ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ ศาสนวิทยา กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ ศาสนวิทยา กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
“‘เด็กเอ๋ย เด็กดีต้องมีหน้าที่ 10 อย่างด้วยกัน’ เพลงวันเด็กก็สอนเรา เพลงนี้บอกเลย ‘1. นับถือศาสนา’ เพราะฉะนั้นเด็กไทยถ้าจะเป็นเด็กดี เราถูกสอนแล้วว่า อย่างแรกที่จะเป็นเด็กดี คือ ต้องนับถือศาสนา พูดง่าย ๆ ก็คือว่า คนไทยเชื่อแล้ว ถูกสอนให้เชื่อแล้วว่า การเป็นคนดีต้องมีศาสนา แล้วก็รวมไปด้วยว่า ทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี และทุกศาสนาสอนแต่เรื่องดี ๆ และทุกเรื่องในศาสนามีแต่เรื่องดี” ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นักศาสนวิทยา กล่าวถึงการปลูกฝังความเชื่อในเด็กไทยตั้งแต่ชั้นอนุบาลให้เชื่อว่า ศาสนาทุกศาสนา “ดี” การวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาจึงเป็นสิ่งที่แปลกแยกจากค่านิยมกระแสหลักของไทย (แม้จะมีชนชั้นกลางไม่น้อยที่ยอมรับการวิจารณ์ศาสนาผีของชาวชนบท แต่ในขณะเดียวกัน ตัวเองก็ไหว้เจ้าและประกอบพิธีเช็งเม้ง) การตั้งคำถามและแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความเชื่อจึงเป็นเรื่องที่คนไทยจำนวนมากไม่ชอบ ขณะเดียวกันศาสนาก็เป็นเรื่องที่ผูกพันกับคนและสังคมอย่างพันลึกในหลายมิติ การแสดงความเห็นของเขาจึงไปแตะเรื่องของการเมือง กฎหมาย สังคม วัฒนธรรม และจารีตประเพณีอย่างเลี่ยงไม่ได้ ผลที่ตามมาก็คือ ความโกรธแค้นและอาฆาต เขาเองยอมรับว่า ตัวเองก็ยังเป็น “ปุถุชน” ที่ยังห่วงชีวิต แต่อย่างน้อยเขาก็อยากจะทำในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและพยายามทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้ โดยไม่ได้คิดมาก่อนว่า เขาเองจะมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงความคิด ช่วยให้คนตาสว่าง หรือ “ใจสว่าง” ได้มากมายขนาดนี้มาก่อน ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ ศาสนวิทยา กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น The People: อะไรทำให้สนใจเรื่องศาสนา ศิลป์ชัย: ผมเกิดมาในครอบครัวคนจีนรุ่นเก่า เป็นครอบครัวที่มีการผสานความเชื่อทั้งคริสต์และพุทธ พุทธมหายาน และสังคมไทยก็เป็นสังคมที่ผสมผสานหลายศาสนาอยู่แล้ว ก็ได้เรียนรู้เรื่องของศาสนาแบบไทย ๆ ด้วยความที่อากง อาม่า ซึ่งได้อยู่กับเขานาน เป็นคนจีนรุ่นเก่าก็ศึกษาศาสนาขงจื๊อ หรือศาสนาบูชาบรรพบุรุษต่าง ๆ เหล่านี้  เข้าโรงเรียนก็มีทั้งโรงเรียนแบบไทย ๆ ทั่วไป แล้วก็โรงเรียนคาทอลิก จึงได้เรียนรู้หลายศาสนา ข้างบ้านก็ยังมีโรงเจ มีคนทรง มีคนนับถือพราหมณ์ฮินดู ยิ่งกว่านั้นที่บ้านแม่เป็นร้านตัดเสื้อ แล้วคนที่มาใช้บริการประจำก็คือร่างทรงที่จะมาขอตัดชุดทรง บางคนมาแล้วก็องค์ลงตอนมาลองเสื้อ แล้วก็กลิ้งอยู่กับพื้นเลื้อยเป็นพญานาคราชเลย ผู้หญิงวัยกลางคนแต่งตัวดีหน้าตาดี ถึงเวลาพอองค์ลงก็ลงไปเลื้อยกับพื้นแล้วพูดเป็นเสียงคนแก่ พอรู้ตัวก็ลุกขึ้นขยับกระโปรงแล้วก็บอกว่าองค์ลง ท่านลง ถามว่าท่านไหน? ก็บอกว่า พญานาค ก็อยู่อย่างนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ จนโต ทำให้สนใจ ได้ไปโบสถ์คริสต์ ทั้งโปรแตสแตนต์ คาทอลิก แล้วก็วัดด้วย แน่นอนมีวัฒนธรรมของการไหว้เจ้าด้วย จึงใกล้ชิดกับศาสนามาก   The People: โดยส่วนตัวมีความศรัทธาในศาสนาบ้างหรือเปล่า ศิลป์ชัย: ก็ต้องยอมรับว่า เมื่ออยู่ใกล้ชิดขนาดนี้ เลยได้เกี่ยวข้องหลาย ๆ ศาสนา คริสต์ด้วยเพราะเป็นศาสนาของคุณพ่อ แล้วแม่มาเข้าทีหลัง แต่ขณะเดียวกันก็ยังใกล้ชิดกับศาสนาพุทธ โตมาเคยเลิกเป็นคริสต์ไปเข้าพุทธ ไปทำวิปัสสนากรรมฐานอยู่ในป่าแถวสกลนครถิ่นคอมมิวนิสต์เก่า ไปฝึกวิปัสสนากรรมฐานกับพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายรูปในป่าภูหลง ไปอยู่ในเขากับหลวงพี่กับผมเองแค่ 2 คน  ที่ที่ผมอยู่ขณะฝึกวิปัสสนากรรมฐานก็อยู่ในป่า เดินเข้าไปลึก ๆ อยู่คนเดียว หลวงพี่อยู่ในที่ตื้นกว่า ผมอยู่ลึกเข้าไปมากกว่า บางทีดึก ๆ เดินก็มีงูเลื้อยผ่าน ตื่นเช้ามาหมอนกระจุยกระจายเพราะถูกหนูป่าแทะไม่รู้ตัว  อยู่กับแวดวงศาสนาจึงได้มีโอกาสศึกษาศาสนา เมื่อศึกษาให้ลึกเข้าไปจึงมีโอกาสได้เดินทางไปหลายประเทศ ยิ่งทำให้ลงลึกในหลายศาสนา ทำการศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ และเลยไปถึงขั้นวิเคราะห์ภาวะทางศาสนาในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติของตัวศาสนาเอง วัฒนธรรม ความเชื่อ ยังเลยไปถึงมิติของสังคม รัฐศาสตร์ มิติทางการเมือง ศาสนากับการเมือง ศาสนากับชีวิตส่วนตัว ศาสนากับชีวิตจิตใจ จิตวิญญาณ ศาสนากับกฎหมาย ศาสนากับเศรษฐกิจ ก็เลยยิ่งนานวันยิ่งศึกษาลงลึกในหลายมิติ   The People: ศาสนามีอิทธิพลต่อสังคมการเมืองโดยเฉพาะประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน ศิลป์ชัย: ในสังคมไทยต้องบอกว่าศาสนามีอิทธิพลมาก ๆ แล้วก็มากกว่าหลายประเทศส่วนใหญ่ในโลก แล้วมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้ง อันนี้ไม่ได้เพิ่งเป็น เป็นมานานแล้ว แม้กระทั่งปัจจุบัน ประเทศไทยถือตนว่าเป็นเสมือนรัฐศาสนา หรือรัฐกึ่งศาสนา เพราะได้สมาทานศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของเสาหลัก หรือสถาบันหลักของประเทศไปด้วย มีการท่องอย่างเช่น “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” แปลว่าได้ยึดเอาศาสนาเป็นหัวใจสำคัญอันหนึ่งของประเทศไป มันจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะบอกว่า ศาสนามีอิทธิพลอย่างสูงมากในประเทศไทย เพียงแต่มันจะมีรูปแบบอย่างที่เห็นชัดและเห็นไม่ชัดอยู่ในหลายระดับ   The People: เคยแสดงความเห็นเรื่องศาสนาเป็นหลักในเพจของตัวเอง แต่เมื่อราวต้นปี 2019 ก็เริ่มหันมาพูดเรื่องการเมือง สังคมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อะไรเป็นจุดเปลี่ยน ศิลป์ชัย: ดั้งเดิมตั้งใจว่า ด้วยความรู้ความสามารถของตัวเองในเรื่องศาสนวิทยาก็นำเสนอในสิ่งนั้น แต่ในข้อเท็จจริงแล้วมันเป็นเรื่องแยกกันยากระหว่างศาสนา กับเรื่องอื่น ๆ ในสังคม เพราะโดยธรรมชาติขึ้นชื่อว่าศาสนาแล้ว มันมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งที่สุดในชีวิตของคน แล้วมันก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับสาขาอื่น ๆ ในชีวิตและสังคมด้วย เช่น ศาสนาเป็นตัวกำหนดวิถีจริยธรรม คือวิธีการคิดเรื่องอะไรถูกอะไรผิด เพราะฉะนั้นพอคนเรารับนับถือศาสนาอะไร ก็จะบอกว่าอะไรถือว่าถูก อะไรถือว่าผิด ก็จะพันไปถึงกฎหมายและวัฒนธรรมทั่ว ๆ ไป  เพราะเราดำเนินชีวิตแต่ละวันต้องคิดว่าอะไรถูกอะไรผิด แล้วอะไรถูกอะไรผิดโดยพื้นฐานในสังคมเราจะมี 2 ตัวคือ ถูกผิดในเชิงวัฒนธรรม กับถูกผิดในเชิงกฎหมาย แล้วแน่นอนว่าในสังคมเรามีเรื่องถูกผิดในเชิงวัฒนธรรมและกฎหมายเยอะเลย ยกตัวอย่างเช่น เรื่องที่คนไทยชินแต่คนต่างประเทศไม่ชิน เรื่องของการใช้ถ้อยคำ ภาษาที่ใช้ การกราบการไหว้ การวิจารณ์ศาสนา อย่างนี้เป็นต้น ในสังคมตะวันตก สามารถวิจารณ์ศาสนาได้ เราเชื่ออะไรไม่เชื่ออะไรสามารถพูดได้เต็มที่ แต่ในสังคมไทยบางเรื่องในเชิงวัฒนธรรมทำไม่ได้เป็นเรื่องที่ไม่สมควร หรือคนต่างประเทศมาเมืองไทย แล้วมาปฏิบัติอะไรบางอย่างกับพระพุทธรูปแล้วโดนคนกล่าวหามากมาย ในขณะที่ถ้าเขาทำในประเทศตัวเองก็ไม่เป็นไร มันจึงมีมิติเรื่องความถูกผิดเชิงวัฒนธรรม ถูกผิด ดีชั่ว  แล้วในเชิงกฎหมายอีก กฎหมายหลายเรื่องในประเทศไทยมีความเกี่ยวพันกับศาสนา อย่างเช่นมันจะมีระเบียบ กฎหมาย อย่างเช่นว่า ห้ามนำเข้าสิ่งของที่เรียกว่าเป็นสื่อลามกหรือสื่ออนาจาร พวกเซ็กซ์ทอยในสังคมเราถือว่าผิดกฎหมาย ถามว่าทำไม? “ผิดศีลธรรมอันดีในแบบสังคมไทย” แต่ในเรื่องเดียวกันนี้ในต่างประเทศ ในตะวันตกไม่ถือว่าผิด ถือเป็นเรื่องปกติในสังคม เรื่องของการพนัน ต่างประเทศมีคาสิโนที่ถูกกฎหมาย แต่ในประเทศไทยบอกว่าผิดศีลธรรมก็เลยไม่ยอมให้มีคาสิโนหรือบ่อนที่ถูกกฎหมาย เรื่องของการดื่มแอลกอฮอล์ของเขาถือว่าเป็นประเทศเสรี ถ้าจะจำกัดก็จะจำกัดอายุของเยาวชนว่าอายุต่ำกว่าเท่าไรห้ามดื่ม แต่ของเมืองไทยมีไปถึงขึ้นที่ว่ามีวันสำคัญทางศาสนาที่ห้ามดื่มห้ามซื้อขายเลยทั่วประเทศ  มิติอย่างนี้เป็นต้นที่ทำให้เรื่องของศาสนาเกี่ยวพันกับเรื่องการเมือง กฎหมาย อย่างเลี่ยงไม่ได้ ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ ศาสนวิทยา กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น The People: เริ่มใช้โซเชียลมีเดียตั้งแต่เมื่อไร จุดประสงค์เบื้องต้นคืออะไร ศิลป์ชัย: จริง ๆ เป็นคนไม่รู้เรื่องไอทีเลย เมื่อก่อนก็ใช้แค่อีเมล แล้วก็เว็บไซต์ทั่วไป ต่อมาก็เป็นบล็อกมีคนสอนให้ จนกระทั่งเมื่อประมาณ 7 ปีก่อนมั้งครับ ก็มีเพื่อนบางคนขอให้ใช้เฟซบุ๊ก เพราะว่าเขารู้สึกสะดวกกว่าในการติดต่อ ก็เลยเริ่มฝึกอย่างเสียมิได้ เริ่มจากแอคเคานต์ส่วนตัวแล้วก็มาเป็นเพจ ก็น่าจะประมาณ 5-6 ปี   The People: โซเชียลมีเดียส่งอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างไรบ้าง ศิลป์ชัย: เมื่อก่อนไม่เคยรู้สึกเลยว่าโซเชียลมีเดียจะมีส่วนเปลี่ยนแปลงทางสังคมอะไรได้ คิดว่าเป็นเรื่องของเล่นของวัยรุ่นหนุ่มสาวเท่านั้น แต่ต้องยอมรับว่าพอได้ลองเล่นและศึกษาอย่างจริงจัง แล้วก็เราจากที่เป็นผู้ปฏิบัติด้วยตนเอง (practitioner) ต้องยอมรับว่าโลกกำลังเปลี่ยนไป แล้วโซเชียลมีเดียก็ทำให้วัฒนธรรมในการสื่อสารและการรับรู้ข่าวสารเปลี่ยนทั้งโลก ตรงนี้ยังกระทบต่อชีวิตส่วนตัวและรสนิยมของตัวกระผมเอง ทั้งในแง่ผู้รับข่าวสารและผู้ส่งข่าวสารด้วย ยกตัวอย่างเช่น จากในอดีตต้องใช้อีเมลมากมายวันละหลายสิบฉบับ แต่ทุกวันนี้ใช้อีเมลน้อยมาก ทุกวันนี้การสื่อสารกับผู้คนก็โดยโซเชียลมีเดียจะเป็นเฟซบุ๊กหรือไลน์อะไรก็แล้วแต่ ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อก่อนจากที่เคยเป็นผู้รับสารอย่างเดียวจากสำนักข่าวต่าง ๆ แต่พอลองสื่อสารเอง โซเชียลมีเดียช่วยให้เราสื่อสารความคิด ข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ที่เรามีให้กับโลกอย่างกว้างขวางอย่างนึกไม่ถึง จากเริ่มที่จะทำให้ในหมู่ลูกศิษย์ไม่กี่คน สัก 50 คน 100 คน คาดไม่ถึงแป๊บเดียวมีคนกดไลก์ เข้ามาเป็นฟอลโลเวอร์เพื่อจะรับข่าวสารจากเราเป็นแสน ๆ คน ถูกเอาไปพูดถึง จนกระทั่งบางเรื่องที่สื่อสารความคิดมีคนติดตามเป็นล้าน ๆ คน  ก็เลยต้องยอมรับว่านี่เป็นเรื่องที่เกินคาด คาดไม่ถึง แล้วก็รู้เลยว่า ทุกวันนี้โซเชียลมีเดียได้เปลี่ยนวิธีสื่อสารและรับข่าวสารของโลกไปเรียบร้อยแล้ว กระผมเองยิ่งเปลี่ยนกว่านั้นคือว่า เมื่อก่อนเคยดูทีวี เดี๋ยวนี้ทีวีเอาผ้าคลุมไว้เลย คือไม่ได้ดูเลย เพราะว่าข้อมูลข่าวสารแม้แต่จากทีวีกระแสหลัก และสื่ออื่น ๆ มันผ่านมาทางโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็วทันใจ แล้วก็ลึกเกินกว่าอย่างที่ในอดีตสื่อกระแสหลัก (mainstream) เคยนำเสนอให้เรา แล้วไม่ถูกตัดด้วย ทำให้คมแล้วก็ลึก เป็นการสื่อสารสองทาง สงสัยตรงไหนเขียนไปถามได้ด้วย แสดงความคิดเห็นได้ด้วย โซเชียลมีเดียทรงพลังมากแล้วก็กวาดเอาสื่อแบบเดิมไปด้วย   The People: เคยคิดไหมว่าวันหนึ่งจะมาเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด (influencer) ในโลกออนไลน์ ศิลป์ชัย: ไม่นึกครับ ต้องยอมรับว่าที่จริงเป็นความเขลาของกระผมเอง เพราะนึกว่าให้ความรู้เฉย ๆ และช่วยให้คนที่สนใจศึกษา ให้เข้ามาศึกษาแล้วได้เรียนรู้ ตาสว่าง ใจสว่าง วิญญาณสว่าง ปรากฏว่าเกิดผลกระทบไปไกลกว่านั้น ลืมนึกไปว่า ทำเพื่อให้ความรู้เฉย ๆ แต่พอใจสว่างแล้ว คนจะไม่หยุดนิ่งครับ มันเป็นเรื่องธรรมชาติ เรื่องศาสนาไม่ใช่แค่เรื่องความรู้ทางสมอง แต่มันเป็นเรื่องที่กระทบใจ แล้วพอกระทบใจแล้ว อุดมการณ์ ชีวิต มันเปลี่ยน ไลฟ์สไตล์มันเปลี่ยน จากที่เคยคิดว่าเรื่องหนึ่งไม่เป็นไร มันจะเป็นไรขึ้นมา จากที่คิดว่าเรื่องหนึ่งไม่ผิด เคยทำได้ไม่รู้สึกอะไร มันรู้สึกว่า เอ๊ย! มันไม่ใช่แล้ว ทำให้คนต้องตัดสินใจแล้วว่าจะเอาอย่างไรต่อ ก็เลยทำให้วิถีชีวิตของคนต้องเปลี่ยน เอาง่าย ๆ ถ้าคนหนึ่งเคยบูชาอย่างหนึ่ง แล้ววันหนึ่งเขาเกิดตาสว่างขึ้นมา แล้วจะไม่บูชา มันกระทบเขาเยอะเหมือนกันนะครับ กระทบเรื่องการเงิน โอเค เขาไม่ต้องไปจ่ายแล้ว จากต้องกราบต้องไหว้ทุกวันก็ไม่ต้องไหว้แล้ว เขาไม่กราบไหว้คนเดียว ครอบครัวก็มีปัญหา “อ้าวลื้อเคยไหว้กับอั๊ว แล้วทำไมลื้อไม่ไหว้แล้ว?” อย่างนี้เป็นต้น ปกติเคยทำบุญเดี๋ยวนี้ไม่ทำแล้ว ยิ่งกว่านั้น พอคนหนึ่งเริ่มคิดได้ มันเริ่มไม่หยุดครับ พอคนหนึ่งเริ่มใจสว่าง คนอื่นก็จะถามว่า “ทำไมเธอเป็นอย่างนั้น?” มันก็จะเกิดเป็นอิทธิพลต่อเนื่อง ไม่มากก็น้อย ไม่ช้าก็เร็ว ไม่ตื้นก็ลึก แล้วมันก็แผ่ไป กระจายไป เรื่องที่คิดว่าจะทำแค่นี้ มันก็ไปได้ขนาดนี้ ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ ศาสนวิทยา กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น The People: การเป็นเจ้าของเพจที่มีผู้ติดตามเกินกว่า 200,000 คน คิดว่าตัวเองทำหน้าที่เหมือนสื่อด้วยไหม ควรต้องมีความรับผิดต่อการแสดงความคิดเห็นของตัวเองอย่างไร ศิลป์ชัย: จริง ๆ แล้วโซเชียลมีเดียก็เป็นดาบทั้งสองคม แต่แน่นอนคมในด้านที่เป็นประโยชน์เนี่ย...มาก เพราะว่ามันให้เสรีภาพในการสื่อสารทั้งที่เราสื่อสารออกไปและรับข่าวสารอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นย่อมเป็นข้อดี สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเป็นสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่ดีต่อสังคมโดยพื้นฐานอยู่แล้ว แต่แน่นอนว่า สิทธิเสรีภาพมากก็ต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบการตระหนักเรื่องนี้ให้มากตามมาเช่นกัน เพราะเมื่อสื่อสารมากโอกาสที่จะสื่อสารเรื่องที่ไม่จริง หรือ...เรื่องที่ไม่เหมาะสมหนึ่งเช่น หมิ่นประมาทคน หรือว่าไปทำให้ความเสื่อมทางสังคมในทางใดทางหนึ่งมันก็มีโอกาสอยู่เหมือนกัน  แต่ตรงนั้นจะว่าไปแล้วผมยังคิดว่า เรื่องน่าห่วงแม้ว่าจะมีแต่ก็ไม่เท่าประโยชน์ของมัน เพราะว่า โซเชียลมีเดียของทุกค่ายก็มีมาตรการบางอย่างโดยพื้นฐานที่จะกรองเรื่องที่ไม่ดี เรื่องที่มันเสื่อมศีลธรรมไว้เยอะพอสมควรแล้ว หรืออย่างสื่อลามกโซเชียลมีเดียก็มีเครื่องมือที่จะกลั่นกรองข้อมูลเหล่านั้นได้ ส่วนที่เหลือสังคมเองก็ต้องใช้ความสามารถโดยมวลรวมของสังคมช่วยกันอีกทีหนึ่ง และกฎหมายทั้งท้องถิ่นและนานาชาติก็มีช่วยปกป้องไว้อีกชั้นหนึ่ง สิ่งที่น่ากลัวกว่าก็คือ ถ้าไม่มีสื่อเหล่านี้ ก็เท่ากับเสรีภาพไม่มี คนจะถูกบล็อกด้วยไม่มีโอกาสได้เข้าถึงสื่อกระแสหลัก เขาก็ไม่มีทางที่จะสื่อสารความคิด ข้อเท็จจริงบางอย่างออกไปได้ เสียงของเขาก็ถูกปิดกั้น เพราะฉะนั้น ผมถึงบอกว่าโดยรวม ข้อดีเยอะกว่าข้อเสีย แน่นอนข้อเสียมี แต่ก็เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ครับ   The People: เวลารับข่าวสารมา บางทีไม่ได้รับการยืนยัน และยากที่จะยืนยัน หรือบางกรณีก็ไม่สามารถยืนยันได้เลย อย่างนี้จะเลือกอย่างไรว่าข่าวสารนั้นควรจะเผยแพร่ต่อหรือไม่ ศิลป์ชัย: เรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งมี ข่าวลือบางทีไม่ใช่ว่าจะเป็นข่าวไม่จริง แล้วถ้าบอกว่าห้ามเผยแพร่ข่าวลือ อย่างนี้ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน เพราะบางทีข่าวลือคือข่าวจริงที่มาก่อนเวลา เพราะว่าเป็นความจริงแต่คนที่เล่าไม่กล้าพูดไม่กล้าเปิดเผยว่ามาจากเขา เพราะสร้างความเสี่ยงต่อตัวเขาเอง เขาก็เลือกที่จะปิดตัวตน เพราะฉะนั้นข่าวลือก็มีประโยชน์ สังคมที่ไม่ยอมให้มีข่าวลือ บางทีอาจจะทำให้สังคมไม่ได้ข่าวที่เป็นประโยชน์ที่ทำให้คนมีโอกาสตระหนักไว้ จำเป็นต้องยอมรับครับว่าเรื่องข่าวลือหรือแม้แต่เรื่องนินทา บ่อยครั้งท้ายที่สุดแล้วเป็นความจริง สิ่งที่สมควรมากกว่า คือ สังคมควรมีการสร้างภูมิคุ้มกันในแง่ที่ว่า เวลาได้ยินข่าวลือก็รู้จักฟังหูไว้หู หรือรอตรวจสอบข้อเท็จจริง  แต่การไม่ยอมให้มีข่าวลือเลย บางทีทำให้เราปิดโอกาสในการที่จะได้ข้อเท็จจริงจากคนที่ไม่กล้าเปิดเผยตัว อาจจะต้องพูดอย่างนี้ อะไรน่ากลัวกว่า? ระหว่างสังคมที่ยอมให้มีเฟกนิวส์ (fake news) กับสังคมที่ไม่ยอมให้มีรีลนิวส์ (real news) ทุกอย่าง หรือจะพูดง่าย ๆ ว่า ข่าวปลอมยังน่ากลัวน้อยเสียกว่าสังคมที่อยากรู้ความจริงหรืออยากรู้แฟกต์นิวส์ (fact news) แล้วรู้ไม่ได้ สังคมมีเฟกนิวส์บ้างอยู่แล้ว แต่สังคมที่ไม่มีโอกาสรู้แฟกต์นิวส์อันตรายกว่าเยอะครับ   The People: เมืองไทยมีการเลือกตั้งแล้ว รู้สึกว่าเสรีภาพกับประชาธิปไตยฟื้นคืนขึ้นมาบ้างหรือยัง ศิลป์ชัย: ไหนว่าจะไม่พูดการเมือง? (หัวเราะ) เราคงต้องยอมรับความจริงนะครับว่า ประเทศไทยเราเป็นประชาธิปไตยในแง่ของพิธีกรรม หรือโดยเชิงรูปแบบบางอย่าง แต่เนื้อแท้พูดได้ว่าไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะแม้ว่า เราจะมีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีกฎหมาย แต่เรื่องเหล่านี้เราต้องดู 2 อย่าง โดยรูปแบบ เรามีเหมือนทุกอย่างที่ประเทศประชาธิปไตยมี  แต่มีปัญหากับอย่างที่สอง คือเนื้อในของสิ่งที่มี ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาสาระของการเขียนรัฐธรรมนูญ การเขียนกฎหมาย รวมถึงกฎหมายลูกต่าง ๆ ยังไม่เป็นประชาธิปไตย รวมไปถึงวิธีปฏิบัติจริง ๆ มันก็ยังมีการใช้อำนาจแฝงหรืออะไรบางอย่าง ที่ทำให้เกิดภาวะที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง  เพราะฉะนั้นแม้โดยรูปแบบข้างนอกเหมือนประชาธิไตย แต่พอดูลงลึกแล้วกลับไม่ใช่ อาจจะเรียกว่า เป็นอำนาจนิยมจารีต แล้วแบ่งส่วนของอำนาจจำนวนหนึ่งมาให้ประชาชนได้บริหารกันเอง แล้วเรียกอำนาจที่แบ่งมาตรงนี้ว่า ประชาธิปไตย แต่ยังมีอำนาจอีกจำนวนหนึ่งที่ระบบอำนาจนิยมเชิงจารีตก็ยังคงรักษาเอาไว้   The People: เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นควรมีขอบเขตแค่ไหน ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงมีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด ศิลป์ชัย: เป็นคำถามที่ยากจะตอบเหลือเกินครับ คือ...ต้องยอมรับว่า ในประเทศของเรา เหมือนกับว่าเรายอมให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่เอาเข้าจริงแล้ว เราก็ยังไม่ได้มีเสรีภาพอย่างแท้จริงอย่างที่ควรจะเป็น โดยเสรีภาพนั้นจะถูกปกป้องไว้ตราบเท่าที่มันจะไม่ไปกระทบกับสิ่งที่เรียกว่า “ความมั่นคง”  ตรงนี้แหละครับ มันคือปัญหา เพราะแต่ละประเทศนิยามคำว่า “ความมั่นคงของชาติ” เอาไว้ไม่เหมือนกัน ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่มาด้วยกันคือ ประชาธิปไตยที่แคร์เรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันก็ใส่ใจเรื่องความมั่นคงของชาติด้วย ไม่ได้เอาความมั่นคงของชาติมาเหนือกว่าสิทธิมนุษยชน แต่ในประเทศที่ค่อนข้างอำนาจนิยมมักจะเอาเรื่องของคำว่า ความมั่นคงของชาติมาเหนือสิทธิมนุษยชน หรือสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ตรงนี้แหละครับที่บอกว่า ประเทศประชาธิปไตยจริง หรือประเทศประชาธิปไตยไม่จริง หรือประเทศอำนาจนิยม หรือพูดให้แรงกว่านั้นคือ เผด็จการ มันต่างกันตรงนี้แหละครับ คือไม่ใช่ว่า ประเทศเผด็จการไม่ให้สิทธิเสรีภาพเสียเลย ให้บ้าง แต่ให้น้อยหรือมาก เท่านั้นเอง แล้วก็มาถึงตรงนี้ว่า ขอบเขตตรงไหนที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยไม่ยอมให้ความมั่นคงของชาติมาแทรกแซงสิทธิมนุษยชน แต่ประเทศอำนาจนิยมจะเอาความมั่นคงมาแทรกแซงสิทธิมนุษยชนมาก ขออธิบายเพิ่มอย่างนี้ว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากถือว่าความมั่นคงของชาติไม่ได้กินความถึงเรื่องที่ว่า คนจะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของชาติในแง่มุมหนึ่งแง่มุมใดไม่ได้ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากก็จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ทุกเรื่อง แสดงความคิดเห็นได้ทุกเรื่อง แม้แต่วิจารณ์ผู้นำของประเทศ นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี และแน่นอนวิจารณ์ศาสนา วิจารณ์วัฒนธรรม วิจารณ์นักบวช วิจารณ์ประวัติศาสตร์ วิจารณ์วีรบุรุษหรือวีรชนของชาติในอดีต วิจารณ์ได้หมดเลย วิจารณ์ได้แม้แต่คนที่ก่อตั้งชาติมา หรือเคยมีความดีบางอย่างมาก็สามารถวิจารณ์ได้ และไม่ถือว่ากระทบต่อความมั่นคงของชาติ แต่พอมาถึงกรณีของประเทศเราหรือประเทศอำนาจนิยมเชิงจารีตก็จะมีปัญหาเรื่องนี้อยู่ที่ว่า หลายเรื่องจะถูกเอามารวมไว้ว่าเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติไปเสียหมด เรื่องความสัมพันธ์ต่างประเทศ “ห้ามวิจารณ์” เรื่องศาสนา “ห้ามวิจารณ์” ประเพณี วัฒนธรรม “ห้ามวิจารณ์” เรื่องของวีรชนในอดีต “ห้ามวิจารณ์” เรื่องประวัติศาสตร์ “ห้ามวิจารณ์” ผู้นำบางระดับบางเรื่อง “ห้ามวิจารณ์” อะไรอย่างนี้ แล้วก็เรื่องรวม ๆ สิ่งเหล่านี้ว่า “ความมั่นคงของชาติ” ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหามากทีเดียว ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ ศาสนวิทยา กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น The People: มีคำพูดที่ว่าเราต้องเคารพ “ความหลากหลาย” ทางความเชื่อ ขณะเดียวกัน บางความเชื่อก็ใช้ความเชื่อละเมิดสิทธิของสมาชิกที่ด้อยโอกาสของตัวเอง แล้วอ้างเรื่อง “ความหลากหลาย” ความเชื่อส่วนตัว ไม่ให้คนอื่นมาวิจารณ์ ตรงนี้เห็นอย่างไร ศิลป์ชัย: คือเวลาที่เราพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  ต้องบอกก่อนว่า เวลาให้เสรีภาพไม่ได้หมายความว่า เราเองมีเสรีภาพในการวิจารณ์คนอื่นอย่างเดียว แต่หมายถึงว่า เราต้องยอมรับที่จะให้คนอื่นวิจารณ์เราด้วย การที่เรามีเสรีภาพในการวิจารณ์ศาสนา ความเชื่อ หรือประเพณีของคนอื่น มันก็รวมถึงเสรีภาพที่จะต้องให้คนอื่นมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ความเชื่อ ศาสนา ศาสดา สิ่งที่เราเคารพนับถือทุกเรื่องของเราด้วย ถึงจะยุติธรรม สิทธิเสรีภาพจะต้องมาพร้อมกับความเสมอภาค สิทธิเสรีภาพใดที่ให้เฉพาะคนบางคน แล้วก็ให้คนบางคนมีสิทธิเหนือคนอื่น อันนี้ไม่ใช่สิทธิที่แท้จริง สิทธิที่แท้จริงต้องมาพร้อมกับความเสมอภาคด้วย  ต้องขออธิบายอย่างนี้ว่า ประโยชน์ของสิทธิเสรีภาพในการวิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะมันเป็นตัวตรวจสอบความคิดเห็นและความเชื่อทุกเรื่องในสังคม ทำให้ทุกสิ่งในสังคมสามารถถูกตรวจสอบได้ การที่เราไม่ให้สิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริงในการแสดงออก สุดท้ายมันจะมีบางเรื่องหรือบางพื้นที่ที่ไม่ถูกตรวจสอบ แล้วเวลาที่มีอะไรที่ไม่ถูกตรวจสอบ สิ่งนั้นมีโอกาสจะผิด จะเสีย และละเมิดต่อสังคมหรือความดีงามของคนอื่น สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกจึงสำคัญมาก ขณะเดียวกันอย่างที่บอกไปตอนแรกว่า เวลาที่เราให้สิทธิเสรีภาพ ทุกคนไม่มีสิทธิที่จะมาบอกว่าห้ามใครวิจารณ์เรา แต่เราไปวิจารณ์คนอื่นได้ อย่างนี้ไม่ใช่ มันต้องเป็น mutuality คือซึ่งกันและกัน เธอมีสิทธินับถือ ฉันมีสิทธิวิจารณ์สิ่งที่เธอนับถือ ฉันมีสิทธินับถือศาสนาอะไรก็ได้ ไม่มีใครมีสิทธิห้ามฉัน ขณะเดียวกันทุกคนก็มีสิทธิวิจารณ์ศาสนาหรือความเชื่อหรือวัฒนธรรมที่เรายึดถือได้ ต้องเป็นอย่างนี้ถึงจะแฟร์ครับ   The People: การพูดในเรื่องที่คนส่วนใหญ่เลี่ยงที่จะพูด หรือเป็นประเด็นที่อ่อนไหว อย่างเช่น ศาสนา ต้องใช้ “ความกล้า” มากน้อยแค่ไหน หรือต้องมีแบ็กดีแค่ไหน ศิลป์ชัย: โอ้โห (หัวเราะ)...คือปกติเรื่องการวิจารณ์ หรือการเป็น critics หรือนักวิพากษ์เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความกล้าอยู่แล้วนะครับ เพราะต้องยอมรับว่า ทุกครั้งที่เราวิจารณ์อะไรก็จะมีความกระทบกระเทือนจิตใจของผู้ที่เขารู้สึกหวงแหนในสิ่งนั้น เช่น ถ้าเราวิจารณ์ศาสนา เราไปวิจารณ์ศาสนาใครก็ไม่มีใครชอบ แต่ถ้าไม่วิจารณ์ข้อเท็จจริงของเรื่องเหล่านั้นก็จะไม่ถูกเปิดเผยออกมา คนก็จะไม่เข้าใจชัด โอกาสที่เราจะเข้าใจผิดหรือแม้แต่ถูกหลอกก็จะมีมาก เพราะฉะนั้นเราต้องตระหนักก่อนว่า การวิจารณ์ไม่แต่จะเป็นสิทธิ แต่โดยพื้นฐานแล้วการวิจารณ์ในเรื่องโดยทั่ว ๆ ไป เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อสังคม มันเสริมสร้างครับ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจารณ์ความเชื่อ วิจารณ์ศาสนาเป็นเรื่องดีมาก ถ้าศาสนาไหนไม่เคยถูกวิจารณ์ หรือไม่ถูกวิจารณ์ ศาสนานั้นจะเป็นอันตราย ขอย้ำอีกครั้งนะครับ ศาสนาไหนที่วิจารณ์ไม่ได้ ที่ถูกวิจารณ์ไม่ได้ ศาสนานั้นคือภัยสังคมครับ ผมขอบอกว่า ทุกศาสนาหรือความเชื่อใดก็ตามที่ไม่สามารถถูกวิจารณ์ได้ ความเชื่อนั้นเป็นภัยสังคม โดยเนื้อแท้เป็นอย่างนี้ แต่คนที่จะไปวิจารณ์ก็ย่อมถูกมองว่า ไปกระทบกระเทือนสิ่งที่ผู้คนเชื่อ อันนี้มันแตกต่างกันคือเรื่องของการวิจารณ์ต้องแยกแยะระหว่าง การวิจารณ์ตัวบุคคลทั่วไปกับวิจารณ์หลักการ การวิจารณ์ศาสนาหรือความเชื่อเป็นวิจารณ์เชิงหลักการ ไม่ได้วิจารณ์เป็นเรื่องส่วนบุคคล เราไม่ได้วิจารณ์ตัวบุคคลของศาสนิกชนคนใดคนหนึ่ง แต่เราวิจารณ์ตัวของความเชื่อ ตัวของหลักการที่ผู้คนยึดถือ เป็นเรื่องสาธารณะ เป็นเรื่องส่วนรวม เป็นของกลาง ไม่ทำให้ตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งเสื่อมเสียอะไร ถ้าไม่วิจารณ์ ศาสนานั้นก็อาจจะหลอกลวงผู้คน ทำให้ผู้คนเชื่ออย่างงมงาย การวิจารณ์ก็ช่วยให้ผู้คนเปิดตาขึ้น แต่ในขณะเดียวกันมันส่งผลดีต่อตัวศาสนิกชนด้วยนะครับ คือทำให้ได้มีโอกาสทบทวนสิ่งที่เราเชื่อว่าน่าเชื่อถือจริงหรือเปล่า? และถ้าน่าเชื่อถือจริงก็จะทำให้เขาได้มีโอกาสชี้แจงว่า “มันไม่ใช่นะ สิ่งที่ฉันเชื่อมันดีจริง ๆ เพราะ…” อย่างนี้ ก็ชี้แจงออกมา ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ข้อเท็จจริงถูกเปิดเผย หรือบางทีมันก็มีโอกาสทบทวนและพัฒนาความคิด ทำให้ศาสนามีโอกาสพัฒนาวิวัฒนาการให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งต้องยอมรับว่าทุกศาสนามีวิวัฒนาการ แล้วการวิวัฒนาการของศาสนาโดยส่วนใหญ่แล้วก็เกิดขึ้นจากการถูกวิจารณ์นี่แหละ ขอตอบคำถามให้ตรงขึ้นว่า “ต้องใช้ความกล้ามากมั้ย?” บอกว่า ต้องใช้ความกล้ามาก เพราะว่าสิ่งที่คนนับถือ อย่างเช่นเรื่องศาสนา ศาสดา หรืออะไรก็แล้วแต่ เวลาที่คนเขานับถือแล้ว เขาจะศรัทธามาก และเหมือนกับว่าเขาพร้อมอุทิศชีวิตเพื่อสิ่งนั้น ซึ่งบางครั้งมันไม่ทำให้เขาเพียงแค่โกรธ แต่ถึงขึ้นโกรธแค้น ไม่ใช่โกรธเคืองแต่โกรธแค้น บางครั้งไปวิจารณ์สิ่งที่เคารพบูชา ศาสนาของเขา บ่อยเลยที่ผมได้รับการแช่ง คือด่านี่ธรรมดา แต่แช่ง คือแช่งไม่ใช่แค่ด่า แต่ขอให้ตายวันตายพรุ่ง ถัดจากแช่งก็คืออาฆาต ถัดจากอาฆาตก็คือขู่ ขู่ว่าอย่ามาในพื้นที่นะ อะไรอย่างนี้ หนักกว่านั้นก็ “ระวังตัวเอาไว้”  ท่านถามว่า “ต้องใช้ความกล้ามั้ย?”  ผมคิดว่าต้องใช้ความกล้ามากทีเดียว บางครั้งก็ทำให้ไลฟ์สไตล์ต้องเปลี่ยน จากที่เดินไปสบาย ๆ ไปไหนก็กลายเป็นต้องระวังมากขึ้น ไปในบางพื้นที่ก็ต้องระวังมากขึ้นอะไรอย่างนี้เป็นต้น   The People: กระทบกับครอบครัวบ้างหรือไม่ ศิลป์ชัย: กระทบครับ แล้วบางครั้งบุคคลที่เป็นที่รักก็ร้องไห้เลย...แล้วก็มาต่อว่าผม ยกตัวอย่างเช่น “ทำไม่ต้องเลือกมาทำเรื่องอย่างนี้?” “ทำไมไม่อยู่อย่างสงบสุข?” หรือว่า “เราดีแล้วเหรอ เราดีนักเหรอ?” ถึงจะไปวิพากษ์สิ่งต่าง ๆ อะไรเหล่านี้ ต้องยอมรับว่า โดยธรรมชาติของศาสนวิทยา โดยธรรมชาติของตัวเนื้อหาวิชาอย่างนี้ มันคือการศึกษาเชิงวิเคราะห์และวิพากษ์สิ่งที่คนเขานับถือและบูชา แบบที่บูชาไว้สูงยิ่งเหนือชีวิต จึงเป็นศาสตร์ที่เลี่ยงที่จะไม่ไปวิพากษ์สิ่งที่คนเขาบูชาสูงกว่าชีวิตตัวเอง มันเลี่ยงไม่ได้ เว้นเสียแต่เราศึกษาส่วนตัวแล้วก็รู้ของเราคนเดียว อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง  แต่ความรู้ก็คือความรู้ มันต้องสื่อสาร แล้วการสื่อสารนี้ก็ช่วยด้วยเพราะว่า มีผู้คนจำนวนมากที่เข้ามาขอบคุณ เชิญไปสอน หรือว่าติดตามทางสื่อต่าง ๆ ที่บอกว่า เพิ่งเข้าใจ เพิ่งรู้ รวมไปถึง เพิ่งตาสว่าง แล้วการที่เขารู้และตาสว่าง มันทำให้เกิดการตื่นรู้ แล้วก็ทำให้วิถีชีวิตของเขาที่จมปลักอยู่กับความเชื่ออย่างนั้น เช่น เคยกลัวมาก หรือเคยนับถือมาก หรือเคยหลงเชื่อมาก พอตาสว่างหรือใจสว่าง จากตาสว่าง หูก็สว่าง สมองก็สว่าง จิตวิญญาณเกิดสว่างวาบขึ้นมา จากที่กลัวก็เลยไม่กลัว จากที่เคยศรัทธาอย่างหัวปักหัวปำ ก็เริ่มไม่หัวปักหัวปำ จากที่ไม่เคยถามก็เลยถาม จากที่ไม่เคยสงสัยก็เลยสงสัย จากที่เคยต้องจ่ายให้ตลอดมาด้วยความไม่รู้ ด้วยความเต็มใจ หรือด้วยความกลัว ก็เลยบอกว่า “งั้น ฉันไม่ต้องจ่ายอีกแล้ว” จากที่เคยต้องบูชาด้วยความกลัว กลัวว่าจะถูกหักคอ ก็ไม่ต้องกลัวอีกแล้ว คนเหล่านั้นเวลาที่ตาสว่างหรือใจสว่างหรือวิญญาณสว่างขึ้นมา เขาบอกว่าเขามีความสุขขึ้น เขาไม่ต้องกลัวอีกแล้วว่าพอถึงวันนี้วันนั้นต้องบูชาอย่างนี้ถึงจะถูก ไม่ผิด แล้วเดี๋ยวจะเจ๊ง เดี๋ยวจะไม่ได้รับการอวยพร ถ้าไม่ถืออย่างนี้แล้วจะวิบัติหรือตกนรก แย่กว่านั้นก็คือ บางทีศีลธรรมบางเรื่อง การคิดเรื่องถูกผิดดีชั่วที่เขาเคยยึดถือในแนวทางของศาสนา หรือจารีตแบบหนึ่งที่เขาเคยถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก มันทำให้เขาเคยทำบางเรื่องที่ไม่ดี แต่เขาเคยหลงว่าดีมาตลอด เรื่องนี้ต้องเป็นศาสนาเท่านั้นครับถึงจะทำได้ ต้องศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อ เรื่องอย่างนี้ที่ทำให้คนเป็นอย่างที่เรียกว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว” ได้ เพราะว่า ศาสนาและความเชื่อเป็นสิ่งที่ทำให้คนเราสามารถทำเรื่องผิดโดยไม่รู้สึกผิด ถ้าคนทั่วไปที่ใช้เหตุผลเวลาที่ทำผิดยังพอรู้ได้ว่าอันนั้นน่ะผิด เพียงแต่ว่า...โอเค จะทำหรือไม่ทำก็ว่าไป แล้วแต่ระดับจริยธรรมของตัวคนนั้น แต่ถ้าเกิดว่า เขายึดถือหลักศาสนาที่ไม่ถูก อันนี้จะเรื่องใหญ่ครับ เพราะจะกลายเป็นว่า สิ่งที่เขาถือซึ่งผิดแต่ไปคิดว่าจริง ๆ แล้วไม่ผิด แล้วกลายเป็นว่าเรื่องที่เขาทำไปนึกว่าถูก จริง ๆ แล้วมันไม่ถูก มันผิด แต่เขาก็จะทำมันไปเรื่อย ๆ  เพราะฉะนั้น การเป็นนักศาสนวิทยาคืออันนี้แหละครับ คือ ช่วยให้คนได้เข้าใจศาสนาและความเชื่อ...ขอบอกว่าทุกเรื่อง ศาสนาและความเชื่อทุกเรื่องอย่างมีเหตุผล แล้วประเมินใหม่ คิดใหม่ และตัดสินใจใหม่อีกครั้งหนึ่ง ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ ศาสนวิทยา กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น The People: กลัวความอาฆาตบ้างหรือไม่ ศิลป์ชัย: ผมยังคงเป็นมนุษย์และโดยความเป็นมนุษย์ปุถุชนที่ยังมีอยู่ ก็ต้องบอกว่า สิ่งมีชีวิตทุกอย่างก็คงพยายามรักษาชีวิต แล้วก็รักในความปลอดภัย รักในความมั่นคง เพราะฉะนั้นต้องบอกว่ากลัว และบางช่วงกลัวถึงกลัวมาก แต่ใช้เวลาในการดูแลจิตใจ จิตวิญญาณและความคิดของตัวเอง เพื่อไม่ให้ความกลัวในแบบปุถุชนทั่วไปนั้นมากเกินไป และในบางครั้งก็ต้องตัดสินใจว่า จะเลือกว่ากลัวจนไม่ทำอะไรเลย กับทำอะไรบ้างที่เราคิดว่าจะดีต่อสังคม ทั้งสังคมในปัจจุบัน และสังคมของคนรุ่นหลัง  เรื่องนี้ก็ต้องชั่งใจครับว่าเราจะเลือกอย่างไหน ระหว่างกลัว เห็นแก่ความปลอดภัย หรือความสุขสบายของตนเองเพียงอย่างเดียว หรือว่ากลัวก็จริง แต่ขณะเดียวกันก็เลือกที่จะพิจารณาความจำเป็น ความเหมาะสม และคุณประโยชน์ต่อสังคม แล้วพยายามหาวิธีที่เหมาะสมที่สุด ต้องยอมรับว่า การวิจารณ์ศาสนาในเมืองไทยไม่มีใครที่จะมาพูดอะไรอย่างนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องด้านมืดของศาสนา ปัญหาของสังคมไทยมันยิ่งยาก เพราะว่าสังคมไทยมองว่า ศาสนาทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี พูดง่าย ๆ ว่า สังคมไทยมี mindset หรือมีความเชื่อที่ถูกปลูกฝังจนฝังหัวแล้วว่าศาสนามีแต่ดี และทุกศาสนาดี ย้ำอีกครั้งครับ คนไทยถูกปลูกฝังว่าทุกศาสนาดี และทุกศาสนามีแต่เรื่องดี  พอศาสนวิทยามาตั้งคำถามและชวนให้ตรวจสอบว่า จริงหรือ? ที่ว่าทุกศาสนาดี หรือว่าทุกศาสนามีแต่แง่มุมที่ดี มีแต่เรื่องดี ๆ จริงหรือ? แล้วก็ทดสอบให้ทีละเรื่อง มันจึงเป็นเรื่องยากเหลือเกินที่สังคมไทยจะยอมรับ “เด็กเอ๋ย เด็กดีต้องมีหน้าที่ 10 อย่างด้วยกัน” เพลงวันเด็กก็สอนเรา เพลงนี้บอกเลย “1. นับถือศาสนา” เพราะฉะนั้นเด็กไทยถ้าจะเป็นเด็กดี เราถูกสอนแล้วว่า อย่างแรกที่จะเป็นเด็กดี คือ ต้องนับถือศาสนาพูดง่าย ๆ ก็คือว่า คนไทยเชื่อแล้ว ถูกสอนให้เชื่อแล้วว่า การเป็นคนดีต้องมีศาสนา แล้วก็รวมไปด้วยว่า ทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี และทุกศาสนาสอนแต่เรื่องดี ๆ และทุกเรื่องในศาสนามีแต่เรื่องดี พอมาถึงวันหนึ่ง มีนักศาสนวิทยามาบอกว่า “จริงหรือ?” แล้วค่อย ๆ ชี้ทีละเรื่อง มันเป็นเรื่องยากเหลือเกินที่คนไทยโดยรวมจะรับเรื่องนี้ได้ เพราะเท่ากับไปตั้งคำถามกับสิ่งที่เขานับถือตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก ๆ ตั้งแต่เป็นเด็กอนุบาลมาเลยและไม่เคยถูกตั้งคำถามนี้ ที่ยังอยู่รอดได้ทุกวันนี้ก็บุญแล้วละครับ   The People: เคยมีคนมาต่อว่าอะไรแรง ๆ ไหม ศิลป์ชัย: เคยมีคนต่อต้านแรง ๆ มั้ย? ถามใหม่ดีกว่าครับว่า วันไหนบ้างที่ไม่มีคนต่อต้าน? มีวันไหนบ้างที่ไม่มีคนด่า? กลายเป็นเรื่องประจำ กลายเป็นเรื่องปกติ มีแต่ว่า เบาหรือแรง เรียกว่า ต่อต้านแบบไหน? มีเหตุผล ไม่มีเหตุผล หรือขู่เอาชีวิตเลยหรือเปล่า มีทั้งแบบสุภาพ และแบบที่หยาบคายมาก ๆ และในแบบที่เรียกว่า เข้าขั้นที่เรียกว่าคุกคาม  ผมต้องยอมรับว่า พอแตะเรื่องที่ว่าด้วยความเชื่อของคน ไมใช่ความเชื่อทั่วไปด้วย แต่เป็นความเชื่อที่คนเคารพบูชา ต้องอย่าลืมนะครับว่า ศาสนาเป็นเรื่องที่มีมิติใกล้เคียงกับเรื่องของชาติ หรือแม้แต่มากกว่า เวลาที่คนเคารพศาสนา หรือนับถือศาสนา เขายกไว้ใกล้เคียงกับเรื่องความเป็นชาติหรือว่าชาตินิยม หรือเผลอ ๆ ไกลกว่า มากกว่า  ส่วนมากคนเรายอมตายเพื่ออะไร? ส่วนมากที่อยู่ในใจคนที่คนยอมรับได้ หรือใช้เรียกร้องได้เพื่อความชอบธรรม คือบอกว่า ตายเพื่อชาติ กับตายเพื่อศาสนา เรื่องนี้โดยประวัติศาสตร์แล้วคนเราทำสงครามก็เพราะเรื่องชาติ เรื่องศาสนา  แล้วเรื่องศาสนายิ่งเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับใครหลายคน เพราะตายเพื่อชาติยังเป็นแค่ตายในโลกนี้ แต่ถ้าเรื่องศาสนาเราต้องภักดียิ่งกว่านั้น เพราะถ้าเราไม่ตายเพื่อศาสนา เราอาจต้องตกนรก คือเป็นการตายในชาติหน้าและชาติต่อ ๆ ไป  เพราะฉะนั้นการภักดีต่อชาติ แม้คนโดยทั่วไปบอกว่า เราภักดีต่อชาติ เรารักชาติ ขอบอกไว้เลยครับ เวลาคนภักดีต่อศาสนายิ่งกว่านั้นอีก เพราะว่า เรื่องของชาติยังเป็นเรื่องเฉพาะในโลกนี้ แล้วคนเราย้ายชาติได้ครับ ออกไปประเทศอื่นก็ยังได้ แต่ศาสนาเป็นเรื่องที่อยู่ในใจ แล้วคนก็ยอมตายเพื่อศาสนา เวลาสงครามเรื่องของชาติ บางทีส่วนใหญ่ตกลงกันได้ รอมชอมกันได้ ประนีประนอมได้ แต่เวลาคนขัดแย้งเรื่องศาสนาแล้วส่วนใหญ่ไม่ยอมครับ เพราะเขาบอกว่ามันผิดต่อศาสนา ผิดต่อชีวิตในโลกหน้า ถ้าเขายอมเท่ากับเขาสูญเสียสวรรค์ ถ้ายอมเท่ากับตกนรก เพราะฉะนั้น เวลาที่ต้องตั้งคำถามหรือวิพากษ์ในสิ่งที่คนเคารพบูชาทุกเรื่องยากอยู่แล้ว ยิ่งเรื่องศาสนายิ่งยากกว่านั้นอีก แต่ยิ่งยากที่สุดคือถ้าศาสนาเป็นศาสนาที่บวกกับชาติหรือศาสนาที่อิงการเมือง เป็นศาสนาเชิงการเมือง หรือศาสนาที่มีอำนาจรัฐเข้ามาควบคุมหรือเกี่ยวข้องด้วยจะยิ่งยากที่สุด