การแชร์ภาพคนตาย บทเรียนจากการฟ้องร้องกรณีแชร์ภาพ โคบี ไบรอันต์ ฮ. ตก

การแชร์ภาพคนตาย บทเรียนจากการฟ้องร้องกรณีแชร์ภาพ โคบี ไบรอันต์ ฮ. ตก
“ความรุนแรงถูกใช้เพื่อความบันเทิงมานานเป็นพัน ๆ ปี ตั้งแต่ชาวอียิปต์โบราณที่ชมการจำลองเหตุการณ์ฆาตกรรมเทพเจ้าโอไซริสของตนเอง มาจนถึงการต่อสู้ของกลาดิเอเตอร์ในยุคโรมัน” แบรด บุชแมน (Brad Bushman) ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารและจิตวิทยาชาวอเมริกัน (CNN) ภาพอุบัติเหตุรุนแรงที่นำไปสู่ความตายของผู้ประสบเหตุ เป็นภาพที่คนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เช่นกรณีของ เพจวิทยุ จส. 100 (JS100 Radio) แชร์คลิปวิดีโอผู้ขับรถยนต์พุ่งชนจักรยานยนต์จนถึงแก่ความตาย เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2020  ในภาพพาดหัวมีการใส่วงกลมแดงเน้นภาพของผู้เสียชีวิตให้เห็นอย่างชัดเจน โดยไม่มีการปิดบังใด ๆ และใช้พาดหัวว่า “นาที! ฟอร์จูนเนอร์ซิ่งพุ่งชน จยย.ขี่ข้ามถนน เสียชีวิตทันที” กลายเป็นคลิปที่มีผู้เข้ามาแสดงความรู้สึกต่าง ๆ กว่า 6,000 ครั้ง มีความเห็นเกินกว่า 1,500 ความเห็น  ข้ออ้างสำคัญที่ทำให้การแชร์ภาพหรือวิดีโอลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ก็คือ เพื่อเป็น ‘อุทาหรณ์’ ให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน แต่ภาพอุทาหรณ์ที่เห็นเกลื่อนตาเหล่านี้กลับไม่ได้ทำให้อุบัติเหตุในประเทศไทยลดลงเท่าใดนัก ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเห็นจะมีเพียงสื่อที่เผยแพร่ที่ได้รับความสนใจจากสาธารณะเพิ่มขึ้น ขณะที่ในต่างประเทศ การแชร์ภาพคนตายโดยเฉพาะการตายที่ผิดธรรมชาติซึ่งมิได้เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนตัวนั้น กำลังถูกต่อต้านอย่างหนัก  เช่น กรณีของ โคบี ไบรอันต์ อดีตนักบาสเกตบอลชื่อดัง ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2020 พร้อมกับลูกสาววัย 13 ปี และผู้ร่วมเดินทางอีก 6 ราย และนักบินอีก 1 ราย ซึ่งปรากฏว่า มีกลุ่มผู้ช่วยนายอำเภอได้ถ่ายภาพในที่เกิดเหตุแล้วนำไปเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ทำให้วาเนสซา ไบรอันต์ ภรรยาหม้าย ออกมาดำเนินคดีกับหน่วยงานปกครองต้นสังกัด “คำฟ้องนี้เป็นเรื่องของความรับผิดชอบและการป้องกันไม่ให้พฤติกรรมที่ไร้มารยาทไปเกิดขึ้นกับครอบครัวอื่น ๆ ที่ต้องประสบกับความสูญเสียในอนาคต” หลุยส์ ลี (Luis Li) ทนายความของวาเนสซา ไบรอันต์ กล่าว (AP) ทางสำนักงานอำเภอ “นางไบรอันต์รู้สึกแย่กับการที่คนแปลกหน้ามานั่งส่องภาพการเสียชีวิตของสามีและลูก และเธอก็กลัวว่า วันหนึ่งเธอหรือลูก ๆ จะต้องมาเห็นภาพอันน่าสะพรึงกลัวของคนที่พวกเขารักบนโลกออนไลน์” ส่วนหนึ่งของคำฟ้องระบุ ทางไบรอันต์ยังกล่าวหาว่า นายอำเภอ อเล็กซ์ วิลลานูวา (Alex Villanueva) แห่งลอสแอนเจลิสเคาน์ตี พยายามปกปิดความผิดของบรรดาเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยของตนเอง ด้วยการสั่งให้เจ้าหน้าที่ 8 นาย ลบภาพถ่ายของผู้ประสบเหตุออกจากโลกออนไลน์ เพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดีทางวินัย โดยมิได้มีการสอบสวนหาความผิดหรือการรับผิดชอบใด ๆ  “ความสำคัญลำดับแรกของผมคือการทำให้แน่ใจว่าภาพดังกล่าวจะไม่หลงเหลืออยู่” วิลลานูวากล่าวกับ NBC “เราหาตัวผู้ช่วยฯ ที่เกี่ยวข้องได้โดยพวกเขามารายงานตัวด้วยตัวเองและยอมรับว่าพวกเขาถ่ายภาพ แต่ได้ลบทิ้งไปแล้ว ซึ่งเราก็พอใจที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ทำไปเช่นนั้น” ขณะที่ ลี ทนายของไบรอันต์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ก่อนหน้านี้เคยออกมาปฏิเสธคำร้องขอข้อมูลของนางไบรอันต์ โดยอ้างว่า ‘ไม่สามารถช่วยได้’ ในข้อเรียกร้องใด ๆ และไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติทางกฎหมาย ตอนนี้เป็นเรื่องของศาลที่จะบอกว่า หน้าที่ของทางสำนักงานมีอะไรบ้าง”  ที่ผ่านมาสังคมอาจมิได้คำนึงถึงความรู้สึกของญาติผู้ตาย หรือการเคารพต่อตัวผู้ตายเท่าใดนัก จึงเห็นว่า การมุงดูการตายของคนอื่นเป็นเรื่องน่าพิศวง น่าสนใจ และอาจถือเป็นเสรีภาพด้วยซ้ำในการมุงและการเผยแพร่ แต่สำหรับคนใกล้ตัว ภาพดังกล่าวเป็นภาพที่น่าหวาดกลัวที่เขาไม่อยากจะเห็น และคงไม่อาจเข้าใจได้ว่า ทำไมคนแปลกหน้าถึงอยากเห็นภาพอันเลวร้ายเหล่านั้นที่เกิดขึ้นกับคนรักของตน  จึงเกิดความเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกับ วาเนสซา ไบรอันต์ ซึ่งตอนนี้มีก้าวไปถึงขั้นผลักดันเป็นกฎหมายกันบ้างแล้ว เช่นในรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย ที่มีการเสนอร่างกฎหมายซึ่งระบุให้การถ่ายภาพคนตาย เป็นความผิดชั้นลหุโทษ เว้นแต่เป็นการถ่ายเพื่อประโยชน์ในทางคดี หลังพบปัญหาเจ้าหน้าที่กู้ภัยนิยมถ่ายภาพผู้ตายแล้วนำไปเผยแพร่ในโลกโซเชียลฯ ขณะเดียวกัน ข้อกฎหมายดังกล่าวก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ หรือไม่? เพราะมันเป็นการห้ามคนถ่ายภาพในพื้นที่ที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้  แต่ที่ผ่านมา เคยมีกรณีตัวอย่างหลายกรณีซึ่งเกิดจากการใช้เสรีภาพเกินส่วนโดยไม่สุจริต ซึ่งทำให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตต้องเผชิญกับความโหดร้าย โดยผู้กระทำไม่ต้องรับผิดทางอาญา หนึ่งในคดีดังคือ การเสียชีวิตทางอุบัติเหตุรถยนต์ของ นิกกี แคตซอรัส (Nikki Catsauras) เมื่อปี 2006 ภาพเกิดเหตุเป็นภาพที่เลวร้ายมาก จนเจ้าหน้าที่ไม่อาจใช้ภาพถ่ายเพื่อให้พ่อแม่ของเธอระบุอัตลักษณ์ แต่ก็มีเจ้าหน้าที่รายหนึ่งนำภาพการเสียชีวิตของเธอไปเผยแพร่ลงทางอินเทอร์เน็ต ทำให้ครอบครัวต้องเห็นภาพที่สะเทือนใจอย่างเลี่ยงได้ยาก เพราะมีทั้งผู้หวังดีและไม่หวังดีส่งภาพเหล่านี้มาให้กับครอบครัว บางครั้งก็เป็นการกลั่นแกล้งด้วยการส่งอีเมลหลอกให้เปิดดูภาพที่น่าสลดเหล่านี้ ทำให้ทางครอบครัวต้องต่อสู้เพื่อลบภาพเหล่านี้ให้หมดไป ซึ่งก็เป็นงานที่หนักและยาวนาน แม้ว่าสุดท้ายทางครอบครัวจะได้รับการชดเชยให้เป็นจำนวนเงิน 2.4 ล้านดอลลาร์ก็ตาม (Vice) ส่วนที่แคลิฟอร์เนีย (พื้นที่เกิดเหตุ กรณีของ โคบี ไบรอันต์) เองก็มีการผลักดันเรื่องนี้ในสภาฯ เช่นกัน โดยตัวร่างซึ่งห้ามมิให้คนที่เข้าไปช่วยเหลือถ่ายภาพผู้ประสบภัย กำหนดโทษปรับไว้สูงสุดที่ 1,000 ดอลลาร์ ต่อการกระทำหนึ่งกรรม ได้ผ่านการลงมติจากสภาแคลิฟอร์เนียแล้ว แต่ยังต้องรอลายมือชื่อของ กาวิน นิวซัม (Gavin Newsom) ผู้ว่าการรัฐเสียก่อน