ซีโมน เดอ โบวัวร์: สิทธิเสรีภาพของผู้หญิง และการจุดประกายกระแสสตรีนิยมคลื่นลูกที่สอง

ซีโมน เดอ โบวัวร์: สิทธิเสรีภาพของผู้หญิง และการจุดประกายกระแสสตรีนิยมคลื่นลูกที่สอง
ผู้ชายถูกกำหนดให้เป็นมนุษย์ และผู้หญิงถูกกำหนดให้เป็นผู้หญิง เมื่อใดก็ตามที่เธอปฏิบัติตนเป็นมนุษย์ เธอจะถูกกล่าวหาว่าเลียนแบบผู้ชาย” (Man is defined as a human being and a woman as a female – Whenever she behaves as a human being she is said to imitate to male) ประโยคข้างต้นเป็นคำพูดของนักคิดชาวฝรั่งเศสชื่อดังอย่าง ‘ซีโมน เดอ โบวัวร์’ (Simone de Beauvoir) อีกทั้งเธอยังเป็นนักเขียนและนักปรัชญาสายอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ผู้ฉีกกฎความเป็นผู้หญิงในอุดมคติ ผู้ตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วผู้หญิงคืออะไรและด้อยค่ากว่าผู้ชายจริงหรือ   ชีวิตในวัยเยาว์ ซีโมน ลูซี แอร์แน็สติน มารี แบร์ทร็อง เดอ โบวัวร์ (Simone Lucie Ernestine Marie Bertrand de Beauvoir) หรือที่เรารู้จักเธอในชื่อ ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) เธอเกิดและโตในเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ครอบครัวของเธอเป็นชนชั้นกลางที่มีแม่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิกอย่างเคร่งครัด ประกอบกับการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก ทำให้เธอเลื่อมใสจนเคยคิดอยากเป็นแม่ชี แต่เมื่ออายุ 14 ปี เธอกลับหมดความศรัทธาในศาสนาคริสต์ อาจเพราะความสนใจด้านวรรณกรรมเข้ามาแทนที่ศาสนาซึ่งเคยเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ดังที่เธอกล่าวว่า ‘วรรณกรรมเข้ามาแทนที่ศาสนาในชีวิตฉัน จึงทำให้ฉันหมกมุ่นกับมันนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา’ ดังนั้นเธอจึงไม่เชื่อในพระเจ้า และเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยสาขาคณิตศาสตร์และปรัชญาในปี ค.ศ. 1925 เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี ค.ศ. 1928 เดอ โบวัวร์ได้สอบบรรจุเป็นครูด้านปรัชญาด้วยอายุน้อยที่สุดในฝรั่งเศส หลังจากนั้นเธอถูกส่งตัวไปสอนที่โรงเรียนมัธยมปลายในเมืองมาร์แซย์ (Marseille) แล้วถูกย้ายอีกครั้งในปี ค.ศ. 1932 ไปสอนที่โรงเรียนมัธยมปลายฌาน ดาร์ก (lycée jeanne d’arc) เพื่อสอนวิชาวรรณกรรมและปรัชญาระดับสูง สถานที่แห่งนี้เองที่เธอถูกประณามจากการวิจารณ์สถานภาพของผู้หญิงอย่างโจ่งแจ้ง หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1940 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันได้เข้ายึดปารีส และเดอ โบวัวร์ถูกปลดออกจากตำแหน่งอาจารย์ ใน 3 ปีต่อมา และถูกปลดอีกครั้งจากการร้องเรียนของผู้ปกครองว่าทำให้ลูกสาวที่เรียนกับเธอเสื่อมเสีย  การถูกปลดหลายต่อหลายครั้ง ทำให้เธอตัดสินใจหันหลังให้วงการการศึกษา และมุ่งหน้าเป็นนักเขียนตามความใฝ่ฝันในวัยเด็ก ซีโมน เดอ โบวัวร์: สิทธิเสรีภาพของผู้หญิง และการจุดประกายกระแสสตรีนิยมคลื่นลูกที่สอง ความเป็นหญิงไม่ได้มีอยู่โดยธรรมชาติ “เราไม่ได้เกิดมาเป็นหญิง แต่ถูกทำให้เป็นหญิง” (One is not born, but rather becomes a woman)  แม้เธอจะไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นนักสตรีนิยม แต่ประโยคคลาสสิกข้างต้นที่มาจากหนังสือของเธอ เรื่อง ‘เพศที่สอง’ (The Second Sex) ถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1949 ทำให้เธอเป็นที่รู้จักในฐานะผู้จุดประกายสตรีนิยมคลื่นลูกที่สอง ซึ่งหนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนคัมภีร์ไบเบิลของสตรีนิยม โดยเนื้อหาเล่าว่า เดอ โบวัวร์ ไม่ได้ปฏิเสธแนวคิดผู้ชายและผู้หญิงมีความแตกต่างทางเพศในเชิงชีวภาพ (Biological) หรือความแตกต่างทางสรีระ (Sex) แต่เธอปฏิเสธแนวคิดที่ว่าธรรมชาติเพศหญิงมีจริง เพราะ ‘ธรรมชาติการเป็นผู้หญิง’ นั้นไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นมาจากธรรมชาติเหมือนสรีระ หากแต่ถูกกำหนดโดยสังคมและเป็นผลจากการหล่อหลอมทางเพศ โดยเฉพาะการเลี้ยงดูในครอบครัว เดอ โบวัวร์เองก็ถูกปลูกฝังผ่านพ่อที่เลี้ยงดูเธออย่างเคร่งครัด เขาส่งเสริมให้เธออ่านและเขียนตั้งแต่เด็ก ซึ่งในมุมของพ่อมองว่าเป็นลักษณะที่ผู้หญิงพึงมี อีกทั้งเธอยังได้อ้างอิงงานวิจัยของจิตแพทย์และนักจิตวิทยาหลายคนเพื่อสนับสนุนแนวคิดข้างต้น ต่างก็สรุปตรงกันว่า การอบรมเลี้ยงดูระหว่างเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายนั้นแตกต่างกันตั้งแต่แรก อย่างการปลูกฝังว่าสีฟ้าคือสีของผู้ชาย สีชมพูคือสีของผู้หญิง รวมถึงในอนาคตผู้หญิงจะมีบทบาทในการเป็นแม่และเมียเท่านั้น แม้หนังสือเล่มนี้ถูกยกย่องในฐานะคัมภีร์ไบเบิลของสตรีนิยม แต่ในมุมของผู้ที่ไม่ได้สนใจกลับต่อต้านอย่างหนัก เพราะมองว่าเนื้อหาเต็มไปด้วยความคิดที่รุนแรง อีกทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงตั้งคำถามกับสถานภาพที่พวกเธอเป็นอยู่ อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกา และนับเป็นหนังสือคลาสสิกตลอดกาล ซีโมน เดอ โบวัวร์: สิทธิเสรีภาพของผู้หญิง และการจุดประกายกระแสสตรีนิยมคลื่นลูกที่สอง เสรีภาพที่ทุกคนพึงมี “เสรีภาพที่มุ่งแต่จะปฏิเสธเสรีภาพนั้นไม่อาจยอมรับได้” (A freedom which is interested only denying freedom must be denied) เนื่องด้วยเธอเป็นนักปรัชญาสายอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ซึ่งเป็นสายที่มีความเชื่อว่ามนุษย์ไม่ใช่วัตถุ แต่มีชีวิตจิตใจ และที่สำคัญคือ มนุษย์มีเสรีภาพ มีความรู้สึกรับผิดชอบและการเลือกตัดสินใจ เธอจึงใช้ความรู้ส่วนนี้มาอธิบายสถานภาพของผู้หญิงจากการถูกกดขี่ไม่ให้มีสิทธิและเสรีภาพ โดยเธอกล่าวว่าผู้ชายและผู้หญิงนั้นคือผู้ที่ดำรงอยู่ด้วยตนเองอย่างเสรี (Free subject) ดังนั้นควรจะมีสิทธิและเสรีภาพเสมอกัน ดังคำกล่าวของเธอข้างต้นที่ตีความได้ว่า มนุษย์มีเสรีภาพที่จะค้นหาและกำหนดความหมายของชีวิตให้ตัวเอง แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานการยอมรับและปกป้องเสรีภาพผู้อื่น ต่อมาแนวความคิดนี้ได้เป็นรากฐานของสตรีนิยมคลื่นลูกที่สองอย่าง ‘สตรีนิยมสายเสรีนิยม’ โดยสายนี้เชื่อในความเท่าเทียมกันด้วยสิทธิต่าง ๆ ไม่ใช่ผลลัพธ์ เช่น หากตำแหน่งงานระดับสูงถูกครอบครองโดยเพศใดเพศหนึ่ง นั่นไม่ได้หมายความว่ามีอะไรบางอย่างที่ผิดไป แต่อาจเป็นเพียงผลลัพธ์ที่เกิดจากการตัดสินใจของแต่ละบุคคลเท่านั้น  นอกจากเธอจะสนับสนุนด้านสิทธิสตรี เธอยังใช้ชื่อเสียงของเธอในการเปล่งเสียงประเด็นทางการเมือง อย่างการสนับสนุนการเรียกร้องเอกราชของแอลจีเรียและฮังการีในปี ค.ศ. 1956 รวมถึงเข้าร่วมขบวนการปฏิวัตินักศึกษาในฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1968  ด้วยสิ่งที่เธอทำมาทั้งหมดในฐานะการเรียกร้องสิทธิผู้หญิง ทำให้เธอได้รับตำแหน่งสันนิบาตสตรีในปี ค.ศ. 1974 และยังได้เป็นที่ปรึกษาของกระทรวงสิทธิสตรีในเวลาต่อมา ในยุคที่ฝรั่งเศสยังไม่ให้สิทธิเสียงกับสตรีอย่างเท่าเทียม นับว่าเดอ โบวัวร์เป็นผู้หญิงที่ล้ำสมัยทางความคิดเป็นอย่างมาก เพราะเธอตัดสินใจว่าจะ ‘ไม่ยอมรับ’ สิ่งที่สังคมกดทับเธอไว้ แต่เธอเลือกจะ ‘กำหนด’ ชีวิตของตัวเอง อีกทั้งเป้าหมายของเดอ โบวัวร์ในการเรียกร้องนั้นไม่ใช่เพื่อต้องการให้ผู้หญิงมีอำนาจเหนือกว่าชาย แต่เธอต้องการเปลี่ยนสถานะของผู้หญิงจาก ‘ความเป็นอื่น’ (The Other) ให้กลายเป็นคนในสังคมที่พวกเธอสามารถกำหนดอัตลักษณ์ของตัวเองได้โดยปราศจากกรอบของสังคม   เรื่อง: ขวัญจิรา สุโสภา (The People Junior)   อ้างอิง: https://www.biography.com/scholar/simone-de-beauvoir https://ethics.org.au/big-thinker-simone-de-beauvoir/  https://www.britannica.com/biography/Simone-de-Beauvoir https://www.literaryladiesguide.com/book-reviews/the-second-sex-by-simone-de-beauvoir-1949/?fbclid=IwAR2a7z_TpuhrBAwBuRD2m6k1kZqLjf0-Rn2aNII16e_K_bSs0eApoLOOQNo  https://youtu.be/Dgc0-Cn4AAs    ภาพ Bettmann / Getty Images