ซีฟาน ฮัสซาน: นักวิ่ง ‘ล้มลุก’ ผู้ใช้หัวใจนำทางสู่ 3 เหรียญประวัติศาสตร์โอลิมปิก

ซีฟาน ฮัสซาน: นักวิ่ง ‘ล้มลุก’ ผู้ใช้หัวใจนำทางสู่ 3 เหรียญประวัติศาสตร์โอลิมปิก
นักกีฬาส่วนใหญ่อาจมีเป้าหมายที่ชัยชนะและคว้าเหรียญทองมาคล้องคอ แต่สำหรับนักกีฬาผู้สร้างตำนานอย่าง ซีฟาน ฮัสซาน (Sifan Hassan) เธอใช้หัวใจเป็นเครื่องนำทาง และพยายามทำตามเสียงเรียกร้องของหัวใจ “สำหรับฉัน มันเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำตามหัวใจ “การทำสิ่งนั้นมันสำคัญยิ่งกว่าเหรียญทอง มันทำให้ฉันยังมีแรงกระตุ้นและยังมีความสุขกับการเล่นกีฬางดงามนี้ต่อไป” นักวิ่งสาวชาวดัตช์ วัย 28 ปี เปิดใจหลังเธอตัดสินใจทำสิ่งที่ไม่มีนักกรีฑาหญิงคนใดในประวัติศาสตร์โอลิมปิกเคยทำมาก่อน นั่นคือ การลงแข่งวิ่งระยะกลางและระยะไกล 3 รายการพร้อมกันใน ‘โตเกียว 2020’ (+1) โดย 3 รายการที่เธอเลือกลงแข่งขัน คือระยะ 1,500, 5,000 และ 10,000 ม. การตัดสินใจครั้งนี้เรียกเสียงฮือฮาจากแฟนกรีฑาทั่วโลก เพราะนั่นเท่ากับว่า เธอต้องลงแข่งทั้งรอบคัดเลือกและรอบชิงฯ รวม 6 ครั้งภายในเวลา 8 วัน ด้วยระยะทางรวมกัน 24.5 กม. หากเป็นการวิ่งออกกำลังกายไม่คิดอะไรมากสำหรับนักกีฬาทั่วไปคงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่นี่คือการประชันฝีเท้ากับนักวิ่งที่เก่งที่สุดจากทั่วโลก ซึ่งถ้าพลาดเพียงเสี้ยววินาทีอาจหมายถึงความล้มเหลวทันที ด้วยความถี่และระยะทางแข่งขันที่ว่านี้จึงเป็นภารกิจที่โหดหินและยากจนอาจเรียกว่า ‘mission impossible’ แต่นั่นแหละคือสิ่งที่หัวใจของเธอเรียกร้อง เป็นการสร้างความท้าทายให้ชีวิตยังมีความหมายที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า และทำในสิ่งที่ไม่เคยมีลมกรดหญิงคนใดกล้าลองให้ประสบความสำเร็จ ก่อนหน้านี้เคยมีนักวิ่งชายเพียง 2 คน สามารถทำแฮตทริก คว้า 3 เหรียญทองโอลิมปิกได้พร้อมกันในการวิ่งระยะไกล คือ ปาโว นูร์มี ลมกรดจากฟินแลนด์ใน ‘ปารีส 1924’ ที่ระยะ 1500, 3000 และ 5000 ม. และ เอมิล ซาโตเปก ปอดเหล็กจากเชคโกสโลวาเกียใน ‘เฮลซิงกิ 1952’ ที่ระยะ 5,000, 10,000 ม. และมาราธอน (42.195 กม.) ส่วนซีฟาน ฮัสซาน แม้จะได้มา 2 ทอง 1 ทองแดง แต่ก็ถือเป็นประวัติศาสตร์ใหม่ของโอลิมปิกเช่นกัน   จากเอธิโอเปียสู่วีรสตรีชาวดัตช์ ซีฟาน ฮัสซาน เกิดปี 1993 ที่เอธิโอเปีย ก่อนอพยพมาเนเธอร์แลนด์ในฐานะผู้ลี้ภัยตอนอายุ 15 ปี เธอต้องแบ่งเวลาฝึกซ้อมและเรียนหนังสือควบคู่กันเพื่อจบออกไปเป็นพยาบาลตามที่ตั้งใจ จนกระทั่งปลายปี 2013 เธอได้สถานะพลเมืองดัตช์ และลงแข่งในนามทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ฮัสซานเริ่มสร้างชื่อในเวทีนานาชาติด้วยการคว้าแชมป์ ไอน์โฮเฟ่น ฮาล์ฟมาราธอนปี 2011 และคว้าแชมป์ยุโรปปี 2013 ในระยะ 1,500 ม. ที่สวิตเซอร์แลนด์ จากนั้นปีถัดมา เธอได้เหรียญทองแดงวิ่ง 1,500 ม. ในรายการชิงแชมป์โลกที่กรุงปักกิ่ง นักวิ่งสาวดัตช์เชื้อสายเอธิโอเปียลงแข่งโอลิมปิกครั้งแรกที่ ‘ริโอ 2016’ แต่มีปัญหาบาดเจ็บรบกวน ทำให้ผลงานดีที่สุดแค่จบอันดับ 5 ในระยะ 1,500 ม. หลังจบโอลิมปิกที่ริโอฯ เธอตัดสินใจบอกลาโค้ชคนเก่า และเดินทางไปเข้าแคมป์ฝึกซ้อมที่สหรัฐอเมริกา กับบรรดานักวิ่งแถวหน้าของโลกในโครงการ ‘ไนกี้ โอเรกอน โปรเจคต์’ โดยมี อัลเบอร์โต ซาลาซาร์ ตำนานนักวิ่งระยะไกลชาวอเมริกันเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน แม้ต่อมา ซาลาซาร์จะถูกแบนในคดีอื้อฉาว ทั้งเรื่องพัวพันการโด๊ปยา และล่วงละเมิดจิตใจนักกีฬา แต่ฮัสซานยืนยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เธอยังคงลงแข่งขันและทำผลงานได้ดี โดยเฉพาะในปี 2019 สามารถทำลายสถิติโลกวิ่ง 1,500 ม.ในรายการโมนาโก ไดมอนด์ ลีก ด้วยเวลา 4 นาที 12.33 วินาที ก่อนคว้า 2 เหรียญทองวิ่ง 1,500 และ 10,000 ม. ในศึกชิงแชมป์โลกที่กาตาร์ นับเป็นตำแหน่งแชมป์โลกครั้งแรกในชีวิตของเธอ และเป็นคนแรกที่คว้า 2 เหรียญทองได้พร้อมกันในรายการดังกล่าว   เหรียญทองแบบล้มลุกคลุกคลาน “หลายคนคิดว่าฉันบ้า ซึ่งฉันก็ว่าฉันบ้าจริง ๆ” ฮัสซานกล่าวติดตลกหลังประกาศลงแข่งวิ่งระยะกลางและระยะไกลพร้อมกัน 3 รายการในโอลิมปิก ‘โตเกียว 2020’ ความท้าทายนี้น่าจะเป็นการต่อยอดความสำเร็จจาก 2 เหรียญทองที่ทำได้ในศึกชิงแชมป์โลกที่กาตาร์ แต่การลงแข่งพร้อมกันทั้ง 3 ระยะในโอลิมปิก นอกจากความยากจะอยู่ที่จำนวนเรซ และความถี่ที่ต้องลงแข่งแล้ว การปรับฝีเท้าและแท็กติกตามระยะทางที่ต่างกัน ยังเป็นอีกความท้าทายสำคัญที่ประมาทไม่ได้ ปกติในการวิ่งแต่ละระยะไม่ว่าสั้น กลาง หรือระยะไกล นักกีฬาจะใช้ท่าทาง การลงน้ำหนักเท้า และแผนการวิ่งไม่เหมือนกัน ดังนั้น การลงแข่งระยะที่ต่างกัน นักวิ่งต้องคอยปรับจูนสิ่งเหล่านั้นให้เหมาะสมทุกครั้งที่ลงสนาม ยิ่งแข่งระยะต่างกันในเวลาใกล้เคียงกันมากเพียงใด ความยากในการทำอย่างนั้นได้ก็ยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณ ด่านทดสอบสำคัญด่านแรก คือ การลงแข่ง 2 รายการในเวลาห่างกันแค่ 12 ชม. เริ่มที่รอบคัดเลือก 1,500 ม. ช่วงเช้า และต่อด้วย 5,000 ม. รอบชิงเหรียญทองในค่ำวันเดียวกัน ในการแข่งขันรอบเช้า ฮัสซานต้องเจอดรามา เมื่อเธอพยายามวิ่งออมแรงไว้แข่งช่วงเย็น เพราะรอบคัดเลือก 1,500 ม. ขอแค่เข้าเส้นชัย 6 คนแรกก็จะได้ไปต่อ แต่ระหว่างเร่งฝีเท้าเข้าสู่ 350 ม.สุดท้าย เอดินาห์ เจบิทอก นักวิ่งเคนยาที่อยู่ด้านหน้าเกิดเสียหลักล้ม ทำให้ฮัสซานที่วิ่งตามมาในระยะกระชั้นชิดก้าวหลบไม่พ้น และล้มกลิ้งตามลงไปบนพื้นสนาม การล้มครั้งนี้ทำให้เธอตกไปอยู่รั้งท้าย ตามหลังผู้นำห่าง 20 ม. จนหลายคนคิดว่าโอกาสวิ่งไล่เพื่อเข้าเส้นชัยเป็น 1 ใน 6 คนแรกแทบเป็นไปไม่ได้ แต่ด้วยความไม่ยอมแพ้ ฮัสซานรีบลุกขึ้นวิ่งต่อโดยไม่โทษใคร เธอเร่งฝีเท้าสุดแรงค่อย ๆ แซงทีละคน รวมแล้ว 11 คน จนเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก ได้ผ่านเข้ารอบต่อไปอย่างเหลือเชื่อด้วยความเร็วช่วง 400 ม.สุดท้ายที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนในโอลิมปิก ตามกติกาของสหพันธ์กรีฑาโลก ความจริงแล้วหากเกิดอุบัติเหตุซึ่งไม่ใช่ความผิดของฮัสซาน เธอสามารถหยุดวิ่ง และขอประท้วงเพื่อลงแก้ตัวในฮีตถัดไป แต่เธอไม่ทำอย่างนั้นโดยให้เหตุผลว่า “ฉันไม่ต้องการมีข้อแก้ตัว ฉันไม่อยากให้คนพูดว่าที่ฉันเข้ารอบมาได้ก็เพราะหยุดวิ่ง” แม้อุบัติเหตุจะทำให้การวิ่งของเธอผิดแผนและใช้พลังงานมากเกินไปในช่วงเช้า แต่ในการลงแข่ง 5,000 ม. ช่วงค่ำ นักวิ่งสาวเจ้าของความสูง 170 ซม. หนัก 49 กก.ยังสามารถชาร์จพลังกลับมาได้ทันและคว้าเหรียญทองแรกมาครอง แถมยังเป็นการเข้าเส้นชัยทิ้งห่างอันดับ 2 แบบสบาย ๆ ด้วยเวลา 14 นาที 36.79 วินาที “ก่อนลงแข่งเรซนี้ ฉันไม่สนใจอะไรทั้งนั้น ฉันเหนื่อยมาก หากไม่ได้กาแฟฉันคงไม่ได้เป็นแชมป์โอลิมปิก ฉันขอแค่คาเฟอีนเท่านั้น”  ฮัสซานเผยเคล็ดลับที่ทำให้เธอเรียกพลังกลับมาได้อย่างรวดเร็วจนสามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกของตัวเอง และเป็นเหรียญทองแรกในประวัติศาสตร์ของเนเธอร์แลนด์สำหรับกีฬาวิ่งระยะไกล   ราชินี 3 เหรียญโอลิมปิก จุดเด่นของราชินีปอดเหล็กคนใหม่ชาวดัตช์ คือ ความสามารถในการเร่งฝีเท้าเข้าเส้นชัยในระยะไม่กี่ร้อยเมตรสุดท้ายได้ทรงพลัง เธอมักใช้แท็กติกวิ่งเกาะกลุ่มตามมาด้านหลัง จนกระทั่งเข้าสู่ 400 ม.สุดท้าย จึงระเบิดฝีเท้าเต็มพลังเพื่อเร่งเข้าเส้นชัย อย่างไรก็ตามในการลงแข่ง 1,500 ม.รอบชิงฯ เธอพยายามลองแท็กติกใหม่ ด้วยการวิ่งนำตั้งแต่ต้น แต่แท็กติกนี้ใช้ไม่ได้ผล ทำให้หมดแรงโดนแซงช่วงท้าย และได้เพียงเหรียญทองแดงด้วยเวลา 3 นาที 55.86 วินาที ส่วนเหรียญทองเป็นของเฟธ คิปเยกอน แชมป์เก่าชาวเคนยา ซึ่งทำลายสถิติโอลิมปิกด้วยเวลา 3 นาที 53.11 วินาที และเหรียญเงินเป็นของ ลอร่า มัวร์ จากสหราชอาณาจักร แม้ความหวังในการคว้า 3 เหรียญทองจะพลาดไป แต่เธอก็ยังไม่หมดกำลังใจสู้ต่อ และสามารถแก้ตัวในการวิ่ง 10,000 ม.รายการสุดท้าย โดยเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก ด้วยเวลา 29 นาที 55.32 วินาที จบ ‘โตเกียว 2020’ พร้อมสถิติ 2 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดงในการวิ่งระยะกลางและระยะไกลแบบที่ไม่เคยมีนักวิ่งหญิงคนใดเคยทำมาก่อนในโอลิมปิก “ร่างกายฉันมันเหนื่อยล้ามาก และก็รู้สึกเจ็บปวดไปทั้งตัว” ซีฟาน ฮัสซาน เผยถึงประสบการณ์จากการลงแข่งขันครั้งนี้ เธอยอมรับว่าพอใจกับผลงานที่ทำได้ แม้จะพลาดเหรียญทองไป 1 รายการ เพราะสิ่งที่เธอทำไม่ใช่การล่าเหรียญรางวัล หรือต้องการเป็นผู้ชนะ แต่เป็นการทำตามเสียงของหัวใจ ซึ่งต้องการสีสันและความท้าทายใหม่ เพื่อให้ชีวิตมีความหมายและได้พัฒนาต่อไปอยู่เสมอ   ข้อมูลอ้างอิง: https://olympics.com/tokyo-2020/en/news/sifan-hassan-trifecta-dutch-distance-runner-attempt-1500-5000-10000-tokyo https://www.nytimes.com/2021/08/02/sports/olympics/sifan-hassan-5k.html https://www.ft.com/content/91c39995-7e4c-4d01-a248-e55e764153b5 https://www.theguardian.com/sport/2021/aug/02/sifan-hassan-destroys-top-class-500m-field-in-first-leg-of-unique-treble-bid   ภาพ: Patrick Smith/Cameron Spencer/Getty Images