ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์: คุณพ่อผู้อยากส่งต่อโลกที่ดีให้ลูกสาว ด้วยการพายเรือเก็บขยะ

ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์: คุณพ่อผู้อยากส่งต่อโลกที่ดีให้ลูกสาว ด้วยการพายเรือเก็บขยะ

คุณพ่อผู้อยากส่งต่อโลกที่ดีให้ลูกสาว ด้วยการพายเรือเก็บขยะ

“เคยมีคนพูดติดตลกว่าผมเป็นคนหนุ่มที่ประสบความสำเร็จเร็วมาก เข้าไปทำงานปีแรกผมมีจักรยาน 3 คัน เขาก็บอกว่า โอ้โห...ทำงานแค่ปีเดียวมีรถถึง 3 คัน พูดติดตลกกันอย่างนี้ครับ” ประโยคชวนคุยของเจ้าของบ้านในขณะที่พาเข้าไปดูในโรงรถที่บ้านของเขา บ่ายวันหนึ่ง ทีมงาน The People ได้ไปเยี่ยมบ้านของ ซัน-ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ แถวคลองบางหลวงที่ร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้มากมาย ซันคือคนรุ่นใหม่ที่พยายามใช้ชีวิตสอดคล้องกับวิถี “Green” เขาปั่นจักรยานไปเรียนและทำงานมาหลายปี ไม่ใช้ถุงพลาสติก พยายามแยกขยะที่บ้าน เสื้อผ้าที่ใช้พยายามใช้วัสดุธรรมชาติมากที่สุด แม้แต่การดูแลลูก เขายังเลือกใช้ผ้าอ้อมธรรมดาแทนผ้าอ้อมสำเร็จรูปเพราะไม่อยากผลิตขยะ และในตอนนี้ ชายหนุ่มกำลังมุ่งมั่นกับงานเก็บขยะริมคลอง... ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์: คุณพ่อผู้อยากส่งต่อโลกที่ดีให้ลูกสาว ด้วยการพายเรือเก็บขยะ ที่บ้านของซัน เจ้าของบ้านบอกว่า ตอนนี้ขอให้ทีมงานคุยกันข้างนอกก่อน เพราะน้องศิริน-ลูกสาวที่น่ารักของซันกำลังหลับอยู่ในบ้าน เราจึงเข้าไปสำรวจที่โรงรถก่อน ในโรงรถเต็มไปด้วยรถจักรยานมากมาย ซันออกตัวว่า รถจักรยานทั้งหมดคือรถจักรยานมือสองที่เขาเอามาซ่อมเพื่อให้กลับมาปั่นได้อีกครั้ง ในโรงรถยังมีสเก็ตบอร์ด มีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เจ้าตัวเพิ่งซื้อ “ราคาสูงอยู่ครับ แต่ส่วนต่างของราคารถยนต์ ผมคิดเสียว่าเป็นเงินที่ใช้ซื้อน้ำมันในอนาคต พอผมมีลูกแล้ว บางทีลูกไม่สบาย หรือไปต่างจังหวัดกันทั้งครอบครัว การใช้รถยนต์จะสะดวกกว่า” แต่โดยส่วนตัว เวลาไปไหนมาไหน ซันก็ยังใช้รถจักรยานเป็นหลักอยู่ ถึงวันนี้ก็ 14-15 ปีแล้วที่เขาใช้ชีวิตหลังอานจักรยาน “เริ่มตั้งแต่ตอนนั้นเรียนมหาวิทยาลัยปี 2 ก็ปี พ.ศ. 2548 ประมาณ 14 ปีแล้วครับ  ผมว่ามันก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผม คือบ้านเราอยู่ในซอยลึกแล้วเป็นซอยตัน เลยไม่มีระบบขนส่งสาธารณะเข้ามาถึงในซอย เมื่อก่อนคือเดินทางทางรถเมล์ แล้วบ้านอยู่เกือบ ๆ ใจกลางเมือง ยังไม่กลางเมืองสักทีเดียว สภาพก็คือว่ารถเมล์รับคนจากชานเมืองมาจนเต็มแล้ว พอมาถึงบ้านผม โอ้ คราวนี้แน่นเลย บางทีต้องรอ 2-3 คันตอนเช้า ๆ เลยเป็นเหมือน painpoint อันหนึ่งว่า เอ๊ะ...เราจะแก้ปัญหานี้ยังไงดี “แรกสุดผมไม่ได้คิดถึงจักรยานหรอก ผมคิดถึงการเดินเลยครับ ลองดูซิว่าจะเดิน จะวิ่ง มันจะเร็วกว่ารถเมล์ไหม เพราะว่าบางทีรถติด เราอยู่บนรถเมล์ก็รู้สึกเบื่อเหลือเกิน แล้วคนเดินริมถนนไปได้ไวกว่าเราอีก แต่ลองดูแล้วมันก็ไม่ไวกว่าครับ เบ็ดเสร็จแล้วช้ากว่าสักครึ่งชั่วโมงได้ ก็เลยหันมาเห็นจักรยานที่บ้านแม่จอดเก่า ๆ อยู่คันหนึ่ง ลองเอามาซ่อมปั่นดู ปรากฏว่าโอ้โห ดีมาก  ปกติเดินทางด้วยรถเมล์สมัยนั้นไปเรียนที่ท่าพระจันทร์ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง พอปั่นจักรยานปุ๊บเหลือไม่เกินครึ่งชั่วโมง ปั่นเร็ว ๆ หน่อยได้ 20 นาที กลาง ๆ 25 นาทีอย่างนี้ ก็คิดว่าเป็นวิถีชีวิตที่ลงตัวที่สุด” ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์: คุณพ่อผู้อยากส่งต่อโลกที่ดีให้ลูกสาว ด้วยการพายเรือเก็บขยะ จากจุดเริ่มต้นการปั่นจักรยานวันนั้น ซันปั่นจักรยานเรื่อยมา จากในรั้วมหาวิทยาลัย จนถึงการออกมาทำงานกับมูลนิธิโลกสีเขียว (ปัจจุบันไม่ได้ทำงานที่นี่แล้ว) จนมาถึงวันนี้ จักรยานก็ยังเป็นอวัยวะที่ 33 สำหรับเขาอยู่ “ออกไปปั่นจักรยานซื้อของด้วยกันไหมครับ” ซันชวนทีมงานปั่นจักรยานไปหน้าปากซอย เราก็เลยชวนกันปั่นจักรยานออกไปปากซอยเพื่อซื้อน็อตมาเตรียมซ่อมสะพานในชุมชนเพื่อให้การคมนาคมสะดวกขึ้น นี่เป็นหนึ่งในงานสาธารณะที่ซันชวนคนในชุมชนทำงานเหล่านี้อยู่เสมอ และหนึ่งในกิจกรรมที่เขาเป็นโต้โผใหญ่ก็คือ งานพายเรือเก็บขยะในแม่น้ำลำคลอง หลังจากไปซื้ออุปกรณ์ซ่อมสะพานที่เตรียมไว้ใช้ในวันหลังเสร็จ ซันพาพวกเราไปหลังบ้าน หลังบ้านของเขาคือ คลองบางหลวง ที่มีเรือสัญจรไปมาอยู่ทั้งวัน ซันลงเรือ เพื่อพาเราไปดูขยะที่อยู่ในคลอง...  “ผมพายเรือมานานแล้วครับตั้งแต่เด็ก ๆ  ประมาณ 7-8 ขวบ พ่อก็หัดให้พายเรือ แต่ตอนนั้นคือพายสนุก ๆ หน้าบ้านตัวเอง ตอนหลังที่กลับมาพายจริงจัง แล้วไปสำรวจคลองก็น่าจะเกือบ 10 ปีแล้วเหมือนกัน พร้อม ๆ กับจักรยาน แต่ว่าด้วยเงื่อนไขชีวิตก่อนหน้านี้ที่ทำงานประจำทุกเช้า จันทร์ถึงศุกร์ก็ปั่นจักรยานเข้าไปทำงานในเมือง ทำให้ไม่ค่อยได้ใกล้ชิดกับคลองเท่าไหร่” เราเห็นข่าวว่าตอนนี้ทั่วโลกมีขยะอยู่มากมาย ซึ่งไม่ต้องไปที่ไหนไกล เพราะแค่ลำคลองหลังบ้านของซันก็พบเห็นขยะมากมายแล้ว “พอเราเห็นขยะเยอะ ๆ รู้สึกอยากทำอะไรสักอย่าง ครั้งแรกก็คิดว่าลงไปลองเก็บขยะดู เห็นคนอื่นเขาทำกัน ไปนั่งเก็บอยู่คนเดียว เหนื่อยมาก ลำบากมาก ไม่มีอะไรสนุกเลย (หัวเราะ) แต่ว่าพอมาคิดอีกทีหนึ่งว่า เอ้ย แล้วเราจะแก้ปัญหาคลองได้ยังไงบ้าง ในเมื่อมีขยะเยอะแยะเต็มไปหมด ไปเก็บคนเดียวก็ไม่สนุก เลยมองว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากเครือข่าย สิ่งที่ควรจะทำที่สุดคือต้องไปแก้ที่ต้นเหตุของการมีขยะในคลอง คือแก้ปัญหาเรื่องใครทิ้งขยะ เราต้องทำให้เขาหยุดทิ้งให้ได้” ระหว่างที่ซันพายเรือชวนคุย เราเห็นขยะจำนวนมาก มีทั้งพลาสติก เศษอาหาร “เราสำรวจดูขยะที่ลอยไปมาในน้ำ ก็พบว่าเป็นขยะของคนริมคลองซะส่วนใหญ่ บางคนก็โยนมาให้เห็นเลย พอเห็นอย่างนี้ปุ๊บ เรามองว่าถ้าจะแก้ปัญหาจริง ๆ ต้องแก้ให้ถูกจุด ต้องคุยกับคนที่เขาทิ้งให้เขาเปลี่ยนใจ แต่ผมเคยลองคุยแล้วยาก เขาจะปฏิเสธเราตลอดเวลา เลยต้องเปลี่ยนวิธีคุย” ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์: คุณพ่อผู้อยากส่งต่อโลกที่ดีให้ลูกสาว ด้วยการพายเรือเก็บขยะ เป็นที่มาของกิจกรรม “ชวนคิด(ส์) ไม่ทิ้งคลอง” ที่เรื่องราวดี ๆ น่าจะเริ่มต้นที่คนในชุมชนร่วมกันลงมือทำก่อน “ผมคิดถึงพวกนักเรียนริมคลอง เพราะริมคลองมีโรงเรียนเยอะแยะเลย เท่าที่ผมไปพายเรือเที่ยว หลายคนอยากจะมาสัมผัสประสบการณ์ทางน้ำ แต่ไม่ค่อยมีโอกาส ได้แต่ยืนมองทางฝั่ง เลยคิดว่าน่าจะเอามาผสมผสานกันได้ เราคิดอยู่อย่างหนึ่งว่าถ้าอยากจะชวนคนในชุมชนมาอนุรักษ์คลอง จะทำได้อย่างไรถ้าเกิดคนในชุมชนไม่ได้รู้จักคลองจริง ๆ เราเลยเกิดความคิดอยากจะทำกิจกรรมให้คนในชุมชนมาช่วยกันสร้างจิตสำนึกดี ๆ เกิดเป็นกิจกรรม ‘ชวนคิด(ส์) ไม่ทิ้งคลอง’ ขึ้นมา  เอาเด็ก ๆ มาลงเรือให้เขาได้เห็นบรรยากาศ เห็นสภาพคลองบ้านเราว่าหน้าตาแบบนี้นะ แล้วก็ให้เขาไปเก็บขยะในน้ำด้วย มันก็วินวิน คนที่เขาทิ้งขยะอยู่ เขาก็อาจจะมองเห็นเด็ก ๆ เก็บขยะ ก็อาจจะมีมุมมองที่เปลี่ยนไป” จากเดิมที่มีเสียงต่อต้าน แต่พอเด็ก ๆ ในชุมชนเข้าไปช่วยพูดคุย ทำให้บรรยากาศความร่วมมือนั้นดีขึ้น “มีทีมพาเด็กเดินไปรณรงค์ตามชุมชนต่าง ๆ ด้วย จับมือกันเดินถือป้าย ไปเคาะประตูบ้านว่ารณรงค์อย่าทิ้งขยะลงคลอง พอมีเด็กไปด้วยปุ๊บ บรรยากาศเปลี่ยนเลย จากที่เขาเห็นหน้าเราเขาปิดประตูใส่ พอเป็นเด็กปุ๊บเขามาฟัง ไหนหนูมาทำอะไร เห็นเด็กพูดมันน่ารักดี เขาก็ welcome บรรยากาศเปลี่ยนเลย” ใช้เวลานั่งเรืออยู่ในคลองบางหลวงกันพอสมควร ซันก็พาพวกเราขึ้นมาบนบ้าน เป็นจังหวะเดียวกับที่น้องศิรินตื่นพอดี เขาเล่นกับลูกสาวสักครู่ แล้วจึงกลับมาคุยกับทีมงานอีกครั้ง ในวันที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมากมายในบ้านเรา ทั้งเรื่อง ฝุ่น PM2.5, รถติด ไปจนถึงระบบการคมนาคมที่ไม่เอื้อต่อการขนส่งสาธารณะ ภาครัฐควรมองสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแบบไหน ซันนั่งนึกนานมาก จนได้คำตอบมาว่า “ผมว่าที่ผ่านมาภาครัฐมองสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงแค่เปลือก ๆ พอสมควร คือไปเซ็นสัญญามาว่า ต้องทำแบบนี้ ก็พยายามทำนู่น พยายามทำนี่ แต่ว่าไม่ได้มองมันลึกไปจริง ๆ ว่าทำแบบไหนถึงจะเกิดผลเปลี่ยนแปลงจริง ๆ อย่างเรื่องรณรงค์จักรยาน ภาครัฐทำ โห เกิดกระแสใหญ่มาก แต่ภายในปีสองปีเท่านั้นเองก็จะเห็นว่ากระแสเงียบลง ตอนนี้คนหันไปทำอย่างอื่นแล้ว แทบไม่มีใครออกมาขี่จักรยานแล้ว” ความพยายามในการรักษาสิ่งแวดล้อมของซัน ทำให้เราอดถามตรง ๆ ไม่ได้ว่า เราซีเรียสกับมันมากไปไหม หรือเคยโดนใคร “แซะ” อะไรบ้างหรือเปล่า “จริง ๆ หลายคนก็มองว่าสุดโต่ง แต่ผมมองว่าผมไม่ได้สุดโต่ง คือทุกอย่างเรายืดหยุ่นแล้วก็ไม่ทำอะไรที่ฝืนตัวเองเกินไปครับ สมมติว่าเราพกกระติกน้ำไปออกทริปวันหนึ่ง แล้วปรากฏว่าแค่ครึ่งเช้าเราก็น้ำหมดแล้ว หาที่เติมไม่ได้จริง ๆ ผมก็ซื้อขวดน้ำพลาสติกกินนั่นแหละ คือไม่ใช่แอนตี้ว่า ไม่เอาเลย ฉันจะไม่สร้างขยะเลย ก็ไม่ขนาดนั้นครับ คือเราปรับใช้ให้พอดีกับพฤติกรรม กับวิถีชีวิตของเรา โดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าเหนื่อยหรือฝืนเกินไป เพียงแต่ว่าพอดีผมทำมานานแล้วก็ชอบคิดแก้ปัญหาเสมอ” ในฐานะที่เป็นพ่อคนแล้ว เราอยากส่งมอบโลกแบบไหนต่อให้กับลูกสาว “ในฐานะที่เป็นพ่อคน ผมคิดว่าเราก็คงจะปลูกฝัง คือมันยากมากที่เราจะบอกว่าเราจะการันตีสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ลูก แต่สิ่งที่เราทำได้คือปลูกฝังความคิด ปลูกฝังพฤติกรรมต่าง ๆ ค่านิยมต่าง ๆ ให้เขาแคร์ต่อโลกใบนี้มากกว่าชีวิตของตัวเอง คืออย่ายึดตนเองเป็นศูนย์กลาง ให้มองบริบทในภาพรวมว่าโลกคือระบบนิเวศเดียวกัน จริง ๆ แล้วเราคือชีวิตเดียวกันที่หมุนกันไปในทุก ๆ วัน ผมหายใจ พี่ก็หายใจต่อ รับอากาศจากผมไป หมุนเวียนอย่างนี้จนทุกอย่างมันสัมพันธ์เชื่อมโยงกันหมด ผมอยากสร้างทัศนคติแบบนี้ให้ลูก เพื่อที่เขาจะได้ตัดสินใจเดินในวิถีชีวิตของเขาได้ถูกต้องต่อไป”