รัชนี อุดมคติของหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ในยุคสมัยแห่งนวนิยาย “ปีศาจ”

รัชนี อุดมคติของหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ในยุคสมัยแห่งนวนิยาย “ปีศาจ”

รัชนี อุดมคติของหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ในยุคสมัยแห่งนวนิยาย “ปีศาจ”

“...ฉันไม่เคยมีความรังเกียจที่จะคบคนที่ต่ำกว่าโดยฐานะถ้าเขาเป็นคนดี ความดีเท่านั้นมิใช่หรือที่เป็นเครื่องวัดคุณค่าของคนเราไม่ใช่เงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์และวงศ์สกุล ฉันมีเพื่อนหญิงหลายคนที่เรียกได้ขนาดเพื่อนรักของฉันซึ่งเขามีฐานะต่ำกว่าฉันหลายแห่ง แต่ฉันก็ถือเขาเป็นเพื่อนรักของฉันเพราะความดีของเขา” หากจะกล่าวถึงวรรณกรรมไทยคลาสสิกที่มีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองที่สำคัญที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้วล่ะก็ นวนิยายเรื่อง “ปีศาจ” ของเสนีย์ เสาวพงศ์ (สำนักพิมพ์มติชน) ก็ควรจะต้องติดอยู่ในโผอย่างไม่ต้องสงสัย และแม้ว่านวนิยายเรื่องนี้จะรวมเล่มตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2500 แต่ด้วยอุบัติเหตุทางการเมืองทำให้นวนิยายเรื่องนี้ต้อง “ถูกเก็บ” ออกจากแผงอย่างเงียบ ๆ และต้องใช้เวลายาวนานกว่า 13 ปี นวนิยายเรื่องนี้จึงได้กลับมาสู่ความสนใจอีกครั้งหนึ่ง และในทศวรรษ 2510 ขบวนการนักศึกษาประชาธิปไตยต่างก็ให้การต้อนรับที่อบอุ่นแก่ “ปีศาจ” ที่กลายเป็นต้นแบบและอุดมคติของหนุ่มสาวในสมัยนั้น  นอกจากเป็นวรรณกรรมแล้ว “ปีศาจ” ยังถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2523 ในชื่อเรื่อง “ปีศาจ” เช่นเดียวกับต้นฉบับวรรณกรรม นอกจากนี้ในปี 2524 ยังมีภาพยนตร์เรื่อง “สาย สีมา นักสู้สามัญชน” อีกด้วย นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า “ปีศาจ” ของเสนีย์ เสาวพงศ์ นั้นได้ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อสังคมไทยและยังสร้างอิทธิพลให้กับหนุ่มสาวที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทยอีกด้วย  แม้ในเรื่องปีศาจดูเหมือนว่าตัวละครอย่าง “สาย สีมา” จะเป็นศูนย์กลางของเรื่อง แต่ตัวละครอีกตัวที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ “รัชนี” หญิงสาวจากตระกูลอันสูงส่งที่สามารถสืบสาแหรกได้ถึงสมัยอยุธยา ครอบครัวของเธอนั้นเป็น “ผู้ดีเก่า” ที่ยังคงสงวนแนวคิดแบบเก่าเอาไว้ พ่อของรัชนีนั้นไม่เห็นด้วยกับการที่สังคม “สมัยใหม่” นั้นให้สิทธิเสรีภาพกับผู้คนมากเกินไปหรือการทำให้คนต่างชนชั้นปะปนกันผ่านการศึกษา  รัชนีเติบโตมาสภาพแวดล้อมที่ครอบครัวนั้นยังคงยึดติดอยู่กับ “โลกแบบเก่า” โลกที่คุณค่าของคนนั้นคือการตอบคำถามว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร สืบสาแหรกได้มากน้อยขนาดไหน โลกที่ระบบอุปถัมภ์คือสิ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือในการจัดเรียงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน โลกที่อำนาจของผู้ชายนั้นเป็นใหญ่เหนือชีวิตของผู้หญิงในทุกมิติ แทนที่รัชนีจะโอบกอดความเชื่อแบบเก่าที่เป็นเบ้าหล่อหลอมคนในครอบครัวของเธอมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย เพราะอย่างน้อยที่สุดด้วยความเชื่อแบบเก่า ทัศนคติของโลกแบบเก่า รัชนีก็ไม่จำเป็นต้องออกไปเรียนหนังสือ เร่หางานทำจนได้ไปทำงานในธนาคารแห่งหนึ่ง รัชนีอาจใช้ชีวิตแบบ “คุณนาย” ในโลกแบบเก่าได้อย่างสบายๆ ไม่ต้องทำงาน มีบ่าวไพร่คอยรับใช้ แต่รัชนีก็ไม่ได้เลือกชีวิตแบบนั้น...  สิ่งที่ทำให้รัชนีมองเห็นว่าสิ่งที่ครอบครัวของเธอพยายามจะหล่อหลอมตัวเธอขึ้นมานั้นมันไม่น่าพิศมัยสำหรับเธอก็คือการที่เธอมองเห็นว่าคนในชนชั้นสูงนั้นคือแหล่งที่มาของการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ขูดรีดดังที่เธอเห็นภาพเหล่านี้จนชินตาตั้งแต่วัยเด็กนอกจากเห็นแล้วประสบการณ์ที่เธอได้รับจากญาติพี่น้องเองก็ทำให้เธอเห็นว่าความรังเกียจเดียดฉันท์ต่อชนชั้นต่าง ๆ นั้นมีอยู่ในกลุ่มชนชั้นสูงที่มีต่อชนชั้นที่ต่ำกว่าตนทั้งสิ้น รัชนี อุดมคติของหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ในยุคสมัยแห่งนวนิยาย “ปีศาจ” "...รัชนีมีความรู้สึกสูงศักดิ์ของตนอยู่เหมือนกันจากสิ่งแวดล้อมในบ้านตั้งแต่วัยเด็ก หล่อนเคยได้ยินผู้ใหญ่ในวงศ์ญาติเรียกบางคนว่า 'พวกไพร่' บ้าง คน 'ชั้นต่ำ' บ้าง...รัชนีจำได้ว่าเมื่อเด็กถูกห้ามหนักหนาไม่ให้ไปเล่นกับเด็กลูกคนใช้และลูกญาติห่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในบ้านอย่างฐานะครึ่งคนใช้ครึ่งญาติ แต่หล่อนก็หนีไปเล่นจนได้ เพราะไม่มีเพื่อนเล่นอื่น พี่ ๆ ก็โตเกินกว่าจะรู้สึกเพลินต่อการเล่นกับเด็กขนาดรัชนี เคยมีเด็กแต่งตัวสวย ๆ มารถยนต์พร้อมกับผู้ใหญ่ที่มาบ้าน ขณะที่ผู้ใหญ่คุยกับพ่อ และแม่บอกให้รัชนีไปเล่นกับเด็กเหล่านั้น แต่นั่นก็มีนาน ๆ ครั้ง และปรากฏว่าเด็กพวกนั้นชอบรังแก และตู่เอาการเล่นของรัชนีไปเสมอ รัชนีจึงอดไม่ได้ที่จะต้องหนีไปเล่นกับเด็กในบ้าน...เด็กเหล่านั้นไม่เคยรังแกหล่อน ไม่เคยตู่เอาการเล่นของหล่อน ทั้ง ๆ ที่เด็กพวกนั้นไม่มีของเล่นอะไรเลย..." นอกจากประสบการณ์ชีวิตที่ทำให้เธอมีทัศนคติที่แตกต่างไปจากครอบครัวของเธอก็คือเรื่องการศึกษา การเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนอกจากเป็นการทำให้เธอมีความรู้ที่กว้างไกลแล้ว ยังทำให้เธอได้พบปะกับผู้คนที่หลากหลายมากขึ้น ในแง่หนึ่งเราอาจกล่าวได้เช่นกันว่า การมาถึงของระบบการศึกษาสมัยใหม่ในประเทศไทยนั้นคือการเปลี่ยนสังคมไทยให้กลายเป็นสังคม “สมัยใหม่” อย่างรวดเร็วขึ้น มหาวิทยาลัยกลายเป็นสถานที่ที่คนในชนชั้นต่าง ๆ มาพบปะกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เช่นการที่รัชนีได้พบกับกิ่งเทียนผู้ซึ่งทำให้รัชนีได้ค้นพบจุดมุ่งหมายในชีวิตและตระหนักว่าการยืนอยู่ด้วยลำแข้งของตนเองนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญและมีศักดิ์ศรีกว่าการต้องแบมือขอเงินทางบ้าน รัชนีไม่มีจุดมุ่งหมายในชีวิตเพราะที่บ้านเพียบพร้อมอยู่แล้ว และครอบครัวของรัชนีก็เป็นครอบครัวที่มีแนวคิดแบบเก่า คือผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเรียนและทำงาน แต่สำหรับรัชนีเธอกลับไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะการเรียนในมหาวิทยาลัยทำให้เธอรู้สึกว่าเธอควรจะต้องเอาความรู้ที่ได้จากการเรียนนั้นไปใช้ประโยชน์ในทางใดทางหนึ่ง แต่ติดว่าเธอคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร กิ่งเทียนเพื่อนสนิทของรัชนีจึงช่วยให้ความกระจ่างในการมีชีวิตที่มีเป้าหมายแก่รัชนี กิ่งเทียนกล่าวกับรัชนีว่าด้วยการทำงาน รัชนีจะได้เป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระเพราะไม่ต้องขอเงินพ่อแม่ และมีสิทธิ์เต็มที่ในการตัดสินใจต่าง ๆ ในชีวิตของตัวเอง กิ่งเทียนจึงเป็นตัวละครที่สำคัญอีกตัวหนึ่งที่ช่วยทำให้รัชนีตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นตัวของตัวเองและความสำคัญของการทำงานเพื่อนำเอาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตัวเอง นอกจากการนำเอาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับตัวเองแล้ว รัชนียังมีสำนึกถึงส่วนรวมอีกด้วยทั้งๆ ที่ตัวเธอเองไม่จำเป็นต้องตระหนักถึงคนอื่นก็ได้ เพราะเมื่อรัชนีได้ทำงานที่ธนาคาร พ่อแม่แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง แต่รัชนีก็ยืนยันว่า "หนูควรทำงาน เพื่อประโยชน์แก่ตัวเองและเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมด้วย" สิ่งที่ทำให้รัชนีกลายเป็นอุดมคติของหนุ่มสาวสมัยใหม่ก็คือทัศนคติที่เธอมีต่อโลก เธอมองเห็นความแตกต่างระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่ที่กำลังจะมาถึง รัชนียอมละทิ้งและหันหลังให้กับสถานะทางสังคมที่เหนือกว่าซึ่งติดตัวเธอมาตั้งแต่เกิดไปเป็นครูในต่างจังหวัดกับกิ่งเทียนหลังจากเหตุการณ์การปะทะคารมกันระหว่างสาย สีมา และบรรดา “ผู้ดีในโลกเก่า” ทั้งหลายบนโต๊ะอาหาร รัชนีเลือกได้อย่างเด็ดขาดว่าเธอจะหันหลังให้กับโลกเก่าและร่วมกันสร้างโลกใหม่ตามความรู้ที่เธอมีและได้รับมาและมีชีวิตใหม่ตามอุดมคติของคนสมัยใหม่ ไม่ว่าตัวละครรัชนีจะถูกวิจารณ์ว่าไม่สมจริงในฐานะที่เธอเป็นลูกท้าวพระยาหรือการบรรยายถึงครอบครัวในฐานะผู้ดีเก่าที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงก็ตาม เพราะในท้ายที่สุดไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม รัชนีได้กลายเป็นอุดมคติของคนสมัยใหม่ที่มีโลกทัศน์แบบใหม่นั่นเอง "แล้วที่คุณว่าคุณกับดิฉันแตกต่างราวฟ้ากับดินเล่า คนเรามีความแตกต่างกันหรือคะ ดิฉันคิดว่าคนก็คือคนเหมือนกันหมด จะแตกต่างกันก็ในความดีความเลวเท่านั้น ความแตกต่างอย่างอื่นทำให้คนเราคบกันไม่ได้อย่างนั้นหรือคะ” เรื่อง: ปลายสิงห์ ขาวปลอด เพจคดีไม่มีวรรณะ