สาวิตรี ผิวงาม : ไม่ใช่ใครก็เป็นครูได้ จากเด็กสอบตก สู่ครูที่เข้าใจนักเรียน

สาวิตรี ผิวงาม : ไม่ใช่ใครก็เป็นครูได้ จากเด็กสอบตก สู่ครูที่เข้าใจนักเรียน
“เราเคยมองว่าครูเป็นอาชีพที่ทำง่าย ๆ แต่ความคิดเราเปลี่ยนไปทันที มันไม่ง่ายอย่างที่เราคิด ที่เรามองว่าครูแค่มายืนพูด จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ เขาต้องไปเตรียมแผนการสอน เขาต้องเตรียมแบบฝึกหัด ไหนจะต้องดูเด็กเป็นรายบุคคลอีก และด้วยความที่เรามีประสบการณ์ทางด้านนี้น้อย ทำให้เราจัดการการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ไม่ดีพอ” จากนักศึกษาที่ตกวิชาเขียนโปรแกรม สู่เจ้าหน้าที่ดูแลระบบคอมพิวเตอร์  จากคนที่คิดว่าอาชีพครูใคร ๆ ก็เป็นได้ สู่การเผชิญหน้ากับการสอนที่ไม่ประสบความเร็จ ‘หน่อย’ สาวิตรี ผิวงาม คือคนที่สามารถก้าวผ่านอุปสรรคเหล่านี้ได้ และเปลี่ยนแปลงตนเองให้กลายเป็น ‘ครู’ ผู้รักในอาชีพ และเป็น ‘ครู’ ที่สามารถถ่ายทอดความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีให้แก่เด็กได้อย่างเข้าใจ สาวิตรี ผิวงาม : ไม่ใช่ใครก็เป็นครูได้ จากเด็กสอบตก สู่ครูที่เข้าใจนักเรียน เมื่อมองดูบรรยากาศในห้องเรียนที่เต็มไปด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ และเด็กนักเรียนที่กำลังจดจ่ออยู่กับการสร้างแอปพลิเคชันของตัวเอง อาจารย์หน่อย อาจารย์ประจำวิชา ‘วิทยาการคำนวณ’ กำลังเดินตรวจผลงานของนักเรียนทีละคนอย่างตั้งใจโดยไม่กังวลว่าจะเสียเวลา “เราก็เข้าใจในมุมมองของครูด้วย แล้วเราก็เข้าใจในมุมมองของนักเรียนด้วย เพราะว่าเราไม่ใช่เด็กเรียนดี เราเลยนึกถึงภาพตอนที่เราอยู่มัธยมฯ อาจารย์อธิบายไม่เข้าใจ เราก็อยากให้อาจารย์อธิบายอีกรอบหนึ่ง พอเรามองกลับมาที่เด็ก ตอนเราสอน เราจะพยายามเดินลงไปดูว่าเขาทำตรงไหนไม่ได้ เราบอกเด็กว่า ถ้าเธอไม่เข้าใจตรงไหน เธอถามได้เลย แล้วเราก็จะย้อนอธิบายให้เด็กฟังทุกครั้ง” ย้อนกลับไปตอนตัดสินใจเดินสู่สายไอที หน่อยบอกว่าเกรดเฉลี่ยที่น้อยที่สุดที่เคยได้คือ 1.9 เพราะนั่นเป็นช่วงวัยรุ่นที่กำลังครุ่นคิดถึงวันที่จะได้โตเป็นสาว ได้แต่งชุดนักศึกษา ตอนนั้นเธอเลือกเรียนปริญญาตรี สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ แม้ว่าเธอไม่มีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมเลย ทั้งหลักสูตรวิชาคอมพิวเตอร์สมัยมัธยมศึกษาก็ไม่มีอะไรลึกซึ้งไปกว่าการใช้โปรแกรมเบื้องต้น นั่นทำให้หน่อย ‘ติด I’ ตั้งแต่เรียนเทอมแรก “ตกตั้งแต่ปีแรก เทอมแรกเลย อาจารย์ให้ I เอาไว้ เพราะว่าสาขาที่เราเลือกเข้ามาเรียนมันคือหลักสูตรการเขียนโปรแกรม จะมีตัวแรกเป็นวิชาเอก ก็คือวิชาเขียนโปรแกรม แล้วภาษาที่เราเจออันแรกก็คือ ภาษาจาวา ซึ่งเรายังไม่รู้จักด้วยซ้ำว่ามันคืออะไรภาษาจาวา? และเราไม่เคยเรียนเขียนโปรแกรมมาก่อน เพราะฉะนั้นปีแรกที่เข้ามาเรียนปุ๊บ เจอวิชาเอกเป็นเขียนโปรแกรมปุ๊บ ตกเลย” ความโชคดีอย่างหนึ่งของหน่อย คืออาจารย์ไม่ปล่อยปละละเลย แต่ให้แก้ I ด้วยการฝึกวิทยายุทธเขียนโปรแกรมด้วยมือลงบนกระดาษจำนวน 100 โปรแกรม และนำมาเขียนในคอมพิวเตอร์ต่ออีกครั้ง สุดท้ายหน่อยจึงสามารถจดจำภาษาที่ใช้เขียนโปรแกรมทั้งร้อยนั้นได้หมด สาวิตรี ผิวงาม : ไม่ใช่ใครก็เป็นครูได้ จากเด็กสอบตก สู่ครูที่เข้าใจนักเรียน หลังจากเรียนจบปริญญาตรี หน่อยได้เข้าทำงานด้านระบบคอมพิวเตอร์กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ก่อนจะมีเพื่อนชักชวนให้ย้ายงานมาอยู่ในสถานศึกษาอย่าง โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา หน่อยจึงได้เริ่มงานเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 โดยงานของหน่อยจะเกี่ยวข้องกับการเตรียมอุปกรณ์การสอนให้แก่อาจารย์ เรียกว่าเป็นฝ่ายสนับสนุนการศึกษา “ตอนแรกที่เข้ามา เราไม่เคยอยากจะมาในสายครู ไม่ได้มีความฝันที่จะมาเป็นครูเลย แต่พี่สาวคนโตของเราเขาเป็นครูอยู่ เขาผลักดันเรามาตั้งแต่ตอนที่เราจะสอบเข้ามหา’ลัยแล้ว เขาอยากให้เราเป็นครูเหมือนเขา แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ทาง เราไปยืนอธิบายคนไม่ได้ แล้วด้วยความที่เราชอบคอมพิวเตอร์ เราก็เลยไปลงทางสายคอมพ์ที่มันเป็นทางเทคนิคมากกว่าที่จะเป็นสายสอน” หน่อยปฏิเสธอาชีพครูมาตั้งแต่เริ่มทำงานในสถานศึกษา แต่สุดท้ายความฝันใหม่ก็ถูกจุดประกายขึ้น เพราะการพบปะและอธิบายเรื่องไอทีให้กับนักเรียนบ่อย ๆ ประกอบกับบรรยากาศในสถานศึกษาทำให้หน่อยได้คลุกคลีกับอาจารย์และนักเรียนตลอดทั้งวัน เธอจึงเกิดความคิดว่าสายอาชีพที่เธอเคยปฏิเสธในอดีตกลับ ‘น่าสนใจ’ เป็นอย่างมาก หน่อยจึงเริ่มศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาการสื่อสารข้อมูลและเครือข่าย แต่ชะตากรรมของการเรียนในเทอมแรกก็ไม่ต่างจากตอนเรียนปริญญาตรี เธอสอบตกอีกครั้งในวิชาวิชาเน็ตเวิร์ก และวิชาซีเคียวริตี้ ซึ่งเป็นวิชาเอก รวมไปถึงวิชาภาษาอังกฤษ ทำให้ต้องเรียนเพิ่มในวันเสาร์  การทำงานไปเรียนไปทุกวันจันทร์ - ศุกร์ ตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงคืน หน่อยจึงใช้ชีวิตแบบที่แทบไม่ได้หยุดพักเป็นเวลาหนึ่งปีครึ่ง ก่อนจะได้มาเป็นอาจารย์ในที่สุด สาวิตรี ผิวงาม : ไม่ใช่ใครก็เป็นครูได้ จากเด็กสอบตก สู่ครูที่เข้าใจนักเรียน สำหรับวันแรกของการสอน หน่อยเตรียมแผนการสอนมาเป็นอย่างดี ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นไปตามแผน ยกเว้นผลลัพธ์ที่ออกมาไม่เป็นอย่างที่คาดคิดไว้ เพราะนักเรียนไม่เข้าใจสิ่งที่อาจารย์ใหม่คนนี้พูด และแทบจะไม่มีการตอบสนองใด ๆ เลย “เด็กนั่งงง นั่งหน้านิ่ง ที่เรามองว่าครูแค่มายืนพูด ครูเป็นอาชีพที่ทำง่าย ๆ ความคิดเราเปลี่ยนไปทันทีเลยว่า มันไม่ง่ายอย่างที่เราคิดเลย เขาต้องไปเตรียมแผนการสอน เขาต้องมีการเตรียมแบบฝึกหัดให้เด็ก ไหนจะต้องมีการเตรียมรูปแบบขั้นตอนในการประเมินเด็ก ไหนจะต้องดูเด็กเป็นรายบุคคลอีก ว่าเด็กคนนี้มีพื้นฐานเป็นอย่างนี้ เราจะต้องทำยังไง ด้วยความที่ว่าเรามีประสบการณ์ทางด้านนี้น้อย ทำให้เราจัดการการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ไม่ดีพอ” จากคนที่มั่นใจว่าการเป็นครูเป็นเรื่องที่ง่าย ก็กลับกลายเป็นการเผชิญกับความท้อแท้ตลอดเวลา 3 เดือนแรกของการสอน หน่อยคิดว่าเป็นความผิดของตนเองที่ไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียนเข้าใจได้ เธอจึงลงอบรมเพิ่มในวันเสาร์ - อาทิตย์ จนแทบไม่มีวันหยุด ซึ่งผลจากการฝืนตัวเองยังกระทบต่อสภาพจิตใจ หน่อยบอกว่าเธอปรึกษาคนอื่นไปร้องไห้ไป และถึงขั้นไปทำแบบทดสอบโรคซึมเศร้า เพราะเธอไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่คนเดียวได้ “ความคิดจะทิ้งนักเรียนก็คืออยู่ในช่วง 3 เดือนแรก ที่เราบอกกับตัวเองว่าเราไม่เอาแล้วนะ เราบอกกับทางบ้านว่าเราจะกลับไปทำไร่ไถนาของเราแล้วนะ อันนั้นคือเป็นความคิดที่ทิ้งนักเรียนจริง ๆ” หน่อยปรึกษาครอบครัวและขอกลับไปอยู่บ้าน เพราะตอนนี้การกลับไปทำไร่ทำสวนดูจะเป็นเรื่องง่ายกว่าการเผชิญหน้านักเรียนในห้องเรียน แต่แล้วหน่อยก็คิดได้ว่าเธออาจยอมแพ้ง่ายเกินไป “ด้วยความที่เราก็มองเขาว่า ถ้าเราไปตอนนี้ แล้วเด็กนักเรียน ใครจะสอน แล้วมันก็มีผลกระทบต่อสถานศึกษาที่เราทำงานอยู่ เราก็หยุดความคิดของตัวเอง แล้วเราก็เปลี่ยนความคิดของตัวเองไป จนปัจจุบันนี้ไม่เคยมีความคิดที่จะทิ้งนักเรียนอีกเลย เพราะว่านักเรียนก็ต้องการครูใช่ไหม เพราะฉะนั้นครูก็ต้องอยู่ให้นักเรียนเหมือนกันแล้วที่เราไปเรียนมาตั้งมากมาย ที่เราอุตส่าห์ไปฝึกเพื่อให้ได้วุฒิที่จะมาเป็นครูเนี่ย แล้วเราจะหยุดแค่นี้หรอ เราต้องทำต่อสิ เราต้องทำให้ได้สิ” สาวิตรี ผิวงาม : ไม่ใช่ใครก็เป็นครูได้ จากเด็กสอบตก สู่ครูที่เข้าใจนักเรียน ปัจจุบัน หน่อยรับหน้าที่สอนทั้งนักเรียนระดับมัธยมศึกษา และนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดยวิชาที่หน่อยสอนคือ วิชาวิทยาการคำนวณ และวิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี เธอมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนทัศนคติของนักเรียนที่ไม่ชอบวิชาคอมพิวเตอร์ให้หันมาเห็นความสำคัญ และใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความคิดของเราเอง ถ้าเราเปลี่ยนความคิดของเราได้ ถ้าเราบอกตัวเองใหม่ทุกครั้งว่าเราจะลุกขึ้นสู้ใหม่ทุกครั้ง มันจะทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้ผ่านไปได้ด้วยดีได้” อุปสรรคที่ผ่านมาจึงสอนให้หน่อยเติบโตขึ้นเป็นครูที่เข้าใจในหน้าที่และเข้าใจในนักเรียนเป็นอย่างดี และเนื่องจากปัจจุบันเป็นยุคที่เทคโนโลยีเฟื่องฟู ทั้งหน่อยยังเห็นความสำคัญของนวัตกรรมเหล่านั้น เธอจึงมุ่งมั่นที่จะสื่อสารและถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีให้แก่นักเรียนอย่างเต็มที่ โดยสิ่งสำคัญที่สุดที่หน่อยคิดว่าครูทุกคนต้องยึดถือคือ ความเข้าใจนักเรียน เพราะนักเรียนแต่ละคนมีความสามารถและมีพื้นฐานทางวิชาการที่แตกต่างกัน ครูที่ดีนอกจากจะรักการสอนแล้ว ยังต้องเข้าใจบริบทของนักเรียน เพื่อค้นหาวิธีการที่จะทำให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุดนั่นเอง “ตอนนี้เราสนุกกับการสอน เราเริ่มมีความสุขกับการสอน เราเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่เราพูดออกไป เราต้องให้นักเรียนเข้าใจ เราต้องให้นักเรียนได้ความรู้ เพราะฉะนั้นก็พูดได้เลยว่า ตอนนี้อยู่เพื่อนักเรียน อยากทำอะไรทุก ๆ อย่างเพื่อให้เขาได้ความรู้มากที่สุดในสายวิชาของเรา”   เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ภาพ : ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม