อาต้อย เศรษฐา ศิระฉายา: กับเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ ของชีวิตในวงการบันเทิง

อาต้อย เศรษฐา ศิระฉายา: กับเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ ของชีวิตในวงการบันเทิง
ในแวดวงดนตรีไทยยุคบุกเบิกวง ดิ อิมพอสซิเบิ้ล คือหัวหอกสำคัญที่เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์เพลงไทย ที่รุ่มร้อนไปด้วยกลิ่นของสตริงคอมโบจากฟากฝั่งตะวันตก และหนึ่งในผู้ที่สร้างตำนานหน้าสำคัญที่ก่อให้เกิดวงดนตรีที่ยิ่งใหญ่วงนี้ก็คือ อาต้อย เศรษฐา ศิระฉายา ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ ที่ตลอดชีวิตการทำงานที่ผ่านมา มีเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้มากมายสมกับชื่อวงของเขา นี่คือชีวิตอันน่าเหลือเชื่อของศิลปินผู้มากความสามารถผู้นี้   จากพระนคร พเนจรไปเป็นศิลปินในค่ายจีไอ เด็กชายต้อย-เศรษฐา ศิระฉายา เกิดในปี 2487 ที่เมืองหลวงฝั่งพระนคร มีชีวิตผูกพันกับเสียงเพลงมาตั้งแต่เยาว์วัย จนวัย 16 ปีเขาได้ใกล้ชิดกับวงการดนตรีในฐานะคอนวอยเด็กยกเครื่องดนตรีให้กับน้าชายของเขา สุรสิทธิ์ สัตยวงษ์ นักร้องชื่อดังแห่งวงดุริยางค์กองทัพเรือในยุคนั้น เศรษฐาใช้ช่วงเวลาที่วงดนตรีของน้าชายเดินสายไปตามที่ต่าง ๆ เรียนรู้เครื่องดนตรีแบบครูพักลักจำจนชำนิชำนาญ โดยเฉพาะกีตาร์ หลังจากน้าชายได้เข้าวงการบันเทิงในฐานะพระเอกดาวรุ่ง จนสิ้นสุดการเป็นนักร้อง อาต้อย เศรษฐาที่ตอนนั้นสนใจในดนตรีสตริงคอมโบจึงบินเดี่ยวไปเสี่ยงดวงเผชิญโชคด้วยตัวเองตั้งแต่วัยรุ่น ด้วยการไปเป็นนักดนตรีรับจ้างสร้างความบันเทิงให้นายทหารจี.ไอ. ที่มาตั้งแคมป์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในยุคสงครามเวียดนามกำลังระอุ เศรษฐาได้ทำความรู้จักกับเพื่อนพ้องนักดนตรีชาวจังหวัดอุบลราชธานี จึงรวมตัวกันตั้งวงเล่นดนตรีในชื่อวงว่า “หลุยส์ กีตาร์เกิร์ล” ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งเพื่อสอดคล้องกับวง “หลุยส์ กีตาร์บอย” ในยุคนั้น วงแรกของเศรษฐาเป็นวงร็อกที่แปลกและแหวกแนวกว่าวงอื่น ๆ เพราะหัวหน้าวงของเศรษฐานั้นเป็นผู้หญิงที่เล่นดนตรีร็อก ในยุคสมัยที่ดนตรีร็อกแอนด์โรลกำลังครองเมือง ทำให้เศรษฐาได้รับอิทธิพลดนตรีทางตะวันตกมาอย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งค่ายจี.ไอ. นั้นนับเป็นสถาบันการศึกษาทางดนตรีชั้นดีให้เหล่านักดนตรีไทยได้ฝึกปรือฝีมือในยุคที่ดนตรีไทยสากลยังไม่แพร่หลายเช่นปัจจุบัน  น่าเสียดายที่วง “หลุยส์ กีตาร์เกิร์ล” มีอายุที่ค่อนข้างสั้นเมื่อเหล่าทหารมะกันพากันกลับสู่มาตุภูมิแผ่นดินบ้านเกิด เศรษฐาก็จำต้องกลับถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเช่นกัน ความเคว้งคว้างและคิดถึงบรรยากาศบนเวทีทำให้เขามีความรู้สึกอยากจะตั้งวงดนตรีอีกครั้ง จนโชคชะตานำพาให้เขาได้ตั้งวงอีกครั้งในที่ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ นั่นคือร้านข้าวมันไก่    รวมตัวมิตรสหายที่ร้านข้าวมันไก่ ในระหว่างที่เศรษฐาโหยหาแสงสีบนเวทีคอนเสิร์ต เขาก็ได้รับข่าวสารว่านักดนตรีจากค่ายทหารต่างพากันตกงานกันมากมาย เพราะประเทศไทยในช่วงยุค 60s นั้น วงการเพลงไทยยังไม่เป็นที่นิยมในการทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเล่นดนตรีเท่าไร และดนตรีในยุคนั้นถูกปกคลุมด้วยดนตรีลูกกรุงยุคสุนทราภรณ์ / ชรินทร์ / สุเทพ เป็นส่วนใหญ่ มีส่วนน้อยมาก ๆ ที่นิยมดนตรีสตริงคอมโบสมัยใหม่ แต่อาต้อย เศรษฐา ก็ไม่ย่อท้อ พยายามหาผู้ร่วมอุดมการณ์เพื่อมาสานฝันตัวเองอีกครั้ง จนเขาได้มาเจอกับผู้ประสบภัยเช่นเดียวกันกับเขา นั่นก็คือ พิชัย ทองเนียม และ วินัย พันธุรักษ์ โดยบังเอิญที่ร้านข้าวมันไก่ เศรษฐาถามสารทุกข์สุกดิบเพื่อนร่วมชะตากรรมที่ตกงานจากค่ายจี.ไอ. มาเหมือนกัน จึงคิดว่าเขาได้พบจิ๊กซอว์ที่ตามหาแล้ว ซึ่งจุดกำเนิดมาจากร้านขายข้าวมันไก่นั่นเอง  โดยในปี 2509 ทั้ง 3 เริ่มต้นด้วยการทำวงที่ชื่อ “Holiday J-3” ที่ชื่อฮอลิเดย์มาจากบาร์ฮอลิเดย์ การ์เด้น ที่รับพวกเขามาเล่นโชว์ โดยทั้ง 3 ใช้ประสบการณ์สมัยอยู่ในค่ายจี.ไอ. เล่นดนตรีสตริงคอมโบ ยุคเอลวิส เพรสลีย์ หรือ คลิฟฟ์ ริชาร์ด และวงชาร์โดว์ โดยเน้นหนักที่ดนตรีสากลเป็นหลัก และเพิ่มสมาชิกอันได้แก่ สิทธิพร อมรพันธ์ อนุสรณ์ พัฒนกุล และ สุเมธ แมนสรวง มาร่วมตั้งวงสตริงคอมโบที่ยิ่งใหญ่ และเปลี่ยนชื่อในภายหลังว่า “จอยท์ รีแอ็กชั่น”    เดินสายประกวดจนคว้าแชมป์สามสมัย ในปี 2512 พวกเขาก็เปลี่ยนชื่อวงมาเป็น ดิ อิมพอสซิเบิ้ล ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนชื่อดังในยุคนั้น กลางคืนพวกเขาสร้างความบันเทิงตามผับบาร์ในย่านเพชรบุรีตัดใหม่ไปจนถึงประตูน้ำ ที่คึกคักและคลาคล่ำไปด้วยนักสังสรรค์มากมาย ส่วนกลางวันก็ฝึกปรือฝีมือเพื่อร่วมกันประกวดสตริงคอมโบชิงถ้วยพระราชทาน จนในปีแรกพวกเขาก็คว้ารางวัลที่ 1 ไปครอง จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วทุกสารทิศ จน เปี๊ยก โปสเตอร์ ศิลปินผู้รังสรรค์โปสเตอร์หนังชื่อดัง กำลังจะมีโครงการทำหนังเป็นเรื่องแรก จึงชักชวนอาต้อย เศรษฐา และวงร่วมทำเพลงประกอบหนังและร่วมแสดงหนังเรื่องนี้ด้วย นำมาสู่การบันทึกเสียงครั้งแรกในอัลบั้มเพลงประกอบหนังเรื่อง โทน (2513) ที่ปฏิวัติทั้งการถ่ายทำด้วยระบบฟิล์ม 35 มม. และมีการขายอัลบั้มซาวนด์แทร็กอย่างจริงจังด้วยบทเพลงฮิตจากวงอย่าง ชื่นรัก / ปิดเทอม / เริงรถไฟ นี่จึงเป็นก้าวแรกที่วงดนตรีสตริงคอมโบอย่างพวกเขาได้ทำทั้งเพลงไทย เพลงประกอบหนัง และอัดเป็นแผ่นเสียงขายอย่างเป็นทางการ แถมหนังเรื่องโทนยังเป็นหนังที่พวกเขาได้ปรากฏตัวในซีนสั้น ๆ อีกด้วย  สไตล์ของวง ดิ อิมพอสซิเบิ้ล นับเป็นสไตล์ที่แปลกใหม่และหาตัวจับยาก ด้วยดนตรีที่ไม่คุ้นหูคนไทยในยุคนั้นแต่มีเสน่ห์และแรงดึงดูดอย่างน่าประหลาดใจ การร้องเพลงที่มีการประสานเสียงอย่างไพเราะ และขายตัวตนของวงมากกว่าขายเพียงนักร้องท่านเดียว โดยพวกเขายึดวงดนตรี The Lettermen วงดนตรีจากต่างประเทศที่โดดเด่นด้วยเพลงหวาน ๆ ในยุค 60s มาเป็นแรงบันดาลใจ บวกกับฝีไม้ลายมือในแบบฟูลแบนด์ ทำให้วงดนตรีเป็นที่เตะตาของคนไทยที่รักในความแปลกใหม่ ทำให้พวกเขากลายเป็นวงขวัญใจวัยรุ่นในยุคนั้นอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงเพลงบัลลาดแสนไพเราะอย่างเพลง ชื่นรัก ที่นำท่วงทำนองมาจากเพลง Scarborough Fair ของ Simon and Garfunkel ก็เป็นบทเพลงอมตะที่ไม่เคยลืมเลือนจวบจนปัจจุบัน ในปีต่อมาวง ดิ อิมพอสซิเบิ้ล ก็ได้ปราจีน ทรงเผ่า มาเสริมทัพในปี 2513 จนทำให้วงคว้ารางวัลสตริงคอมโบชิงถ้วยพระราชทานได้อีกครั้ง จนสะสมความยอดเยี่ยมเป็นที่ 1 ถึง 3 ครั้ง ในประวัติศาสตร์ของการแข่งขันเลยทีเดียว   หนังเรื่องไหนมีเพลง ดิ อิมพอสซิเบิ้ล หนังเรื่องนั้นต้องฮอต จากความสำเร็จของหนังเรื่องโทน วง ดิ อิมพอสซิเบิ้ล ก็กลายเป็นวงดนตรีงานชุก ที่ทุกเช้าพวกเขาจะถูกจับจองโดยเจ้าของโรงหนังที่จะจองคิวให้เขาไปเล่นดนตรีเปิดโรงตอน 6 โมงเช้า (วัฒนธรรมการดูคอนเสิร์ตของคนยุคนั้นคือวงดนตรีเล่นตอนเช้าตรู่ และปิดท้ายด้วยการฉายหนัง) พวกเขาเดินสายจนแทบไม่มีเวลาพัก ลูปชีวิตของพวกเขานั้นคือเช้าตรู่เล่นที่โรงหนัง สายบ่ายอัดแผ่นเสียง แล้วเย็นค่ำเล่นตามไนต์คลับเป็นแบบนี้ทุก ๆ วัน  และจากความสำเร็จของหนังโทน ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์หลายรายจองคิวพวกเขาทำเพลงประกอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่อง รักกันหนอ (2514) ที่มีเพลงอย่าง รักกันหนอ เป็นเพลงเอก ภาพยนตร์เรื่อง หนึ่งนุช (2514) ที่วงทำเพลงให้ถึง 4 เพลง ภาพยนตร์เรื่องดวง (2514) ภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ของ เปี๊ยก โปสเตอร์ ก็ยังใช้บริการวงดิ อิมพอสซิเบิ้ล ทำเพลงเช่นเดิม ทำเพลงที่ฮิตมาก ๆ อย่าง ไปตามดวง และ หนาวเนื้อ ที่จนทุกวันนี้ก็ยังเป็นเพลงอมตะมิเสื่อมคลาย และยังมีภาพยนตร์อีกหลายต่อหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็น น้ำผึ้งพระจันทร์ (2514) จันทร์เพ็ญ (2514) ระเริงชล (2514) ค่าของคน (2514) แม้กระทั่งภาพยนตร์แอ็กชันยอดฮิตอย่าง ทอง (2516) ตัดเหลี่ยมเพชร (2518) ของ ฉลอง ภักดีวิจิตร ก็ยังต้องใช้บริการจากวงเช่นกัน และถึงแม้ ดิ อิมพอสซิเบิ้ล จะทำเพลงประกอบหนังมามากมาย แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในรูปแบบสตูดิโออัลบั้มนั้น พวกเขาออกอัลบั้มเพียง 2 ชุดเท่านั้น นั่นก็คืออัลบั้มเป็นไปไม่ได้ (2515) อัลบั้มที่รวมเพลงเพราะจากเพลงประกอบภาพยนตร์ บวกกับเพลงใหม่อย่าง เป็นไปไม่ได้, ไหนว่าจะจำ รวมอยู่ในอัลบั้มแรก และอัลบั้มที่ 2 หมื่นไมล์...แค่ใจเอื้อม (2518) ที่มีเพลงอย่าง พี่เองก็เท่านี้ ที่เป็นเสมือนเพลงภาคต่อของ เป็นไปไม่ได้ ซึ่งก็ยังเป็นอัลบั้มที่ครองใจคนฟังเพลงเช่นเดิม  และความโด่งดังนี้ แผ่นดินไทยดูเหมือนจะแคบลงไปถนัดตา เมื่อพวกเขาได้รับเชิญไปเล่นที่ต่างประเทศเป็นครั้งแรก   วงไทยวงแรก ๆ ที่ได้โกอินเตอร์ แม้ยุคนี้การที่ศิลปินไทยได้โกอินเตอร์จะเป็นเรื่องปกติ แต่ในยุคที่ไร้ซึ่งข้อมูลข่าวสาร การที่วงไทยอย่าง ดิ อิมพอสซิเบิ้ล ได้ไปเดินสายทัวร์ไม่ว่าจะเป็นฮาวาย (2515) ยุโรป (2516-2517) ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกในวง โดยได้ตำนานแห่งวงการดนตรีอย่าง เต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์ มาร่วมแจม  นอกจากการได้ไปแสดงสดให้ฝรั่งตาน้ำข้าวได้ประจักษ์ในฝีไม้ลายมือของวงดนตรีสัญชาติไทยแล้ว วง ดิ อิมพอสซิเบิ้ล ยังมาก่อนกาลด้วยการทำอัลบั้มเพลงภาษาอังกฤษในชื่อ Hot Pepper (2519) อัลบั้มเพลงฟังก์ / ดิสโก้ ตามสมัยนิยมของดนตรีในยุคนั้น แม้จะไม่ได้รับความนิยมเท่า 2 อัลบั้มแรก แต่ก็แสดงศักยภาพของวงที่ฝีไม้ลายมือยังคงชั้นเซียน และลื่นไหลตามยุคสมัยได้ไม่เสื่อมคลาย และ Hot Pepper ก็เป็นอัลบั้มชุดสุดท้ายของวงดิ อิมพอสซิเบิ้ล ไลน์อัปคลาสสิก ก่อนทุกคนจะแยกย้ายไปตามฝันที่แตกต่างกัน สำหรับอาต้อย เศรษฐาแล้ว ที่ว่างในวงการบันเทิงยังมีอยู่มากมายให้เขาได้ค้นหาอยู่เสมอ   เข้าสู่วงการภาพยนตร์และพบรักกับนางเอกในดวงใจ จริง ๆ แล้วอาต้อย เศรษฐา รับเล่นภาพยนตร์ตั้งแต่ช่วงยังอยู่ในวง โดยมักจะรับบทสมทบเล็ก ๆ น้อย ๆ มาตั้งแต่หนังเรื่องโทน ส่วนใหญ่พระเอกในยุคนั้นภาพลักษณ์จะเป็นรูปหล่อบึกบึน เศรษฐาที่รูปร่างผอมบางสะโอดสะองจึงถูกวางเพียงพระรองเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยการแสดงอันสมบทบาท ก็ทำให้เศรษฐาได้รับรางวัลตุ๊กตาทองพระสุรัสวดีรางวัลนักแสดงสมทบฝ่ายชายยอดเยี่ยม จากเรื่อง ฝ้ายแกมแพร (2518) ข้อดีของการรับบทพระรองของเศรษฐานั้น คือการสามารถรับบทบาทอันหลากหลายทั้งบทตลก บทตัวร้าย ไปจนถึงผู้ชายที่แสนดีแต่ผิดหวังในความรัก ทำให้เศรษฐาเป็นที่ต้องการของผู้สร้างที่ต้องการนักแสดงที่มีบทบาทไม่ซ้ำทาง เขาจึงได้ปรากฎตัวในหนังมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบทตลกจาก พ่อม่ายทีเด็ด (2520) มนต์รักแม่น้ำมูล (2520) จากหนังรักโรแมนติกอย่าง รักคุณเข้าแล้ว (2520) บทตัวร้ายอย่างบทไอ้จ้อย ศัตรูคู่อาฆาตของไอ้ขวัญ ในหนังรักอมตะ แผลเก่า (2520) หรือหนังที่นำ 2 ศิลปินขวัญใจวัยรุ่นอย่าง เศรษฐา และ ดอน สอนระเบียบ แห่งวง พี.เอ็ม.ไฟว์ มาพบกันในหนัง เก้าล้านหยดน้ำตา (2520) เรียกได้ว่าเศรษฐารับได้ทุกบทบาท ไม่ว่าจะเป็นหนังแนวไหน  แต่มากกว่าที่เศรษฐาจะได้ประสบการณ์ทางการแสดงแล้ว ประสบการณ์ทางหัวใจก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เขาได้รับ เมื่อเขาได้ใกล้ชิดสนิทสนมกับนางเอกนางฟ้า อย่าง อาเปี๊ยก-อรัญญา นามวงศ์ เขาเริ่มตั้งแต่เป็นตัวประกอบ จนได้เป็นพระเอกประกบคู่กันในหนัง ชื่นรัก (2522) ในยุคนั้นความรักของเศรษฐาเป็นที่กล่าวขวัญในฐานะคนเล็กผู้หมายปองดอกฟ้า เพราะอย่างที่ทราบกันว่า เศรษฐานั้นถึงแม้จะได้รับการต้อนรับในฐานะนักแสดงสมทบยอดฝีมือ แต่เมื่อเทียบชั้นพระเอกแล้วยังคงห่างไกลยิ่งกับสมบัติ เมทะนี ดาราคู่ขวัญคู่จิ้นกับอรัญญา ยิ่งเทียบกันไม่ได้เลย แต่การได้พิชิตใจนางฟ้าอย่างอรัญญาได้ ถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ในวงการบันเทิงยุคนั้นเลยทีเดียว โดยอาเปี๊ยกได้เล่าถึงสาเหตุในการตัดสินใจเลือกอาต้อย เพราะอาต้อยเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย และเป็นคนอารมณ์ดี แม้ทั้งสองจะไม่มีพิธีวิวาห์ แต่การอยู่ร่วมกันมานานกว่า 40 ปี ก็เป็นการบ่งชี้ว่า ที่ทำให้ทั้งสองครองรักกันอย่างยาวนานจวบจนปัจจุบัน โดยมีบุตรสาว น้องอีฟ พุทธธิดา เป็นพยานรัก และดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกันเสมอมา    พิธีกรผู้ริเริ่มล่าฝัน ความเป็นคนอารมณ์ดี และเป็นผู้ใหญ่ใจดีของวงการบันเทิง ทำให้อาต้อย เศรษฐา ได้รับโอกาสอันหลากหลายในวงการบันเทิง หนึ่งในนั้นคือการเป็นพิธีกรรายการเกมโชว์ ที่อยู่ในช่วงยุคบุกเบิกของวงการทีวีไทย โดยเฉพาะรายการ มาตามนัด รายการเกมโชว์เรตติ้งแรงที่แพร่ภาพทาง ททบ.5 เป็นรายการเกมโชว์ที่ออกอากาศช่วงไพรม์ไทม์ชนกับละครของช่อง 3 และช่อง 7 ได้อย่างสมศักดิ์ศรี เศรษฐาดำเนินรายการร่วมกับ ญาณี จงวิสุทธิ์ จนกลายเป็นพิธีกรคู่ขวัญ เศรษฐา-ญาณี และออกอากาศยาวนานตั้งแต่ปี 2529 จนถึงปี 2537 ถือเป็นหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์เกมโชว์ไทยยุคต้นที่ได้รับการกล่าวขวัญในแง่ของความสนุกและความบันเทิง เช่นเดียวกันกับรายการน่ารักน่าลุ้น รายการเกมโชว์ที่ครองใจคนไทยในช่วงเวลาเช้าวันอาทิตย์ ที่อาต้อย เศรษฐา รับไม้ต่อจาก นิรุตติ์ ศิริจรรยา สร้างความบันเทิงอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ปี 2531-2537 เศรษฐาดำเนินรายการอีกหลายรายการ แต่ที่เป็นที่จดจำและกลับมาเป็นที่กล่าวถึงอีกครั้ง คือการเป็นพิธีกรรายการ True Academy Fantasia ปฏิบัติการล่าฝัน การแข่งขันร้องเพลงบวกกับเรียลิตีโชว์ที่เป็นกระแสในยุคนั้น ภาพลักษณ์ของบุคคลผู้ผ่านวงการบันเทิงมาอย่างยาวนาน และการเป็นคุณลุงใจดี ทำให้อาต้อย เศรษฐา กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง โดยเศรษฐาเป็นพิธีกรบนเวทีโชว์มาอย่างยาวนานตั้งแต่ AF1 จนถึง AF12 จนเป็นหนึ่งในตำนานผู้บุกเบิกกระแสเรียลิตีโชว์อีกคน    แม้โรคร้ายรุมเร้า แต่ยังส่งผ่านกำลังใจไม่สิ้นสุด อีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญของเศรษฐาคือการเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ มูลนิธิสวัสดิการนักแสดงอาวุโส ที่ช่วยเหลือและดูแลศิลปินสูงอายุมากมาย และจัดกิจกรรมสานต่อเจตนารมณ์เพื่อเอาใจใส่นักแสดงที่ย่างก้าวเข้าสู่วัยชรามาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา  และด้วยระยะเวลายาวนานบนหนทางแห่งวงการบันเทิง เศรษฐาได้รับรางวัล ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย-สากล) ในปี 2554 เพื่อเชิดชูคุณงามความดีและการสร้างสรรค์ผลงานให้กับวัฒนธรรมบันเทิงไทยที่เศรษฐามอบให้ตลอดมา แม้ในปัจจุบัน อาต้อย เศรษฐาที่ส่งต่อกำลังใจให้กับศิลปินทุกยุคทุกสมัยมาอย่างยาวนานกำลังรักษาตัวจากโรคร้ายไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปอดที่ตรวจเจอในปี 2562 และปัจจุบันที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 และกำลังอยู่ในการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดจากทางการแพทย์ เพราะชีวิตที่ผ่านเรื่องราวที่ไม่น่าเป็นไปได้มาตลอดในวงการบันเทิง ผู้ชายคนนี้เป็นหนึ่งในผู้สร้างวัฒนธรรมป็อปสู่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มวงสตริงคอมโบให้คนไทยได้รู้จักดนตรีไทย-สากล / ได้อยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านของยุคภาพยนตร์ไทย จาก 16 มม. สู่ 35 มม. / ได้เป็นวงดนตรีที่ทำซาวนด์แทร็กประกอบหนัง และโกอินเตอร์อย่างเป็นทางการ / เป็นพิธีกรที่สร้างรอยยิ้มและความประทับใจมาตลอด สำหรับผู้ชายที่ชื่อ เศรษฐา ศิระฉายา แล้ว ไม่มีคำว่า “เป็นไปไม่ได้” ในหนทางชีวิตของเขาเลยสักครั้งเดียว เราจึงขอส่งใจให้อาต้อย เศรษฐาหายจากโรคร้ายและกลับมาแข็งแรงโดยเร็ววัน   ข้อมูลอ้างอิง  https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/672847 รายการคุยแซ่บโชว์   ภาพ: http://www.bookeden.org/product/