Shoplifters: ครอบครัวที่เพิ่งสร้าง

Shoplifters: ครอบครัวที่เพิ่งสร้าง
หากพิจารณาจากแค่หน้าหนัง ‘Shoplifters’ (2018) ดูเหมือนจะเป็นหนังญี่ปุ่นแนวดราม่าอบอุ่นหัวใจที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่า และความสำคัญของสถาบันครอบครัว แต่เอาเข้าจริง ตัวหนังกลับตั้งคำถามต่อสถาบันครอบครัวในรูปแบบดั้งเดิม รวมถึงแนวคิดที่ว่า ‘เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ’ ว่ามันเป็นเช่นนั้นตลอดจริงหรือไม่ ด้วยการแสดงให้เห็นว่าครอบครัวนั้นมีความหมายที่เปิดกว้างและซับซ้อนกว่าที่คิด Shoplifters: ครอบครัวที่เพิ่งสร้าง Shoplifters ได้รับรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์เมื่อปี 2018 หนังเป็นผลงานกำกับ-เขียนบทโดย ‘ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ’ (Hirokazu Koreeda) ซึ่งหลายคนคุ้นเคยกันดีจาก ‘After Life’ (1998), ‘Nobody knows’ (2004), ‘Still Walking’ (2008), ‘Like Father Like Son’ (2013), ‘Our Little Sister’ (2015), ‘After the Storm’ (2016) และ ‘The Third Murder’ (2017) เป็นต้น  Shoplifters ยังคงรักษาลายเซ็นที่มักปรากฏในหนังของโคเรเอดะส่วนใหญ่ ได้แก่ สไตล์’ การนำเสนอที่เรียบนิ่ง, เนื้อเรื่องที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน, หลีกเลี่ยงการเร้าอารมณ์, แสดงออกแต่น้อย, ขับเคลื่อนด้วยรายละเอียดเล็ก ๆ มากกว่าพล็อตเรื่องใหญ่โต, เน้นถ่ายทอดชีวิตประจำวันของตัวละคร และเน้นความสมจริงเป็นธรรมชาติจนมีความใกล้เคียงกับสารคดี รวมถึงมี ‘เนื้อหา’ ที่มักเกี่ยวข้องกับเรื่องของ ‘ครอบครัว’ โดยครอบครัวของตัวละครหลักในหนังของเขาไม่ได้สมบูรณ์ดีพร้อม แต่กลับมีความไม่สมบูรณ์ แหว่งวิ่น ห่างไกลจากอุดมคติ และเต็มไปด้วยปัญหา แต่ถึงอย่างไรสมาชิกแต่ละคนต่างก็พยายามประคับประคองครอบครัวให้เดินหน้าต่อไปด้วยกัน Shoplifters: ครอบครัวที่เพิ่งสร้าง Shoplifters บอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวชนชั้นล่างในโตเกียวซึ่งมีสมาชิก 5 คน ได้แก่ โอซามุ (ลิลลี่ แฟรงกี้) ชายผู้รับจ้างก่อสร้างแบบรายวันและหารายได้เสริมด้วยการลักเล็กขโมยน้อย, โนบุโยะ (ซากุระ อันโดะ) ภรรยาของโอซามุที่ทำงานในแผนกซักรีดของโรงงาน, ฮัตสุเอะ (คิริน กิกิ) คุณยายผู้อยู่ได้ด้วยเงินบำนาญ, อากิ (มายุ มัตสึโอกะ) หญิงสาวที่รับจ๊อบด้วยการโชว์เรือนร่างและหว่านเสน่ห์ลูกค้าผู้ชายผ่านกระจก และสุดท้าย โชตะ (ไคริ โจว) เด็กชายที่ถูกเก็บมาเลี้ยง ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยขโมยของให้โอซามุ วันหนึ่งโอซามุได้พบกับยูริ (มิยุ ซาซากิ) เด็กหญิงที่นั่งหนาวคนเดียวนอกบ้าน โอซามุพาเธอกลับมากินข้าวที่บ้านและเลยเถิดจนพาเธอมาอาศัยอยู่ด้วย เพราะเห็นว่าเธอถูกผู้ปกครองทำร้ายและทอดทิ้ง แม้ตอนแรกคนอื่น ๆ จะไม่เห็นด้วย เพราะลำพังพวกเขาก็เลี้ยงดูตัวเองแทบไม่ไหว แต่สุดท้ายพวกเขาก็ยอมให้เด็กหญิงคนนี้เข้ามาเป็นสมาชิกครอบครัวคนใหม่ แม้พวกเขาจะยากจนและอาศัยอยู่ในบ้านคับแคบทรุดโทรม แต่ทุกคนก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จนกระทั่งการหายตัวไปของยูริได้กลายเป็นข่าวดังและทางการได้ออกตามหา นอกจากนั้นโชตะยังถูกจับได้ว่าขโมยของและบาดเจ็บจากการหลบหนี ส่งผลให้สถานการณ์ครอบครัวเริ่มเลวร้ายและความลับที่แต่ละคนปิดบังไว้ก็เริ่มถูกเปิดเผย Shoplifters: ครอบครัวที่เพิ่งสร้าง ภาพของตัวละครที่ปรากฏในหนัง ซีรีส์ อนิเมะญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่ผู้ชมคุ้นเคย มักเป็นชนชั้นกลางซึ่งอยู่ท่ามกลางบ้านเมืองที่เจริญหรือธรรมชาติที่สวยงาม จนทำให้ผู้ชมรู้สึกอยากไปเที่ยวหรือย้ายประเทศไปอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น แต่สำหรับ Shoplifters ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้พาผู้ชมไปสำรวจชีวิตผู้คนที่ไม่ค่อยปรากฏบนจอมากเท่าที่ควร ได้แก่ ชนชั้นล่างในโตเกียวที่ต้องหาเช้ากินค่ำ ใช้ชีวิตแบบวันต่อวัน ไม่มีสิทธิ์มีเสียง ไม่มีความมั่นคงในชีวิต ทั้งยังถูกบั่นทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไปทีละน้อย เราสามารถใช้แนวคิดเรื่อง ‘Precarity’ (ความเปราะบาง) ของ ‘จูดิธ บัตเลอร์’ (Judith Butler) นักปรัชญาและนักทฤษฎีสตรีนิยมชาวอเมริกัน ซึ่งปรากฏในหนังสือปี 2015 ของเธออย่าง ‘Notes Toward a Performative Theory of Assembly’ มาพิจารณาตัวเอกของหนังเรื่องนี้ได้ เธออธิบายแนวคิดนี้ไว้ว่า มันคือสภาพการณ์ที่รัฐชาติสมัยใหม่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการ หรือประกันความปลอดภัยมั่นคงของพลเมืองในรัฐ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในระดับต่าง ๆ จนเกิดความเปราะบาง เช่น เกิดการจ้างงานแบบชั่วคราวมากขึ้น, สวัสดิการสังคมลดลง, ปัจเจกต้องแบกรับภาระทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น เป็นต้น  ในปัจจุบันนี้ precarity ถือเป็นสภาวะที่หลายคนต้องเผชิญไม่มากก็น้อย ซึ่งชนชั้นล่างมีโอกาสได้รับผลกระทบมากกว่า อีกทั้งยังยากที่จะแก้ไขให้ถูกจุดเนื่องจากมีมายาคติในสังคมว่าความเปราะบางเหล่านี้มีสาเหตุมาจากปัจเจก (เช่น คนที่จนเพราะไม่ขยัน) แทนที่จะมองว่าเกิดจากระบบในสังคมที่ไม่เป็นธรรม เมื่อเศรษฐกิจในญี่ปุ่นถดถอย ผู้ที่รับผลกระทบแบบเต็ม ๆ ก็คือชนชั้นล่าง ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ คนตกงาน หรือลูกจ้างที่ไร้สวัสดิการ ซึ่งหนึ่งในฉากที่ชวนให้สะเทือนใจของหนังได้แก่ตอนที่โนบุโยะต้องตกลงกับเพื่อนร่วมงานคนสนิทที่ลำบากไม่แพ้เธอว่าใครจะเป็นฝ่ายถูกปลดออกจากงาน แต่ถึงกระนั้น หนังก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความหดหู่สิ้นหวังไปเสียหมด เนื่องจากโคเรเอดะเป็นผู้กำกับที่มีมุมมองแบบมนุษยนิยม หนังจึงแสดงให้เห็นว่า แม้ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากมาก แต่มนุษย์เราก็มีความรัก ความห่วงใย และช่วยเหลือกันและกันอยู่เสมอ เห็นได้จากครอบครัวโอซามุที่พยายามประคับประคองช่วยเหลือกัน Shoplifters: ครอบครัวที่เพิ่งสร้าง / บทตวามต่อจากนี้เปิดเผยเนื้อเรื่องสำคัญของภาพยนตร์ / หนังเปิดเผยในช่วงท้ายเรื่องว่า ที่จริงแล้วครอบครัวนี้ไม่มีใครมีสายเลือดร่วมกันเลย พวกเขาเป็น ‘ครอบครัวที่เพิ่งสร้าง’ ซึ่งประกอบด้วยผู้คนต่างภูมิหลัง หลากหลายที่มาซึ่งค่อย ๆ รวมตัวกันอยู่ในบ้านพักแออัด หลายคนมีอาชีพหรือพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับศีลธรรมอันดีของสังคม ซึ่งหากวัดจากมาตรฐานของครอบครัวในอุดมคติ ครอบครัวนี้คงจะถูกมองว่าไม่ผ่านเกณฑ์ แต่หากพิจารณาถึงความรัก ความผูกพัน การดูแลช่วยเหลือกัน และองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ครอบครัวพึงมี ก็สามารถมองได้ว่าครอบครัวนี้มีไม่แพ้ใคร และอาจมีมากกว่าครอบครัวที่เชื่อมโยงทางสายเลือดหลายครอบครัวเสียอีก นั่นทำให้ประเด็นใน Shoplเifers เป็นการตั้งคำถามต่อแนวคิดครอบครัวในขนบแบบเดิม รวมถึงแนวคิดที่ว่า ‘เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ’ (ซึ่งถือเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับหนัง Like Father, Like Son ของเขาที่ตั้งคำถามว่า สิ่งใดที่สำคัญกว่ากันระหว่างความผูกพันหรือสายเลือด) ผ่านการเปรียบเทียบระหว่างครอบครัวนอกสายเลือดที่รักและดูแลยูริให้มีความสุขอย่างดี กับครอบครัวในสายเลือดที่ทำร้ายและทิ้งขว้างยูริ อีกทั้งยังพูดชัดเจนว่าไม่อยากให้เธอเกิดมา กล่าวได้ว่าความพยายามในการสร้างแนวคิดเรื่องครอบครัวในอุดมคตินั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างรัฐในอุดมคติ และถือเป็นความพยายามของรัฐในการควบคุมประชากรผ่านการจัดวางความสัมพันธ์ของครอบครัว ซึ่งในเมื่อครอบครัวของโอซามุไม่เป็นไปตามอุดมคติ จึงส่งผลให้ภายหลังรัฐได้ก้าวเข้ามาใช้อำนาจจัดการกับครอบครัวนี้จนสมาชิกแต่ละคนต้องกระจัดกระจายไปคนละทิศทาง และด้วยความที่ไม่ใช่สายเลือดเดียวกันทำให้รัฐและสังคมไม่อนุญาตให้โอซามุกับโนบุโยะทำหน้าที่พ่อกับแม่ได้ แต่หนังก็ไม่ได้มอง ‘ครอบครัวที่เพิ่งสร้าง’ ของโอซามุในแง่ดีไปเสียหมด จะเห็นได้จากความลับและอาชญากรรมอันดำมืดที่หลายคนเก็บซ่อนไว้ รวมถึงการพยายามหาผลประโยชน์บางอย่าง บวกกับพฤติกรรมหลายอย่างที่เป็น dilemma (ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก) ซึ่งชวนให้ตั้งคำถาม Dilemma ที่เห็นได้ชัดคือ พฤติกรรมลักเล็กขโมยน้อยของคนในครอบครัว ซึ่งมีการนำเด็กอย่างซาโต้และยูริมาร่วมก่อการด้วย พวกเขามองว่า ของในร้านที่ยังไม่มีคนซื้อคือของที่ไม่มีเจ้าของ โดยสามารถหยิบออกมาได้หากไม่ถึงขั้นทำให้ร้านค้าต้องเจ๊ง แต่ต่อมาพฤติกรรมการขโมยกลับรุนแรงขึ้น (เช่น ทุบรถเพื่อขโมยของ) รวมถึงมีความคาบเกี่ยวระหว่างขโมยเพราะความจำเป็นหรือเกิดจากความมักง่าย (เช่น การขโมยของใช้เล็ก ๆ อย่างแชมพู) รวมถึง dilemma เรื่องการลักพาตัวเด็ก ซึ่งไม่อาจมองได้ว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องได้อย่างเต็มร้อย (หนังเรื่อง Gone Baby Gone ได้เสนอ dilemma ที่ใกล้เคียงกับเรื่องนี้เช่นกัน) จนทำให้ผู้ชมไม่สามารถเอาใจช่วยครอบครัวนี้ได้อย่างเต็มที่ พฤติกรรมของครอบครัวโอซามุอย่างการขโมยของ ลักพาตัวเด็ก ฆ่าแฟนเก่าของคนรัก เอาศพคนแก่ไปฝังโดยไม่แจ้งตาย ฯลฯ เป็นสิ่งที่พบเจอได้ในพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์หรือเว็บข่าวออนไลน์ ซึ่งเอื้อให้เข้ามาอ่านเนื้อข่าวแบบผิวเผิน พิมพ์คอมเมนต์ด่า แล้วก็ปิดหน้าจอไป (โคเรเอดะเองกล่าวว่า หนังเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากข่าวอาชญากรรมที่เขาได้อ่าน ซึ่งเป็นแบบเดียวกับ Nobody Knows ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากข่าวแม่ทิ้งลูกให้อยู่กันเอง) กล่าวคือหนังเรื่องนี้เป็นการพาผู้ชมไปรู้จักและเห็นถึงเบื้องลึกหัวจิตหัวใจ และความเป็นมนุษย์ของคนที่อยู่ในพาดหัวข่าวนั่นเอง สุดท้าย หนังทำให้ผู้ชมกลับมาตั้งคำถามถึงความหมายของครอบครัวว่าที่แท้คืออะไร จำเป็นต้องเป็นไปตามขนบหรืออุดมคติหรือไม่ เรามีสิทธิ์เลือกครอบครัวเองได้ไหม การที่คนต่างสายเลือดมารวมตัวอยู่ด้วยกันถือว่าเป็นครอบครัวหรือไม่ การไม่ได้มีสายเลือดเดียวกันทำให้เขามีสิทธิ์เป็นพ่อเป็นแม่ได้หรือไม่  คำถามดังกล่าวสอดคล้องกับสถานการณ์ในญี่ปุ่น (รวมถึงสังคมโลก) ตอนนี้ที่คนแก่มีจำนวนเพิ่มขึ้น คนหนุ่มสาวลดลง ผู้คนเริ่มไม่อยากสร้างครอบครัวหรือมีลูก ทำให้ครอบครัวในรูปแบบเดิมเกิดความเปลี่ยนแปลงและไม่อาจคาดเดาได้ชัดเจน ซึ่งหนังไม่ได้มอบคำตอบแก่คำถามเหล่านี้แบบสำเร็จรูป แต่เป็นการโยนให้ผู้ชมเอากลับไปคิดต่อเอาเอง เรื่อง: บดินทร์ เทพรัตน์ ภาพ: https://www.imdb.com/title/tt8075192/