บุคและนนท์ School Town King: ความฝันราคาแพงของแร็ปเปอร์คลองเตย

บุคและนนท์ School Town King: ความฝันราคาแพงของแร็ปเปอร์คลองเตย
***เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์ ในภาพยนตร์เรื่อง "Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์" ที่เข้าฉายเมื่อปี 2548 เป็นสารคดีที่เข้าไปสำรวจชีวิตและความคิดในช่วงหนึ่งปีของเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มหนึ่งที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ในวัยที่เต็มเปลี่ยนไปด้วยพลังงาน ความสดใส และความฝัน แต่ลึกภายในใจของพวกเขาเหล่านั้นมันบรรจุไปด้วยความกดดันในชีวิตว่าเส้นทางไปต่อระดับมหาวิทยาลัยของพวกเขาที่สุดแล้วคำตอบคือที่ไหน? ผ่านไป 15 ปี แม้ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนผ่านจากโทรศัพท์จอสีมาเป็นสมาร์ทโฟน ความรู้สึกของวัยรุ่นในยุคนี้เมื่อถึงวัยตัดสินอนาคตของตัวเองก็คงไม่ได้ต่างไปจากข้างต้นเท่าไหร่นัก แต่ถึงอย่างนั้น สังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงมาก แน่นอนว่า ความเครียดของวัยรุ่นชนชั้นกลาง กับความเครียดของเด็กรากหญ้าย่อมมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน  และสิ่งที่แตกต่างกันมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ...ทางเลือก (choice) เด็กหลายคนมีโอกาสในชีวิตที่ดีกว่า มีทางเลือกมากกว่า แต่เด็กบางคนมีทางเลือกน้อยกว่านั้น หรือแทบไม่มีทางเลือกเลย "ความฝัน" สำหรับเด็กกลุ่มหลังเลยกลายเป็นสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย และเมื่อมันอยู่ไหนฉากหลังของระบบการศึกษาที่ไม่วางทางเลือกที่หลากหลายพอให้กับเด็ก พวกเขาจึงต้องเอาทุกอย่างเข้าแลก หรือไม่ก็ยอมจำนนกับความฝันที่ยากเย็นนั้นแล้วกลับเข้าสู่สถาบันการศึกษาปกติ เฉกเช่นเส้นทางชีวิตของบุค และ นนท์ ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง School Town King (กำกับโดย วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย) ภาพยนตร์สารคดีที่เจาะชีวิตแร็ปเปอร์รุ่นใหม่ที่คลองเตยสองคนนี้ คนหนึ่งลาออกจากโรงเรียน เพื่อก้าวสู่เส้นทางแร็ปเปอร์...อีกคนลาอออกจากการเป็นแร็ปเปอร์ เพื่อกลับสู่ระบบโรงเรียน แต่คำถามก็คือ แล้วมันเป็นไปไม่ได้เหรอ ที่การเป็นแร็ปเปอร์ กับระบบการศึกษา จะเป็นเรื่องเดียวกันได้? School Town King พาไปสำรวจชีวิต ความรู้สึก และความฝันของ subject ได้อย่างน่าสนใจ และพาไปไกลถึงการตั้งคำถามต่อระบบการศึกษาที่เป็นอยู่นี้ ... ภาพยนตร์เรื่องนี้ เปิดด้วยการแร็ปของบุคอย่างดุดันหลายนาทีบนที่นั่งด้านหลังของรถ เพื่อแนะนำตัวเขาเองและนนท์-น้องในชุมชนคลองเตยที่ติดรถมาด้วยกัน ก่อนที่จะตัดไปภาพข่าวเพื่อบอกเล่าถึงสภาพของชุมชนคลองเตยที่มีกว่า 40 ชุมชนกับประชากรราว 120,000 คน ในภาพยนตร์ 8 Mile ที่นำแสดงโดยแร็ปเปอร์อย่าง เอมิเน็ม ที่พูดถึงชีวิตของแร็ปเปอร์ที่อยู่ในชุมชนเสื่อมโทรม ในตอนท้ายของเรื่องตอนที่ดวลแร็ปกับคู่แข่ง ตัวละครเอกแทนที่จะใช้ rhyme เพื่อการบดขยี้คู่แข่ง แต่เขากลับใช้การแร็ปนั้นเพื่อหันกลับมาด่าชีวิตที่ย่ำแย่เละเทะของตัวเองจนชนะใจผู้คนรอบข้าง บุคและนนท์ School Town King: ความฝันราคาแพงของแร็ปเปอร์คลองเตย School Town King อาจจะมีลีลาการเล่าเรื่องในทำนองนี้ เพียงแต่ว่าภาพยนตร์ได้หอบปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมา (ในสายตาของคนนอก) มากองไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องผ่านฟุตเทจข่าวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคลองเตย และพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ผ่านเรื่องราวในหนังตั้งแต่ต้นจนจบ บุค และ นนท์ คือ subject สำคัญในเรื่องที่คนทำหนังติดตามถ่ายชีวิตของพวกเขาทั้งสอง จนเห็นว่าในขณะที่ทั้งสองคนฝันอยากจะเป็นแร็ปเปอร์ พวกเขาแร็ปเล่าเรื่องตัวเองและสังคมผ่านสื่อออนไลน์ แร็ปผ่านเวทีชุมชน ไปจนถึงจัดการดวลแร็ปในชุมชน ด้วยความฝันที่จะสร้างตัวเองและสังคมของ "แร็ปเปอร์" ให้เกิดขึ้นที่นี่ แต่น้ำหนักความฝันดังกล่าว มันกลับถูกกดดันจากรอบข้าง ตั้งแต่ครอบครัวไปจนถึงระบบการศึกษา... ยิ่งแร็ป เกรดการเรียนยิ่งตกต่ำลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในกรณีบุค ที่สมัยมัธยมฯ ต้นเป็นเด็กที่มีระดับผลการเรียนดีมาก แต่พอเข้าสู่วงการแร็ปเปอร์แล้ว ดูเหมือนเกรดจะตกลงเรื่อย ๆ น่าสนใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับบุคและนนท์ มาจากการไม่ตั้งใจเรียนเพราะไปแร็ป หรือหากจะมองอีกมุมหนึ่งนั่นก็คือ หรือเพราะว่าระบบการเรียน สถาบันศึกษาแบบไทย ๆ นั้นแข็งกระด้างจนกดทับ แทนที่จะส่งเสริมทักษะบางอย่างของเด็กที่ไม่มีบรรจุในหลักสูตรระบบการเรียนของไทยอย่างจริงจัง ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมองมาที่ครอบครัวของเด็กทั้งสอง ความลำบากของคนรุ่นพ่อแม่ ทำให้พวกเขามองความฝันการเป็น "แร็ปเปอร์" ของเด็กทั้งสองด้วยสายตาอีกแบบ มองว่าเป็นกระแสเดี๋ยวมา เดี๋ยวไป สู้ตั้งใจเรียนสูง ๆ เพื่อหางานทำดีกว่า ซึ่งอันที่จริงหลายครั้งแรงกดดันจากครอบครัวที่หนังนำเสนอให้เห็นนั้นก็มาจากความรู้สึกของพ่อแม่ที่ว่า ไม่อยากให้ลูกมาลำบากเหมือนพวกเขา ทางเลือกของชีวิตที่แสนอัตคัดจึงถูกบีบให้แคบลงเรื่อย ๆ ที่ตลกร้ายก็คือ ครอบครัวของนนท์มีความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างลำบาก แต่ในที่สุดบ้านที่ทรุดโทรมกลับถูกสร้างใหม่โดย "ทหาร" เข้ามาช่วยพัฒนาพื้นที่ให้ดูเป็นบุญเป็นคุณกันไป แทนที่มันควรจะเป็นสวัสดิการที่เขาพึงได้ในฐานะพลเมืองของรัฐอยู่แล้ว ช่วงครึ่งหลังของ School Town King จึงดูหนักหน่วง เพราะ "ความฝัน" บนเส้นทางแร็ปเปอร์ของเด็กทั้งสองคนที่ปูมาตั้งแต่ต้นเรื่องถูกบดขยี้ลงเรื่อย ๆ บุคเริ่มไม่ลงรอยกับพ่อที่อยากให้ลูกได้เรียนสูง ๆ เขามีปัญหาการเรียนหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายต้องออกจากโรงเรียน ส่วนนนท์ สงสารแม่ที่เลี้ยงตนและน้อง จึงลาออกจากการเป็นแร็ปเปอร์ที่เขาเริ่มหลงรัก เพื่อกลับมาเรียนหนังสือในระบบปกติ สำหรับสองคนนี้ ไม่ว่าเลือกทางไหน ต้องเสียอีกทางเลือกหนึ่ง เดาได้ไม่ยาก...คงเจ็บปวดไม่ต่างกัน คำพูดสำคัญคำหนึ่งในภาพยนตร์ เมื่อพ่อของบุคถูกถามว่า คิดว่าเพราะอะไรจึงทำให้เด็กเรียนดีอย่างบุคถึงไม่เดินบนเส้นทางการศึกษา แล้วออกจากโรงเรียน พ่อมองว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าตัวเขาเองที่ละทิ้งการเรียน แต่ในขณะเดียวกัน พ่อก็ตั้งคำถามกับระบบการศึกษาว่า ถ้าเปิดกว้างให้กับความสนใจของเด็กมากกว่านี้ มันอาจจะดีกว่านี้ เรา, ในฐานะคนนอกที่มองเข้าไปในภาพยนตร์ คงไม่ต่างจากฉากท้าย ๆ ของ School Town King ที่เป็นฉากกล้องไหลแช่ยาว ๆ เพื่อให้เรามีโอกาสได้ยืนอยู่บนถนนแคบ ๆ ในซอยแถวคลองเตยเพื่อสำรวจบ้างนั้นบ้านนี้ สุดท้ายเราก็ได้แต่ชะเง้อมองนอกหน้าต่างเข้าไปในบ้าน เพื่อดูว่าบ้านแต่ละหลังเป็นอย่างไร เราอาจจะพยายามเข้าใจ หรือตัดสินพวกเขาไปแล้วว่าเป็นคนแบบไหน แต่ที่สุดมันก็ไม่อาจจะรับรู้สิ่งที่พวกเขาประสบพบเจอได้เต็มร้อย แม้ว่านนท์ จะกลับไปเรียนหนังสือแล้ว แต่บุคยังคงเป็นแร็ปเปอร์ หากมีโอกาสในรอบหน้า ได้ฟังเพลงแร็ปของบุคที่ใช้ชื่อในวงการนี้ว่า Elevenfinger ลองตั้งใจฟัง rhyme ของเขา เขากำลังแร็ปเพื่อความฝัน หรือแร็ปเพื่อระบายเรื่องที่อัดอั้นอยู่ในใจ? นั่นหละ คือเรื่องราวชีวิตของเด็กคนหนึ่งที่หันหลังให้ระบบการศึกษา เพื่ออยากเป็นแร็ปเปอร์... . ***ชื่อบทความ ดัดแปลงจากชื่อหนังสือ "การล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ความรักไม่อาจเยียวยา" ของอรุณวดี อรุณมาศ