หนุ่มเสก-เสกสรร ชัยเจริญ : จากนักร้องแถวหน้า และนักธุรกิจที่เคยล้มละลาย กลับมาลุกขึ้นสู้ใหม่ด้วยการขายเกาเหลา

หนุ่มเสก-เสกสรร ชัยเจริญ : จากนักร้องแถวหน้า และนักธุรกิจที่เคยล้มละลาย กลับมาลุกขึ้นสู้ใหม่ด้วยการขายเกาเหลา
ชายวัย 57 ปี ท่าทางทะมัดทะแมงกำลังลวกเครื่องต้มเลือดหมูใส่ชาม หากสังเกตจะเห็นมือและใบหน้าที่มีริ้วรอยร่วงโรยตามกาลเวลา ต่างจากใบหน้าที่ดูอ่อนกว่าวัยสมชื่อหนุ่ม หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ หนุ่มเสก-เสกสรร ชัยเจริญ หากเป็นคนวัย 30 ปีขึ้นไปคงจะคุ้นหน้าของชายผู้นี้ที่เป็นนักร้องแถวหน้าของประเทศเมื่อ 20-30 ปีก่อน ตั้งแต่ยุคของศิลปินระดับตำนานอย่างเบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์, ปุ๊-อัญชลี จงคดีกิจ, ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว หนุ่มเสก คือผู้ประเดิมคนแรกของค่ายเพลงคีตา (KITA Records) ที่วันนี้เพลงใจบางบาง หรือรักเป็นดั่งต้นไม้ ยังบรรเลงในความทรงจำให้พอร้องคลอตามได้ หากทำนองเพลงลอยมาให้หวนถึงวันเก่าในอดีต  จากผู้เคยอยู่จุดสูงสุด มีทั้งชื่อเสียง เงินทอง ผลงาน และธุรกิจใหญ่หลายร้อยล้าน วันนี้ได้พลิกผันอีกครั้งเปลี่ยนมาเป็นบทบาทการขายอาหารร้านข้างทาง ในย่านสุขุมวิทด้วยวิกฤตโควิด-19 “ผมมีธุรกิจเกี่ยวกับซื้อขาย และจัดแสดงวัตถุโบราณ วัตถุมงคล ในต่างประเทศ และมีทำโรงงานหล่อ ทำได้หลายปีแล้ว หลังจากที่อยู่กับคุณวิชัย (คิง เพาเวอร์) แต่ปีที่แล้วเก็บเงินลูกค้าไม่ได้เลย หนี้ทุกคนกลายเป็นโดมิโน เพราะออร์เดอร์หยุด เราโทษเขาไม่ได้ด้วย แต่ละคนลูกค้าชั้นดี ไม่เคยเสียเครดิตทั้งนั้น ปีที่แล้วปีเดียว ผมเสียหายเป็นหลักร้อยล้านนะ พอไม่มีรายได้ ทำให้ต้องวางแผน ต้องหาทางออก แก้ปัญหา เริ่มประชุมลูกน้อง ค่อย ๆ ลดรายจ่าย ลดคน เวลาผมไปประชุมที ก็ไปไล่เด็กออกที จากมีเป็นร้อย เหลือตอนนี้แค่สัก 20 เท่ากับหายไป 80 กว่าคน มันเศร้านะ แต่ขอให้ทุกคนเข้าใจ ถ้ามันดีขึ้น จะเรียกกลับมาใหม่  “เราประชุมกันว่าทำยังไงให้สร้างกระแสเงินสด เลยคิดทำร้าน มาได้ที่นี่ (ปากซอยสุขุมวิท 23) เปิดร้านอาหารญี่ปุ่นแนวอิซากายะ (Izakaya) เพื่อให้มีเงินสดหมุนทุกวัน จนมาสิ้นเดือนธันวาฯ คราวนี้เจอโควิด-19 ระลอกใหม่ รอบนี้มึนเลย จากเคยขายวันแรก ๆ 7-8 หมื่น พอเกิดซูเปอร์สเปรดเดอร์ (super spreader) คนหายหมด  รอบแรกเขายังกล้าสั่ง แต่รอบนี้ไม่ใช่ จะสั่งไปส่งก็กลัวคนส่งอาหารสัมผัสมั้ยอีก ทำให้ต้องวางแผนเยอะมาก และคิดมองหาอาหารที่มันขายได้ทั้งวัน ตั้งแต่เช้า แทนที่จะเสียค่าเช่าทั้งวัน แต่ขายได้แค่ช่วงเย็น แถมเป็นร้านนั่งดื่ม ซึ่งเบียร์เราก็ขายไม่ได้อีก งั้นมาขายเกาเหลาเลือดหมูดู ยุคนี้ไม่ว่าคุณจะเคยเป็นใครมาก่อน ต้องไม่หมิ่นเงินน้อย หรือรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐหรือใครก็ตาม แต่ต้องทำยังไงก็ได้ให้มีกระแสเงินสดเข้ามา” นี่ไม่ใช่วิกฤตแรกที่พลิกชีวิตของหนุ่มเสก เพราะก่อนหน้านี้เขาเองก็เคยมีช่วงเวลาแสนสาหัสจนเกือบปลิดชีวิตทั้งตัวเองและครอบครัวมาแล้วเช่นกัน ย้อนไปเมื่อราว 20 กว่าปีก่อน หนุ่มเสกในอดีตได้ต่อยอดชื่อเสียงในวงการ ผันตัวสู่ธุรกิจใหญ่หลายร้อยล้าน ด้วยการเปิดเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ (Entertainment Complex) ในชื่อ ‘ฟอร์เต้’ (Forte) คลับกลางคืนครบวงจรขนาดมหึมา กลางซอยสุขุมวิท 24 พร้อมร้านอาหารใหญ่ชื่อ ‘บ้านหนังไทย’ แต่เปิดได้ราว 3 ปี วิกฤตต้มยำกุ้งยุค 2540 ก็สะเทือนธุรกิจให้ขาดทุนหนักจนต้องปิดตัว และกลายเป็นผู้ถูกฟ้องคดีล้มละลาย มูลหนี้สูงกว่า 500 ล้านบาท  หนี้ครั้งนั้น ทำให้เขาเกือบเอาชีวิตไม่รอด เพราะเคยเกือบคิดสั้นปลิดชีพตัวเอง ลูก และภรรยาตายไปพร้อม ๆ กันด้วยหวังให้หมดทุกข์ “ผมคิดฆ่าตัวตายแล้วตอนนั้น หยิบปืนมาแล้ว กะยิงทั้งครอบครัว ลูก เมีย มองไปรอบห้อง ก็ได้หันไปเห็นรูปป๋า (เปรม ติณสูลานนท์) ตอนที่มาเปิดโครงการคอมเพล็กซ์ เป็นรูปท่านลูบหัวผมอยู่  ทำให้ฉุกคิด ผมโทรฯ หาป๋าเลย แล้วไปพบ แกก็เตือนสติ บอกหนุ่ม เรายังอายุแค่นี้ เป็นหนี้ก็เป็นไปสิ 500-600 ล้าน เราต้องอยู่กับมัน หนุ่มอย่าหนี ยอมรับมัน เดี๋ยวก็ทำอะไรใหม่ได้ เริ่มต้นใหม่ได้ แล้ว 3 ปีที่ต้องเป็นบุคคลล้มละลาย พิสูจน์ว่ามันไม่นานหรือน่ากลัวอย่างที่คิด ผมไปศาลไม่เคยขาด ไม่หนี ไม่เบี้ยว จนศาลท่านเมตตา “ผมได้ยินคำป๋าก็เหมือนเห็นแสงจริง ๆ มันเรียบง่าย ป๋าคือพ่ออีกคนที่รัก ท่านมีแต่ให้โอกาสผมทุกอย่าง ซึ่งการไปหาป๋าครั้งนั้นก็เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนท่านเสีย ผมไปงานศพแต่ไม่ได้บวชอีก เพราะก่อนหน้านี้ ผมก็เคยบวชให้ท่านทดแทนพระคุณแล้ว คิดว่าเราไม่ทำให้เอิกเกริก ให้คนดรามาอีก เชื่อว่าป๋าได้รับรู้ในปรโลกว่าอย่างน้อยผมตอบแทนพระคุณ วันนั้นคือจุดเปลี่ยนชีวิตให้สู้ และอยู่มาถึงวันนี้ พอเห็นรูปแล้วก็ไม่ทำ” แม้จะมีประสบการณ์ล้มและลุกขึ้นสู้เป็นภูมิต้านทานมาแล้ว แต่วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้เหมือนภาพฉายซ้ำ ทั้งยังสาหัสกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา  “จริงอยู่โควิด-19 เราทำงานได้ปกติ แต่มันยากกว่าเดิมและต่างกัน อย่างตอนล้มละลายเราถูกพิทักษ์ทรัพย์ ข้าวของเราขายไปหมด ผมขายรถเบนซ์เป็นสิบ ๆ คันเลย แต่เราก็ยังทำอะไรทุกอย่างได้ปกติหมด แค่ทำนิติกรรมไม่ได้ ไปต่างประเทศไม่ได้ แต่พอโควิด-19 ระลอกนี้ที่ไปไหนไม่ได้เช่นกัน ทว่างานผมติดต่อต่างประเทศหมด ทุกอย่างยกเลิกหมด จัดงานไม่ได้ เงินเก็บร่อยหรอ รายได้ไม่มี เก็บเงินไม่ได้ ก็เหมือนทำนิติกรรมไม่ได้ และซ้ำร้ายกว่าเพราะทั้งโลก ทั้งประเทศเศรษฐกิจชะงักไปหมด กระทบเป็นลูกโซ่ โอดีแบงก์ก็จ่ายหนี้ไม่ได้ ยังโชคดีที่ธนาคารเข้าใจ เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยผิดนัดชำระเลย จนรอบนี้” หนุ่มเสกมองว่าวิกฤตครั้งนี้ คือช่วงเวลาที่กระแสเงินสดจับต้องได้ แม้เพียงแค่หลักร้อยหลักพันก็มีค่ากว่าตัวเลขในบัญชีธนาคารจำนวนมากที่อาจใช้ไม่ได้จริง “บางทีก็คิดขอบคุณโควิด-19 นะ จากเราเคยคิดลบมาเยอะ ก็ต้องเปลี่ยน เคยสั่งลูกน้อง ก็มาลงมือช่วยทำ บอกตัวเองว่า โควิด-19 มึงเจอกูสักตั้งซิ เพราะดูแล้วมันจะอยู่กับเราอีกนาน แต่ก็คิดว่ามันแค่ชื่อ แค่เชื้อโรค ทำอะไรเราไม่ได้หรอก ผมก็ได้แต่บอกลูกน้องถ้าไปต่อก็ช่วยกันนะ ต้องลดเงินเดือน ลดคน ผมเปลี่ยนตัวเอง เช้ามาผมก็ต้องขายข้าวกล่อง ขายซูชิ ขายเลือดหมูแต่เช้า เราท้อไม่ได้ มีลูก เมีย ลูกน้อง ทุกคนมีภาระ อยากช่วยทุกคนเต็มที่ ตอนนี้ไม่หมิ่นเงินน้อยแน่นอน ขายวันละร้อยวันละพัน ก็เอา บางวัน 10 ชามยังมี ลูกน้องมาถาม ผมก็ว่าชั่วโมงนี้เงินมีค่า รวม ๆ ไป จ่ายค่าเช่า ค่าไฟ แม้ไม่พอจ่าย แต่ดีกว่าไม่มีเงินเข้าเลย กระแสเงินสดสำคัญที่สุดชั่วโมงนี้”     เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่หนุ่มเสกให้สัมภาษณ์ออกสื่อ เพราะชีวิตของเขาก่อนหน้านี้เหมือนหันหลังให้วงการ และแทบไม่ค่อยเห็นบทบาทการแสดง หรืองานร้องเพลงของเขา ซึ่งหนุ่มเสกกล่าวถึงชีวิตในด้านนี้ว่า “ผมไม่ได้หันหลังนะ ใครจ้างผมก็ไป แค่รู้สึกว่าเราอาจนิสัยไม่ดี ผมมีเงื่อนไข 2 ข้อว่า ค่าตัวต้องสมเหตุสมผล ไม่ใช่รับเชิญไปเล่น ให้ผมรอคิวถ่ายทั้งวัน จ่ายผมหมื่นเดียว หรือแม้แต่ 5 พันบางที มันไม่แฟร์เกินไป ไม่เหมือนนักแสดงต่างชาติ เขามีแต่ยิ่งแก่ยิ่งมีราคา ไม่ใช่กดอย่างบ้านเรา เอาจริงๆ ผมก็ค่าตัวเท่าเดิม เรทช่อง 7 ผู้จัดเจ้าไหน เคยได้แค่ไหนก็รับแค่นั้น แต่ไหนแต่ไร ซึ่งต้องมองว่าค่าเงินคนละยุคด้วยนะ แต่วันนี้มันก็ยังเท่าเดิม “หรืองานร้องเพลงก็รับ งานแกรมมี่ งานพี่ฉอด ผมยินดีเลย เพราะให้เรา 5 หมื่นงี้ ซึ่งเราก็ไม่ใช่แค่ไปร้องแค่นั้น เราทุ่มเท ต้องไปซ้อม เพราะว่าแน่นอนเสียงอาจมีตกไปตามวัย จึงต้องเตรียมตัวก่อน แต่บางงานจ้าง 5 พันหรือหมื่น เราก็ปฏิเสธไป คิดดูงานรวมศิลปินของคีตาเอง เรายังไม่ไป ไม่รู้อย่างนี้ไหม ที่เพื่อนหรือในวงการเลยรู้กัน บวกกับก่อนหน้านี้ เราปฏิเสธเพราะเอาเวลาไปหารายได้ที่มากกว่า ผมบินไปต่างประเทศบ่อย ไปดีลธุรกิจจัดแสดงวัตถุโบราณ เลยมองเวลาที่ถ้าต้องไปถ่ายละครทั้งวัน เอามาทำตรงนี้ย่อมคุ้มกว่า แต่ตอนนี้ก็ไม่แน่แล้ว โควิด-19 คงทำให้ต้องรับหมด ตราบจนที่โลกจะกลับมาปกติ”  ในช่วงเวลาของการแก้ปัญหาและเดินหน้าต่อ หนุ่มเสกเลือกเดินบนเส้นทางใหม่ เขาหวังพลิกชีวิตด้วยเกาเหลาโบราณ สูตรเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร  “เพราะมองว่าอาหารเป็นปัจจัยสี่ คนต้องกินทุกวัน เป็นที่มาของการเปิดขายเมนูเกาเหลาเลือดหมู เราก็คิดว่าจริงจังนะ เปิดมาเดือนหนึ่ง แนวโน้มดี ผลตอบรับมาเรื่อย ๆ ฝากความหวังไว้ ถ้าเกาเหลาเราขายดี นี่คือสิ่งที่จะชุบชีวิตใหม่ ไม่ขออะไรมาก ขอขายวันละพันชุดพอ อยู่ได้แล้ว อีกอย่างเราก็ไม่ใช่ร้านดังเปิดมานาน แต่เป็นการเริ่มต้นที่พอเห็นแสงสว่าง   “แม้จะดูขัดตา กับการนั่งกินเลือดหมูในร้านอาหารญี่ปุ่น แต่ซุปเลือดหมูของเราพิเศษไม่มีที่ไหนเหมือน เริ่มจากผมชอบเลือดหมูร้านดังย่านวัดสุทัศน์ ผมไปกินแล้วติดใจ จนขอสูตรเขา เขาไม่ได้ให้เราหรอกนะ เลยไปพาเชฟมาแกะสูตรดู จนใกล้เคียงที่สุด แล้วไปศึกษา ทดลอง ทีนี้เราชอบกินราเม็งอยู่แล้ว เลยนำมาผสมดู ปรากฏว่าลงตัวกลมกล่อมเลย เกาเหลาเราจะเข้มข้น ไม่เหมือนที่อื่นที่น้ำใส เคล็ดลับอยู่แค่น้ำซุปนี่แหละ รองมาคือความสดเครื่องที่ใส่ ต้องไม่คาว และแน่นอนเราไม่ใส่ผงชูรส ท้าให้มาลองกัน อนาคตก็จะเสริมให้มีผักออร์แกนิกมาเพิ่ม อาหารและสุขภาพจะเป็นทางรอด และผมตั้งใจมาก หวังจะขายให้ยั่งยืน ไม่เลิกกลางคัน หรือแม้โควิด-19 จะหมดไปก็ตาม ผมไม่ต้องการให้ใครมาสงสาร ต้องการให้มาลองชิมจริง ๆ ไม่ต้องมาอวย ถ้าไม่อร่อยก็ยินดีรับฟัง และปรับปรุง” ทั้งความเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอน และบททดสอบที่โลกเหวี่ยงมาให้กับเขา อาจทำให้ภาพหนุ่มเสกในวันนี้แตกต่างไปจากหนุ่มเสกบนเวทีเมื่อ 20-30 ปีก่อน แต่สิ่งที่ยังไม่เคยจางหายไปคือความเข้มแข็ง การเป็นนักแก้ปัญหาและการลุกขึ้นสู้ของชายวัย 57 ปีคนนี้ ไม่ว่าวิกฤตจะผ่านมากี่ครั้ง หรือหนักหนาสาหัสจนลุกขึ้นมาได้ยากแค่ไหนก็ตาม   เรื่อง: รัตตภูมิ นิลศิริ