สัมภาษณ์ ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร จากศูนย์ SEAMEO STEM-ED "พัฒนาการศึกษา คือการพัฒนาทุกภาคส่วน"

สัมภาษณ์ ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร จากศูนย์ SEAMEO STEM-ED "พัฒนาการศึกษา คือการพัฒนาทุกภาคส่วน"
"การพัฒนาการศึกษา ไม่ใช่แค่ต้องพัฒนานักเรียนหรือครู แต่ผู้บริหาร หรือบุคลากรในด้านอื่น ๆ ในวงจร ก็ต้องมองเห็นถึงปัญหา และก้าวเข้ามาหาทางแก้ไปด้วยกันด้วย" เพราะมีความสนใจในด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีและโทจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร จึงเริ่มอาชีพของเธอ โดยพุ่งตรงเข้าไปสมัครงานที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เพราะรู้สึกว่า นี่ล่ะ คือเส้นทางชีวิตของเธอ และเพราะตลอดระยะเวลา 4-5 ปี ที่ดร.พรพรรณได้มีโอกาสคลุกคลี และเรียนรู้เรื่องราวมากมายเกี่ยวกับแวดวงการศึกษา เข้าใจธรรมชาติของแต่ละสาขาวิชา รวมถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ของวงจรของการเรียนรู้ เธอจึงเริ่มมองเห็นว่าการศึกษาไทยนั้น ยังขาดอะไรที่จำเป็นต่อการพัฒนาด้านการศึกษาบ้าง แต่เพราะรู้ตัวว่าลำพังตัวเธอเอง คงยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เธอจึงตัดสินใจลาออกจากองค์กรแรกที่เธอเริ่มต้นทำงาน ไปสั่งสมความรู้และประสบการณ์เพิ่มเสียก่อน "เราตัดสินใจไปเรียนต่อด้าน Computer Science Teaching จาก University of North Texas เพราะรู้สึกว่าคอมพิวเตอร์มันเป็นอะไรที่ใหม่และน่าสนใจมาก การได้มีโอกาสเรียนตั้งแต่พื้นฐาน ทำให้เราได้มีโอกาสเรียนรู้การใช้ตรรกะ การใช้เหตุผล คิดวิเคราะห์แก้ปัญหา นี่ล่ะคือสิ่งที่ตอนนี้เราเรียกกันว่า ทักษะยุคใหม่ซึ่งที่จริงมันไม่ได้ใหม่เลย มันมีมานานแล้ว พอเราเรียนอะไรพวกนี้ มันจึงทำให้เราไม่ตื่นตระหนกกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่หมุนไปพร้อมโลก" เมื่อได้มีโอกาสไปศึกษาในต่างประเทศ เธอจึงมองเห็นความแตกต่างด้านการเรียนการสอนระหว่างต่างประเทศกับไทย เพราะในที่ผ่านมารูปแบบการสอนระหว่างครูกับนักเรียนมักเป็นการ ‘ป้อน’ ความรู้ให้แก่เด็ก ๆ และคาดหวังว่าพวกเขาจะจำ และนำไปใช้เองได้ แต่เพราะเด็ก ๆ ไม่มีโอกาสได้ลงมือปฏิบัติ ไม่มีโอกาสได้ลองทำ พวกเขาจึงไม่อาจเข้าใจองค์ความรู้เหล่านั้นได้อย่างถ่องแท้ และนั่นก็เป็นเป้าหมายแรก หลังจบการศึกษาในระดับปริญญาเอกที่ดร.พรพรรณมองว่าจำเป็นต้องเปลี่ยน สัมภาษณ์ ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร จากศูนย์ SEAMEO STEM-ED "พัฒนาการศึกษา คือการพัฒนาทุกภาคส่วน" การศึกษาที่เปลี่ยนไปมา? ดร.พรพรรณ เล่าว่า หลายปีที่ผ่านมาสิ่งที่เธอมองเห็นคือ ความไม่คงเส้นคงวา ของนโยบายที่เปลี่ยนไปตามวิสัยทัศน์ของผู้นำด้านการศึกษาของประเทศ หลายครั้งที่มีการเปลี่ยนผู้บริหาร ทั้งทิศทางและนโยบายต่าง ๆ ที่ได้มีการเริ่มต้นไปแล้ว กลับไม่มีการสานต่อ เธอมองว่าการทำเช่นนี้ทำให้การพัฒนาด้านการศึกษาหยุดชะงัก และผลกระทบก็จะตกไปอยู่ที่เด็ก ๆ "เด็ก ๆ ในบ้านเราเรียนวันละ 8 วิชามาหลายสิบปี ซึ่งบางทีมันอาจมากเกินไปที่เขาจะรับไหว ขณะที่โรงเรียนในสิงคโปร์ เด็กเล็กจนถึงระดับป. 2 เขาเรียนแค่วันละ 4 วิชา ซึ่งล้วนเป็นการปูพื้นฐานให้เด็กอ่านออกเขียนได้ เรียนคณิตศาสตร์ให้เด็กเริ่มคำนวณเป็น ก่อนจะไปสู่องค์ความรู้ที่ลึกลงไป อย่างวิทยาศาสตร์ตอนที่เขาโตขึ้นมา" ดร.พรพรรณบอกว่า เรื่องเวลาเรียนก็เป็นประเด็นสำคัญที่ไม่ได้มีการหารือว่าเด็ก ๆ ควรจะเรียนเท่าไหร่จึงจะเหมาะกับพัฒนาการของเขามานานแล้ว เธอยกตัวอย่างผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัด คือทั้งที่เด็กไทยเรียนวันละมากมายขนาดนั้น แต่หลายครั้งที่มีการทดสอบเด็ก ๆ เกี่ยวกับความรู้ด้านภาษา และการคำนวณพื้นฐาน เมื่อเทียบกับเด็ก ๆ จากต่างประเทศ เธอกลับพบว่าประสิทธิ์ภาพของเด็กไทยนั้นด้อยกว่า และนี่ก็เป็นอีกปัญหาที่เธอมองว่าต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน สัมภาษณ์ ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร จากศูนย์ SEAMEO STEM-ED "พัฒนาการศึกษา คือการพัฒนาทุกภาคส่วน" ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำก็เช่นกัน "ความเหลื่อมล้ำที่เราเห็นได้ชัด ก็วัดได้จากเด็กจากโรงเรียนในกรุงเทพฯ กับเด็กต่างจังหวัดเลยค่ะ คุณภาพการศึกษาเท่ากันไหม ต่อให้เด็กบางคนจะมาจากโรงเรียนประจำจังหวัดที่มีชื่อเสียง แต่เด็กที่มีคุณภาพกลับมาจากห้องเรียนไม่กี่ห้องเท่านั้น เราเห็นการแบ่งแยกเด็กห้องเก่งกับห้องธรรมดา นั่นแปลว่าเราไม่สามารถวัดระดับคุณภาพด้านการเรียนการสอนของโรงเรียนนั้นได้จริง ๆ" ทั้งความเหลื่อมล้ำด้านการจัดการในโรงเรียน ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจของเหล่าผู้ปกครอง และการวัดผลที่ไม่ได้ประสิทธิ์ภาพ ทั้งหมดนอกจากจะส่งผลกระทบต่อตัวเด็ก ยังเป็นปัญหาเรื้อรังต่อไปถึงคุณภาพแรงงานของประเทศ ข้อนี้ดร.พรพรรณเล่าว่าเธอได้มีโอกาสพูดคุยกับนายจ้างในต่างประเทศที่ชี้ชัดให้เธอเห็นถึงปัญหานี้ "ตอนนั้นได้มีโอกาสคุยกับนายจ้างชาวญี่ปุ่นที่จ้างเด็กไทยไปทำงานในโรงงาน เด็ก ๆ หลายคนเรียนอาชีวะมา เขาก็จะมีทักษะช่าง ทักษะนักประดิษฐ์ใช่ไหมคะ แต่เพราะบางครั้งเขาไม่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์เป็นฐาน มันจึงทำให้เขาไปได้ไม่สุดในสายอาชีพของเขา สิ่งสำคัญที่ผู้บริหารการศึกษาบ้านเราควรมองใหม่ มันจึงเป็นพื้นฐานไงคะ การศึกษาก่อนที่เด็กจะไปเรียนอาชีวะหรือเรียนต่ออะไรก็ตาม ขอแค่เขามีฐานที่แน่นพอ เขาก็จะสามารถไปต่อในทางที่เขาต้องการได้" สัมภาษณ์ ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร จากศูนย์ SEAMEO STEM-ED "พัฒนาการศึกษา คือการพัฒนาทุกภาคส่วน" สะเต็มศึกษา องค์ความรู้เก่าแต่เรียนรู้แบบใหม่ "ก่อนหน้านี้เรามักจะแบ่งองค์ความรู้เป็นรายวิชาใช่ไหม คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษา ที่ผ่านมาก็อาจจะมีการสอนแบบบูรณาการบ้าง แต่ก็จะมาแบบนาน ๆ ครั้ง เราเลยไม่มีโอกาสได้เห็นผลลัพธ์ด้านการเรียนการสอนจากเด็ก ๆ เท่าไหร่ แต่ต่อจากนี้ไป เราจะได้เห็นการผลักดันมันอย่างเต็มตัว เพราะการได้ลงมือปฏิบัติจริงทำให้เด็กเข้าใจในองค์ความรู้นั้น ๆ ได้เร็วกว่า" ดร.พรพรรณ เล่าว่า ที่จริงประเทศไทยได้มีการผลักดันการศึกษาแบบสะเต็มมานานแล้ว โดย สะเต็มศึกษา (Science Technology Engineering and Mathematics Education: STEM Education) คือ แนวทางการเรียนการสอนที่ต้องการให้เกิดการเรียนรู้ และสามารถบูรณาการความรู้ เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ไปใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริงได้ โดยศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO STEM-ED) ก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อต่อยอดและส่งเสริมสะเต็มศึกษา เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ในประเทศนั่นเอง องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรม และเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องอยู่ในการจัดการเรียนการสอนแบบสะเต็มศึกษาอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เมื่อมีการสอนให้นำไปใช้ ไม่ใช่ท่องจำ มันจึงทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมหรือโครงงานที่พวกเขาลงมือทำจริงได้ และนั่นคือสิ่งที่จะสร้างเสริมประสบการณ์ ทักษะชีวิต และความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็ก ๆ ดร.พรพรรณ บอกว่า การเรียนการสอนแบบลงมือทำ จะทำให้เด็ก ๆ เรียนรู้ได้เร็วขึ้นว่าเขาชอบวิชานี้ไหม ถ้าไม่ชอบแล้วเขาเหมาะกับการทำอะไร ที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินประโยคที่คนนิยมบอกว่า "เด็กไทยหาตัวเองไม่เจอ" แต่เธอคิดว่า การศึกษาแบบสะเต็มจะเข้ามาทำให้คำพูดเหล่านั้นค่อย ๆ หายไปจากสังคมไทย สัมภาษณ์ ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร จากศูนย์ SEAMEO STEM-ED "พัฒนาการศึกษา คือการพัฒนาทุกภาคส่วน" จับมือพัฒนา "ทุกส่วน"  ไปข้างหน้า หลายครั้งที่การพัฒนาด้านการศึกษามักจะพยายามมองหาช่องโหว่และปัญหาเพียงหนึ่งเดียว แต่ที่จริงระบบที่ประกอบไปด้วยฟันเฟืองหลายภาคส่วน คงไม่สามารถมองหาใครคนใดคนหนึ่งมารับผิดชอบต่อความผิดพลาดได้ ดร.พรพรรณ เล่าว่า หลังจากที่ได้ตัดสินใจร่วมมือกับโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ซึ่งมีเป้าหมายอยากจะสนับสนุนและพัฒนาระบบการศึกษาไทยในระยะที่สอง เธอก็เห็นหนทางที่จะพัฒนาหลายภาคส่วนในวงจรการศึกษาให้ก้าวหน้าไปพร้อมกันได้ "ในการพัฒนาการศึกษาไม่ใช่แค่ต้องพัฒนานักเรียนหรือครู แต่ผู้บริหาร หรือบุคลากรในด้านอื่น ๆ ในวงจรก็ต้องมองเห็นถึงปัญหา และก้าวเข้ามาหาทางแก้ไปด้วยกันด้วย เป้าหมายแรกของเรา มันเริ่มจากการที่เราอยากเป็นฐาน ก่อนที่จะผ่านไปเรียนอะไรก็ตาม การศึกษาภาคบังคับต้องได้รับการพัฒนาก่อน ทีนี้พอเรารู้แล้วว่าจะซ่อมตรงฐาน ก็ต้องมาดูแล้วว่าฐานตรงนี้มันมีอะไรบ้าง องค์ความรู้เบสิกพร้อมไหม ครูสอนอย่างไร เด็ก ๆ ล่ะ ผอ.โรงเรียนมีวิสัยทัศน์อย่างไร บุคลากรทั้งหมดนี้ เราต้องพัฒนาหมด" ดร.พรพรรณ ชี้ว่า ความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐและเอกชนที่มองเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา ย่อมนำพาให้เกิดผลลัพธ์ที่ส่งต่อไปยังเยาวชน ที่กำลังจะเติบโตและกลายเป็นแรงงานคุณภาพของประเทศ ผลลัพธ์ของโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ที่ดำเนินการมาแล้วกว่า 5 ปี ทั้งการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจัดตั้งศูนย์สะเต็ม 12 แห่งทั่วประเทศ จัดทำโครงการพัฒนาครูต้นแบบ พัฒนาหลักสูตร และติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ทำให้เริ่มเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงจากโรงเรียนที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 724 แห่ง ทั้งในด้านการกระจายโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความชอบธรรมให้แก่เด็กที่เคยเข้าไม่ถึงการศึกษาพื้นฐาน แน่นอนว่าผลลัพธ์เหล่านี้ ทำให้ความหวังที่จะได้เห็นประเทศไทยมีความเท่าเทียมทางด้านการศึกษาเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาจนได้ "นอกจากจะเห็นพัฒนาการ เรายังได้เห็นช่องโหว่ต่าง ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น คนหลายคนที่อาจตกหล่นจากระบบการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ บางคนที่ฐานะไม่ดี ที่เขาไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไปได้ ต้องออกไปทำงาน ออกจากระบบการศึกษาเพื่อปากท้อง คนเหล่านี้เราจะช่วยเหลือเขาได้อย่างไร เราจะสร้างอาชีพให้เขาได้อย่างไร ตรงนี้ก็จะเป็นโจทย์ใหม่ ที่เราตั้งเป็นเป้าหมายต่อไปที่จะเข้ามาช่วยกันแก้" การยกระดับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะพัฒนาแวดวงการศึกษาไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เพื่อสร้างต้นแบบแนวทางปฏิบัติที่ดีและสามารถตอบโจทย์เทรนด์การศึกษายุคใหม่ โดยนอกจากจะช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาการศึกษาไทย แนวทางดังกล่าวก็ยังจะถูกนำไปต่อยอดสู่การพัฒนานโยบายการศึกษา ในระดับภูมิภาคของประเทศในเครือข่ายของ SEAMEO อย่างยั่งยืน