เซอร์ สเตอร์ลิง มอสส์ ราชันไร้มงกุฎ สุดยอดนักแข่งผู้ไม่เคยได้แชมป์ F1

เซอร์ สเตอร์ลิง มอสส์ ราชันไร้มงกุฎ สุดยอดนักแข่งผู้ไม่เคยได้แชมป์ F1

เซอร์ สเตอร์ลิง มอสส์ ราชันไร้มงกุฎ สุดยอดนักแข่งผู้ไม่เคยได้แชมป์ F1

โลกมักจดจำคนที่ขึ้นแท่นที่ 1 แต่สำหรับแวดวงรถแข่ง Formula 1 หรือ F1 เซอร์ สเตอร์ลิง มอสส์ (Sir Stirling Moss) ที่แม้ตลอดชีวิตนักแข่งจะไม่เคยได้แชมป์ F1 สักครั้ง แต่เขากลับเป็นตำนานที่ทุกคนในวงการยกย่อง เวลาถกกันว่าใครคือสุดยอดนักกีฬาในกีฬาชนิดนั้น ๆ จำนวนแชมป์ที่ได้มักถูกนำมาวิเคราะห์ประกอบเสมอ เพราะถือเป็นมาตรวัดความเก่งที่เห็นชัดที่สุด ในวงการ F1 ไมเคิล ชูมัคเกอร์ เจ้าของแชมป์ 7 สมัย กับ ลูอิส แฮมิลตัน แชมป์ 6 สมัย อาจเบียดบี้กันมาอย่างสูสี แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่เคยได้แชมป์จะไม่ได้รับการยกย่องเลย โดยหนึ่งในไม่กี่คนที่ขึ้นไปอยู่ในทำเนียบนั้นอย่างสมศักดิ์ศรี คือนักแข่งชาวอังกฤษระดับตำนาน สเตอร์ลิง มอสส์  สาเหตุที่สเตอร์ลิงมาอยู่ในจุดนี้ได้ เพราะเขาสร้างประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ประดับวงการมอเตอร์สปอร์ตมากมายจนได้ฉายา “มิสเตอร์มอเตอร์สปอร์ต” (Mr. Motor Sport) ตลอด 14 ปีของการเป็นยอดนักซิ่ง เขาลงแข่งทั้งหมด 529 สนาม สามารถเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกได้ถึง 212 สนาม หากนับแค่ F1 อย่างเดียว เขาลงแข่ง 66 สนาม และได้ชัยชนะทั้งสิ้น 16 ครั้ง แต่เมื่อรวมคะแนนสะสมตลอดฤดูกาล เขาก็ไม่เคยไปถึงดวงดาวแห่งแชมป์ F1 เลย ถึงอย่างนั้น ผู้คนก็ยกย่องให้เขาเป็นนักแข่งที่เก่งที่สุดคนหนึ่งในวงการ แถมยังได้รับการยกย่องว่าโดดเด่นกว่านักแข่งรถดีกรีแชมป์โลกหลายคนเสียอีก อย่างไรก็ตาม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน ค.ศ. 2020 แฟนกีฬาท้าความเร็วทั่วโลกต้องรับรู้ข่าวเศร้า เมื่อสเตอร์ลิงเสียชีวิตด้วยวัย 90 ปี หลังต่อสู้กับโรคชราและอาการป่วยออด ๆ แอด ๆ มานาน การจากไปของเขาถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องในประวัติศาสตร์ F1 ปี 2020 หลังจากโรคโควิด-19 ทำพิษจนการแข่ง F1 ฤดูกาลที่ 70 ซึ่งเป็นฤดูกาลที่ควรจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ต้องเลื่อนแข่ง โดยไม่รู้ว่าจะได้เปิดสนามเมื่อไหร่กันแน่ สเตอร์ลิง ครอว์เฟิร์ด มอสส์ เกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน ปี 1929 เขาเติบโตในครอบครัวนักกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬารถแข่ง เพราะพ่อของเขา อัลเฟรด เป็นหมอฟันผู้มีงานอดิเรกคือการแข่งรถ ที่ในยุค 1920s เขาเข้าแข่งรถหลายรายการ หนึ่งในนั้นคือรายการใหญ่อย่าง Indianapolis 500 ที่อัลเฟรดลงแข่งถึง 2 ครั้ง และเข้าเส้นชัยในอันดับดีสุดที่ 14 ส่วน ไอลีน ผู้เป็นแม่ก็ชอบรถซิ่งเช่นกัน และ แพท น้องสาวของสเตอร์ลิงก็เป็นนักแข่งรถแรลลีชื่อดัง เดิมทีสเตอร์ลิงหลงใหลการขี่ม้ามากกว่า และมีหน่วยก้านดีทีเดียว แต่ต่อมาก็หันเหความสนใจไปสู่กีฬารถแข่งเหมือนคนอื่นในบ้าน ส่วนหนึ่งเพราะสเตอร์ลิงได้รับการปลูกฝังจากพ่อตั้งแต่ยังเด็ก อัลเฟรดมักเอาเขามานั่งบนตักระหว่างขับรถเล่นเสมอ และเมื่อลูกชายอายุครบ 18 ปี หลังมีใบขับขี่เรียบร้อยก็มุ่งมั่นอยากเข้าวงการแข่งรถทันที ประเดิมด้วยการแข่ง Cooper 500 และชนะได้ถึง 11 ครั้ง จาก 15 ครั้ง แม้ตอนแรกอัลเฟรดจะไม่ค่อยสนับสนุนให้ลูกเดินทางสายนี้เท่าไหร่ แต่เมื่อเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจ เขาก็เปลี่ยนท่าทีมาส่งเสริมและให้กำลังใจลูกชายแทน ช่วง 2-3 ปีแรก สเตอร์ลิงหาประสบการณ์ด้วยการตะลอนไปทั่วยุโรป ลงแข่งขันให้กับรายการเด่น ๆ มากมายและพิชิตชัยได้หลายสนาม จนแมวมองจากหลายทีมตาลุกวาว ก่อนที่ในปี 1954 ทีม Maserati จะดึงตัวเข้ามาแข่ง F1 ซึ่งสเตอร์ลิงก็ปล่อยของตั้งแต่ปีแรก สามารถขับเคี่ยวกับ ฮวน มานูเอล ฟันจิโอ จากทีม Mercedes ซึ่งตอนนั้นเป็นแชมป์ F1 2 สมัย ได้อย่างสูสี สนามที่แจ้งเกิดสเตอร์ลิงคือ Italian Grand Prix ซึ่งเขาแซงฟันจิโอและเกือบจะชนะแล้ว แต่เคราะห์ร้ายที่เครื่องยนต์ดันมีปัญหา จนเขาต้องออกจากการแข่งไปก่อนในรอบที่ 68 แต่มันคือสัญญาณบ่งบอกว่าในอนาคตภายหน้า เขาจะกลายเป็นนักแข่งชั้นเซียนอย่างแน่นอน แล้วมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะในปี 1955 ถือเป็นปีทองของสเตอร์ลิงเลยก็ว่าได้ เมื่อเขาย้ายไปอยู่ทีม Mercedes และสามารถเอาชนะรายการ British Grand Prix คว้าชัยใน F1 ได้เป็นครั้งแรก แถมยังเฉือนชนะเพื่อนร่วมทีมอย่างฟันจิโอในเวลาเพียงเสี้ยววินาที สร้างประวัติศาสตร์อีกต่อ ด้วยการเป็นนักแข่งชาวอังกฤษคนแรกที่ได้แชมป์ในบ้านเกิดตัวเอง ไม่เพียงแค่นั้น ในปีเดียวกันสเตอร์ลิงยังชนะศึก Mille Miglia ที่อิตาลี ซึ่งเป็นการแข่งซิ่งระยะทาง 992 ไมล์ ในเวลาเพียง 10 ชั่วโมงนิด ๆ กลายเป็นการแข่งที่สร้างชื่อให้เขามหาศาล นอกจากเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก เขายังซิ่งทิ้งห่างอันดับ 2 อย่างฟันจิโอถึง 32 นาที เป็นสถิติที่ไม่น่ามีใครทำลายลงได้อีกแล้ว ด้านฟันจิโอ ซึ่งเวลาต่อมาจะได้แชมป์ F1 มาครองรวม 5 สมัย เจอความสามารถของเด็กคนนี้เข้าไป ถึงกับยกย่องสเตอร์ลิงเลยว่าเป็นคู่ปรับที่เขาเกรงกลัวที่สุดตลอดอาชีพการแข่งของเขา นับแต่นั้น ไม่ว่าจะลงแข่งในรายการไหน สเตอร์ลิง มอสส์ ก็กลายเป็นเต็งแชมป์ทุกครั้งไป ความสามารถอันเหลือร้ายของเขาทำให้คู่แข่งเสียวสันหลังวาบเสมอ แต่ถึงจะมาแรงแซงโค้ง สเตอร์ลิงกลับไม่เคยจบฤดูกาล F1 ในฐานะแชมป์เลย ทุกปีมักจะมีปัจจัยแทรกซ้อนมาขวางทางแชมป์เสมอ และไปไกลสุดเพียงแค่รองแชมป์ 4 สมัยเท่านั้นในปี 1955-1958 ปีที่สเตอร์ลิงเข้าใกล้แชมป์มากที่สุดคือปี 1958 อันเป็นปีที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ F1 เพราะปีนั้นมีนักแข่งเสียชีวิตขณะแข่งถึง 4 คน สเตอร์ลิงในฐานะนักแข่งทีม Cooper-Climax สามารถเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1 ได้ถึง 4 สนาม แต่สุดท้ายแชมป์กลับตกเป็นของ ไมค์ ฮอว์ธอร์น นักแข่งเพื่อนร่วมชาติจากทีม Ferrari แม้ว่าฮอว์ธอร์นจะได้ชัยชนะเพียงแค่สนามเดียวก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลเป็นเช่นนี้ เพราะสเตอร์ลิงแข่งไม่จบหลายสนาม ขณะที่ฮอว์ธอร์นประคองตัวเข้าเส้นชัย 5 อันดับแรกบ่อยกว่า จึงเก็บคะแนนที่สเตอร์ลิงทิ้งเรี่ยราดได้มากกว่า กระนั้น การตัดสินแชมป์เกิดการพลิกผันในสนามที่ 9 ของฤดูกาล อย่าง Portuguese Grand Prix ฮอว์ธอร์น โดนปรับแพ้ (Disqualified) แม้ว่าจะเข้าเส้นชัยอันดับที่ 2 ตามหลังสเตอร์ลิง เพราะคณะกรรมการมองว่ามีช่วงหนึ่งที่ฮอว์ธอร์นขับรถออกนอกสนามในจุดที่กำหนดไว้ แต่สเตอร์ลิงซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นตรงนั้น และมองว่าการโดนโทษของฮอว์ธอร์นไม่ยุติธรรม จึงไปอธิบายกับคณะกรรมการว่า คู่แข่งรายสำคัญไม่ได้ทำผิดกฎอย่างที่ใคร ๆ คิด เป็นผลให้คณะกรรมการตัดสินใจคืนแต้มกลับไปให้ฮอว์ธอร์น และมันเป็นแต้มสำคัญที่จะส่งผลให้สเตอร์ลิงชวดแชมป์เมื่อสิ้นสุดฤดูกาล น้ำใจนักกีฬาเป็นสิ่งที่นักกีฬาทุกคนต้องมีกันอยู่แล้ว แต่น่าจะมีไม่กี่คนที่กล้าช่วยให้คู่แข่งอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบกว่าตัวเอง หนึ่งในนั้นก็คือสเตอร์ลิง หลายคนมองว่าการชวดแชมป์ครั้งนั้นเป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะเขายึดมั่นมากเกินไป แต่เจ้าตัวไม่เคยเสียใจเลย และให้สัมภาษณ์อยู่บ่อย ๆ ว่า เขาจะเสียใจถ้าได้แชมป์ครั้งนั้นมาครองด้วยการตัดสินโทษผิด ๆ เพราะมันจะทำให้ความหมายของคำว่า “ชัยชนะ” ที่ทุกคนยกย่อง ต้องสูญเสียความน่าเชื่อถือ หลังจบฤดูกาลดังกล่าว สเตอร์ลิงยังแข่ง F1 ต่อจนถึงฤดูกาล 1961 ช่วงนั้นแม้จะยังคงฟอร์มเก่งกาจ แต่ก็ทำได้มากสุดแค่เพียงครองอันดับ 3 เท่านั้น ก่อนที่ในปี 1962 เขาจะตัดสินใจย้ายไปอยู่กับทีมม้าลำพอง Ferrari อย่างไรก็ตาม กลับเกิดเรื่องไม่คาดคิดก่อน F1 ฤดูกาลนั้นจะเริ่มขึ้น เมื่อเขาไปแข่งชิงถ้วย Glover Trophy ในวันที่ 23 เมษายน ให้กับทีม Lotus ขณะที่ทุกอย่างเหมือนจะผ่านไปด้วยดี รถของเขาซึ่งกำลังเร่งเครื่องมาอย่างแรงกลับเสียหลักและพลิกคว่ำจนพังยับ ส่งผลให้สเตอร์ลิงได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลเป็นการด่วน สมัยนั้น การแข่งรถได้ชื่อว่าเป็นกีฬาที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายที่สุด เพราะไม่มีมาตรการป้องกันการบาดเจ็บที่ได้ประสิทธิภาพ อุบัติเหตุเพียงนิดเดียวอาจส่งผลให้นักแข่งตายได้ง่าย ๆ และมันเกิดขึ้นบ่อยมาก โชคดีว่าอุบัติเหตุครั้งนั้นไม่ได้คร่าชีวิตสเตอร์ลิงเหมือนนักแข่งคนอื่น แต่ก็รุนแรงขนาดส่งให้เขาอาการโคม่าถึง 38 วัน และยังเป็นอัมพาตครึ่งตัวนานครึ่งปี ถึงจะฟื้นฟูร่างกายกลับมาดังเดิม แต่เขาไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป สเตอร์ลิงรู้ดี เพราะเมื่อทดสอบขับรถแล้วพบว่าไม่สามารถควบคุมรถได้ดีเหมือนก่อน สเตอร์ลิงจึงประกาศรีไทร์ บอกลาอาชีพนักแข่งรถด้วยวัยเพียง 34 ปี เซอร์ สเตอร์ลิง มอสส์ ราชันไร้มงกุฎ สุดยอดนักแข่งผู้ไม่เคยได้แชมป์ F1 แต่ถึงจะเลิกแข่ง สเตอร์ลิง มอสส์ ก็ไม่เคยหายหน้าหายตาไปไหน แฟน ๆ สามารถพบเจอเขาได้ในงานแข่งรถแทบทุกสัปดาห์ ซึ่งเขายังทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวและนักวิเคราะห์ให้กับช่อง ABC ของสหรัฐอเมริกาในช่วงหนึ่งด้วย นอกจากนั้น สเตอร์ลิงยังเป็นเซเล็บชาวอังกฤษที่ปรากฏตัวออกสื่อบ่อยมาก เคยไปเป็นนักแสดงรับเชิญในหนังสายลับ เจมส์ บอนด์ เวอร์ชันปี 1967 เรื่อง Casino Royale และออกรายการโทรทัศน์เป็นประจำ มีบ้างที่เขาคันไม้คันมือกลับมาร่วมการแข่งขันเฉพาะกิจเอาสนุก เช่น การแข่งขันขับรถตัดหญ้า (Lawn Mower Racing) และโชว์ความสามารถเหนือชั้น จนได้แชมป์มาครองด้วยในปี 1975 และ 1976 ชื่อ “สเตอร์ลิง มอสส์” ยังเป็นตำนานของตำรวจจราจร เพราะเวลาตำรวจอังกฤษจับกุมคนขับรถเร็วกว่ากำหนด พวกเขามักจะถามคนขับว่า “ขับเร็วแบบนี้คุณคิดว่าตัวเองเป็นใคร สเตอร์ลิง มอสส์ งั้นเหรอ?” เป็นมุกตลกที่ใคร ๆ ชอบเอามาล้อเลียนเขาอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งตัวเขาเอง แถมครั้งหนึ่งเจ้าตัวยังเคยโดนตำรวจเรียกให้จอดเพราะขับรถเร็ว แล้วโดนถามคำถามนี้เข้ากับตัวด้วยอีกต่างหาก ตลอดอาชีพการเป็นนักแข่งรถของสเตอร์ลิง เขาฝากการแข่งระดับตำนานไว้มากมาย ชนิดต่อให้ไม่เคยได้แชมป์ F1 ก็ไม่มีอะไรต้องพิสูจน์ตัวเองอีกแล้ว เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่าฝีมือของเขาเก่งกาจเพียงใด เขาได้รับเลือกให้เข้าสู่หอเกียรติยศของวงการมอเตอร์สปอร์ตในปี 1990 จากนั้นอีก 10 ปีต่อมา ก็ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ให้เป็นอัศวิน ถือเป็นอีกหนึ่งเกียรติประวัติในชีวิต ที่ไม่ใช่นักแข่งทุกคนจะได้รับเกียรติเช่นนี้ สเตอร์ลิงยังปรากฏตัวบนสนามแข่ง F1 เป็นประจำ ด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสและอัธยาศัยดีกับทุกคน ไม่เคยถือเนื้อถือตัว และถือเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์คนสำคัญของ Mercedes ก่อนที่จะแก่ตัวลงเรื่อย ๆ และมีปัญหาสุขภาพหลายอย่าง จนเลิกออกสื่ออย่างสิ้นเชิงตั้งแต่ปี 2018 น่าสนใจว่าทั้งที่ผู้คนยุคปัจจุบันไม่น่าจะมีใครเคยดูการแข่งของสเตอร์ลิง มอสส์ แบบเต็ม ๆ เหมือนอย่างที่เราเฝ้าดูการแข่ง F1 ยุคนี้ได้อย่างเต็มอิ่ม แต่หลักฐานความยิ่งใหญ่ของเขาก็ปรากฏให้เห็นผ่านคลิปสั้น ๆ (เท่าที่ยังมีหลักฐานหลงเหลือ) ภาพนิ่ง ตัวอักษร และคำสรรเสริญยกย่องจากเหล่าประจักษ์พยาน ที่เคยเห็นความยอดเยี่ยมในช่วงพีคของเขามากับตา การที่ชื่อเสียงของสเตอร์ลิงยังส่งตรงมาถึงทุกวันนี้ บ่งบอกได้อย่างดีว่า ความเป็นตำนานของเขาคือของจริง และมันไม่มีทางล้มล้างได้ ถึงจะไม่เคยได้แชมป์ F1 แต่ สเตอร์ลิง มอสส์ ไม่เคยเสียใจ แถมยังภาคภูมิใจด้วยซ้ำ เพราะบางทีหากเขาได้แชมป์มาครองสักสมัยหนึ่ง เขาอาจไม่ได้รับการจดจำเท่าที่เป็นอยู่ และแม้วันนี้ยอดนักแข่งมากความสามารถ ผู้น่ายกย่องทั้งในและนอกสนามแข่งจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่มั่นใจได้ว่าความยิ่งใหญ่ของเขาจะยังเป็นตำนานในวงการ F1 ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ ก็ไม่มีใครลืมเลือน   ที่มา https://www.formula1.com/en/latest/article.the-king-that-was-never-crowned-sir-stirling-moss-remembered.1hsgcCo24xkLW8APD4Wuy5.html https://www.nytimes.com/2020/04/12/obituaries/stirling-moss-dead.html https://www.theguardian.com/sport/gallery/2020/apr/12/sir-stirling-moss-motor-racing-legends-life-in-pictures https://www.washingtonpost.com/local/obituaries/stirling-moss-f1-driver-known-as-one-of-the-best-behind-the-wheel-dies-at-90/2020/04/12/91f03b9c-7cd3-11ea-9040-68981f488eed_story.html https://www.youtube.com/watch?v=EImB7ekSJ3U https://www.youtube.com/watch?v=4DVpg5ubvyM https://www.youtube.com/watch?v=ea3iZKLduvg https://www.youtube.com/watch?v=Voo2KaF_0GA   เรื่อง: ปารณพัฒน์ แอนุ้ย