ไซมอน เลอวีฟ: สารคดี The Tinder Swindler มหาเศรษฐี นักรัก และอาชญากร

ไซมอน เลอวีฟ: สารคดี The Tinder Swindler มหาเศรษฐี นักรัก และอาชญากร
***เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์สารคดี The Tinder Swindler  ต้นปี ค.ศ. 2012 แอปพลิเคชันหาคู่ผลิตภัณฑ์หนึ่งได้ถูกพัฒนาขึ้นจากนักพัฒนาจากศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพในเวสต์ฮอลลีวูด มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ในชื่อ ‘แมตช์บ็อกซ์’ (MatchBox) ปลายปีเดียวกันนั้นเองแอปพลิเคชันดังกล่าวก็ถูกปล่อยให้ดาวน์โหลดเพื่อทดลองใช้ในกลุ่มนักศึกษา โดยเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า ‘ทินเดอร์’ (Tinder) ด้วยการใช้งานที่ง่ายเพียงแค่ผู้ใช้คนหนึ่งเข้าดูรูปและประวัติส่วนตัวของผู้ใช้รายอื่น จากนั้นปัดซ้ายเพื่อปฏิเสธเมื่อคุณไม่สนใจ หรือปัดขวาเพื่อแสดงความสนใจ หากผู้ใช้ 2 รายต่างปัดขวาที่ประวัติส่วนตัวของกันและกัน ทินเดอร์ก็จะทำการ ‘จุดเชื้อไฟรัก’ โดยการจับคู่เพื่อให้ผู้ใช้งานทั้งสองเริ่มสร้างสัมพันธ์กันได้ทันที  ในปี 2021 ที่ผ่านมานี้ ทินเดอร์รายงานว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทินเดอร์ได้ทำการจับคู่ผู้ใช้เพื่อเริ่มความสัมพันธ์ไปแล้วกว่า 65,000 ล้านคู่ และมีมูลค่าทางการตลาดของแอปพลิเคชันที่ 42,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว ๆ  1,350,000 ล้านบาท) นอกจากทินเดอร์จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้พบชีวิตรักครั้งใหม่แล้ว ในอีกมุมหนึ่งทินเดอร์ก็กลายเป็นช่องทางให้บรรดา ‘อาชญากรทางความรัก’ (Romance Scammer) มีช่องทางในการหลอกลวงเหยื่อเช่นกัน รายงานข่าวในปี 2019 พบว่าวิธีการที่อาชญากรเหล่านี้ใช้ในการล่อลวงเหยื่อได้แก่ “การหลอกลวงด้วยรูปภาพหรือประวัติส่วนตัวเพื่อให้เหยื่อสนใจ จากนั้นเมื่อเหยื่อต้องการติดต่อ อาชญากรก็จะล่อลวง หรือหลอกลวงเหยื่อจนเกิดความเสียหายทางร่างกายหรือทรัพย์สิน” (catfishing) “การหลอกฝังมัลแวร์ในอุปกรณ์สื่อสารของเหยื่อเพื่อจารกรรมข้อมูลทางการเงิน หรือขโมยข้อมูลประวัติของเหยื่อเพื่อนำไปหลอกลวงผู้อื่น” (Malware, Bot, and Blackmail) แม้ทินเดอร์จะพัฒนาช่องทางและมาตรการในการสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ ทว่าในหลายกรณีก็ไม่สามารถช่วยเหลือเหยื่อได้ทันกาล    เหมือนกับเรื่องราวที่ปรากฏในภาพยนตร์สารคดี ‘สิบแปดมงกุฎทินเดอร์’ (The Tinder Swindler) ที่บอกเล่าเรื่องราวของอาชญากรความรักที่สร้างความเสียหายแก่หญิงสาวหลายคนทั่วยุโรป และมีมูลค่ารวมของการหลอกลวงครั้งนี้อยู่ที่ราว 10 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 320 ล้านบาท)  อาชญากรคนดังกล่าวมีชื่อว่า ไซมอน เลอวีฟ (Simon Leviev) เจ้าชายแห่งเพชร ชิมอน เยฮูดา ฮายุท (Shimon Yehuda Hayut) เกิดเมื่อปี 1990 ที่เมืองเบเน เบรัค (Bnei Beraq) เมืองที่ยากจนและมีประชากรหนาแน่นที่สุดของประเทศอิสราเอล เมื่ออายุได้ 15 ปี ฮายุทย้ายมาทำงานดูแลเด็ก และรับจ้างทำงานทั่วไปที่เมืองบรุกลิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งในเวลานี้เองเขาเริ่มมีประวัติการหลอกลวง ต้มตุ๋น ใช้เช็คเด้ง ใช้ธนบัตรปลอม และลักขโมยจนเขาถูกจับและหนีกลับมาที่ประเทศอิสราเอลที่ซึ่งฮายุทก็ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมอาชญากรรมของเขา เขานำเงินที่หลอกลวงมาไปลงทะเบียนเรียนการเป็นนักบินแต่ก็เรียนไม่จบหลักสูตร รวมถึงนำไปซื้อรถซูเปอร์คาร์ และเสื้อผ้าแบรนด์เนม จนในที่สุดเขาถูกออกหมายจับในปี 2011 ฮายุทจึงหลบหนีออกนอกประเทศก่อนที่เขาจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ปี 2015 ฮายุทถูกจับที่ประเทศฟินแลนด์ และถูกตัดสินจำคุก 3 ปี ด้วยข้อหาต้มตุ๋นหลอกลวงผู้หญิงหลายคดี รวมถึงมีการพบเอกสารระบุตัวตน และเอกสารทางการเงินปลอมจำนวนมาก หลังพ้นโทษจากฟินแลนด์ เขากลับสู่ประเทศอิสราเอล แต่ก็ต้องหลบหนีหมายจับอีกครั้ง และในปี 2017 นี้เองที่เขาตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเป็น ไซมอน เลอวีฟ (Simon Leviev) ชื่อและนามสกุลที่เขาเปลี่ยนเพื่อสร้างตัวตนปลอมว่ามีสายเลือดเดียวกับ เลฟ อาฟเนโรวิช เลอวีฟ (Lev Avnerovich Leviev) มหาเศรษฐีชาวอิสราเอลผู้มีฉายาว่า ‘ราชาแห่งเพชร’ นอกจากจะสร้างตัวตนเป็น ‘เจ้าชายแห่งเพชร’ ลูกชายของราชาแห่งเพชรจากอิสราเอลแล้ว ไซมอน เลอวีฟยังมีชื่อปลอมอื่นที่เขาใช้หลอกลวงเหยื่อไปทั่วยุโรป อาทิ มอร์เดอใจ นิซิม ทาปิโร (Mordechai Nisim Tapiro), ไมเคิล บิลตัน (Michael Bilton), อัพราฮัม เลวี (Avraham Levy) และ เดวิด ชารอน (David Sharon) พฤติการณ์ของเขาคือการใช้ตัวตนปลอมที่ถูกสร้างให้ดูร่ำรวย หรูหรา และต้องเดินทางติดต่อธุรกิจไปทั่วยุโรปผ่านโซเชียลมีเดีย ได้แก่อินสตาแกรมและทินเดอร์ในการหลอกลวงเหยื่อให้หลงเชื่อ หลอกพาเหยื่อเดินทางไปท่องเที่ยว ทำให้เหยื่อหลงรัก จากนั้นก็ล่อลวงเหยื่อให้สร้างความสัมพันธ์กับเขา พอเหยื่อถลำลึก เลอวีฟก็จะเริ่มสร้างสถานการณ์ว่ากำลังตกที่นั่งลำบากในธุรกิจค้าเพชรของครอบครัว จนทำให้เขาไม่สามารถใช้เครดิตการ์ดได้เพื่อหลอกให้เหยื่อที่ในเวลานั้นอาจเรียกตัวเองว่า เพื่อน คนรัก คู่หมั้น หรือกระทั่งภรรยาของเขาส่งเงิน และกระทั่งกู้เงินส่งไปให้เขาเพื่อให้เขาหนีจากศัตรูที่กำลังตามล่าเอาชีวิต เมื่อเหยื่อรู้ตัว เลอวีฟมักจะพยายามหลอกลวงต่อด้วยการส่งเช็คเด้งหรือเคลียร์ริ่งเช็คเพื่อทำให้ดูราวกับว่าเขาได้โอนเงินกลับมาให้เหยื่อ เพื่อที่ว่าเขาจะได้ซื้อเวลาในการหลอกลวงเหยื่อต่อไป และถึงที่สุดหากเหยื่อมีทีท่าแข็งกร้าว เลอวีฟก็จะข่มขู่ว่าจะทำร้ายเหยื่อเพื่อไม่ให้เหยื่อฟ้องร้องเขา ในปี 2019 เลอวีฟถูกจับที่ประเทศกรีซ โดยตำรวจสากลในข้อหาใช้หนังสือเดินทางปลอม เขาถูกตัดสินจำคุก 15 เดือนที่ประเทศอิสราเอล The Tinder Swindler จากรายงานข่าวสู่ภาพยนตร์สารคดี ปี 2019 ก่อนที่เลอวีฟจะถูกจับกุม หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์แวร์เดนส์ กัง หรือ วีจี (Verdens Gand: VG) ของประเทศนอร์เวย์ที่มีผู้อ่าน 2 ล้านคนต่อวัน ได้รับการติดต่อจากหนึ่งในเหยื่อของเลอวีฟ และเมื่อเห็นว่าเรื่องราวนั้นเกี่ยวพันกับแอปพลิเคชันที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงอย่างทินเดอร์ ทำให้นักข่าวของวีจีติดต่อประสานงานกับอูริ เบลา (Uri Blau) นักข่าวสืบสวนชาวอิสราเอลจนพบเข้ากับตัวตนที่แท้จริงของเลอวีฟ ผลของการสืบสวนดังกล่าวกลายเป็นบทความตีพิมพ์ในเว็บไซต์ของวีจีในชื่อ ‘The Tinder Swindler’ (นักต้มตุ๋นบนทินเดอร์) พร้อมตีพิมพ์ภาพถ่ายหน้าตาของไซมอน เลอวีฟอย่างชัดเจน โดยพาดหัวว่า “เขายั่วยวนและต้มตุ๋นหญิงสาวเพื่อเงินเป็นล้านและหลบหนีจากกระบวนการยุติธรรมของหลายประเทศ...เขาหาเหยื่อด้วยแอปฯ จับคู่อย่างทินเดอร์ และล่อลวงด้วยการพาเที่ยวด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว โรงแรมที่หรูหรา และมื้อเย็นที่แสนแพง...พวกเธอเชื่อว่ากำลังเดตกับนักธุรกิจผู้ร่ำรวย แต่ในเวลานั้นผู้หญิงคนอื่นต่างหากที่ถูกล่อลวงให้จ่ายเพื่อความหรูหรานี้...วีจีใช้เวลา 6 เดือนตามล่านักต้มตุ๋นคนนี้ในหลายประเทศ เราเจอเขาในมิวนิก...” รายงานข่าวของวีจีทำให้ชีวิตลวงโลกอันหรูหราอู้ฟู่ของเลอวีฟพังทลายในบัดดล ใบหน้าของเขาถูกตีพิมพ์ไปทั่วอินเทอร์เน็ต บรรดาหญิงสาวจำนวนมากได้รู้ว่าคนรัก คู่หมั้น หรือสามีของตนคนนี้ อันนี้ที่จริงแล้วเป็นอาชญากรจอมปลอม เลอวีฟตกที่นั่งลำบากถึงขนาดที่ต้องพยายามขายทรัพย์สินที่เขาหลอกลวงมาได้ และพยายามเดินทางหลบหนี จนถูกจับในที่สุด รายงานข่าวของวีจีได้ถูกถ่ายทอดให้กลายเป็นภาพยนตร์สารคดี และเผยแพร่เรื่องราวการติดตามไล่ล่าไซมอน เลอวีฟ และความทุกข์ของเหยื่อของเขา โดยภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ใช้ชื่อว่า ‘สิบแปดมงกุฎทินเดอร์’ (The Tinder Swindler) เช่นกัน เหยื่อถูกตราหน้าแต่อาชญากรกำลังจะกลายเป็นคนดัง หลังรายงานข่าว The Tinder Swindler เผยแพร่ออกไปนั้น ผลตอบรับเกิดขึ้นกับตัวเหยื่อในทันที โดยเฉพาะกับเหยื่อทั้ง 3 คนที่ปรากฏตัวในรายงานข่าว และเป็นตัวตั้งตัวตีในการตามจับตัวเลอวีฟ ผู้อ่านจำนวนมากกลับแสดงการก่นด่า ดูถูก กระทั่งสมน้ำหน้าที่บรรดาหญิงสาวตกเป็นเหยื่อของเลอวีฟ โดยตีตราพวกเธอว่าเป็นพวกนักขุดทอง (Gold Digger) ที่จ้องจะจับผู้ชายรวย ๆ แต่งงานอยู่แล้ว แต่แม้มีผู้อ่านที่ตีตราเหยื่อเช่นนี้ แต่ในอีกด้านหนึ่งเหยื่อทั้ง 3 คนก็ได้รับกำลังใจกลับมาไม่น้อยเช่นกัน และที่สำคัญที่สุดคือการที่เหยื่อทั้ง 3 ตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อรับบริจาคเงินไปใช้หนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมมาให้เลอวีฟก็ได้รับการตอบรับด้วยยอดบริจาคที่ค่อนข้างดีพอสมควร แต่ต้องไม่ลืมว่า Tinder Swindler เป็นบทความและภาพยนตร์สารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องราวของเหยื่อเพียง 3 คนเท่านั้น ด้านของเลอวีฟ เขาถูกจำคุกเพียง 5 เดือน จากนั้นก็ถูกปล่อยตัวออกมาเนื่องจากนโยบายลดการแออัดจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เขากลับออกมาสร้างภาพการใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ผ่านอินสตาแกรมและทินเดอร์ดังเดิม แม้ยังมีหมายจับอยู่ในหลายประเทศ เขายังเปิดเว็บไซต์ให้คำแนะนำการทำธุรกิจ ออกเดตกับนางแบบสาวชาวอิสราเอล โดยใช้เงินที่ไม่รู้ที่มาที่ไปอีกครั้ง ในปี 2020 มีรายงานข่าวว่าเลอวีฟปลอมตัวเป็นบุคลากรทางการแพทย์เพื่อเข้ารับวัคซีนก่อนประชาชนทั่วไป หลังจากภาพยนตร์สารคดี ‘สิบแปดมงกุฎทินเดอร์’ ได้รับการเผยแพร่ ทินเดอร์ได้สอบสวนและประกาศระงับบัญชีทุกบัญชีของไซมอน เลอวีฟทันที และอินสตาแกรมของเขานั้นถูกลบไปแล้ว แต่ทว่าเลอวีฟกลับได้รับการติดต่อให้เดินสายออกรายการต่าง ๆ ราวกับเป็นคนดัง เขาใช้ความสำเร็จของสิบแปดมงกุฎทินเดอร์เป็นใบเบิกทางสู่ฮอลลีวูด ในขณะที่เหยื่อของเขาต้องใช้หนี้ที่ดูไม่มีวันหมด โดยที่เลอวีฟให้สัมภาษณ์ว่า “ผมก็แค่ผู้ชายคนหนึ่งที่อยากพบใครสักคนในทินเดอร์...ผมไม่ใช่นักต้มตุ๋น” “คำโกหกของพวกเธอทำให้ผมเป็นซูเปอร์สตาร์” เรื่องราวของไซมอน เลอวีฟไม่เพียงเป็นการสร้างโลกสองหรือสามใบ แต่เลอวีฟสร้างโลกขึ้นมานับไม่ถ้วน และที่เลวร้ายก็คือโลกของเลอวีฟคือโลกของการหลอกลวง โลกของกับดักที่ล่อลวงให้หญิงสาวที่ปรารถนาความรักที่งดงามและหรูหราราวกับเทพนิยายให้มาติดกับ โลกของเลอวีฟที่ฉากหน้าคือสรวงสวรรค์ที่งดงาม แต่เนื้อในคือขุมนรกที่กัดกินทำลายชีวิตของหญิงสาวมากมาย ปีศาจจำแลงอย่างเลอวีฟทำตนราวกับเป็นพระเจ้าที่ไม่เคยสำนึกต่อความผิดบาปของตนเอง เขาร่ายมนต์ล่อลวงหญิงสาวเหล่านั้นให้ติดกับอย่างง่ายดายเพียงแค่ใช้ปลายนิ้วสัมผัส และเมื่อพวกเธอรู้ความจริง และพยายามเรียกร้องความยุติธรรมคืนแก่ตนเอง พวกเธอกลับถูกตราหน้า และถูกหัวเราะเยาะกับความผิดที่พวกเธอไม่ได้ก่อขึ้น บางที The Tinder Swindler อาจกำลังตอกย้ำสุภาษิตโบราณที่ว่า ‘รู้หน้าไม่รู้ใจ’ ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ยิ่งกับโลกที่พวกเรารู้จักกันผ่านหน้ากากหลากหลายชั้น รวมถึงหน้ากากที่สำคัญที่สุดในโลกปัจจุบันที่เรียกว่า ‘โซเชียลมีเดีย’ เรื่อง: พิสิษฐิกุล แก้วงาม อ้างอิง: พรรณรัษมิ์ สินเทพดล, วริศรา ลิ้มอนันตระกูล. (2022, Feb 16). “สมควรหรือไม่? เมื่อความสำเร็จของ The Tinder Swindler ทำให้ Simon Leviev ได้เดินสายฮอลลีวูด” Retrieved. https://www.ellethailand.com/simon-leviev-wants-hollywood-career/ NopPongsatorn. (2020, Dec 20), Tinder สตาร์ทอัพ ในชีวิตจริง ที่เกิดจาก SAND BOX | EP.202. Retrieved. https://www.youtube.com/watch?v=LNFxIGZtGwQ Fact File and Buzz Magazine. (2022, 18 Feb). Simon Leviev (Tinder Swindler) Bio, Age, Family, Girlfriend, Network, NetFlix. Retrieved. https://fact-files.com/simon-leviev/ FBI. (n.d.). Romance Scams. Retrieved. https://www.fbi.gov/scams-and-safety/common-scams-and-crimes/romance-scams Gibson, K. (2022, Feb 16). Where Is Simon Leviev From The Tinder Swindler Now? Retrieved. https://people.com/crime/the-tinder-swindler-where-is-simon-leviev-now/ Malkin, M. (2022, Feb 4). ‘Tinder Swindler’ Con Artist ‘Simon Leviev’ Banned From Dating App. Retrieved. https://variety.com/2022/tv/news/tinder-swindler-simon-leviev-banned-netflix-1235172495/ O’Connell, B. (2020, Oct 8). Top 5 Tinder Scams to Look Out For. Retrieved. https://www.thestreet.com/personal-finance/tinder-scams-14905853 Peterson-Withorn, C. (2022, Feb 9). Tinder Swindler Simon Leviev Claimed To Be The Son Of A Diamond Billionaire. Meet The Very Real (And Very Rich) Lev Leviev. Retrieved. https://www.forbes.com/sites/chasewithorn/2022/02/09/tinder-swindler-simon-leviev-claimed-to-be-the-son-of-a-diamond-billionaire-meet-the-very-real-and-very-rich-lev-leviev/?sh=cc2b8ee4a26e Remøe Hansen, N., Kumar, K., Arntsen, E. and Kristiansen, Tore. (2019). THE TINDER SWINDLER. Retrieved. https://www.vg.no/spesial/2019/tindersvindleren/english/ Siegal, T. (2022, 15 Feb). ‘Tinder Swindler’ seduces way to top of Netflix charts. Retrieved. https://www.timesofisrael.com/tinder-swindler-seduces-way-to-top-of-netflix-charts/