแผ่กิ่งใบให้ร่มเงา ชาวบ้านในหมู่บ้านที่ชื่อว่า ‘ ใจแผ่นดิน’ ใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบสุขอยู่ในป่าผืนนี้สืบทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงมาอย่างช้านาน จนกระทั่งถูกขับไล่ออกมาจากผืนป่าที่พวกเขาเรียกว่าบ้าน ทำให้ชายหนุ่มธรรมดา ๆ คนหนึ่งต้องออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุมชนของเขา แบงค์ พงษ์ศักดิ์ : ‘ ใจแผ่นดิน’ คือบ้านของหัวใจ ความหวังใหม่ของบางกลอย แบงค์ เกิดและเติบโตอยู่ที่บ้านใจแผ่นดิน ในผืนป่าแก่งกระจานนับตั้งแต่บรรพบุรุษ วิถีชีวิตวัยเด็กของแบงค์นั้นเรียบง่าย เริ่มด้วยการตื่นมาหุงข้าวตอนตี 4 จากนั้นจึงไปทำไร่ ซึ่งเป็นการทำไร่หมุนเวียน มีการปลูกพืชผักหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นข้าว พริก หรือผักอื่น ๆ ตามแต่ใจต้องการ เป็นการปลูกพืชโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี หลังจากเสร็จงานไร่ เขาสามารถออกไปเดินป่า ไปหาลูกไม้ป่า เดินเลาะลำห้วย ล่าสัตว์ และเที่ยวเล่นกับเพื่อนตามประสาเด็กได้อย่างสบายใจ ภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ในป่าผืนใหญ่ แม้ว่าจะไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนในเมือง แต่แบงค์บอกว่าเขามีความสุขมาก  แบงค์ใช้ชีวิตกับธรรมชาติตลอดวัยเด็ก เวลาผ่านไป กระทั่งเขาเรียนจบป.6 และต้องย้ายเข้าไปเรียนในตัวเมืองที่มีความต่างจากบ้านของเขามาก บนถนนลูกรัง ที่มีทั้งหลุมบ่อ เป็นระยะทางกว่า 30 กิโลเมตรจากบ้านถึงตัวเมือง จากเด็กที่ใช้ชีวิตในป่ามาตลอด แม้แต่ไฟฟ้าเขายังไม่เคยรู้จัก จากที่มีเพื่อนที่พูดคุยภาษาเดียวกัน เล่นด้วยกันได้อย่างสนุกสนาน แต่เมื่อมาอยู่ในเมืองเขาเป็นเด็กชายชาวกระเหรี่ยงพี ยงคนเดียวในห้องเรียนชั้นม.1 ทำให้แบงค์โดนเพื่อน ๆ ล้ออยู่บ่อย ๆ แต่แบงค์ก็พยายามปรับตัว ในห้องเรามีแค่เราคนเดียวที่เป็นกะเหรี่ยง แล้วบางทีเพื่อน ๆ ก็ล้อว่าไอ้เหรี่ยง ไอ้โน่น ไอ้นี่ มันก็เลยรู้สึกว่าอยู่ในเมืองไม่ไหวแล้วอยากจะกลับบ้าน” แบงค์รับความกดดันมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งตอน ม.2 แบงค์บอกว่าตัวเองเป็นคนติดเพื่อน บวกกับวัยที่อยากรู้อยากลอง เพื่อนไปที่ไหน หรือไปทำอะไร เขาก็ทำตามเพื่อน วันหนึ่งเพื่อนเริ่มชักชวนแบงค์ให้สูบยาเส้น วันต่อไปเป็นกัญชา ล่วงเลยไปจนถึงยาบ้า แต่การได้เห็นภาพเพื่อนของตัวเองคลั่งจากฤทธิ์ยาต่อหน้าต่อตา และเพื่อนคนที่สองต้องเข้าคุก ทำให้แบงค์หันหลังให้กับสังคมที่โรงเรียน และออกมาหางานทำโดยการรับจ้างทั่ว ๆ ไป  “พอออกมารับจ้างก็โดนเจ้านายว่า ทำงานไม่ได้เรื่อง หาว่ากะเหรี่ยงโง่”  เมื่อถูกเจ้านายดุด่าจากอคติที่มีต่อชาติพันธุ์ของเขา จึงทำให้แบงค์ตัดสินใจกลับบ้านที่ใจแผ่นดิน แบงค์ พงษ์ศักดิ์ : ‘ ใจแผ่นดิน’ คือบ้านของหัวใจ ความหวังใหม่ของบางกลอย   บ้านที่เปลี่ยนไป ในช่วงปี 2554 แบงค์อยู่ในตัวเมืองแต่รับรู้ข่าวสารที่เกิดขึ้นที่บ้านจากโทรทัศน์ เรื่องปัญหาความขัดแย้งของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับชาวบ้านบางกลอย การใช้กำลังและความรุนแรงทั้งการเผาบ้าน เผายุ้งฉาง ขับไล่ให้ชาวบ้านออกจากใจแผ่นดินซึ่งเป็นบ้านเกิดของตัวเอง ทำให้ชาวบ้านต้องหนีกระจัดกระจายกันไปคนละทิศละทางบางส่วนไปอยู่ที่จังหวัดราชบุรี บางส่วนข้ามไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา และบางส่วนจำยอมลงมาอยู่ที่บ้านบางกลอยล่างร่วมกับชาวโป่งลึกสาเหตุทั้งหมดเกิดจากเจ้าหน้าที่อ้างเหตุผลว่าชาวบ้านเป็นคนตัดไม้ทำลายป่า และสร้างความเสียหายให้กับแหล่งต้นน้ำ  ตอนนั้นเขาก็อ้างว่าพี่น้องที่อยู่แหล่งต้นน้ำเป็นคนตัดไม้ทำลายป่า ทำให้แหล่งต้นน้ำเสียหาย แล้วก็สอง เขาอ้างถึงภัยความมั่นคงอะไรพวกนี้ แล้วก็เขาก็บอกเหตุผลแค่นี้แหละ แล้วเขาก็บอกว่าที่นี่อยู่ไม่ได้” แบงค์เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวที่บ้านของเขา  การกลับบ้านบางกลอยในครั้งนี้ทำให้แบงค์เห็นว่าวิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนไป นอกจากจะไม่มีพื้นที่ทำกิน เพราะสภาพแวดล้อมใหม่เป็นดินลูกรัง ห่างไกลจากแหล่งน้ำ ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้เหมือนอย่างเคย  พื้นที่อยู่อาศัยก็ไม่เพียงพอต่อชาวบ้านที่อพยพลงมาเช่นกัน บ้านบางหลังก็อาศัยอยู่ร่วมกัน 2-3 ครอบครัว  จนกระทั่งมีชาวบ้านบางส่วนกลับขึ้นไปที่ใจแผ่นดินเดิม เพราะทนไม่ไหวกับสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันที่ยากลำบาก ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตเดิมของชาวบ้าน แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ขับไล่ลงมาอยู่ดี ซึ่งนี่เป็นปัญหาเรื้อรังมากว่า 25 ปีแล้ว “เราถูกปรับเปลี่ยนวิถีต่าง ๆ พวกนี้มันก็เลยลำบากมากเลย ไม่ว่าจะออกมารับจ้างข้างนอกก็จะถูกแรงกดดัน แล้วก็ถูกอคติอะไรพวกนี้ รวมทั้งการคุกคามของเจ้าหน้าที่ไม่ให้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากร”  แบงค์ พงษ์ศักดิ์ : ‘ ใจแผ่นดิน’ คือบ้านของหัวใจ ความหวังใหม่ของบางกลอย   ไม่มีใครเป็นเจ้าของธรรมชาติ  “ภาพที่เขามองว่าเราเป็นคนทำลายแหล่งต้นน้ำ ทำลายป่า มันก็เลยกลายเป็นภาพที่เราแบบ มันใช่เหรอ ทั้ง ๆ ที่เรามีมาตรการ มีกติกา มีความเชื่อต่าง ๆ ที่มันควบคู่กับธรรมชาติ เราเลยจำเป็นที่จะต้องออกมาบอกให้สังคมเข้าใจ” แบงค์บอกว่าชีวิตที่เติบโตขึ้นมาจากป่าของชาวบ้านบางกลอยล้วนมีกฎกติกาเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นข้อห้ามต่าง ๆ ในการเก็บผลไม้สักหนึ่งผล ที่ต้องรอให้ผลสุกและหล่นลงใต้ต้นก่อน จึงจะเก็บกินได้ หรือหากปีนขึ้นไปเก็บบนต้นได้ก็ต้องปีน ห้ามโค่นต้นไม้หรือตัดกิ่งไม้ เพื่อให้ลูกหลานรุ่นต่อไปได้ใช้ประโยชน์จากต้นไม้และผืนป่าได้ในอนาคต “เราต้องนึกถึงลูกหลานของเรา เราต้องนึกถึงวันข้างหน้าว่าถ้าเราโค่นต้นนี้ ในอนาคตข้างหน้าลูกหลานเราจะได้กินอีกไหม” หรืออย่างการล่าสัตว์ก็จะมีขั้นตอน การห้ามล่าสัตว์ในช่วงฤดูผสมพันธ์ุ และมีสัตว์ที่ห้ามล่าอย่างชัดเจน เช่น นกเงือก ชะนี  เสือ หรือว่าช้าง ถ้าเป็นสัตว์น้ำก็ห้ามจับปลาก้าง และกบข้าว เป็นต้น ซึ่งการล่าในหนึ่งครั้งก็จะแบ่งสิ่งที่ได้มาให้กับเพื่อนบ้านด้วย แบงค์เล่าว่าวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงที่สืบทอดกันมานั้นมองว่าป่าไม่ได้มีเจ้าของ คนเราไม่ได้สร้างธรรมชาติขึ้นมา เพราะฉะนั้น จะต้องแบ่งปันทรัพยากรกันและช่วยกันรักษาธรรมชาติเอาไว้ “เราก็ถูกสอนถูกย้ำมาตลอดเลย ว่าผืนดินผืนนี้มันไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้สร้างมา ใครจะอยู่ก็ได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เราถูกสอนมาอย่างนี้ คือเราไม่ได้ถูกสอนให้มีของเราในตัวธรรมชาติ เพราะบรรพบุรุษเราไม่เคยสอนให้เป็นของเรา แต่สอนให้เราใช้ประโยชน์ร่วมกันและช่วยกันรักษา” แบงค์ พงษ์ศักดิ์ : ‘ ใจแผ่นดิน’ คือบ้านของหัวใจ ความหวังใหม่ของบางกลอย เมื่อความเป็นเมืองเริ่มเข้ามาในชุมชน  แต่เมื่อชาวบ้านย้ายลงมาอยู่ด้านล่าง พื้นที่ทำกินก็ลดน้อยลง ชาวบ้านบางส่วนต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต คนหนุ่มรุ่นเดียวกันกับแบงค์ส่วนใหญ่ออกไปทำงานรับจ้างนอกหมู่บ้าน บางครอบครัวต้องหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่สามารถขายได้แทนการปลูกข้าว ทำให้ต้นทุนเพิ่มมากขึ้นทั้งค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง ซึ่งเป็นการปลูกพืชในแบบที่ชาวบ้านไม่ถนัด แบงค์เล่าว่าจากที่แต่ก่อนเคยปลูกข้าวเอาไว้กิน และแบ่งปันกัน ทุกวันนี้นี้เขาต้องมาซื้อข้าวกินกันในหมู่บ้าน “จากข้าวที่เคยปลูกกินกันก็ต้องมาซื้อกินเอง จากสิ่งของอย่างพวกหมาก คือคนกะเหรี่ยงชอบกินหมาก พวกผลไม้ พวกผักต่าง ๆ จากที่เคยแบ่งปันกันอ่ะ ก็มาขายให้กันเอง” “มันเหมือนความเป็นเมือง มันต้องแย่งชิง ผมเองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ ถ้าเราอยู่บ้านนอกอยู่ในป่าอย่างนี้ เราไม่เคยถูกสอนให้ไปแย่งชิงของใคร เราไม่เคยถูกสอนให้เห็นแก่ตัว” นอกจากนี้แบงค์ยังอดคิดไม่ได้ว่าหากไม่มีหมู่บ้านใจแผ่นดิน หรือการทำไร่หมุนเวียนแล้ว วัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจะสูญหายไป จากการที่เด็ก ๆ ถูกสังคมภายนอกกดดันให้เรียนรู้ด้านวิชาการ หรือปรับตัวให้เข้ากับสังคมเมือง จนพวกเขาอาจลืมวิถีชีวิตของตัวเองไปในไม่ช้า “ผมคิดว่าถ้าไม่มีไร่หมุนเวียน หรือหมู่บ้านใจแผ่นดิน ต่อไปพี่น้องแถวบางกลอย อีก 20 ปี 30 ปี ข้างหน้า ลูกหลานอาจจะพูดกะเหรี่ยงไม่ได้ก็ได้ ผมคิดอย่างนี้เลยนะครับ ที่ผมประเมินไว้ พูดง่าย ๆ เหมือนเขาพยายามล้มล้างเผาพันธุ์เลย”แบงค์ตัดพ้อ แบงค์ พงษ์ศักดิ์ : ‘ ใจแผ่นดิน’ คือบ้านของหัวใจ ความหวังใหม่ของบางกลอย 3 ข้อเรียกร้องของชาวบางกลอย  “เราไม่ได้มีเจตนาจะท้าทายใครคนใดคนหนึ่ง เราแค่พยายามจะบอกเรื่องราวของเราให้เขาเข้าใจ” นี่คือความตั้งใจที่แบงค์ต้องเดินทางจากเพชรบุรีมาถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อบอกเล่าปัญหาที่ชาวบ้านบางกลอยต้องพบเจอมา เพื่อให้ผู้มีอำนาจได้รับฟังถึงเสียงเล็ก ๆ นี้ และพร้อมที่จะแก้ปัญหาให้พวกเขาโดยมีข้อเสนอ 3 ข้อ ดังนี้ หนึ่ง คือ ถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากชุมชนบางกลอยทั้งหมด สอง คือยุติการขัดขวางการขนส่งข้าว อาหาร และสิ่งของจำเป็นไปให้กับชาวบ้านบางกลอย และสุดท้าย คือ ยุติคดีของสมาชิกภาคี #saveบางกลอย ทั้งหมด 10 คน กรณีการยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านอีกหลาย ๆ คนยังรอคอยการกลับบ้านแม้ผ่านมานานกว่า 25 ปี นอกจาก 3 ข้อเสนอที่กล่าวมานี้ พวกเขาไม่ได้หวังอะไรมากมายไปกว่าการกลับไปยังบ้านเกิดที่ป่าใจแผ่นดิน ได้ทำไร่หมุนเวียน ปลูกข้าว ปลูกผัก ปลูกผลไม้ แบ่งปันกันในชุมชน มีสิทธิ์ในการใช้ทรัพยากร ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ และสืบต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของชาติพันธุ์กระเหรี่ยงไว้ให้ได้นานเท่าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ “เราอยากเห็นพี่น้องเราได้กินข้าวครบวันละ 3 มื้อนะครับ หวังว่าพี่น้องจะได้กลับไปที่ใจแผ่นดิน แล้วพี่น้องที่เหลือก็มีการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทำกินให้” แบงค์กล่าว แบงค์ พงษ์ศักดิ์ : ‘ ใจแผ่นดิน’ คือบ้านของหัวใจ ความหวังใหม่ของบางกลอย เรื่องและภาพ : กัญญาภัค ขวัญแก้ว