Sicko: ‘ระบบหลักประกันสุขภาพ’ ของอเมริกา ในวันที่แพทย์ทิ้งคนจนไว้ข้างหลัง

Sicko: ‘ระบบหลักประกันสุขภาพ’ ของอเมริกา ในวันที่แพทย์ทิ้งคนจนไว้ข้างหลัง
ในภาพยนตร์สารคดี Where to Invade Next (2015) ผลงานกำกับของไมเคิล มัวร์ ที่พาไปสำรวจหลายประเทศทั่วโลกที่มีนโยบายทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจที่แตกต่างจากอเมริกา ตั้งแต่ระบบการศึกษาไปจนถึงเรื่องของแรงงานนั้น ประเทศเหล่านี้เหนือกว่าอเมริกาอย่างไร  มีประโยคหนึ่งที่น่าสนใจในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือประโยคที่ไมเคิล มัวร์ พูดขึ้นมาว่า สิ่งที่อเมริกันกลัวที่สุดคือคำว่า ‘สวัสดิการ’ การเดินหน้าสู่ทุนนิยมเต็มตัว ทำให้หลายครั้งอเมริกาทิ้งคนที่ ‘เดินช้า’ ในระบบนี้ไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะในเรื่องหลักประกันทางด้านสุขภาพ แม้ว่าในปัจจุบัน กฎหมายโอบามาแคร์ (Obamacare) ที่ลงนามไว้เมื่อปี 2010 ในสมัยรัฐบาลบารัก โอบามา เป็นนโยบายที่รัฐอุดหนุนให้ประชาชนซื้อประกันสุขภาพ แม้ว่าจะถูกโจมตีจากฝั่งพรรครีพับลิกันในแง่ที่รัฐบาลต้องใช้เงินมาสนับสนุนโครงการนี้สูงมาก แต่สำหรับประชาชนจำนวนหนึ่งแล้ว นโยบายนี้ทำให้พวกเขาเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง แต่ก่อนที่จะมีกฎหมายโอบามาแคร์ที่ช่วยคลายปัญหาไปได้เปลาะหนึ่ง ปัญหาเรื่องสวัสดิการ (คำต้องห้ามของรัฐทุนนิยมเสรีอเมริกาจากปากคำของไมเคิล มัวร์) ในระบบสาธารณสุขถือเป็นปัญหาใหญ่มากของประเทศนี้ ซึ่งถูกสะท้อนผ่านภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘Sicko’ (2007) ซึ่งพูดถึงปัญหานี้ได้อย่างน่าสนใจและทรงพลัง Sicko เป็นหนังผลงานกำกับอีกเรื่องของไมเคิล มัวร์ เจ้าเก่าเจ้าเดิมที่เคยทำหนังที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายทางการทหารและการระหว่างประเทศหลังเหตุการณ์ 911 ของรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยูบุช (2001-2009) อย่าง Fahrenheit 9/11 อย่างถึงพริกถึงขิง พอมาถึง Sicko ก็เปิดเรื่องโดยสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีจากรีพับลิกันคนเดิมเสียเลย ใจความว่า "ในอเมริกามีหมอเก่ง ๆ มากมายที่กำลังจะตกงาน มีสูตินารีแพทย์จำนวนมากมายที่ไม่มีโอกาสแสดงความรักต่อสตรีของประเทศนี้" ประโยคนี้ราวกับจะสร้างความชอบธรรมให้กับระบบสาธารณสุขของอเมริกาว่าไม่มีปัญหาอะไร ผู้คนอยู่ดีกินดีจนบุคลากรทางการแพทย์แทบไม่มีงานทำ แต่ Sicko กลับนำเสนอภาพที่แตกต่างไป หนังเรื่องนี้ได้เข้าไปเจาะลึกเรื่องราวชีวิตของพลเมืองอเมริกันหลายต่อหลายคนที่เข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุขในอเมริกา อยางเช่น นายอดัมที่ตกงานไม่มีประกันสุขภาพ เลยต้องมานั่งเย็บแผลเอง หรือมีอีกหลายคนที่เข้าถึงการรักษาไม่ได้ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป ระดับถูกไล่ออกจากโรงพยาบาลก็มี แม้แต่คนที่มีสิทธิเข้าถึงการรักษาจากประกันสุขภาพ พอถึงเวลารักษาจริง ๆ ก็มีเงื่อนไขมากมายที่ไม่ได้ครอบคลุมการจ่ายค่ารักษาพยาบาลในโรคที่เขาเป็น และยิ่งหนังเข้าไปสำรวจ จะเห็นว่าแม้แต่ธุรกิจของบริษัทประกันสุขภาพซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับความเป็นความตายของคนก็ยังยึดเป้าเรื่อง maximize profit หรือกำไรสูงสุดในความหมายที่ว่า ยิ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของลูกค้าลดลง ยิ่งทำกำไรให้กับบริษัทได้มากขึ้น ดังนั้น บริษัทประกันสุขภาพจึงวางเงื่อนไขการทำสัญญาและตรวจสอบประวัติสุขภาพของลูกค้าอย่างละเอียดยิบ หากพบความผิดปกติในประวัติสุขภาพของลูกค้าอันมีผลกับการเป็นโรคภัยไข้เจ็บในปัจจุบัน หรือพบข้อผิดพลาดในเงื่อนไขสัญญา บริษัทเหล่านี้อาจจะเล่นแง่ไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาลที่สูงลิบลิ่วให้ก็ได้ ภาพที่แท้จริงของพลเมืองอเมริกันที่ต้องใช้หลักประกันสุขภาพตามที่ปรากฏในหนังจึงแสดงให้เห็นว่าสุนทรพจน์ของบุชในตอนต้นเรื่องบิดเบี้ยวจากความเป็นจริง เพราะยังมีคนอเมริกันเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม ซึ่งไปสุดทางในระดับที่ว่า ‘ปล่อยให้คนเจ็บป่วยตายทิ้ง’ โดยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างสมเหตุสมผล ก็มี ไม่ใช่เสมอไปว่าคนอเมริกันมีสุขภาพที่ดีจน ‘แพทย์’ ว่างงาน Sicko: ‘ระบบหลักประกันสุขภาพ’ ของอเมริกา ในวันที่แพทย์ทิ้งคนจนไว้ข้างหลัง สาเหตุที่ระบบหลักประกันสุขภาพของอเมริกันห่วยแตกเช่นนี้ ใน Sicko สืบค้นมาว่านั่นก็เพราะนโยบายด้านสาธารณสุขที่มีมาในยุค 70s ในสมัยรัฐบาลของริชาร์ด นิกสัน ซึ่งวางให้บริษัทประกันสุขภาพทำธุรกิจกับประชาชน เราจึงค่อย ๆ เห็นเครือข่ายผลประโยชน์ที่โยงใยกันอย่างซับซ้อนของตัวละครหลายตัว ตั้งแต่บริษัทประกันภัยที่ได้รับผลประโยชน์ทางธุรกิจจากนโยบายนี้โดยตรง, สมาคมแพทย์อเมริกัน (American Medical Association) ที่ได้รับประโยชน์จากค่ารักษาพยาบาลเป็นไปตามกลไกตลาด (ราคาแพงมาก) และนักการเมืองผู้สนับสนุนกฎหมายและนโยบายของบริษัทประกันสุขภาพและบริษัทยาจะได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทเหล่านี้ และแม้จะมีความพยายามในการปฏิรูประบบประกันสุขภาพของอเมริกาให้มาอยู่กับฝั่งรัฐ แต่ปัญหาก็คือ ความคิดนี้ถูกต่อต้านโดยสมาคมแพทย์อเมริกัน (ซึ่งบริษัทประกันภัยและบริษัทยาหนุนหลังอยู่) สร้างโฆษณาชวนเชื่อว่า นโยบายนี้จะส่งผลร้ายเพราะมันเป็นวิธีคิดแบบสังคมนิยมซึ่งหลอกหลอนสังคมเสรีนิยมแบบอเมริกันในช่วงสงครามเย็น นอกจากนี้ Sicko ยังพาคนดูไปไกลกว่าระบบประกันสุขภาพของอเมริกา หนังได้พาไปสัมผัสกับระบบประกันสุขภาพของประเทศอื่นที่ดูก้าวหน้ากว่าอเมริกา อย่างเช่น การพาไปที่ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการเข้มแข็งอย่างแคนาดาและฝรั่งเศส ที่ผู้คนเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้อย่างสะดวกและเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะยากดีมีจน โดยเฉพาะที่ฝรั่งเศส รัฐมีสวัสดิการดูแลผู้คนตั้งแต่เกิดแก่เจ็บตาย มีรถพยาบาลที่สามารถทำการรักษาผู้คนตามพื้นที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไปจนถึงสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ก็มีคนของรัฐที่ถูกส่งมาช่วยดูแลลูกน้อย แน่นอนว่า ในรัฐสวัสดิการ รายได้ของรัฐมาจากการจ่ายภาษีของพลเมืองที่สูงลิบลิ่ว โดยเฉพาะภาษีจากคนที่มีรายได้สูง เพราะถือว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรภายในรัฐมากกว่าคนอื่น จึงต้องช่วยกันจ่ายเงินอุดหนุนรัฐสูง ๆ เพื่อช่วยเหลือคนที่เข้าถึงทรัพยากรได้น้อยกว่าด้วย และแม้แต่ประเทศคิวบาที่เป็นประเทศสังคมนิยมก็ยังมีระบบการประกันสุขภาพที่ดีกว่าอเมริกา เพราะคนคิวบาสามารถใช้สิทธิในการรักษาฟรีจากรัฐ และสามารถซื้อยารักษาโรคได้ในราคาถูก ซึ่งไมเคิล มัวร์ นำเสนอในช่วงนี้ได้แหลมคมมาก Sicko พยายาม ‘ขยี้’ และ ‘เล่นใหญ่’ กับซีนที่เหล่าอาสาสมัครชาวอเมริกันที่ช่วยเหลือผู้คนในช่วงเหตุการณ์ 911 ที่ตึกเวิลด์เทรดถล่มในปี 2001 หลายคนป่วยจากละอองฝุ่นของซากตึกที่ถล่มที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่อเมริกาได้ พวกเขาจึงนั่งเรือไปที่คุกกวนตานาโม อันเป็นคุกที่ขังนักโทษต่างประเทศที่เป็นภัยต่ออเมริกา ซึ่งว่ากันว่านักโทษมีระบบการรักษาพยาบาลที่ดีกว่าคนอเมริกันเสียอีก (ส่วนประเด็นที่ว่านักโทษที่คุกนี้ถูกทรมาน เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องตั้งคำถามในวาระอื่น) พวกเขาผ่านมาที่คุกนี้เพื่อทำสัญลักษณ์เชิงประชดประชันว่า แม้แต่นักโทษที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของอเมริกายังได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลดีเช่นนี้ แต่ทำไมคนอเมริกันที่ทำประโยชน์ให้กับแผ่นดินแม่อย่างพวกเขาจึงไม่ได้รับสิทธินั้นบ้าง ก่อนที่พวกเขาจะเดินทางมารักษาตัวที่คิวบาตามที่ว่าไว้ในข้างต้น ซึ่งเปรียบเสมือนการฉีกหน้าอเมริกาอย่างจัง หรือแม้แต่ประเทศต้นแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอย่างอังกฤษ ก็มีระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีกว่าอเมริกา พวกเขาจ่ายค่ายาในราคาถูก และสามารถเข้าถึงการรักษาฟรี อีกทั้งคนที่เดินทางไกลมารักษาที่โรงพยาบาลยังสามารถเบิกค่าเดินทางจากโรงพยาบาลได้อีกต่างหาก สาเหตุที่ระบบหลักประกันสุขภาพของอังกฤษก้าวมาไกลขนาดนี้ ไมเคิล มัวร์ได้สัมภาษณ์ โทนี เบนน์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ ได้รับคำตอบมาว่านั่นเพราะประเทศนี้ปกครองด้วยระบอบ ‘ประชาธิปไตย’ “เราเริ่มต้นกันที่ประชาธิปไตย ก่อนที่เราจะมีการเลือกตั้ง อำนาจทั้งหมดอยู่ในมือของคนรวย ซึ่งถ้าคุณมีเงิน คุณสามารถเข้าถึงการบริการเรื่องสุขภาพที่จะมาดูแลคุณในยามแก่เฒ่าได้ แต่สิ่งที่ระบอบประชาธิปไตยทำให้คนจนสามารถมีสิทธิเลือกตั้งแล้วย้ายอำนาจจากตลาดสู่คูหาเลือกตั้ง จากกระเป๋าสตางค์สู่บัตรลงคะแนน “ในปี 1930 ประเทศเรามีคนตกงานมากมาย แต่เราไม่มีคนตกงานเลยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถ้าคุณทำให้คนไม่ตกงานด้วยการทำสงครามฆ่าคนเยอรมัน แล้วทำไมเราจะให้พวกเขามาสร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน หรือมาเป็นพยาบาล เป็นครูบ้างไม่ได้ล่ะ “หากคุณหาเงินมาฆ่าคนได้ คุณก็ต้องหาเงินมาช่วยคนได้เช่นกัน” ... และเมื่อดูหนังแล้วย้อนกลับมาดูระบบหลักประกันสุขภาพของบ้านเรา อย่าง '‘โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ หรือ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ นั้นช่วยเหลือประชาชนในวงกว้างได้มากมาย ช่วยไม่ให้พวกเขาต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจในครัวเรือนล้มละลายเพื่อเอาเงินของครอบครัวมาทุ่มรักษาผู้เป็นที่รักดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน หากมองให้ลึกลงไป วิธีคิดในการสร้างนโยบายนี้ขึ้นมาโดยเนื้อหาแล้ว มันคือ "‘รัฐสวัสดิการ’ ที่ไม่ใช่มีมิติเป็นเพียงแค่ ‘นโยบายทางการเมือง’ ของพรรคหนึ่งพรรคใด (ที่ผ่านมา มีทั้งรัฐบาลที่สนับสนุนและคัดค้านนโยบายนี้) โอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมกับคนอื่นแบบ ‘รัฐสวัสดิการ’ หาใช่ความ ‘เอื้ออาทร’ ที่รัฐพึงมีต่อพลเมือง แต่มันคือความจำเป็นที่รัฐต้องทำเพื่อสร้างสังคมการเมืองที่มีคุณภาพในแง่ที่ว่า ถ้าพลเมืองมีคุณภาพ รัฐก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย เพราะพลเมืองคือฟันเฟืองสำคัญต่อระบบการผลิตเพื่อหารายได้อันนำมาซึ่งการจ่ายภาษีให้แก่รัฐ หากคนในสังคมการเมืองจะต้องล้มละลายหรือขาดปัจจัยในการผลิต เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องสุขภาพ รัฐอาจจะเสียรายได้และต้องเป็นภาระในการดูแลคนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นรายจ่ายของรัฐที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ด้วยแนวทางเช่นนี้ นี่อาจจะเป็นนโยบายที่ดีที่สุดนโยบายหนึ่ง ที่รัฐไทยได้มอบให้กับประชาชนผู้เสียภาษีให้กับรัฐ เพื่อที่ว่าในวันข้างหน้า พลเมืองในรัฐไทยจะไม่เดินซ้ำรอยเรื่องราวที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ Sicko ที่บริการทางการแพทย์ทิ้งคนจนไว้ข้างหลัง