พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ ชวนทุกคนข้ามดาวไปพร้อมกับ 'School of Changemakers'

พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ ชวนทุกคนข้ามดาวไปพร้อมกับ 'School of Changemakers'
มนุษย์ตัวเล็ก ๆ จะสามารถแก้ปัญหาใหญ่ ๆ ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับตัวเองเลยได้หรือไม่? ความฝันที่ดูห่างไกล จะกลายเป็นจริงในมือคนธรรมดาได้หรือเปล่า? ถ้าคุณมีคำตอบในใจว่า “เป็นไปไม่ได้หรอก เลิกฝันเถอะ” คนกลุ่มหนึ่งจะขอห้ามความคิดนั้นไว้ และอธิบายว่า ทำไมคุณจึงไม่ควรประเมินศักยภาพของตัวเองไว้น้อยขนาดนั้น “เราทำงานกับคนที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลง อยากจะแก้ปัญหาสังคม มานั่งทบทวนดู จริง ๆ แล้วเราไม่ได้สอนพวกเขาว่าเครื่องมือควรจะเป็นอะไร business model ควรจะหน้าตาเป็นยังไง จากประสบการณ์ของเรา เราเรียกมันว่า ‘การพาคนข้ามดาว’ มากกว่า” ‘นุ้ย’ พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ก่อตั้ง School of Changemakers กล่าวบนเวที TEDxBangkok บนเวทีนี้ นุ้ยได้มีโอกาสบอกเล่าถึงงานที่เธอทำ รวมถึงแบ่งปันเรื่องราวจากหลาย ๆ คนที่เดินเข้ามาขอคำปรึกษา โดยแต่ละคนที่เข้ามา นอกจากความตั้งใจ หลายคนแทบไม่มีต้นทุนหรือความรู้อะไรมาตั้งแต่แรก “วันแรกที่ได้เจอพี่ ๆ น้อง ๆ ที่เขาอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ไม่มีหรอกค่ะ ไอ้ที่มาถึงแล้วบอกว่า ฉันจะ change the world หรือจะเปลี่ยนนู่นเปลี่ยนนี่ ทุกคนมีแต่ความตั้งใจล้วน ๆ” School of Changemakers คือองค์กรที่อยากสนับสนุนคนมีฝัน คนที่อยากริเริ่ม อยากเปลี่ยนแปลงและสร้างสังคมดี ๆ ให้มีแนวทาง มีคนคอยให้คำปรึกษา รวมถึงมีเงินทุนตั้งต้นให้มาต่อยอดไอเดียที่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่กับสังคมได้ พูดถึงการเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียว หลายคนอาจยังไม่เข้าใจ บนเวทีนุ้ยจึงยกตัวอย่างไอเดียของเด็ก ๆ ที่เธอประทับใจมาแบ่งปันด้วย “คนแรกที่อยากเล่าให้ฟังคือน้องอัฐค่ะ ตอนอัฐเดินมาหาเราเขาเรียนอยู่ประมาณปี 2-3 อัฐเล่าให้ฟังว่า ตอนเขาอยู่มัธยม ตอนทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ช่วงนั้นดูทีวีแล้วเห็นข่าวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พอครูถามว่าโครงงานวิทยาศาสตร์อยากทำอะไร อัฐก็บอกครูว่า ผมอยากทำเสื้อเกราะให้พี่ ๆ ทหาร ครูมองหน้าอัฐค่ะ แล้วบอกว่า ‘อย่าเลย ยาก’ อัฐจึงเก็บความอัดอั้นนั้นไว้ แล้วค่อยหอบความตั้งใจมาหาเรา” ไอเดียของอัฐคือการร่วมมือกับเพื่อน ๆ ทำโปรเจกต์เล็ก ๆ ชื่อ Dream Hub ที่อยากชวนเด็กมัธยมมาฝัน พวกเขาจะเริ่มต้นถามคำถามเด็ก ๆ โดยไม่ปิดกั้น ว่าโตขึ้นฝันอยากเป็นอะไร ไม่ว่าจะอยากเป็นครู อยากเป็นเชฟ หรือวิศวกร พวกเขาก็จะพารุ่นพี่ศิษย์เก่า ที่ทำงานในด้านนี้มาสร้างกิจกรรม ให้น้อง ๆ ได้ทดลองทำเกี่ยวกับอาชีพนั้น ๆ แล้วดูว่าความจริงกับความฝันมันจะไปด้วยกันได้ไหม นุ้ยบอกว่ามันนับเป็นหนึ่งโปรเจกต์ที่น่าสนใจ เพราะมีจุดเริ่มต้นมาจากความอัดอั้นของตัวอัฐเอง “การสร้างความเปลี่ยนแปลง มันต้องหาจุดตั้งต้นว่า เราอินเรื่องไหน ถ้าเราอินเรื่องนั้นมันจะมีแรงผลักดันให้เราไปทำต่อ เวลาเจอปัญหาเราจะไม่เลิกง่าย ๆ ถ้าเจอเรื่องที่อินแล้ว สเต็ปต่อไป คือ การพยายามเข้าใจปัญหา” เข้าใจปัญหา คือการเข้าไปค้นหาคำตอบ หาต้นตอ หาสาเหตุให้ได้ว่าจริง ๆ แล้วปัญหามันอยู่ตรงไหน นุ้ยยกตัวอย่างเรื่อง “หนี้ชาวนา” ด้วยคำถามที่ว่า “ทำไมชาวนาถึงเป็นหนี้?” เพราะต้นทุนสูงกว่าราคาขาย แล้วต้นทุนที่ว่าคืออะไร? นอกจากค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรงแล้ว มันมีปัจจัยอื่นอีกไหม? การที่ชาวนาต้องปลูกข้าวโดยขึ้นอยู่กับฟ้าฝน ปลูกขายแข่งกับคนทั้งโลก หรือแม้แต่พฤติกรรมการกินของเรา ที่กินข้าวอยู่แค่ไม่กี่พันธุ์ มันทำให้ชาวนาไม่มีทางเลือกจนต้องไปปลูกเฉพาะพันธุ์ที่มีคนกินหรือเปล่า? เมื่อสาวไปถึงต้นตอ เราค่อยมาพยายามหาทางออก เช่น แนะนำชาวนาให้ปลูกข้าวออร์แกนิกดีไหม เพราะได้ราคาดี แต่กว่านาเคมีจะกลายเป็นนาอินทรีย์ก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ชาวนาที่มีหนี้จะประคองตัวเองไปจนถึงตอนนั้นได้หรือเปล่า นุ้ยบอกว่า นี่คือกระบวนการที่จะทำให้เราไม่มองปัญหาจากภายนอก และไม่คิดว่าทำไมองค์กรนั้น หรือหน่วยงานนี้จะต้องทำอะไรสักอย่าง แต่จะเริ่มหาโอกาสและช่องว่างที่เราจะเติมตัวเองเข้าไปเพื่อแก้ปัญหานั้น ๆ “ในกรณีอย่างนี้ ถ้าหาข้อมูลได้ เราจะเริ่มเห็นหนทางแล้วว่า เราไปชวนคนไทยกินข้าวหลาย ๆ พันธุ์ดีไหมนะ ชาวนาจะได้มีทางเลือกในการปลูกพันธุ์พื้นเมือง หรือเราจะไปหาคนที่ค่อนข้างใจกล้า ยอมกินข้าวกึ่งปลอดสารไปสัก 3 ปี ช่วยให้ชาวนาขายข้าวราคานี้ในช่วงที่กำลังปรับเป็นนาอินทรีย์ได้ แล้วเดี๋ยวราคามันดีเอง” เมื่อการเปลี่ยนแปลงเดินทางมาถึงบทเรียนสุดท้าย นุ้ยบอกว่า “การทดลองทำ” จะเป็นบทพิสูจน์ว่าภาพที่เราเคยวาดฝันไว้ จะเกิดขึ้นได้ในความเป็นจริงหรือเปล่า ข้อนี้เธอยกประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสเข้าไปสอนหนังสือให้นักเรียนของโรงเรียนปัญญาประทีป เธอเล่าว่า ตอนนั้นได้มีโอกาสพานักเรียนไปลงพื้นที่ที่เกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา เธอบอกว่าตอนนั้นเด็ก ๆ ไปสังเกตเห็นกระชังปลาของชาวบ้านที่ใช้ทุ่มโฟมอัดผูกกับอวน โฟมที่เก่ามากแล้วจะค่อย ๆ หลุดร่อนไปในทะเล ไม่ก็ไปติดตามชายหาด เด็ก ๆ ก็ตั้งคำถามว่า โฟมตรงนี้มันสามารถใช้วัสดุทดแทนได้ไหม แต่ละคนค่อย ๆ ออกไอเดียกันว่า ถังไม้ได้ไหมนะ หรือถังสเตนเลส สุดท้ายไปตกถังสารเคมีใช้แล้ว ที่มีบริษัทหนึ่งยอมบริจาคมาให้เรา เด็ก ๆ ก็เตรียมเอาถังไปลอยดู แต่ตอนนั้นติดปัญหาว่า ตัวถึงพังงาแล้วแต่ถังยังอยู่กรุงเทพฯ ลืมส่งถังไป แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร ตอนนั้นก็ได้ชาวบ้านช่วยออกไอเดียว่าใช้เป็นขวดพลาสติกปิดฝาแทนได้ไหม ลองเอาอวนพันรอบ ๆ ดู ตอนนั้นจึงถือว่ารอดไปได้ นุ้ยบอกว่าโปรเจกต์นี้กว่าจะกลับมากรุงเทพฯ กว่าจะส่งถังไปใช้ได้จริง ต้องเทียวไปเทียวมาหลายรอบมาก แต่สิ่งที่เด็ก ๆ ได้กลับมาก็คุ้มค่ากับความเหนื่อย “เวลาเริ่มคิด เด็กเขาจะมองว่ากลุ่มเป้าหมายคือชาวบ้าน แต่พอทำโปรเจกต์ไปได้สักพัก ชาวบ้านจะไม่ใช่แค่ชาวบ้าน เพราะเขาจะกลายเป็นพี่ป้าน้าอา โปรเจกต์ที่เคยเป็นของผม เป็นของพวกเรา มันกลายเป็นโปรเจกต์ของชุมชนที่ทุกคนมีส่วนร่วม คนทำก็จะเห็นภาพว่า เฮ้ย ที่เราทำอยู่ ไม่ใช่ว่าเราลงไปช่วยใคร แต่คือการไปช่วยกัน เขาจะได้รู้ว่าช่องว่างระหว่างการคิด การลงไปทำ กับความเป็นจริงมันต่างกัน และมันเปลี่ยนชีวิตเด็ก” มากไปกว่าการเปลี่ยนมุมมองของเด็ก ๆ คือการเปลี่ยนคนรอบข้าง นุ้ยเล่าว่าหลังจบโปรเจกต์นี้ เริ่มมีชาวบ้านที่เกาะยาวน้อยตั้งคำถามว่า ทำไมเด็กที่อยู่ไกลต้องบินลงมาทำอะไรบนเกาะ แล้วทำไมเด็กบนเกาะถึงไม่เคยได้เรียนรู้ ไม่เคยได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของบ้านตัวเองเลย บางคนจึงเริ่มชวนลูก ๆ ออกมาทำอะไรเองแล้ว นี่คือผลลัพธ์ที่ได้จากงานของเด็กอายุ 15 ทั้ง 5 คน “โปรเจกต์อาจจะเปลี่ยนชุมชนบ้างหรือบางครั้งก็ไม่เปลี่ยนเลย แต่สิ่งที่เปลี่ยนแน่ ๆ คือตัวคนทำ เราจะรู้เลยว่าตัวเราเป็นคนยังไง มีข้อดีข้อเสียอะไร และจะทำงานกับคนอื่นได้ไหม การที่เราดึงด้านดีของตัวเองออกมา มันทำให้เกิดแรงดึงดูดบางอย่าง ที่ทำให้คนรอบข้าง เขาอยากจะดึงด้านดีของตัวเองออกมาด้วย เขาอยากมาร่วมกับโปรเจกต์กับเราเพราะมันดี เพราะมันสนุก มันอาจจะทำให้เขาอยากลุกขึ้นมาทำโปรเจกต์ของตัวเองด้วย” นุ้ยบอกว่า เธออยากมาชวนทุกคนข้ามดาวไปด้วยกัน แม้ว่าแต่ละโปรเจกต์จะต่างกันในรายละเอียด แต่ที่จริงแล้วขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงนั้นคล้ายกัน แค่เริ่มจากตัวเอง ศึกษาปัญหา และลงมือทำ เมื่อเดินตามเส้นทางนี้ สิ่งที่เราจะได้กลับมา คือ ความรู้สึก “มั่นใจ” ว่าคนตัวเล็ก ๆ อย่างเราสามารถเปลี่ยนอะไรได้ “ลองจินตนาการภาพชีวิตของตัวเอง ที่เรามั่นใจว่าเจออะไร เราดีลได้ เจอปัญหา เราแก้ได้ เมื่อเราเปลี่ยนแล้ว สังคมรอบตัวจะเปลี่ยนตามเรา มันไม่ต้องรอนะคะ ไม่ต้องรอแก่กว่านี้ เก่งกว่านี้ รวยกว่านี้ มีโอกาสมากกว่านี้ หรือรอคนมาชวน หมดแล้วค่ะ ยุคที่เราเอาตัวเองให้รอดก่อน แล้วค่อยไปยุ่งเรื่องชาวบ้าน ยุคนี้ไปยุ่งเรื่องชาวบ้านเถอะ แล้วเราจะรอดไปด้วยกัน       ภาพ: TEDxBangkok (จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2563)