Sea (ประเทศไทย) จับมือ กสศ. เปิดโครงการ “ปลูกทักษะชีวิต คิดทันโลกดิจิทัล”

Sea (ประเทศไทย) จับมือ กสศ. เปิดโครงการ “ปลูกทักษะชีวิต คิดทันโลกดิจิทัล”
Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ อาทิ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney) จัดทำ โครงการ “ปลูกทักษะชีวิต คิดทันโลกดิจิทัล” พร้อมจับมือกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นพันธมิตรรายแรก ร่วมสร้าง ‘แรงงานไทยเข้มแข็ง’ โต้คลื่นดิสรัปชั่นและวิกฤตโควิด-19 โดยมุ่งกระจายองค์ความรู้ด้านการทำธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซในกลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษาทั่วประเทศ รวมกว่า 4,000 คน ปลูกทักษะและวิธีคิดแบบผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Skills) ตลอดจนทักษะที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการยุคดิจิทัล (Employability Skills) เตรียมความพร้อมสู่การเป็นแรงงานแห่งอนาคต ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน Digital Nation ในไทย Sea (ประเทศไทย) จับมือ กสศ. เปิดโครงการ “ปลูกทักษะชีวิต คิดทันโลกดิจิทัล” ฐานชีวิตใหม่ (New Normal) ในยุคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยอย่างใหญ่หลวง ทั้งในแง่ชั่วโมงทำงานและรายได้ที่ลดลง โดยข้อมูลจาก KResearch ในปี 2563 คาดการณ์ว่ามีแรงงานไทยราว 5.9 แสนคนที่กลายเป็นผู้ว่างงาน และมีผู้เสมือนว่างงาน (ผู้ที่ทำงานน้อยกว่าวันละ 4 ชั่วโมง) ราว 2.1 ล้านคน นอกจากนี้ การพัฒนาทักษะที่หยุดชะงักไปยิ่งทำให้แรงงานเหล่านี้ห่างไกลจากการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต ด้วยมีช่องว่างทางทักษะที่มากเกินไป โดยรายงาน The Future of Jobs Report 2020 โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) พบว่าแรงงานไทยที่มีองค์ความรู้ด้านทักษะดิจิทัลมีเพียง 54.9% แสดงให้เห็นว่ายังมีแรงงานไทยที่ควรได้รับการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อต่อยอดโอกาสการประกอบอาชีพ Sea (ประเทศไทย) จับมือ กสศ. เปิดโครงการ “ปลูกทักษะชีวิต คิดทันโลกดิจิทัล” นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ปัจจุบัน ธุรกิจต่างๆ หันมาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอีคอมเมิร์ซ โดยรายงาน e-Conomy SEA 2020 จาก Google, Temasek และ Bain & Company กล่าวถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอีคอมเมิร์ซไทยว่าในปี 2563 มีมูลค่าถึง 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2568 ดังนั้นทักษะด้านอีคอมเมิร์ซและการทำธุรกิจบนโลกดิจิทัล จึงเป็นทักษะสำคัญในการเปิดโอกาสทางด้านอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นตำแหน่งที่กำลังเป็นที่ต้องการสูงในตลาดแรงงานไทยในปัจจุบัน” “ทั้งนี้ บทบาทของเทคโนโลยีโดดเด่นขึ้นอย่างกะทันหันอาจยากต่อการปรับตัว ผู้คนบางส่วนยังมองการพัฒนาทักษะดิจิทัลเป็นเรื่องไกลตัวไม่สัมพันธ์กับการหาเลี้ยงชีพ ดังนั้น Sea (ประเทศไทย) จึงริเริ่มโครงการ ‘ปลูกทักษะชีวิต คิดทันโลกดิจิทัล’ เพื่อช่วยยกระดับทักษะดิจิทัลให้กับนักศึกษาสายอาชีพที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย เปิดโอกาสการเข้าถึงช่องทางสร้างรายได้หลักและรายได้รองที่มีความเสี่ยงต่ำและใช้ต้นทุนต่ำ ในขณะเดียวกันก็มุ่งให้ความรู้ที่ต่อยอดการเติบโตในอนาคตอย่างรอบด้าน อาทิ การทำธุรกิจและการตลาดดิจิทัล การวิเคราะห์กลุ่มลูกค้า การบริหารจัดการต้นทุน เป็นต้น ซึ่งเป็นการปลูกต้นกล้าผู้ประกอบการและทลายเพดานความสามารถให้ผู้ร่วมโครงการเป็นแรงงานแห่งอนาคตที่สามารถมีความเป็นอยู่และรายได้ที่มั่นคง ทั้งยังสามารถเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี” นางสาวมณีรัตน์กล่าวเสริม นักเรียนอาชีวศึกษาเป็นแรงงานแห่งอนาคตที่สำคัญและควรได้รับการสนับสนุน จากงานวิจัยของ กสศ. พบว่าในอีก 10 ปี ประเทศไทยต้องการแรงงานปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ (ทล.บ.) ที่ต่อยอดมาจากการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มากถึง 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด อย่างไรก็ตามจำนวนนักศึกษาสายอาชีพจบใหม่กลับมีแนวโน้มลดลง และมีนักศึกษาสายอาชีพลาออกกลางคันกว่า 80,000 คนต่อปีจากปัญหารายได้ครอบครัว Sea (ประเทศไทย) จับมือ กสศ. เปิดโครงการ “ปลูกทักษะชีวิต คิดทันโลกดิจิทัล” ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า “กสศ. มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยได้ดำเนินการโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ส่งเสริมโอกาสให้เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่มีความยากจน 20% ล่างสุดของประเทศได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น จากข้อมูลพบว่าในประเทศไทยมีเด็กเกิดปีละราว 7 แสนคน และในจำนวนนี้ มีเพียง 5% หรือประมาณ 8,000 คน ที่มีโอกาสเรียนสูงกว่าระดับ ม.6 ดังนั้นโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง จึงมุ่งส่งเสริมการศึกษาต่อที่เน้นในสายอาชีพสำคัญของประเทศที่ต้องการกำลังคน ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศตาม 10 อุตสาหกรรม S Curve และ New S Curve สาขา STEM (วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี) รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้หากเด็กกลุ่มนี้จบการศึกษาและได้รับการจ้างงานก็จะสามารถช่วยให้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้น ซึ่งจะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าโอกาสทางการศึกษาทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง เราเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพและจะมีชีวิตที่ดี หลุดพ้นจากความยากจนได้ หากได้รับการศึกษา” “นอกจากการมอบทุนการศึกษาดังกล่าว กสศ. ยังร่วมมือกับ Sea (ประเทศไทย) ในโครงการ “ปลูกทักษะชีวิต คิดทันโลกดิจิทัล” เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาทุนอาชีวะในกลุ่มเปราะบางจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย สามารถมีรายได้ระหว่างเรียนและยังคงอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปได้ ทั้งยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ นำองค์ความรู้และทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มาสู่นักเรียนนักศึกษา ถือเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ช่วยเสริมทักษะชีวิตเพิ่มเติมให้น้องๆ” ดร.ไกรยสกล่าว Sea (ประเทศไทย) จับมือ กสศ. เปิดโครงการ “ปลูกทักษะชีวิต คิดทันโลกดิจิทัล” ในระยะแรกโครงการ ‘ปลูกทักษะชีวิต คิดทันโลกดิจิทัล’ จะนำร่องด้วยโครงการ ‘เสริมแกร่งอาชีวะสู่ผู้ประกอบการดิจิทัล’ ผู้ร่วมโครงการทุกคนจะได้ร่วมเรียนคอร์สออนไลน์จากผู้เชี่ยวชาญบน Shopee Bootcamp ซึ่งครอบคลุมความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเปิดร้านค้าออนไลน์ รวมถึงการจัดการบริหารร้านค้า ไม่ว่าจะเป็นการจัดสินค้าบนร้าน การจัดการคำสั่งซื้อและการขนส่ง การทำโฆษณาและโปรโมชั่น เพิ่มยอดขายด้วยเครื่องมือการตลาดของช้อปปี้ที่หลากหลาย การวิเคราะห์ข้อมูลยอดขาย รวมถึงการขายสินค้าผ่านไลฟ์สตรีม (Shopee Live) ที่ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ Live Streaming Economy ที่แผ่ขยายไปทั่วโลก หลังจากนั้น โครงการฯ จะเปิดรับสมัครทีมนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ระดับ ปวช. ปวส. และอนุปริญญา ตั้งแต่วันนี้จนถึง 15 กรกฎาคม 2564 ที่หน้าโครงการ “ปลูกทักษะชีวิต คิดทันโลกดิจิทัล” บนเว็บไซต์ ทุนสายอาชีพ.com ของกสศ. เพื่อร่วม ‘การแข่งขันทำธุรกิจบนช้อปปี้’ เพื่อต่อยอดความรู้อย่างต่อเนื่อง โดยทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะได้ร่วมอบรมอีคอมเมิร์ซมาสเตอร์คลาสที่จัดโดย Sea (ประเทศไทย) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ความสำเร็จในวงการอีคอมเมิร์ซไทย ต่อยอดความรู้ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ทั้งการบริหารจัดการต้นทุน การทำการตลาดออนไลน์ การวางแผนกลยุทธ์การตลาด การวิเคราะห์ลูกค้าเป้าหมาย และการวางแบรนด์ให้ตอบโจทย์ลูกค้า รวมถึงได้ลงมือปฏิบัติจริงด้วยการเปิดร้านค้าบนช้อปปี้ ซึ่งเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญระหว่างดำเนินกิจกรรม นอกจากนี้ ทุกทีมจะได้รับทุนสนับสนุนเพื่อจัดหาผลิตภัณฑ์จาก Sea (ประเทศไทย) เป็นมูลค่า 10,000 บาท และทีมที่ชนะการแข่งขันจะได้รับเงินรางวัลรวมกว่า 60,000 บาท เพื่อส่งเสริมการต่อยอดธุรกิจต่อไป การเสริมแกร่งอาชีวะสู่ผู้ประกอบการดิจิทัลเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของโครงการ “ปลูกทักษะชีวิต คิดทันโลกดิจิทัล” Sea (ประเทศไทย) ยังมีแผนต่อยอดโครงการในอนาคต เพื่อมอบองค์ความรู้และทักษะที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา ชุมชน และกลุ่มแรงงานที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนต่อไป ตามพันธกิจของ Sea (ประเทศไทย) ที่ต้องการลดช่องว่างทางทักษะให้กับนักศึกษาและแรงงานของประเทศไทย พัฒนาประสิทธิภาพการเรียนรู้ของบุคลากรไทย สร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทยสามารถก้าวข้ามความท้าทายที่เข้ามาทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในโลกของ Digital Nation   เกี่ยวกับ Sea Limited Sea Limited (NYSE: SE) เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านการให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มสำหรับผู้บริโภค ถูกก่อตั้งที่ประเทศสิงคโปร์ในปี 2552 มีพันธกิจของบริษัท คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคและพัฒนาการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยด้วยเทคโนโลยี โดย Sea Limited ดำเนินธุรกิจหลัก 3 ด้าน ประกอบด้วย ดิจิทัลเอนเตอร์เทนเมนท์ (Digital Entertainment) อีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ดิจิทัลเพย์เมนต์และบริการการเงินดิจิทัล (Digital Payments and Financial Services) ได้แก่ การีนา (Garena) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาและให้บริการเกมออนไลน์ชั้นนำระดับโลก ช้อปปี้ (Shopee) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน และซีมันนี่ (SeaMoney) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลเพย์เมนต์และการเงินดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถติดตามข่าวสาร Sea Limited ในประเทศไทย ได้ที่ https://www.seathailand.com/   เกี่ยวกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู ด้วยยุทธศาสตร์การทำงานโดยมีข้อมูลเป็นฐาน การวิจัย สร้างองค์ความรู้ ต้นแบบ หรือนวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยรัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้กองทุน และมีการบริหารงานที่เป็นอิสระ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของ กสศ. ได้ที่ https://www.eef.or.th/