ม.จ.สิทธิพร กฤดากร : เจ้าผู้เลี้ยงไก่เอาไข่เป็นการค้าคนแรกของไทย

ม.จ.สิทธิพร กฤดากร :  เจ้าผู้เลี้ยงไก่เอาไข่เป็นการค้าคนแรกของไทย
“เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” วาทะอมตะข้างต้น คือ ถ้อยคำของ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งการเกษตรแผ่นใหม่” นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของไทยอย่าง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวถึงทัศนะของเจ้านายองค์นี้ว่า “สำหรับนักเศรษฐศาสตร์อย่างผม ผู้มีหน้าที่ในเรื่องเศรษฐกิจการเงินเบื้องต้น เราได้รับประโยชน์เหลือล้นจากข้อสะกิดใจจากท่านสิทธิพร นักบุกเบิกเกษตรว่า ‘เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง’ อนาคตของเกษตรกรไทยเป็นเรื่องที่จะต้องทะนุถนอมอย่างระมัดระวัง” และยกย่องเจ้านายองค์นี้ว่า “ท่านสิทธิพรทรงเป็นปากเสียงให้แก่ชาวไร่ชาวนาสามัญชน เพื่อประโยชน์ของสามัญชนส่วนใหญ่ในประชาชาติไทย และเพื่อความชอบธรรมในสังคม” โดยถึงกับเขียนไว้ในคำไว้อาลัยเมื่อท่านสิทธิพรสิ้นชีพิตักษัย ความว่า “ตราบใดที่ท่านสิทธิพรดำรงพระชนม์อยู่ พวกเราก็ได้เห็นแก่ตาซึ่งตัวอย่างของมนุษย์อัจฉริยะผู้กล้าหาญ และดื้อพอที่จะยึดมั่นในอุดมการณ์ของตน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต่อไปนี้โลกของเยาวชนจะจนลงถนัด” ท่านสิทธิพรไม่เป็นเพียงเป็นมนุษย์ผู้กล้าและดื้อที่จะทำตามอุดมคติของตนเท่านั้น ท่านยังเป็นผู้บุกเบิกการเลี้ยงไก่เอาไข่ขายเป็นการค้าคนแรกของไทยอีกด้วย !   ใครคือ ม.จ.สิทธิพร ม.จ.สิทธิพรเป็นโอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ กับหม่อมสุภาพ ประสูติเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2426 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   ท่านสิทธิพรเสด็จไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และต่อมาเรียนทางวิศวกรรมศาสตร์ที่กรุงลอนดอน เมื่อกลับมารับราชการในปี 2444 เข้าทำงานที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และเจริญก้าวหน้าในราชการตามลำดับ จนได้เป็นอธิบดีกรมกษาปณ์ และอธิบดีกรมฝิ่น ซึ่งนับว่าเป็นกรมใหญ่และสำคัญมากในสมัยนั้น แต่ท่านเห็นว่า อนาคตของสังคมไทยอยู่ที่ชาวไร่ชาวนา ไม่ใช่ข้าราชการ ทางออกที่ดีที่สุด คือ การเกษตรแผนใหม่ซึ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรองรับอาชีพการงานของพลเมืองสยาม ดังนั้น เมื่อปี 2464 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงลาออกจากราชการมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ไร่บางเบิด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้านความรัก ท่านมีหม่อมคนแรกชื่อ ทิพ ต่อมาเมื่อเธอถึงแก่กรรม  ท่านได้หม่อมศรีพรหมา ธิดาพระเจ้าน่าน ผู้ปฏิเสธรักจากพระพุทธเจ้าหลวงปิยมหาราชพระองค์นั้น มาเป็นชายา และครองรักกับตราบจนท่านสิ้นชีพิตักษัย เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2514    “เขาหาว่า ฉันเป็นกบฏ ซึ่งก็เป็นความจริง” ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 มีความผันผวนทางการเมืองที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม-ฝ่ายนิยมเจ้า ต่อสู้ทางการเมืองต่อต้านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เกิดเป็นเหตุการณ์ที่รู้จักกันในภายหลังว่า “กบฏบวรเดช” เมื่อเดือนตุลาคม 2476 ซึ่งนำโดยพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ผู้เป็นพระเชษฐา ท่านสิทธิพรถูกจับในกบฏคราวนั้น และถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่เมื่อปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลก็ได้ทำเรื่องอภัยโทษให้เมื่อ พ.ศ. 2487  ในช่วงบั้นปลายแห่งชนม์ชีพของท่าน นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยถามถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เหตุใดท่านจึงถูกจับในคราวกบฏนั้นไปด้วย ท่านตอบอย่างมีอารมณ์ขันว่า “เขาหาว่า ฉันเป็นกบฏ ซึ่งก็เป็นความจริง” หลังความผกผันทางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขั้วอำนาจเปลี่ยนมาทางฝ่ายอนุรักษ์นิยม ท่านสิทธิพรได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรในรัฐบาลควง อภัยวงศ์ มีเกร็ดเล่าว่า เมื่อท่านเป็นรัฐมนตรี ต้องหาเช่าบ้านอาศัย เพราะท่านไม่มีที่พำนักในกรุงเทพฯ เจ้าของบ้านเช่าทักว่า บ้านนั้นเล็กจะไม่สมพระเกียรติ ท่านตอบว่า แม้คุกท่านก็อยู่มาแล้ว ประสาอะไรกับบ้านไม้หลังเล็ก !  หลังจากนั้น ท่านก็มีบทบาททางสาธารณะเกี่ยวกับปัญหาของชาวนา เรื่องข้าว และการพัฒนาการเกษตรต่างๆ จนได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ เมื่อ พ.ศ. 2510   เจ้าผู้เลี้ยงไก่เอาไข่เป็นการค้าคนแรกของไทย ในสมัยก่อน ไข่ไก่ยังเป็นอาหารที่ไม่เป็นที่นิยมนักในสังคมไทย ส่วนมากผู้ที่รับประทานเป็นชาวตะวันตก ซึ่งสมัยนั้นต้องนำเข้าไข่ไก่จากประเทศจีน แต่ก็มีคุณภาพไม่ดี ใบเล็ก และมักเน่าเสียจากการขนส่ง ช่วง พ.ศ. 2465-2466 ที่ท่านสิทธิพรบุกเบิกฟาร์มบางเบิดกับหม่อมศรีพรหมานั้น ท่านได้เริ่มเลี้ยงไก่พันธุ์เล็กฮอร์น ซึ่งเป็นพันธุ์ไข่ดก และได้ค้าขายไข่ไก่ อันนับได้ว่าเป็นจุดกำเนิดแห่งการขยายการเลี้ยงไก่ จนกลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่โตในประเทศนี้ในเวลาต่อมา และได้รับการกล่าวขานว่า ท่านเป็นผู้เลี้ยงไก่เอาไข่เป็นการค้าคนแรกของไทย ไข่ไก่ของท่านสิทธิพรมีคุณภาพดีกว่าที่นำเข้า ขายได้วันละ 240-300 ฟอง โหลละ 45-60 สตางค์ โดยมีกลุ่มลูกค้าเป็นครอบครัวชาวตะวันตกในสยาม และครอบครัวของผู้มีฐานะ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ในเวลานั้น นิยมบริโภคไข่เป็ดมากกว่า เพราะขนาดใหญ่กว่า ราคาถูกกว่า และหาได้ง่ายกว่านั่นเอง   อนาคตของสังคมไทย ท่านสิทธิพรเป็นบุรุษผู้พิเศษที่นึกถึงอนุชนคนรุ่นหลังของท่านอย่างก้าวไกล ท่านเล็งเห็นว่า “อนุชนรุ่นหลังจะไม่มีโอกาส ได้ตำแหน่งดีเท่าบิดาของเขา เพราะทุกคนหวังให้ลูกเข้ารับราชการ แต่ตำแหน่งในราชการก็มีจำกัด จะต้องมีการแข่งขัน จึงทรงคิดว่า ถ้าไม่มีการเตรียมอาชีพไว้ให้ เด็กรุ่นนี้เติบโตมาก็จะเคว้งคว้าง อาชีพอื่น ๆ ก็ยังไม่มีเป็นล่ำเป็นสัน ยังมีจำกัด เว้นแต่กสิกรรม ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นอาชีพต่ำต้อย ไม่อยากเป็นกัน จึงทรงเลือกเอากสิกรรม ซึ่งมีโอกาสให้อย่างเหลือเฟือ” (ข้อสังเกตของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, 2514) กระทั่งกับปัญญาชนผู้วิพากษ์วิจารณ์สังคมในยุคหลัง 2500 อย่างบรรณาธิการ สังคมศาสตร์ปริทัศน์คนแรก (ส.ศิวลักษณ์) ก็ยังเคยโดนท่านสิทธิพรถามว่า ปัญญาชนไม่สนใจในปัญหาของชาวไร่ชาวนาบ้างดอกหรือ ? และทรงเตือนว่า “ถ้าคนที่มีความรู้พูดถึงความอยุติธรรมในสังคมโดยไม่รู้ถึงสภาพชาวนาว่า แกถูกรีดภาษีทางอ้อมอย่างรุนแรง ก็เท่ากับหลับตาพูด” ท่านสิทธิพรเป็นเจ้าที่ห่วงใยอนาคตของสังคมไทยและปัญหาความอยุติธรรมในสังคม ที่ตั้งคำถามไว้อย่างไม่ล้าสมัยเอาเลย   บรรณานุกรม http://puey-ungpakorn.org/index.php/writer/academic/academic01?id=315 http://www.openbase.in.th/files/sitthiporn004.pdf https://www.silpa-mag.com/history/article_4751 สัมภาษณ์ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์, วันที่ 16 ธันวาคม 2564   เรื่อง: กษิดิศ อนันทนาธร ภาพ: http://www.openbase.in.th/files/sitthiporn004.pdf