ศิลป์ พีระศรี ศิลปินเอกยุค ศิลปะคณะราษฎร

ศิลป์ พีระศรี ศิลปินเอกยุค ศิลปะคณะราษฎร
“กถามรรค จะทูลถวายเรื่องกรมศิลปากรเขากำลังปั้นรูปท่านผู้หญิงโมกันอยู่ ในว่าจะหล่อเอาไปตั้งเป็นอนุสาวรีย์ประตูชัยโคราช มีขนาดสูง 4 ศอก เลยทำเป็นรูปหญิงสาวตัดผมปีก ยืนถือดาบ นุ่งจีบ ห่มผ้า สไบเฉียง “อนุสาวรีย์รายนี้เดิมทีพระเทวภินิมิต (ฉาย เทียมศิลปไชย มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.2431-2490) เขียนมาปรึกษาเกล้ากระหม่อม ก่อนเป็นรูปผู้หญิงนั่งบนเตียง มีเครื่องยศพานหมากกระโถนตั้งข้าง ๆ เกล้ากระหม่อมถามว่าใครจะทำ เขาว่าเป็นผู้แทนราษฎร นครราชสีมา เกล้ากระหม่อมถามว่า แกเคยเห็นท่านผู้หญิงโม้หรือ หน้าตาอย่างนี้หรือ ได้แต่หัวเราะไม่ได้คำตอบ ถามว่าจะตั้งที่ไหน ตั้งที่ประตูชัย เกล้ากระหม่อมว่าเป็นทางเดินแล้วจะเอารูปปั้นไปตั้งอุดเสีย มิเดินไม่ได้หรือ แกก็หัวเราะแล้วนำแบบกลับไป “ต่อมาเกล้ากระหม่อมไปที่ศิลปากรสถาน เห็นนายเฟโรจี (ศิลป์ พีระศรี) ปั้นดินเป็นรูปผู้หญิง ยืนถือดาบอยู่ตัวเล็ก ๆ หลายตัว ท่าต่างกัน ถามว่าทำอะไร แกบอกว่าทำผู้หญิงโคราช ใครก็ไม่รู้ที่รบกับผู้ชายนั้น เกล้ากระหม่อมก็เข้าใจ แล้วได้แนะนำว่าเราไม่รู้จักตัว หน้าตาเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ทำไม่ได้ดอก ทำ Allegory (สัญลักษณ์แฝงความหมาย) เป็นนางฟ้าถือดาบดีกว่า แกเห็นด้วย ต่อมาอีกสองสามวัน เกล้ากระหม่อมไปอีก เห็นแกปั้นไว้หน้าเอ็นดูดี เป็นผู้หญิงสาวผมยาวประบ่า ใส่มาลาถือพวกดอกไม้สด นุ่งจีบ ห่มสะไบสะพักสองบ่า ยืนถือดาบ เกล้ากระหม่อมเห็นแล้วก็รับรองว่าอย่างนี้ดี “มาเมื่อก่อนหน้าจะเขียนหนังสือมาถวายนี้ ไปเห็นปั้นตัวเบ้อเร่อ ถามว่าทำไมไม่ทำเป็นรูป Allegory แกบอกว่าเขาไม่เอา “เรื่องท่านผู้หญิงโม้นี้ก็ประหลาด ดูในพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ซึ่งถวายมา ไม่เห็นแสดงแผลงฤทธิ์อะไรเป็นแต่คุมพวกผู้หญิงเป็นกองหลังเท่านั้น ทำไมจึงยกย่องกันนักหนาก็ไม่ทราบ” เนื้อความข้างต้นนี้คัดมาจาก สาส์นสมเด็จ เป็นจดหมายที่ สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มีไปทูล สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2477 ว่าด้วยเรื่องราวการสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นได้ราวปีกว่า (และเหตุการณ์กบฏบวรเดชซึ่งนครราชสีมามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญเพิ่งผ่านพ้นไป) ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงตอบกลับมาในจดหมายลงวันที่ 5 มกราคม ปีเดียวกัน ว่า “ขอทูลสนองลายพระหัตถ์ว่าการสร้างรูปท่านผู้หญิงโม้นั้น เป็นอุทาหรณ์อันหนึ่ง ซึ่งแสดงว่าความคิดสมัยใหม่ผิดกับสมัยเก่าหมดทุกอย่าง” ความจากจดหมายทั้งสองฉบับสะท้อนถึงการต่อสู้ทางอุดมคติของศิลปะสองยุคของไทย คือยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับยุคคณะราษฎร เมื่อ สมเด็จฯ กรมพระยานริศฯ “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” ที่ทรงประสงค์ให้อนุสาวรีย์แห่งนี้คงอุดมคติทางศิลปะแบบจารีตของไทยเอาไว้ (หากจำเป็นต้องสร้างจริง ๆ แม้พระองค์ทรงเห็นว่าท่านผู้หญิงโมไม่ได้น่ายกย่องมากนัก) แต่รัฐบาลคณะราษฎรไม่เห็นสอดคล้องด้วย “คอร์ราโด เฟโรจี” (Corrado Feroci) หรือ ศิลป์ พีระศรี ที่รับราชการมาตั้งแต่ปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 จึงต้องปฏิบัติตามเจ้านายกลุ่มใหม่ที่ต้องการใช้ศิลปะสะท้อนและส่งเสริมอุดมการณ์ใหม่ของตน จากข้อมูลของ วิบูล ลี้สุวรรณ (ชีวิตและงานของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี) คอร์ราโด เฟโรจี เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ที่ตำบลซานยิโอวานนี เมืองฟลอเรนซ์ ศูนย์กลางศิลปะแห่งอิตาลี จบการศึกษาด้านศิลปะ เอกประติมากรรม จากสถาบันวิจิตรศิลป์ฟลอเรนซ์ (The Academy of Fine Arts of Florence) จบแล้วก็สอบเข้าเป็นอาจารย์ในสถาบันที่เรียนจบมา และได้รับการคัดเลือกให้เป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่อายุได้เพียง 23 ปี ก่อนย้ายมาทำงานในเมืองไทย (สมัยนั้นยังเรียกสยาม) เมื่อ พ.ศ. 2466 ในตำแหน่งช่างปั้น สังกัดกรมศิลปากร ราชบัณฑิตยสภา โดยสัญญาฉบับแรกมีกำหนดอายุ 3 ปี แต่เมื่อได้แสดงผลงานเป็นที่น่าพอใจจึงได้ต่อสัญญาใหม่โดยไม่มีกำหนดอายุเวลา  ศิลป์ พีระศรี (เปลี่ยนชื่อและสัญชาติเมื่อปี พ.ศ. 2487 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเลี่ยงปัญหาที่เขาถือสัญชาติอิตาลีซึ่งเดิมเคยอยู่ฝ่ายอักษะร่วมกับไทย แต่ไปทำสัญญาสงบศึกกับฝ่ายสัมพันธมิตรในปลายปี 2486 หลังจาก เบเนโต มุสโสลินี ผู้นำฟาสซิสต์ถูกขับจากอำนาจ)  มีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมงานศิลปะยุคใหม่ของไทย ทั้งการก่อตั้งโรงเรียนศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2476 ก่อนยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2486 ช่วยบ่มเพาะศิลปินท้องถิ่น ทำให้ไทยลดการพึ่งพาช่างและศิลปินนำเข้าได้มาก เขายังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอนุสาวรีย์หลายแห่ง และช่วงเวลาดังกล่าวที่เขาเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับก็เกิดขึ้นในช่วงที่คณะราษฎรครองอำนาจพอดี ชาตรี ประกิตนนทการ (ศิลปะ สถาปัตยกรรม คณะราษฎร) กล่าวว่า “ศิลปะสมัยใหม่” ของไทย (ซึ่งต่างจาก ศิลปะสมัยใหม่ในระดับสากลที่ปฏิเสธศิลปะตามแนวเสมือนจริง [realistic art] และคตินิยมตามแบบแผนวิชาการแบบเดิม ขณะที่ของไทย ศิลปะสมัยใหม่คือ ศิลปะที่หันมาเน้นความเสมือนจริง) เริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 แต่จุดเปลี่ยนสำคัญจริง ๆ มาเกิดขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนเกิดรูปแบบศิลปะและสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า “ศิลปะคณะราษฎร”   ในช่วงเวลานี้เอง ศิลป์ได้แสดงผลงานที่โดดเด่นมากมาย (รวมถึงงานของศิษย์ที่อยู่ในความดูแลของศิลป์) เช่น รูปปั้นนูนต่ำอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ของสามัญชนอย่าง ท้าวสุรนารีหรือท่านผู้หญิงโม พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ หรือ คอซิมบี๊ ณ ระนอง รูปปั้นลอยตัวทหารพลเรือนและตำรวจที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ครุฑ (ที่เต็มไปด้วยมัดกล้ามผิดจากครุฑยุคก่อน) หน้าตึกกรมไปรษณีย์โทรเลข บางรัก รวมถึงพระราชานุสาวรีย์แห่งของกษัตริย์ในอดีต  และตัวอย่างงานศิลปะคณะราษฎรที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางอุดมคติของสองยุคมากที่สุดชิ้นหนึ่ง คงหนีไม่พ้นอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อนุสาวรีย์สามัญชนคนแรก ซึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2477 ใกล้กับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และกรณีกบฏบวรเดชที่นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ซึ่งใช้นครราชสีมาหรือโคราชเป็นกำลังสำคัญ การสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีขึ้นที่นี่จึงมีปัจจัยทางการเมืองเป็นส่วนช่วยผลักดัน จากข้อมูลของ สายพิน แก้วงามประเสริฐ (วิทยานิพนธ์เรื่อง ภาพลักษณ์ท้าวสุรนารีในประวัติศาสตร์ไทย) เหตุกบฏคราวนั้นทำให้ชาวโคราชถูกมองว่ามักมีวิสัยเป็นกบฏ เพราะสืบย้อนไปในอดีตโคราชมักเป็นฐานของกลุ่มกบฏหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกบฏพระยายมราช (สังข์) กบฏบุญกว้าง หรือกบฏกรมหมื่นเทพพิพิธ ผู้นำใหม่ของโคราชจึงต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของโคราช เหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์ที่ชาวโคราชต่อต้านกบฏเจ้าจากเวียงจันทร์และแสดงความภักดีต่อกรุงเทพฯ จึงถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ประโยชน์ ช่วยสร้างขวัญกำลังใจ และสร้างภาพจำใหม่ให้กับโคราช การสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีแม้จะเกิดขึ้นโดยการผลักดันจากผู้นำท้องถิ่น แต่ก็ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลคณะราษฎร ซึ่งได้มอบหมายให้ศิลป์เป็นผู้ออกแบบและปั้น เนื่องจากข้อเสนอนั้นสอดคล้องกับอุดมการณ์ของคณะราษฎรหลายประการ ทั้งการที่ท้าวสุรนารีเป็นสามัญชน เช่นเดียวกับคณะราษฎร และยังเป็นผู้หญิง ซึ่งการเล่าประวัติศาสตร์ในอดีตให้คุณค่าค่อนข้างน้อย แต่ในสมัยของคณะราษฎร ผู้หญิงถูกยกบทบาทให้เท่าเทียมกับผู้ชาย เห็นได้จากการกำหนดให้ชายหญิงมีสิทธิเท่าเทียมโดยรัฐธรรมนูญซึ่งก้าวหน้ายิ่งกว่าประเทศตะวันตกหลายประเทศ  ท้าวสุรนารีจึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับการยกให้เป็นไอดอลตามอุดมการณ์ใหม่ และจำเป็นต้องใช้ศิลปะยุคใหม่ที่ตัดขาดจากศิลปะไทยยุคจารีตเป็นสัญลักษณ์สะท้อนอุดมการณ์นั้น "การที่กรมศิลปากรไม่ยอมรับรูปปั้นท้าวสุรนารีที่มีรูปลักษณ์เป็นนางฟ้านั้น ประการแรกคงจะเป็นเพราะขัดกับความเป็นจริงที่ว่า ท้าวสุรนารีเป็น 'มนุษย์' โดยเฉพาะมนุษย์ที่เป็น 'สามัญชน' ด้วย ดังนั้นรูปปั้นท้าวสุรนารี ถ้าจะสื่อให้เห็นการกระทำของท้าวสุรนารีได้ดีและเหมาะสมกับสภาพการณ์ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ รูปปั้นนี้จึงต้องมีความเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ไม่ต้องมีบุญญาบารมี แต่ต้องเป็นมนุษย์ที่กล้าหาญ  "ประการที่สอง คงจะเป็นการปฏิเสธแนวคิดตามคติเก่าด้วย เพราะแต่เดิมนั้น การจะสร้างรูปบุคคลที่เคารพยกย่อง มักจะสร้างเป็นรูปเทวดามากกว่า ถึงยุคใหม่จึงต้องการสร้างรูปปั้นเหมือนจริง นอกจากนี้การที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงตั้งข้อสงสัยว่าท้าวสุรนารีไม่เห็นได้ทำอะไรเท่าไร ทำไมจึงยกย่องกันนักหนา สื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างความคิดระบอบเก่ากับระบอบใหม่  "ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสรุปว่าการสร้างรูปท่านผู้หญิงโมเป็นตัวอย่างของความคิดสมัยใหม่ การจะสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีจึงอาจเป็นวิธีการหนึ่งของคณะราษฎร ที่จะแสดงว่าประชาชนทุกคนคือ ผู้กำหนดวิถีประวัติศาสตร์ของประเทศ การที่ประชาชนร้องขอให้สร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีจึงเป็นสิ่งที่กระทำได้ และสอดคล้องกับแนวคิดของคณะราษฎรด้วย" สายพินกล่าว อย่างไรก็ดี การที่ศิลป์มีผลงานโดดเด่นในยุคศิลปะคณะราษฎรนั้น มิได้สื่อว่าเขามีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด เพราะเขาเองก็ทำงานให้กับรัฐบาลทั้งสองยุคอย่างเต็มที่ หากแต่ฝีมือในเชิงศิลปะของเขาถูกจริตของผู้ปกครองในยุคนี้มากกว่ายุคเก่าที่แม้จะรับเอาศิลปะแบบตะวันตกมาใช้บ้างแต่ก็ไม่มาก และเขาก็เข้ามาเมืองไทยในปลายยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว กว่าที่เขาจะได้รับงานใหญ่อย่าง อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็เป็นเป็นช่วงสี่ปีสุดท้ายก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นั่นจึงทำให้ศิลป์ ประติมากรสายเรียลลีสม์ (realism) มีโอกาสแสดงศักยภาพของเขาในยุคคณะราษฎรมากกว่าในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังที่ชาตรีกล่าวว่า “อุดมคติใหม่ของ ‘ศิลปะคณะราษฎร’ ที่ถูกสร้างขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้กงล้อประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ในไทยหมุนไปในรูปแบบที่เรารับรู้ในปัจจุบัน สำคัญที่สุดคือ ด้วยจิตวิญญาณใหม่นี้เองที่เป็นพลังผลักดันเบื้องหลังให้ ศิลป์ พีระศรี สามารถแสดงศักยภาพทางศิลปะที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ท่านสามารถผลักดันแนวคิดและผลงานต่าง ๆ มากมาย”