Sing Street: สุขและเศร้า เงาของรักในยุคซึม ๆ ของไอร์แลนด์ทศวรรษ 1980

Sing Street: สุขและเศร้า เงาของรักในยุคซึม ๆ ของไอร์แลนด์ทศวรรษ 1980
หนังรักวัยรุ่น ความฝัน และเสียงดนตรี องค์ประกอบเหล่านี้คงจะไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้หนังเรื่อง Sing Street (2016) กลายเป็นหนัง ‘ขวัญใจมหาชน’ เพียงแต่ใต้พื้นผิวของ Sing Street กลับทำให้ภาพฝันของวัยรุ่นวางอยู่บนสังคมที่สิ้นหวังในกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ในทศวรรษ 1980 ได้อย่างมีนัยที่น่าสนใจ นี่คือผลงานของผู้กำกับชาวไอร์แลนด์ จอห์น คาร์นีย์ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่เคยมีผลงานสุดทัชใจ อย่าง Once (2007) และ Begin Again (2013) ที่นอกจากตัวหนังจะเด่นแล้ว เพลงประกอบภาพยนตร์ก็ถูกพูดถึงไม่แพ้กัน ด้วยความที่จอห์น คาร์นีย์ เป็นมือเบสและผู้กำกับมิวสิกวิดีโอมาก่อน จึงไม่น่าแปลกใจว่า ความสำคัญของหนังที่เขากำกับส่วนหนึ่งนั้นอยู่ที่เพลง ความทรงจำที่มีต่อหนังทั้งสองเรื่องดังกล่าวจึงถูกดำเนินไปควบคู่กับเพลงในหนัง อย่างเรื่อง Once ชวนให้เรานึกถึงเพลง Falling Slowly ที่ไปไกลถึงการคว้ารางวัลออสการ์สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ส่วนใน Begin Again นั้น คงจะเห็นว่าเพลงที่ร้องโดยอดัม เลอวีน แห่ง Maroon5 อย่าง Lost Stars นั้นโคตรฮิตตลาดแตกขนาดไหน มาถึงคิวของ Sing Street (2016) เหมือนกับว่าตัวผู้กำกับได้หันกลับมาสำรวจ ‘ราก’ ที่ทำให้ตัวเองมีวันนี้ด้วยฉากหลังของหนังที่อัดแน่นไปด้วยวัฒนธรรมป็อปของไอร์แลนด์ในทศวรรษ 1980 ผ่านแฟชั่นการแต่งตัวที่จัดจ้าน มิวสิกวิดีโอใน MTV และวงดนตรีดังในยุคนั้นอย่าง The Cure, The Clash, Duran Duran, Spandau Ballet และ The Jam เป็นต้น Sing Street เล่าเรื่องของกลุ่มเด็กวัยรุ่นในโรงเรียนคาทอลิกสุดเคร่งที่รวมกลุ่มตั้งวงดนตรีชื่อ Sing Street ขึ้นมา ซึ่งนำโดยคอนเนอร์ (เฟอร์เดีย วอลซ์-พีโล) หนุ่มน้อยวัย 14 ปี ที่มีแรงบันดาลใจในการทำวงดนตรีมาจากการแอบชอบ ‘นางแบบปริศนา’ คนหนึ่งซึ่งเป็นนางเอกของเรื่อง คอนเนอร์จึงอยากทำเพลงเพื่อให้เธอได้เป็นนางเอกมิวสิกวิดีโอของเพลงที่เขาแต่งและร้องเอง ภาพรวมของหนัง อันที่จริงก็ดู ‘น้ำเน่า’ และมี ‘สูตรสำเร็จ’ ในการเล่าเรื่องแบบหนังโรแมนติกคอเมดี้พอสมควร แต่ถึงอย่างนั้นมันก็มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ Sing Street ทำให้ผู้ชมหลงใหลกับหนังเรื่องนี้มากกว่าร้อง ‘ยี้’ ไปกับมัน อย่างแรก แน่นอนว่าเพลงในหนังที่บอกว่าคอนเนอร์แต่งขึ้นมานั้น มีเสน่ห์อย่างร้ายกาจ จนทำให้เราหวนรำลึก (Nostalgia) ถึงวันคืนชื่นสุขในยุค 1980s ที่เสียงของร็อคแอนด์โรล มีกลิ่นดนตรีแบบซินธ์ป็อป (แบบที่เราได้ยินจากวงดนตรีไทยยุคนี้อย่าง Polycat) ให้เราได้ ‘อิน’ ไปกับมัน เพลงอย่าง ‘The Riddle of the Model’, ‘Up’, ‘To Find You’, ‘A Beautiful Sea’, ‘Drive It Like You Stole It’ และ ‘Brown Shoes’ ล้วนแล้วแต่ช่วย ‘ตกแต่ง’ หนังให้น่าดูขึ้น จะเว้นก็แต่เพลง Go Now ของอดัม เลอวีน ที่ออกจะผิดกลิ่นไปจากหนังเรื่องนี้ไปสักหน่อย แต่เข้าใจว่าผู้กำกับคงอยากแทรกเข้าไปในหนังเพื่อช่วยให้หน้าหนังดู ‘แมส’ เพิ่มขึ้น เสน่ห์อีกอย่างของเรื่องนี้คือการเล่าถึงความฝันและความรักของวัยรุ่นแบบซื่อ ๆ นั่นแหละที่ทำให้รู้สึกว่า Sing Street ค่อนข้างจะจริงใจกับคนดู เพราะหนังไม่ได้ละเลยที่จะเล่าถึงบริบทรอบข้างของตัวคอนเนอร์เอง ที่เจอทั้งปัญหาครอบครัวที่คุณพ่อตกงาน พี่ชายเอาแต่พี้ยาและฟังเพลงอยู่ในบ้าน (แต่พี่ชายนี่แหละคือแรงบันดาลใจของคอนเนอร์ในการใช้ชีวิต) ครอบครัวของเขากำลังจะแตกแยกเพราะแม่ไปมีชายอื่น ส่วนตัวคอนเนอร์เองก็ถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียนคาทอลิกที่เจอกับปัญหา ทั้งถูกเพื่อนเกเรกลั่นแกล้งและภราดาที่คุมกฎโรงเรียนก็เฮี้ยบแบบไร้เหตุผลเสียเหลือเกิน Sing Street ยังอธิบายฉากหลังของสังคมไอร์แลนด์ในยุคนี้ได้อย่างน่าสนใจ คนไอร์แลนด์ในยุคนั้นโดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมืองอย่างกรุงดับลินต้องตกงานเพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอย จนต้องไปตามหาความฝันใหม่ ๆ ด้วยการนั่งเรือออกไปที่กรุงลอนดอน อังกฤษ ที่ซึ่งน่าจะดีกว่าที่ที่พวกเขาเคยอยู่ ขอพูดถึงสังคมอังกฤษในยุคนั้นสักนิด อันที่จริงแล้ว อังกฤษเองในยุคทศวรรษ 1980 บรรยากาศบ้านเมืองอาจจะดูหดหู่ไม่ต่างจากไอร์แลนด์เท่าไรนัก ในยุคการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรี ‘หญิงเหล็ก’ มาร์กาเรต แธตเชอร์ ส่งผลพวงต่อสังคมอังกฤษอย่างมาก ทั้งเรื่องของผู้คนตกงาน ปัญหาชาตินิยมที่ถูกมองผ่านสงครามกรณีพิพาทหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ระหว่างอังกฤษกับอาร์เจนตินา และอีกหลากหลายปัญหา ซึ่งถูกเล่าผ่านหนังชั้นดีอย่าง This Is England (2006) และ Billy Elliot (2000) จนน่าสงสัยว่า คนไอร์แลนด์ที่เดินทางไปอังกฤษในยุคนั้น เขาไปตามหาความฝัน หรือเขาไปเพื่อให้ความฝันของเขาถูกทำลายกันแน่ กลับมาที่ Sing Street กับปัญหาทั้งในเชิงปัจเจกและสังคมที่รุมเร้ารอบตัวของคอนเนอร์อยู่ ทำให้เขาเลือกที่จะใช้ ‘ดนตรี’ ทั้งในการหลบหลีกจากโลกความจริง แล้วเปลี่ยนมันเป็นโลกสีลูกกวาดสดใสผ่านการถ่ายทำเอ็มวีของวงเขาเอง และเขายังมองว่า ‘ดนตรี’ คือทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย มันอาจจะดูโรแมนติก โลกสวย และเรียบง่ายเกินไป (Oversimplify) ที่จะคล้อยตามว่า ดนตรีสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชีวิตได้ แต่อย่าลืมว่า ในวันที่เราเศร้าใจ สิ่งแรก ๆ ที่เราวิ่งเข้าหา (อาจจะก่อนการคิดแก้ปัญหาชีวิตเสียอีก) นั่นคือการฟังเพลงใช่ไหม? ในกรณีนี้ ‘เพลง’ จึงเอาชนะได้ทุกอย่าง แม้แต่หัวใจของคนดู โดยเฉพาะ ‘เพลงรัก’ “Your problem is you’re not happy being sad. But that’s what love is: happy-sad.” “ปัญหาของคุณก็คือคุณไม่มีความสุขกับการที่ต้องเสียใจ แต่นั่นแหละคือรัก : มีทั้งสุขและทุกข์” ประโยคนี้ที่คอนเนอร์คุยกับ ‘นางแบบปริศนา’ อธิบายถึง ‘เพลงรัก’ ในแบบของเขา จึงดูน่าสนใจมาก ๆ เพราะมันคือการยอมรับว่า ความรัก ไม่ได้มีแต่สีชมพูหวานแหววแบบในมิวสิกวิดีโอเพลงรักเท่านั้น แต่มันรวมถึงการเข้าใจอีกด้านหนึ่งของโลกว่ามันก็เลวร้าย แต่เราก็จะผ่านมันไปได้ด้วยการเข้าใจว่าโลกใบนี้มันมีทั้ง happy และ sad