สีดาลุยไฟทำไม - ผู้หญิงต้องพิสูจน์ตัวเองตลอดเวลาทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด

สีดาลุยไฟทำไม - ผู้หญิงต้องพิสูจน์ตัวเองตลอดเวลาทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด
เพลง #สีดาลุยไฟ ที่เราได้ยินกันจนคุ้นหูระหว่างการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เป็นบทเพลงที่แปลมาจากต้นฉบับภาษาสเปน ชื่อว่า ‘Un violador en tu camino’ (A Rapist in Your Path) ใช้ในการรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงทางเพศเป็นครั้งแรกในประเทศชิลีเมื่อปี 2019  แต่ทำไมเมื่อคณะเฟมินิสต์ปลดแอกแปลเพลงนี้มาเป็นภาษาไทย ชื่อของเพลงกลับไม่ได้แปลตรงตัวจาก A Rapist in Your Path?    สีดาลุยไฟ คือชื่อเวอร์ชันภาษาไทยของเพลงที่ดังไปทั่วโลกเพลงนี้ แล้วทำไมต้องเป็นสีดา? สีดาเป็นตัวละครในวรรณคดีที่พวกเราทุกคนรู้จัก จุดกำเนิดของมหาสงครามระหว่างยักษ์และลิง เวลาเราเรียนเรื่องรามเกียรติ์ สีดาคือตัวแทนของผู้หญิงสวยอย่างที่สุด ซื่อสัตย์ต่อสามีที่สุด และหยิ่งในศักดิ์ศรี ความเป็นหญิงดีตามอุดมคตินี่เอง เธอจึงตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้  สีดาคือพระลักษมีพระชายาเอกของพระนารายณ์แบ่งภาคลงมาเกิดในคราวที่พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระราม แต่พระลักษมีไม่ได้ลงมาเกิดเป็นมนุษย์สบาย ๆ พระอิศวรส่งพระลักษมีให้ไปเกิดเป็นลูกทศกัณฐ์กับนางมณโฑ โดยหวังจะให้พระลักษมีเป็นไส้ศึกอยู่ในเมืองยักษ์ พระลักษมีขัดไม่ได้ เมื่อเธอเกิดมาวินาทีแรก พิเภก ลุงแท้ ๆ ของเธอได้ทำนายว่า เธอเป็นตัวกาลกิณี จะทำบ้านเมืองล่มสลาย ทศกัณฐ์ในฐานะพ่อก็เชื่อ เอาตัวเธอที่เพิ่งจะแรกเกิด ใส่ผอบลอยน้ำทิ้งไป  หลังจากถูกครอบครัวของตัวเองทอดทิ้ง ด้วยโชคดีของนางเอก พระชนก กษัตริย์เมืองมิถิลาที่อยู่ระหว่างออกบวชผ่านมาเจอผอบนี้เข้าพอดี จึงเก็บไปเลี้ยงเป็นลูก ใช้อภินิหารเสกน้ำนมออกจากปลายนิ้วป้อนให้กิน ป้อนไปได้ไม่เท่าไรก็รู้สึกว่าอยากจะมุ่งมั่นบำเพ็ญเพียรให้มากกว่านี้ จึงเอาเด็กไปฝังดิน นัยว่าฝากพระเเม่ธรณีและเทพเทวดาเลี้ยง ด้วยโชคชะตาของนางเอกอีกเช่นกัน พระลักษมีจึงรอดมาได้จนอายุ 16 ปี พระชนกเริ่มเบื่อไม่อยากบำเพ็ญเพียรแล้ว ก็ลาบวช ให้คนไปขุดหาเด็กทารกที่ตนเองฝังทิ้งเอาไว้ ขุดเท่าไรก็หาไม่เจอ เลยเอาคันไถมาไถดินถึงได้สะดุดไปเจอเข้า  ชื่อว่า สีดา ที่แปลว่า ผู้ที่เกิดจากรอยไถ ก็ได้มาจากการที่พระชนกฝังเธอไว้นานจนหาไม่เจอ ต้องเอาคันไถมาไถดินหานี่เอง   ผู้ชายในชีวิตที่เลือกไม่ได้ของสีดา  สีดากลับมาเมืองมิถิลาในฐานะธิดากษัตริย์ได้ไม่นาน ก็ถูกพระบิดาบุญธรรมจับให้แต่งงาน โดยวิธีเสี่ยงทาย ใครยกคันธนูโมลีที่ว่ากันว่าต้องใช้คนเป็นพันคนถึงจะยกขึ้นได้ด้วยตัวคนเดียว จะให้สีดาแต่งงานกับคนนั้น สีดาในฐานะรางวัลการแข่งขันว่าผู้ชายคนไหนมีบุญญาธิการมากที่สุด ก็นั่งรอแล้วรอเล่าโดยไม่มีสิทธิ์มีเสียงใด จนกระทั่งได้สบตากับพระราม ลูกชายกษัตริย์อโยธยาผิวเขียว ทั้งคู่ตกหลุมรักกันและกันทันทีในวินาทีแรก โชคดีที่พระรามมีบุญญาธิการมาก ยกธนูโมลีได้ จึงได้สีดาไปเป็นพระชายา คนที่ยกธนูโมลีได้ ไม่ได้มีแค่พระราม พระลักษณ์ ชายผิวทองใจดีน้องชายของพระรามก็สามารถยกธนูได้เหมือนกัน แต่ด้วยความใจดีของพระรอง พระลักษณ์ก็แกล้งทำเป็นยกธนูไม่ขึ้น เพราะอยากให้สีดาได้ครองคู่กับพี่ชายของตน สีดาแต่งออกจากบ้านตัวเอง ย้ายตามพระรามมาอโยธยา ตั้งใจจะเป็นพระชายาที่ดี รัก ซื่อสัตย์กับพระรามคนเดียว ต่อให้พระรามเนรเทศตัวเองออกมาตกระกำลำบากในป่า สีดาผู้จงรักก็ตามออกมาด้วย มีสุขร่วมเสพย์ มีทุกข์ร่วมต้าน แต่คงเป็นเพราะพระรามรูปงามเกินไป  สำมนักขา น้องสาวของทศกัณฐ์ บังเอิญผ่านมาเห็นเข้าก็หลงรัก พยายามตามเกี้ยวพระราม พอพระรามบอกว่า ไม่ ฉันไม่รักเธอ เพราะฉันมีภรรยาอยู่แล้ว สำมนักขาก็หันมาเทเอาความเสียใจที่ถูกผู้ชายปฏิเสธไปลงกับสีดา ที่มีความผิดเพียงอย่างเดียวคือ สวย สำมนักขาทุบตีด่าทอสีดา พระลักษณ์ พระรองแสนดีก็โมโห จับสำมนักขาตัดหูตัดจมูกลงโทษ สำมนักขาเจ็บแค้น ไม่แค้นพระลักษณ์ ไม่แค้นพระราม แต่แค้นสีดา วิ่งกลับบ้านไปฟ้องพี่ชาย พรรณนาความสวยของสีดาให้พี่ชายฟัง จนทศกัณฐ์ลุ่มหลงมัวเมา นึกอยากได้สีดามาเป็นเมียใหม่อีกคนหนึ่ง เพิ่มจากที่มีอยู่แล้ว 1,014 ตน (ไม่รวมสนมเดิมอีก 84,000 ตน) สีดาถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวไปขังไว้ในกรุงลงกาเกือบ 14 ปี นอกวังยักษ์และพระรามก็ต่อสู้กันเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นชาย ในวังสีดาคนเดียวต้องคอยระวังระแวงว่าจะถูกทศกัณฐ์เข้าหาเมื่อไหร่ ด้วยบุญญาธิการนางเอก ถ้าทศกัณฐ์เข้าใกล้เธอจะเกิด ‘ร้อนฤทัยดังไฟกัลป์’ ทำให้เธอรอดพ้นการถูกบิดาแท้ ๆ ของตัวเองข่มขืนมาได้ เวลาผ่านไป สีดาเริ่มหมดหวังจึงตัดสินใจผูกคอตาย ขอสิ้นชีวิตดีกว่าต้องอยู่กับผู้ชายคนอื่นให้ถูกคนนินทา แต่โชคดี หนุมาน ทหารตัวหลักของพระรามมาช่วยไว้ได้ทัน และคิดจะพาเธอหนีออกไป แต่ศักดิ์ศรีที่ค้ำคอผู้หญิงทำให้สีดาต้องปฏิเสธความช่วยเหลือ “อันตัวเรายากเย็นเพราะเป็นหญิง ไม่สิ้นสิ่งพะวงสงสัย ประเดี๋ยวยักษ์ลักมาลิงพาไป เทพไทจะติฉินนินทา” แปลไทยเป็นไทยได้ว่า เป็นผู้หญิง ต้องระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา นี่เดี๋ยวก็โดนทศกัณฐ์อุ้ม ขากลับถ้ายอมให้หนุมานอุ้ม มีหวังโดนชาวบ้านนินทาไม่รู้จบ รอให้พระรามชนะสงครามบุกเข้าทางประตูหน้ามารับอย่างมีศักดิ์ศรีจะดีกว่า พระรามชนะสงคราม เมื่อฆ่าทศกัณฐ์ตายเสร็จ อยากจะรับสีดากลับมาอโยธยาก็รับไม่ได้สนิทใจนัก เพราะโดนนินทาไปแล้วว่าอยู่เมืองยักษ์มาหลายปี “ธรรมดาหญิงตกถึงมือชายเป็นที่พิรุธราคิน ทรลักษณ์มลทินหมองไหม้”  สีดาจึงขอลุยไฟพิสูจน์ตัวเอง ถ้าเธอเคยแม้แต่แค่คิดนอกใจสามี ขอให้ไฟไหม้เธอจนตาย บุญญาธิการของนางเอกก็ได้ช่วยเธอเอาไว้ ลุยไฟไม่ไหม้ มีดอกบัวผุดขึ้นมารับทุกย่างก้าว ชาวบ้านจึงต้องหยุดคำนินทาลง   แต่ความอับโชคของสีดาไม่หมดแค่นั้น พระรามยังไม่ได้เชื่อใจเธอเต็มที่ อดุล นางยักษ์ที่เคียดแค้นที่ทศกัณฐ์ตายได้ตามมาล้างแค้นเอากับสีดา โดยการแปลงร่างเป็นนางกำนัล ขอร้องอ้อนวอนให้สีดาวาดรูปทศกัณฐ์ให้ดู พอวาดเสร็จอดุลก็เข้าไปสิงในรูปทำให้ลบไม่ออก  พระรามมาเห็นรูปเข้าก็โกรธ คิดว่าสีดายังรักทศกัณฐ์ถึงได้เก็บรูปเหมือนไว้กับตัว โดยไม่ฟังเหตุผล ไม่สนใจว่าสีดาเพิ่งจะลุยไฟพิสูจน์ความจงรักภักดีไปไม่นาน พระรามสั่งให้พระลักษณ์นำสีดาไปฆ่าควักหัวใจกลางป่าทันที บุญญาธิการของความเป็นหญิงดี พระลักษณ์จะฟันคอสีดา แต่ดาบกลายเป็นพวงมาลัยคล้องรอบคอไปแทน พระลักษณ์จึงปล่อยสีดาไป  สีดาเริ่มจะเจ็บแค้นใจและรู้ว่า สิ่งที่พระรามทำกับเธอมันคือความรุนแรงในครอบครัว สีดาตัดสินใจไม่งอนง้อผู้ชาย ระหกระเหินไปอาศัยอยู่กับพระฤาษีวัชมฤคจนกระทั่งคลอดลูก กลายเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เข้มแข็ง บุตรของสีดาเติบโตเก่งกาจมีชื่อเสียง จนพระรามได้ข่าว มาเจอบุตรตัวเองก็เอะใจ ถามจนรู้ว่านี่ลูกแท้ ๆ และสีดายังมีชีวิตอยู่ พระรามจึงมาง้องอนขอให้สีดาให้อภัย แต่สีดาเข็ดในความอารมณ์ร้อนของพระราม จึงหนีไปเมืองบาดาล แต่สุดท้ายก็ต้องฟังคำผู้ใหญ่อย่างพระอิศวรที่ลงมาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย  ยอมกลับมาอยู่ร่วมกับพระรามอย่างมีความสุข แล้ววรรณคดีเรื่องนี้ก็จบลง   สีดาในมุมมองใหม่ ตั้งแต่เกิดมา สีดาเป็นเหมือนวัตถุที่ถูกทอดทิ้ง ถูกมอบให้เป็นรางวัล ถูกแย่งชิงเอาไป ทำสงครามแย่งชิงกลับมา สีดาถูกล่ามตรวนด้วยคำติฉินนินทา ด้วยความเชื่อว่าหญิงดีต้องเป็นอย่างไร จนเธอเดินไปไหนเองไม่ได้ ชีวิตของเธอขยับได้แค่ในตอนที่ผู้ชายพาไป แม้แต่จะหนีไปจากกรุงลงกาก็หนีไม่ได้ ต้องรอให้พระรามรบชนะมารับก่อนจึงจะสมเกียรติ สีดาต้องทนถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว คุกคามทางเพศนานหลายปี แต่เมื่อเธอเป็นอิสระ สังคมกลับไม่ได้ดูแลเธอ สังคมสั่งให้เธอพิสูจน์ตัวเองว่าเธอไม่ได้มีสัมพันธ์ทางเพศกับสิ่งมีชีวิตเพศผู้ตัวอื่นนอกเหนือไปจากสามีคนแรก แม้แต่พระรามที่สู้อุตส่าห์ทำสงครามหลายปีเพื่อชิงตัวเธอกลับมาก็ไม่เชื่อในตัวเธอ ตกลงพระรามทำไปทั้งหมดนั่นเพื่อช่วยสีดา หรือแค่เพื่อรักษาเกียรติของตัวเองกันแน่ ทำไมเหยื่ออย่างสีดา ต้องพิสูจน์ความดีงามตามบรรทัดฐานหญิงดี-หญิงเลวให้ได้ ถึงขนาดยอมเสี่ยงชีวิต จนกระทั่งถูกสามีสั่งฆ่าแล้วก็ยังต้องกลับมาคืนดีตามคำขอของผู้ใหญ่เพื่อรักษาความเป็นครอบครัวเอาไว้ ในโลกแห่งความเป็นจริงยุค 2020s สีดาที่เป็นตัวเเทนของเหยื่อความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัว ก็ยังคงต้องดิ้นรนพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง ถูกจับผิดทุกช่องโหว่ ประคองตัวบนบรรทัดฐานหญิงดีที่โคลงเคลงง่อนแง่นไปตามลมปาก กระหืดกระหอบเอาตัวรอดจากเสียงนินทาของสังคมอยู่ไม่ต่างจากในวรรณคดีนัก   ที่มา: https://journals.sagepub.com/doi/full/10.1177/1367549420912748  http://ithesis-ir.su.ac.th/dspace/bitstream/123456789/1079/1/55202210%20ศิวดล%20วราเอกศิริ.pdf  http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=5121&filename=index   เรื่อง: จอมเทียน จันสมรัก