รู้จัก ชิเงรุ มิซึกิ เจ้าของผลงาน อสูรคิทาโร อดีตทหารเกณฑ์ที่เสียแขนซ้ายในสงครามโลกครั้งที่ 2

รู้จัก ชิเงรุ มิซึกิ เจ้าของผลงาน อสูรคิทาโร อดีตทหารเกณฑ์ที่เสียแขนซ้ายในสงครามโลกครั้งที่ 2
“ว่ากันว่า ภูติผีหายไปเมื่อแสงไฟฟ้าเข้ามา ในยุคก่อนที่จะมีไฟฟ้าสมัยที่เรายังเดินถือโคมไฟตะเกียงน้ำมัน ปีศาจมีอยู่อย่างแพร่หลาย แต่แสงไฟฟ้ามันเจิดจ้าเกินกว่าภูติผีจะอยู่รอดได้” ชิเงรุ มิซึกิ นักเขียนการ์ตูนผู้โด่งดังจากการ์ตูนเรื่อง “อสูรคิทาโร” กล่าวกับ Japan Times “และบรรยากาศแบบนี้แหละที่ทำให้คนจินตนาการถึงภูติผี” คำพูดของมิซึกิทำให้ผู้สัมภาษณ์เข้าใจว่า สิ่งที่เขาพยายามจะบอกคือ เมื่อมีไฟฟ้าเข้ามาจินตนาการของคนถึงภูติผีจึงหายไป แต่มิซึกิไม่ได้คิดอย่างนั้น สำหรับเขาภูติผีเคยมีตัวตนอยู่จริง ๆ “ไม่ใช่อย่างนั้น มันไม่ใช่เรื่องของจินตนาการ...รังสีจากแสงไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อภูติผี โคมไฟกับตะเกียงน้ำมันยังพอไหว เทียนก็เช่นกัน ตราบใดที่ความมืดมิดมันเหนือกว่าแสงไฟ เด็ก ๆ สมัยนี้ไม่มีใครตะโกนว่า ‘ผีมาแล้ว’ ไม่เหมือนแต่ก่อน ที่ผีมีไปทั่วเพราะสมัยนั้นยังมีแค่โคมไฟกับตะเกียง” มิซึกิ เกิดเมื่อปี 1922 ในหมู่บ้านชายฝั่งทะเลของจังหวัดทตโตริ เป็นลูกคนกลางของครอบครัว พ่อของเขาถือเป็นคนเก่งคนหนึ่งเพราะเป็นคนแรกของหมู่บ้านที่มีโอกาสได้เรียนต่อระดับปริญญาที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ และได้ทำงานธนาคารก่อนจะถูกไล่ออกเพราะ (ตามที่มิซึกิเล่า) พ่อเขาเป็นคนที่ขี้กลัวเมื่อต้องอยู่แบงก์คนเดียวตอนกลางคืนก็ใจฝ่อหนีออกจากที่ทำงานก่อนเวลา ทำให้นายจ้างบอกเลิกจ้าง พ่อของเขาซึ่งสนเรื่องการละครมาตลอดจึงลองเปิดโรงหนังขึ้นมา ตอนแรกก็เหมือนจะไปได้ดี แต่ก็โชคร้ายเมื่อเครื่องฉายหนังถูกขโมยไป ทำให้ครอบครัวต้องเป็นหนี้มากมาย พ่อของเขาจึงต้องเดินทางไปหางานทำที่โอซากา ฐานะทางบ้านของเขาจึงค่อนข้างลุ่ม ๆ ดอน ๆ ชีวิตของเขาก็คล้าย ๆ กัน เขาบอกว่าเขาชอบทำแต่เรื่องที่ตัวเองสนใจ เรื่องที่ผู้ใหญ่อยากจะให้ทำเขาไม่ค่อยจะสนใจทำ ไม่เหมือนพี่และน้องที่ค่อนข้างเป็นเด็กดี ผลการเรียนของเขาก็ค่อนข้างแย่เพราะเขาชอบตื่นสายจนไปเรียนคาบแรกไม่ทันประจำ ทำให้เขาตกเลขเนื่องจากเลขเป็นวิชาแรก ตอนนั้นใคร ๆ ก็เรียกเขาว่า “ไอ้โง่” เพราะไม่มีใครเขาตกกัน เมื่อเรียนจบชั้นประถมเขาย้ายไปอยู่โอซากากับพ่อ มีโอกาสได้เรียนด้านศิลปะ และงานช่าง แต่ก็เรียนไม่จบ ส่วนความสนใจในเรื่องผีของมิซึกินั้นเริ่มมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กก่อนวัยเรียน เขาบอกว่าสมัยนั้นเรื่องผีเริ่มถูกหลงลืม แม้แต่ตัวเขาเองสมัยที่ยังเป็นเด็กเล็กก็ไม่เชื่อเรื่องผี แต่ “Non Non Ba” (ชื่อที่มิซึกิเรียก ฟูซะ คาเงยามะ [Fusa Kageyama]  คุณยายเพื่อนบ้านที่ช่วยดูแลเขาตอนเล็ก ๆ) ทำให้เขาค่อย ๆ เปลี่ยนมุมมองในเรื่องผี เขาใช้ชีวิตอยู่กับคุณยายบ่อย ๆ เธอก็ชอบเล่าเรื่องผีให้ฟัง และเรื่องหนึ่งที่ทำให้เขาปักใจเชื่อเรื่องผีก็คือเรื่อง “งานแต่งงานของจิ้งจอก” ตอนนั้นเขาอายุได้ราว 5 ขวบ คุณยายพาเขาเดินขึ้นเขาไปเยี่ยมบ้านบรรพชนของเธอ คืนนั้นเป็นวันฝนตกแต่ท้องฟ้ากลับไม่มีเมฆ ซึ่งตามตำนานเล่ากันว่า คืนแบบนี้เป็นคืนที่ “จิ้งจอก” (คนญี่ปุ่นเชื่อว่าจิ้งจอกเป็นสัตว์ที่มีอำนาจเวทย์มนต์แปลงกายได้) จะจัดพิธีแต่งงาน มิซึกิได้ฟังก็อยากรู้ว่าจะเป็นจริงอย่างที่คุณยายเล่าหรือไม่ จึงกำชับว่าถ้าได้ยินเสียงจิ้งจอกเมื่อไหร่อย่าลืมปลุกเขาด้วย คุณยายจึงปลุกเขาขึ้นมากลางดึกเมื่อได้ยินเสียงที่เชื่อว่าเป็นเสียงของจิ้งจอกที่ออกมาจัดพิธีแต่งงาน หลังจากเขาได้ยินเสียงของมันด้วยตัวเอง (แม้จะไม่ได้เห็นตัวจิ้งจอกแปลงร่างจริง ๆ) เขาก็เชื่อในเรื่องภูติผีที่ Non Non Ba เล่าให้เขาฟังแทบทุกเรื่อง และเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งที่ทำให้เขาหัดวาดภาพผี มิซึกิต้องมาพบกับจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตในช่วงวัยรุ่น เมื่อปี 1943 หลังญี่ปุ่นประกาศสงครามกับสหรัฐฯ ตอนนั้นเขาอายุได้ราว 20 ปี ก็ต้องหยุดเรียนกลางคันเนื่องจากถูกเรียกไปรายงานตัวเพื่อรับใช้กองทัพ เขาบอกว่า เขาไม่ใช่ทหารที่ดีเลย ผู้บังคับบัญชาเห็นก็รู้จึงโยนให้เขาไปอยู่กองดุริยางค์ทหาร เขาต้องพบกับการ “ธำรงวินัย” เป็นประจำเนื่องจากเขาเป่าแตรไม่เป็น เขาก็เลยไปขอย้ายกอง หัวหน้าฝ่ายบุคลากรทหารก็เลยถามเขาว่า “อยากไปอยู่ที่ไหนล่ะ เหนือหรือใต้ดี?” เขาตอบกลับไปว่า “ขอที่อุ่น ๆ ครับ” เขาเลยถูกส่งไปประจำการในฐานทัพที่ราบัล (Rabaul ปัจจุบันตั้งอยู่ในพื้นที่ของปาปัวนิวกินี) ตั้งแต่เริ่มเดินทางมาที่นี่เขารอดตายมาได้แบบหวุดหวิดหลายครั้ง ตั้งแต่ตอนเดินทางนั่งเรือจากปาเลาต่อมาถึงราบัล เรือที่นั่งมาเป็นเรือเก่าตั้งแต่สมัยสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นที่เหมือนจะจมได้ทุกเมื่อ เมื่อเรือมาส่งเขาถึงที่หมายและอยู่ระหว่างเดินทางกลับ ก็ถูกเรือดำน้ำของฝ่ายสัมพันธมิตรจม ลูกเรือตายทั้งลำ และข้อเสียส่วนตัวทั้งความเฉื่อยแฉะไม่ค่อยสนใจระเบียบวินัยทหาร ยังมีส่วนช่วยให้เขารอดตายมาได้ “ตอนที่ผมต้องเข้าเวร หน้าที่ของผมคือคอยดูเรือของศัตรู แต่ผมไปดูนกแก้ว...ผมทึ่งในความสวยของมัน ตอนถึงเวลาต้องไปปลุกเพื่อนทหารผมก็ยังมัวแต่ชื่นชมพวกมัน ก็เลยไปสายสักสองสามนาที แต่มันช่วยชีวิตผมเอาไว้ได้ “ตอนนั้นน่าจะสัก ตีห้าหกโมง พระอาทิตย์กำลังจะขึ้น และช่วงก่อนแดดยามเช้าอย่างนี้ก็เป็นเวลาที่เหมาะจะโจมตี พอผมเริ่มเดินกลับไปที่กองซึ่งเพื่อนทหารยังสะลึมสะลือกันอยู่ ฝ่ายศัตรูก็เข้าประจำจุดกลั้นหายใจเตรียมฆ่าเราทั้งหมด รวมถึงผมด้วย แต่เพราะผมมัวแต่ดูนกก็เลยไปถึงช้าและไม่ได้อยู่กับคนอื่น ๆ ตอนที่ศัตรูเริ่มสาดกระสุน (กองทัพออสเตรเลีย) ผมเป็นคนเดียวที่รอดมาได้โดยไม่มีบาดแผล” อีกครั้งที่เขาโกงความตายมาได้คือตอนที่เขาป่วยหนักเพราะติดไข้มาลาเรีย ตอนนั้นหมอเสนอให้งดข้าวงดยาเขาได้แล้ว เพราะอาการหนักจนไม่น่ารอด เขาได้ยินอย่างนั้นจึงคว้าอาหารทุกอย่างมากินเพื่อทำให้หมอเห็นว่าเขายังมีกำลังใจที่จะมีชีวิตต่อและต้องการให้หมอให้โอกาสเขาอีกครั้ง ระหว่างนั้นเองฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทิ้งระเบิดใส่โรงพยาบาลที่เขารักษาตัวอยู่ ทำให้เขาต้องเสียแขนซ้าย แต่เขายังกลับฟื้นตัวมาได้อย่างปาฏิหาริย์ ความพิการทำให้มิซึกิไม่ได้ถูกกองทัพใช้งาน เขาจึงมีโอกาสได้ไปทำความรู้จักกับคนพื้นเมือง “โตไล” (Tolai) เขามีความผูกพันกับคนพื้นเมืองระดับที่ชาวบ้านเตรียมหาเจ้าสาวและที่ดินให้เขาทำกิน ความผูกพันกับคนพื้นเมืองทำให้ตอนที่สงครามจบลงเขายังไม่คิดอยากกลับญี่ปุ่น แต่เมื่อหมอขอให้เขากลับไปเจอหน้าพ่อแม่เสียก่อน ก็ทำให้เขาต้องไปอยู่ญี่ปุ่นอีกยาวนานกว่าจะมีโอกาสได้กลับไปเยี่ยมคนพื้นเมืองกลุ่มนี้อีกครั้ง กลับมาอยู่ญี่ปุ่นใหม่ ๆ เขาจับงานหลายอย่างรวมถึงการเป็นพ่อค้าขายปลา และงานวาดเขียนที่เขาชอบ เริ่มจากการวาดภาพให้กับนักเล่านิทานข้างถนน (kimishibai) ที่มีป้ายภาพประกอบอยู่ข้าง ๆ ซึ่งรายได้ก็ยังไม่พอที่จะเลี้ยงปากท้องสักเท่าไหร่ เขาจึงพัฒนางานวาดเล่าเรื่องของตัวเองขึ้นมาเอาไปปล่อยตามร้านเช่าหนังสือ ด้วยความที่หนังสือสมัยนั้นยังแพงเกินกว่าที่คนจะซื้อเก็บ เรื่องที่เขาถนัดจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสงครามซึ่งเขามีประสบการณ์ตรงกับเรื่องผี ช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่เขาค่อย ๆ พัฒนาตัวละครขึ้นมาจนมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น หนึ่งในนั้นก็คือ “คิทาโร” เขาเริ่มประสบความสำเร็จเมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 60 เริ่มจากการ์ตูนเรื่อง Television Boy ซึ่งได้ลงโชเน็นแมกกาซีนฉบับพิเศษแล้วได้รางวัลการ์ตูนสำหรับเด็กยอดเยี่ยม ตามมาด้วย “อสูรน้อยคิทาโร” อสูรตาเดียวลูกครึ่งมนุษย์ผู้ออกปราบปีศาจที่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คน ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมเป็นปรากฏการณ์และเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินรายอื่น ๆ ให้หันมาสนใจเรื่องของภูติผีปีศาจกันยกใหญ่ ความสำเร็จจากเรื่องอสูรคิทาโรทำให้เขามีทรัพยากรมากพอที่จะหันไปจับงานเกี่ยวกับสงครามเพื่อผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น โดยการ์ตูนเกี่ยวกับสงครามของเขามักจะสอดแทรกอุดมการณ์ต่อต้านสงคราม เช่นการ์ตูนชุด History of Japan ที่เขาปล่อยออกมาในยุครุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ซึ่งผู้คนพยายามจะลืมความเลวร้ายและตราบาปจากสงครามโลก มันเป็นการ์ตูนที่เนื้อหาสะท้อนทั้งประวัติศาสตร์ในภาพใหญ่และประสบการณ์ตรงของเขาในสงครามซึ่งมีน้ำเสียงวิจารณ์กองทัพค่อนข้างมาก เพื่อตอบโต้นักวาดการ์ตูนยุคใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสกับสงครามโดยตรงและพยายามเปลี่ยนโครงเรื่องประวัติศาสตร์หาความชอบธรรมในการรุกรานประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่น “มันมีแต่ความสูญเสียโดยแท้” มิซึกิกล่าว (New York Times) “แม้แต่ตอนที่ผมยังหนุ่ม ๆ ผมยังสงสัยเลยว่า คนอื่น ๆ ที่ถูกส่งไปประจำการไกลบ้านไกลเมืองรู้สึกว่าตัวเองกำลังปกป้องประเทศของตัวเองได้ยังไง ญี่ปุ่นนั่นแหละที่รุกรานประเทศอื่น ถ้าภารกิจจริง ๆ คือการป้องกันตัวเอง สิ่งที่เราต้องทำคือการอยู่ที่บ้านเกิด” มิซึกิบอกว่าเขาเป็นคนที่ต้องนอนอย่างน้อย ๆ คืนละ 9 ชั่วโมง ต่างจากเพื่อนนักเขียนการ์ตูนร่วมสมัย และนั่นก็ทำให้เขามีอายุยืนยาวไม่เหมือนนักวาดการ์ตูนชั้นครูอีกรายอย่าง โอซามุ เทะซึกะ เจ้าของผลงาน “เจ้าหนูปรมาณู” ที่เสียชีวิตเมื่ออายุได้ 60 ปี “เทะซึกะเป็นพวกที่ชอบทำงานข้ามวันข้ามคืน เขาก็เลยตายตั้งแต่อายุยังน้อย” มิซึกิกล่าวเมื่อครั้งขึ้นรับรางวัล Tezuka Osamu Cultural Prize ในปี 2003 “ผมใช้ชีวิตแบบครึ่งหลับครึ่งตื่น ผมเลยมีอายุยืนยาว” ในบั้นปลายของชีวิต มิซึกิยังคงมีผลงานออกมาเรื่อยๆ การเป็นคนแข็งแรงแทบไม่เคยเจ็บป่วย (นอกจากติดมาลาเรียตอนเป็นทหารเกณฑ์) ทำให้คนในครอบครัวคิดว่า มิซึกิคงจะอยู่กับพวกเขาไปจนอายุเป็นร้อยปี แต่แล้ววันหนึ่งระหว่างทำงานอยู่ในออฟฟิศของเขา มิซึกิล้มลงและได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดและรักษาตัวนานนับสัปดาห์ ก่อนเสียชีวิตลงในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2015 เนื่องจากอวัยวะหลายส่วนล้มเหลว